วรศักดิ์ มหัทธโนบล : มลพิษที่มิได้ทุเลาเบาบาง จีนเติบโตด้วยต้นทุนสูงลิ่ว

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

แม้จีนจะประสบผลสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจเป็นอย่างสูงก็ตาม แต่จีนก็มีราคาที่ต้องจ่ายหรือแลกมาคือ ปัญหาสิ่งแวดล้อมหรือมลพิษ

คำถามเบื้องต้นจึงมีว่า มีหลายประเทศในโลกที่ประสบผลสำเร็จในทางเศรษฐกิจเช่นจีน แต่ทำไมประเทศเหล่านั้นจึงมีปัญหาดังกล่าวน้อยกว่าจีนหลายเท่า

คำตอบคือ เป็นเพราะประเทศเหล่านั้น (โดยหลักแล้วคือสหรัฐอเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่น) มีต้นทุนทางด้านสิ่งแวดล้อมอยู่ในการลงทุนทางเศรษฐกิจอยู่ด้วย

ในขณะที่จีนไม่มีหรือมีก็ต่ำมาก

จากเหตุนี้ เศรษฐกิจจีนที่เจริญรุ่งเรืองในปัจจุบันจึงตั้งอยู่บนฐานที่ไม่มีต้นทุนทางด้านสิ่งแวดล้อม และมิแน่ว่าจะคุ้มค่าจริง

นอกเสียจากจีนจะเห็นว่าตัวเลขทางเศรษฐกิจที่สวยหรูมีค่ามากกว่าดัชนีทางสิ่งแวดล้อมที่เลวร้ายเท่านั้น

 

สิ่งแวดล้อมที่เป็นปัญหาในจีนนั้นเป็นผลของมลพิษที่ประกอบด้วยคาร์บอนไดออกไซด์ที่ก่อให้เกิดภาวะเรือนกระจก ไนโตรเจนออกไซด์ที่มาจากการเผาไหม้ถ่านหินและการสันดาปของรถยนต์ คาร์บอนมอนอกไซด์ที่เกิดจากการสันดาปของเครื่องยนต์ที่ไม่สมบูรณ์ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ที่เกิดจากกระบวนการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงฟอสซิลและฝุ่นละอองต่างๆ

มลพิษที่เกิดขึ้นนี้ส่งผลต่อสุขภาพในลักษณะต่างๆ เช่น ระบบทางเดินหายใจ การเกิดเสมหะและน้ำมูก หลอดลมอักเสบ โรคหอบหืด และการติดเชื้อผ่านระบบทางเดินหายใจ เป็นต้น

นอกจากมลพิษทางอากาศดังกล่าวแล้ว จีนก็ยังมีปัญหาสิ่งแวดล้อมทางน้ำ โดยเฉพาะแหล่งน้ำที่มีอยู่ตามธรรมชาติไม่ว่าจะเป็นทะเลสาบ แม่น้ำ หรือบึงขนาดใหญ่ ต่างปนเปื้อนของเสียที่ปล่อยโดยภาคเกษตรกรรมและภาคอุตสาหกรรมจนเป็นอันตรายแก่สัตว์น้ำและสัตว์ป่า

โดยในทะเลสาบนั้น ได้มีการเกิดขึ้นของตะไคร่น้ำ (algae) และยูโทรฟิเคชั่น (Eutrophication) ที่ทำให้ปริมาณธาตุอาหารจำพวกฟอสฟอรัสและไนโตรเจนสูงขึ้น จนไปกระตุ้นพืชสีเขียวตลอดจนแบคทีเรียสังเคราะห์แสงได้มากขึ้น และเจริญเติบโตแพร่พันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว จนทำให้ระดับออกซิเจนในแหล่งน้ำนั้นๆ ลดลง และส่งผลต่อการดำรงชีวิตของสัตว์น้ำและสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ไม่แต่ภาวะน้ำที่มีปัญหาเท่านั้น จีนยังมีปัญหาการขาดแคลนน้ำทางตอนเหนืออีกด้วย

และที่ดูจะซ้ำเติมปัญหาขาดแคลนน้ำก็คือ การแปรสภาพเป็นทะเลทราย (desertification) ที่เกิดขึ้นที่พื้นที่ทางตอนเหนือของจีน

 

การแปรสภาพเป็นทะเลทรายนี้หมายถึง การที่พื้นที่ซึ่งไม่ใช่ทะเลทรายได้แปรสภาพเป็นทะเลทรายแล้วค่อยๆ ขยายใหญ่ขึ้น ซึ่งสำหรับจีนแล้วพื้นที่ดังกล่าวได้ขยายเพิ่มขึ้นในแต่ละปี ภาวะนี้เกิดขึ้นจากการใช้ที่ดินเพื่อการผลิตและการทำปศุสัตว์ จนเกินระดับที่ที่ดินจะรักษาคุณภาพต่อไปได้

นอกจากนี้ ก็ยังถูกซ้ำเติมจากพายุทรายที่มาจากทะเลทรายที่อยู่เหนือขึ้นไปจากภาคเหนือในแต่ละปี ซึ่งจะพัดพาเอาดินเหลืองมาคลุมหน้าดินในพื้นที่ที่ว่าจนเป็นทะเลทรายไปในที่สุด การคลุมหน้าดินนี้ส่งผลกระทบต่อการผลิตในภาคเกษตรไปด้วย

ส่วนบริเวณที่เกิดภาวะดังกล่าวนี้คือ ทิเบต ซินเจียง ชิงไห่ กานซู่ หนิงเซี่ย และมองโกเลียใน

ส่วนที่ว่าการแปรสภาพเป็นทะเลทรายขยายขึ้นเรื่อยๆ นั้น นักวิทยาศาสตร์จีนพบว่า ตั้งแต่ทศวรรษ 1950 ถึงทศวรรษ 1970 การแปรสภาพเป็นทะเลทรายจะขยายเพิ่มขึ้นประมาณ 1,560 ตารางกิโลเมตรต่อปี แต่พอทศวรรษ 1980 ได้เพิ่มขึ้นเป็น 2,100 ตารางกิโลเมตรต่อปี และพอถึงทศวรรษ 1990 ก็เพิ่มขึ้นเป็น 2,460 ตารางกิโลเมตรต่อปี

ซ้ำร้ายในแต่ละช่วงทศวรรษดังกล่าว พายุทะเลทรายยังเกิดเพิ่มขึ้นในแต่ละช่วงอีกด้วย นั่นคือ นับจากทศวรรษ 1950 ถึงทศวรรษ 1990 (รวมห้าทศวรรษ) พายุทะเลทรายได้เกิดเพิ่มขึ้นคือ 5 ครั้ง, 8 ครั้ง, 13 ครั้ง, 14 ครั้ง 23 ครั้ง ตามลำดับ

และโดยที่ในปี 2000 ถึง 2001 (สองปี) ได้เกิดมากกว่า 20 ครั้ง นักวิทยาศาสตร์จึงประเมินว่า ตลอดทศวรรษ 2000 (ปี 2000-2009) จึงน่าจะเกิดพายุนี้ราว 100 ครั้ง ซึ่งยิ่งมากครั้งเพียงใดก็ยิ่งเพิ่มภาวะการกลายเป็นทะเลทรายมากขึ้นเพียงนั้น

 

จะเห็นได้ว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมของจีนใช่แต่จะมีเฉพาะมลพิษในเมืองใหญ่เท่านั้น หากยังมีที่มาจากปัญหาอื่นที่เกี่ยวเนื่องกับปัญหาสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

กล่าวเฉพาะปัญหามลพิษที่แม้จะเกิดขึ้นมานับแต่ที่จีนเร่งปฏิรูปเศรษฐกิจก็ตาม แต่ในแง่ของข้อมูลกลับปรากฏขึ้นครั้งแรกก็ในปี 2008 เมื่อเครื่องตรวจจับมลพิษที่ติดตั้งอยู่บนหลังคาของสถานทูตสหรัฐพบว่ามีมลพิษที่สูงมากในเป่ยจิง และได้แจ้งเตือนเจ้าหน้าที่ผ่านทวิตเตอร์ของตนว่า ไม่ควรอยู่นอกอาคารหรือออกกำลังกายมากเกินไป

ผลคือ ข่าวมลพิษดังกล่าวถูกแพร่ออกไป จนทางการจีนต้องร้องขอให้สถานทูตสหรัฐงดเผยแพร่ข้อมูลที่ว่า โดยให้เหตุผลว่า เพื่อมิให้ชาวเป่ยจิงเกิดความสับสนจากข้อมูลดังกล่าว

แต่หลังจากเหตุการณ์ครั้งนั้นทางการจีนก็ยังคงไม่รายงานสภาพมลภาวะตามที่เป็นจริง

แม้ในปี 2011 ที่สนามบินเป่ยจิงได้ยกเลิกเที่ยวบินราว 700 เที่ยวอันเนื่องมาจากหมอกพิษก็ตาม แต่ทางการจีนก็ยังคงรายงานว่าเป็นเพราะสภาพหมอกปกติที่มิใช่หมอกพิษ

ทางการจีนไม่เพียงปกปิดข้อมูลที่แท้จริงของมลภาวะเท่านั้น หากแม้แต่ชาวจีนที่เริ่มตื่นตัวในปัญหานี้แล้วนำปัญหานี้มาตีแผ่ ทางการจีนก็ยังสกัดกั้นด้วยวิธีต่างๆ

 

กรณีตัวอย่างหนึ่งที่เป็นที่รู้กันไปทั่วโลกก็คือ สารคดีเรื่อง Under the Dome (ฉย์งติ่งจือเซี่ย) ที่ผลิตโดยอดีตผู้ประกาศและผู้สื่อข่าวของสถานีโทรทัศน์ของรัฐบาลชื่อไฉจิ้ง ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากที่บุตรสาวของเธอเป็นมะเร็งตั้งแต่ที่อยู่ในครรภ์ และต้องนำเข้าห้องผ่าตัดทันทีที่คลอดออกมาโดยที่เธอไม่มีโอกาสได้กอดในฐานะแม่

โรคมะเร็งดังกล่าวเชื่อว่ามีที่มาจากที่เธอได้สูดมลพิษเข้าไป หลังจากนั้นเธอก็ลาออกจากงานเพื่อมาดูแลบุตรสาวของเธอ และใช้ทุนส่วนตัวส่วนหนึ่งกับเวลาอีกนานนับปีเพื่อผลิตสารคดีเรื่องดังกล่าว โดยมีเธอเป็นผู้นำเสนอด้วยตัวเองตลอดทั้งเรื่อง

สารคดีเรื่องนี้มีเนื้อหาที่พุ่งเป้าไปที่ปัญหาสิ่งแวดล้อมในจีนโดยตรง และมีเนื้อหาที่เพียบพร้อมด้วยข้อมูลที่มาจากการลงแรงของเธอเอง สารคดีนี้จึงเป็นเรื่องที่เปิดเผยให้เห็นถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมหรือมลพิษในด้านต่างๆ ของจีน และให้ความรู้และกระตุ้นสำนึกของชาวจีนได้ตระหนักต่อปัญหาดังกล่าว

หลังจากที่สารคดีเรื่องนี้ถูกเผยแพร่ออกไป ก็พบว่ามีผู้ติดตามสูงราวสองล้านคน จนแม้แต่คนในระดับรัฐมนตรียังออกมาชื่นชมสารคดีเรื่องนี้

 

อย่างไรก็ตาม สารคดีนี้เผยแพร่ผ่านทางเว็บไซต์ครั้งแรกในวันที่ 1 มีนาคม 2015 แต่ในวันที่ 7 เดือนเดียวกันสารคดีนี้ก็ถูกจำกัดในการเผยแพร่ หลังจากนั้นไฉจิ้งก็หายไปจากข่าวสารจนบัดนี้ ไม่เป็นที่สงสัยเลยว่า สิ่งที่ไฉจิ้งได้กระทำลงไปในครั้งนี้ที่แม้จะเป็นเรื่องที่ดีก็ตาม แต่สำหรับทางการแล้วก็ไม่ต่างกับถูกเปิดโปงถึงความล้มเหลว การกระทำของไฉจิ้งจึงย่อมสร้างความไม่สบายใจให้แก่ทางการจีน

แม้สารคดีเรื่อง Under the Dome ของไฉจิ้งจะมิใช่แหล่งข้อมูลแรกเกี่ยวกับมลพิษในจีนก็ตาม แต่เฉพาะสารคดีของเธอก็ให้ข้อมูลที่น่าตกใจอยู่ไม่น้อย เช่น ฝุ่นละออง PM 2.5 ที่เล็กกว่าฝุ่นละอองที่เราเห็นด้วยตาเปล่าถึง 20 เท่านี้มีสารก่อมะเร็งอยู่ถึง 15 ชนิด

สารพิษนี้สามารถผ่านโพรงจมูก คอหอย และหลอดลมได้อย่างง่ายดาย และจะทำให้ร่างกายขจัดมลพิษเหล่านี้ได้ยาก จากนั้นมันก็จะเข้าสู่กระแสเลือดจนทำให้หลอดเลือดตีบ ความดันสูง หัวใจขาดเลือดและเต้นผิดจังหวะ ซึ่งอาจทำให้หัวใจหยุดเต้นในกรณีที่ผู้รับเป็นกลุ่มเสี่ยง

หรือเรือที่ใช้น้ำมันเตาที่จอดห่างจากฝั่งราว 400 เมตรจะปล่อยมลพิษเท่ากับรถบรรทุกห้าแสนคัน โดย 7 ใน 10 ของท่าเรือของโลกอยู่ที่จีน หรือรถบรรทุกในจีนที่ปลอมสติ๊กเกอร์ใบอนุญาตของกรมสิ่งแวดล้อมของจีนจะปล่อยมลพิษสูงกว่ารถบรรทุกที่ได้มาตรฐานถึง 500 เท่า หรือร้อยละ 60 ของอุตสาหกรรมเหล็กเล็ดลอดจากกระบวนการตรวจสอบด้านสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

โดยสรุปแล้วตามเมืองใหญ่ต่างๆ ที่มีการพัฒนาอุตสาหกรรมสูงล้วนมีมลพิษทั้งสิ้น