เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ | ภาษาพาสาร

“มีเงินนับว่าเป็นน้อง มีทองนับว่าเป็นพี่ มีหนี้นับไม่ถ้วน”

นี่คือข้อความเชิงภาษิตติดขื่อคานร้านข้าวแกงร้านหนึ่งชานเมืองกาญจน์ ยังมีอีกหลากหลาย เช่น

“เพิ่งรู้ว่าเธอเป็นกระดูก เมื่อถูกหมาคาบไปแดก”

อันนี้เจ๋ง แต่นี่เจ๋งกว่า

“เมียคนอื่นเหมือนมอเตอร์ไซค์ (น่าขี่)

เมียเราเองเหมือนจักรยาน (น่าถีบ)”

ล่าสุดแวะไปกินข้าวแกงเหมือนเคย เจอข้อความใหม่

“หมายเลขที่ท่านเรียก กำลังเศร้า

กรุณาถือขวดเหล้ามาด้วย”

ยังมีอีกหลากหลาย เอาเท่าที่จำได้แค่นี้ก่อนละกัน

ถามแม่ค้าว่าใครเขียน เธอว่า หลานเป็นคนเขียน มันหลุดไปหนหนึ่งแล้วเลยเขียนขึ้นใหม่ คงจำกันมาแหละเพราะแหงนมองเห็นติดเต็มขื่อคาทั่วร้าน ทั้งเก่าใหม่ ส่วนใหญ่จะเป็นของเก่าคุ้นหู มีที่แหวกหักมุมแบบข้างต้นอยู่ไม่น้อยเหมือนกัน

นี่เป็นเสน่ห์ของร้านนี้ นอกจากนี้ผักแกล้มให้อร่อยลิ้นแล้ว ยังมีภาษิตแกล้มตาให้อร่อยใจอีกด้วย

และนี้คือเสน่ห์อย่างหนึ่งของคนไทย ที่มักเป็นคน “ขี้เล่น” ทางภาษาอย่างที่เรียกกันว่า “เจ้าคารี้สีคารม” หรือ “เจ้าบทเจ้ากลอน”

ดังพบแถวท้ายรถหรือกำแพงร้าง เช่น “ฝนตกบ้านน้อง ฟ้าร้องบ้านพี่” หรือ “ทับไม่ร้อง ท้องไม่รับ” … ฯลฯ

อย่างเวลานี้มีป้ายหาเสียงอยู่เปรอะเมือง ก็ยังมีเอามาเล่นล้อกันในจอแผ่น ตั้งพรรคใหม่ขึ้นประชัน เช่น “พรรคคำว่าแร้” เป็นต้น

“พรรคคำว่าแร้” ก็คือ “แพ้คำว่ารัก”

นี่ไม่เป็นพิษเป็นภัยอะไรกับใคร แต่ช่วยลดตึงเครียดดีนัก

ที่จริงคำภาษิตนั้นเป็นความแหลมคมทางสติปัญญาของคนอันมีอยู่ในทุกชาติภาษา

เคยพบภาษิตอาหรับบทหนึ่งใจความว่า

“ก่อนจะยิงธนูแห่งสัจจะ จงเอาศรจุ่มน้ำผึ้งเสียก่อน”

เลยฉวยมาผูกเป็นกลอนให้จำง่ายว่า

“ก่อนจะยิงธนูดูจังหวะ

แผลงศรแห่งสัจจะสักดอกหนึ่ง

ถ้าจะให้ศรศักดิ์นั้นปักตรึง

จงศรจุ่มน้ำผึ้งแล้วจึงยิง”

คำภาษิตนั้นเป็นสัจธรรม มีอยู่ในทุกชาติภาษา สะท้อนถึงภูมิปัญญาของมนุษย์ในสังคมนั้นๆ เอง อันผ่านเบ้าหลอมของประสบการณ์ ซึ่งใช้เวลามากน้อยตามยุคสมัย

เพื่อนสงขลาเล่าว่า ที่บ้านสะกอมในสงขลาเป็นหมู่บ้านประมง ชาวบ้านฉลาดนัก มีความเป็นตัวของตัวเองเต็มที่ และหลักแหลมในภูมิปัญญา ช่างเปรียบเปรยดีนัก เพื่อนเป็นคนผมยาว ไว้ผมทรงพองฟู ชาวบ้านเห็นนั่งอยู่ก็เปรียบทันทีว่า “นั่งเป็นกองอวน” คืออวนใช้จับปลาที่มีกองอยู่ใต้ถุนแทบทุกบ้าน

เพื่อนพาสาวไปด้วย ชาวบ้านก็ชมสาวว่า

“จิ๊ สาวนิ ท่อนบนน่าแกงส้ม ท่อนล่างน่าต้มทิ” คือส่วนบนน่าแกงส้ม ส่วนล่างน่าต้มกะทิ

เห็นสาวเจ้าเป็นปลาตัวงามไปนั่น

ชาวบ้านสะกอมเขายืนหยัดและยืนยงในความเป็นชาวประมงพื้นบ้านอยู่นั่น เห็นใครก็จะเปรียบกับประสบการณ์ของตัวเองอยู่เสมอ ดังเห็นไอ้หนุ่มเป็นเครื่องมือหาปลาคือ “อวน” เห็นสาวเจ้าเป็น “ปลา” ที่เขาหาได้และต้องการอยู่เป็นประจำ

ธรรมชาตินิสัยของชาวสะกอมนี่แหละที่นายหนังกั้น ทองหล่อ ครูหนังคนสำคัญนำมาสร้างเป็นตัวหนังชื่อ “สะหม้อ” ตลกโดนใจของตะลุงใต้ไม่แพ้ไอ้เท่ง ไอ้หนูนุ้ย

แม้นายหนังกั้น ทองหล่อ ศิลปินแห่งชาติจะล่วงลับไปแล้ว แต่ “ไอ้สะหม้อ” ยังเป็นตัวแทนอันไม่ตาย เฉกเช่นธรรมชาตินิสัยที่เป็นภูมิปัญญาของชาวสะกอม สงขลา แม้จนวันนี้

ความช่างเปรียบทำนองนี้ ทำให้นึกถึงภาษิตญี่ปุ่นสำนวนหนึ่ง ที่ว่า

“หญิงสาวและปลาสด อย่าเก็บไว้นาน”

นี่ละไหมล่ะ ปลาดิบ ซาซิมิ ซีฟู้ดอาหารญี่ปุ่น ถึงได้เป็นจานโปรดกระฉ่อนโลกจนวันนี้

ดังว่า ภาษิตเป็นคำคมที่สะท้อนภูมิปัญญาของผู้คนในสังคมอันมีอยู่ในทุกชาติภาษา เพราะคำคมนั้นเองมิใช่มีเฉพาะความคมของคำที่สามารถบาดใจหรือเชือดเฉือนได้ดีเท่านั้น หากมันได้สะท้อนถึงประสบการณ์ของผู้คนจนกลายเป็นภูมิปัญญาที่กลั่นเกลา “เหลาแหลม” เป็นคำคมหรือวาจาภาษิตให้คนได้หวนคิดถึงที่มาที่ไปของกระแสธารความคิดแห่งสังคมนั้นๆ ด้วย

เคยนิยามว่า สุภาษิตหรือคำคมนั้น คือทางลัดสั้นสุดที่นำไปสู่ทางยาวอันไม่สิ้นสุดของปัญญาความรู้

ขอยืนยัน

จีนเป็นประเทศที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน ดังนั้น จึงมีภาษิตและคำคมมากมาย เสมือนกระบี่คมของจอมยุทธ์ในแต่ละยุทธภพ

ดังคำนี้ของหลู่ซิ่น

“สาเหตุของโรคพูดโดยไม่ได้ยั้งคิด มิใช่เกิดจากไม่มีเวลาคิด แต่เกิดจากยามมีเวลาก็ไม่ยอมใช้หัวคิด”

นี่ดูจะเหมาะสมัยกับยุคพล่อยพล่ามของนักการเมืองบ้านเราวันนี้

อีกประโยคของคำคมจีนคือ

“เลี้ยงลูกชายไม่ให้การศึกษา ก็เหมือนเลี้ยงลา เลี้ยงลูกสาวไม่ให้การศึกษา ก็เหมือนเลี้ยงหมู”

ดูเหมือนจะมีหมูกับลาเพ่นพ่านอยู่เต็มบ้านเมืองเราเวลานี้ แล้วนี่จะหันไปชี้หน้าโทษใครดี

ยังมีอีกคำคมสมยุคสมัยดีนัก คือ

“นักการเมืองนึกถึงการเลือกตั้งสมัยหน้า

รัฐบุรุษนึกถึงอนุชนรุ่นหลัง”

การศึกษานี่แหละสำคัญนัก ดังเบนจามิน แฟรงคลิน ปราชญ์อเมริกันว่าไว้คือ

“การศึกษานั้นแพง แต่ความไม่รู้แพงกว่า”

อีกคำเหมือนจะเป็นของปราชญ์ฟรานซิส เบคอน ว่า

“คนมีการศึกษานั้นปกครองง่าย

แต่จะกดขี่เขาไม่ได้เลย”

แถมอีกคนละกัน คำนี้เป็นของโสเครติส ว่า

“แม่ของข้าพเจ้าเป็นหมอตำแย ข้าพเจ้าเดินทางตามรอยเท้าแม่ ข้าพเจ้าเป็นคนทำการคลอดทางใจ โดยช่วยให้ผู้อื่นสามารถให้กำเนิดความคิดแก่ตนเอง”

กลับมาร้านข้าวแกงเมืองกาญจน์ แถมท้ายอีกคำได้โดนดี คือ

เจ็บแล้วจำคือคน เจ็บแล้วทนคือควาย