แมลงวันในไร่ส้ม/ เกมสกัดดาวรุ่ง รุมถล่ม ‘อนาคตใหม่’ โค้งสุดท้ายระอุ

แมลงวันในไร่ส้ม

เกมสกัดดาวรุ่ง

รุมถล่ม ‘อนาคตใหม่’

โค้งสุดท้ายระอุ

 

การหาเสียงเลือกตั้งกำลังดำเนินไปอย่างเข้มข้น

เหลือเวลาอีกเพียง 1 สัปดาห์ ก็จะถึงเวลาเข้าคูหาลงคะแนน

บนหน้าหนังสือพิมพ์ ข่าวเลือกตั้ง ภาพกิจกรรมหาเสียงยึดครองพื้นที่ส่วนมาก ขณะที่ในโลกออนไลน์ ก็มีการใช้เป็นพื้นที่ข่าว รายงานความเคลื่อนไหว ใช้หาเสียง ปล่อยข่าว ฯลฯ

โดยเฉพาะโซเชียลมีเดีย ไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม ทวิตเตอร์ ไปจนถึงไลน์ ในระยะนี้ร้อนแรงไปด้วยข่าวและข้อคิดเห็นต่างๆ

นักวิชาการจากจุฬาฯ ดร.มุกดา ประทีปวัฒนะวงศ์ นักวิจัยประจำศูนย์แม่โขงศึกษา ได้แสดงความเห็นในเรื่องนี้ไว้ว่า ปัจจุบันสื่อโซเชียลเป็นเครื่องมือสำคัญในการสื่อสาร ใช้เป็นช่องทางการหาเสียงเพื่อดึงดูดให้คนมาลงคะแนนเสียงผู้สมัคร ขณะเดียวกันก็เป็นช่องทางหลักที่ใช้ดึงดูดคนรุ่นใหม่ ในฐานะผู้มีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรกซึ่งมีมากถึงเกือบ 7 ล้านคน

“ถือว่ายังเป็นผู้ลงคะแนนเสียงแบบสะวิงโหวต เพราะยังไม่ปักใจเลือกพรรคใดพรรคหนึ่งชัดเจน หลายคนยังไม่เคยไปเลือกตั้งด้วยซ้ำ”

ดังนั้น นักการเมืองที่ต้องการทำคะแนนเสียงในช่องทางออนไลน์จำเป็นต้องบริหารภาพลักษณ์ตนเองในโลกออนไลน์ให้มีความน่าเชื่อถือ มีความสามารถในการดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยจะต้องเลือกภาพลักษณ์ตั้งแต่การแต่งตัว การทำกิจกรรมหาเสียง ซึ่งจะมีรูปหรือคลิปปรากฏ การสร้างแคมเปญเป็นบุคคลที่มีความนิยมสาธารณะ รวมไปถึงการทำให้นโยบายมีความติดดิน เข้าใจง่าย

“สื่อโซเชียลมีคุณลักษณะอย่างหนึ่งคือการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างผู้ใช้งาน ดังนั้น ผู้สมัครเลือกตั้งจะมีการสร้างการมีส่วนร่วมกับประชาชนอยู่เสมอ มีการโต้ตอบพูดคุย มีชีวิตชีวา มีการใช้แฮชแท็ก รวบรวมความเห็นต่างๆ ซึ่งเป็นเรื่องทันสมัยมาก”

สื่อโซเชียลยังช่วยให้ผู้ใช้สามารถตัดสินใจได้อย่างรอบด้าน จากเดิมที่เป็นการติดตามเพียงนักการเมืองไม่กี่รายเพียงทางเดียว แต่ในปัจจุบันเราสามารถรับรู้ข่าวสารและนโยบายของพรรคต่างๆ ได้อย่างสะดวก และเห็นปฏิกิริยาของนักการเมืองรายนั้นที่มีต่อประชาชน

สื่อโซเชียลส่งผลกระทบให้สื่อกระแสหลักจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับโลกออนไลน์ เช่นเดียวกับการติดตามกระแสการเมืองในโลกโซเชียล แม้ว่าคนที่ตามการเมืองจะไม่ใช่ทั้งหมดของคนที่ใช้โซเชียล แต่ก็มีกระแสเพียงพอที่ช่วยสร้างข่าวการเลือกตั้งให้อยู่ในโลกไซเบอร์

“สุดท้ายก็กลายเป็นว่าทุกพรรคต้องมีสื่อโซเชียลไว้หาเสียง เดี๋ยวนี้จะมีใครเปิดทีวีฟัง หรือมีรถหาเสียงขับผ่าน คนฟังก็ได้ยินแค่ 2-3 นาที รถหาเสียงทุกวันนี้มี QR Code มีเพจให้คนกดติดตามแล้ว เป็นการปรับตัวทางการเมืองแบบใหม่ที่ทันสมัย ช่องว่างระหว่างนักการเมืองกับคนโหวตก็น้อยลง” ดร.มุกดาระบุ

 

พรรคที่หาเสียงและประชาสัมพันธ์ตัวเองผ่านโซเชียลมีเดียอย่างได้ผลก็คือ พรรคอนาคตใหม่ ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมในกลุ่มคนรุ่นใหม่ นิวโหวตเตอร์ และล่าสุด ยังมีผู้มีสิทธิออกเสียงที่มีอายุมาให้ความสนใจที่แนวทางและอุดมคติของพรรค

โดยเฉพาะหลังจากพรรคไทยรักษาชาติโดนศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบ ยิ่งทำให้ฐานคะแนนส่วนหนึ่งของพรรคนี้ หันมาให้ความสนใจกับพรรคอนาคตใหม่มากขึ้น

ความแรงของพรรคอนาคตใหม่ ถึงขนาดกล่าวกันว่า มีคะแนนนิยมเหนือพรรคภูมิใจไทย และกำลังไล่ตามพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นพรรคการเมืองเก่าแก่ เคยมีสมาชิกพรรคหลายล้านคน ก่อนจะถูกเซ็ตซีโร่ด้วยกฎหมายพรรคการเมืองฉบับใหม่

ทำให้เกิดรายการสกัดพรรคอนาคตใหม่ โดยใช้สื่อออนไลน์เผยแพร่ข่าวการให้สัมภาษณ์ของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค ว่าจะพา “ทักษิณ” กลับบ้าน

มีการปิดเพจ SaveThanatorn ที่นำเสนอเนื้อหาคล้ายสนับสนุนนายธนาธร โดยอ้างเหตุผลในการปิดตอนหนึ่งว่า

“…คุณธนาธรไม่เพียงที่จะไม่ทำตามที่เคยสัญญากันไว้แล้ว กลับกันคุณธนาธรยังพยายามพาพรรคอนาคตใหม่ให้ไปอยู่ในวงจรแห่งความขัดแย้งไม่ต่างอะไรกับการเมืองน้ำเน่าในอดีต ทั้งการพาทักษิณกลับบ้าน การดูด ส.ส.ไทยรักษาชาติเข้ามาร่วมพรรค การออกแถลงการณ์ หมิ่นศาลเพื่อหวังคะแนนเสียงจากกลุ่มที่เคยสนับสนุนไทยรักษาชาติ และการกระทำที่ไม่เป็นประชาธิปไตยต่างๆ ภายในพรรค…”

และมีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า น่าจะเป็นเพจปฏิบัติการข่าวสารหรือ IO ของกลุ่มอำนาจ โดยมีการทวิตเตอร์ข้อความว่า “IO ไม่เนียนไปเรียนมาใหม่จ้า เพิ่งลอกคราบมาเป็นเพจ #Savethanathorn เมื่อวันที่ 21 ก.พ. วันนี้ยุติละ ความอดทนต่ำจัง อวยนานกว่านี้หน่อยก็ได้”

ต่อมานายธนาธรได้ออกมาตอบโต้และชี้แจงผ่านเฟซบุ๊ก Thanathorn Juangroongruangkit ระบุว่า ผมไม่ได้เสนอให้ “พาทักษิณกลับบ้าน”  แต่ผมเสนอว่า ถ้าเราต้องการสร้างความปรองดองจากแบ่งฝักฝ่ายทางการเมืองอย่างสุดขั้วในสิบกว่าปีที่ผ่านมา มีทางเดียวคือ แกนนำทุกสีเสื้อ รวมถึงผู้ที่ใช้อำนาจละเมิดสิทธิประชาชน หากกระทำผิดจะต้องไม่ลอยนวลพ้นผิด จะต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมที่เสรีและเป็นธรรม ส่วนผลตัดสินจะออกมาอย่างไร ทุกฝ่ายก็ต้องยอมรับ

หนทางเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยโดยสันติ ต้องเริ่มต้นด้วยการเผชิญหน้ากับความจริงที่ผิดพลาดในอดีตและความยุติธรรม

สื่อบางสำนักนำคำให้สัมภาษณ์ของผมกับ Dave Kendal จาก Bangkok Post ไปตัดตอนเฉพาะบางช่วงบางตอนและบิดเบือนโดยเจตนาทำให้เข้าใจผิดว่า ผมจะ “พาทักษิณกลับบ้าน”

ผมกล่าวกับคุณ Dave Kendal ไปว่า เราเชื่อว่าประชาชนไม่ว่าจะเคยสังกัดสีเสื้อใดควรจะร่วมกันต่อต้านเผด็จการทหาร และถ้าเราต้องการสร้างความปรองดอง ทางเดียวคือ ผู้นำของแต่ละสีเสื้อต้องรับผิดชอบต่อสิ่งที่พวกเขาทำในอดีต โดยผ่านกระบวนการยุติธรรมที่เสรีและเป็นธรรม

ผมเห็นว่าเราควรคืนความยุติธรรมให้แก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบในชีวิตและทรัพย์สิน หรือคดีการเมืองจากความขัดแย้งอันยาวนาน ไม่ว่าเขาจะสังกัดสีเสื้ออะไร

ทว่าในช่วงที่มีการเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมที่เรียกกันว่าฉบับเหมาเข่งสุดซอยนั้น ผมเป็นคนหนึ่งที่คัดค้านเรื่องนี้ เนื่องจากผิดไปจากหลักการที่เชื่อมั่น ผมเห็นด้วยที่เราจะนิรโทษกรรมในคดีการเมืองของประชาชนทั่วไปเพื่อสร้างความปรองดอง แต่ไม่เห็นด้วยที่จะปล่อยให้ผู้นำทางการเมืองลอยนวลพ้นผิดหากพิสูจน์แล้วว่าพวกเขากระทำผิดจริง

“มีแต่ความกล้าหาญที่จะเผชิญต่อความจริงในอดีต และกระบวนการยุติธรรมที่ไม่บิดเบี้ยวเท่านั้น สังคมไทยจึงจะออกจากหล่มความขัดแย้งสุดขั้วเพื่อก้าวไปสู่อนาคตใหม่ได้” นายธนาธรระบุ

นั่นคืออีกมุมหนึ่งของความร้อนแรงในการแข่งขันเลือกตั้งครั้งนี้