บทวิเคราะห์ : เวียดนามกับเกาหลีเหนือ สายสัมพันธ์ที่มากกว่าแค่ประเทศ

ซัมมิท “ทรัมป์-คิม” ที่ฮานอยเพิ่งผ่านพ้นไปหมาดๆ ทำให้คนทั้งโลกอุ่นใจขึ้นเล็กน้อยว่าอย่างน้อยสงครามนิวเคลียร์ล้างโลกคงเกิดยากขึ้น…อีกนิดหน่อยก็ยังดี

ว่ากันในแวดวงการทูตว่า สถานที่ซัมมิทหนแรก สหรัฐอเมริกาเป็นคนเลือกใช้สิงคโปร์เป็นที่จัดการประชุม

พอถึงคำรบสอง เป็นสิทธิของเกาหลีเหนือที่จะเลือกบ้าง ทำไมถึงได้เลือกเวียดนามให้รับหน้าเป็นเจ้าภาพ?

สิงคโปร์ถูกเลือก เพราะนอกจากเป็นชาติพัฒนาแล้วชาติเดียวในอาเซียน ยังเป็นมิตรประเทศที่ใกล้ชิดที่สุดกับสหรัฐอเมริกา หรือเวียดนามคือมิตรสนิทของเกาหลีเหนือ?

ข้อเท็จจริงที่น้อยคนล่วงรู้ แม้แต่ชาวเวียดนามจำนวนไม่น้อยก็คือ เกาหลีเหนือกับรัฐบาลฮานอยคือ “สหายศึก” ร่วมรบเคียงบ่าเคียงไหล่กันมาในสงครามเวียดนาม

 

ที่ตอนเหนือของจังหวัดบั๊ค แซง ทางตะวันออกเฉียงเหนือของเวียดนาม ยังคงมีสุสานขนาดย่อม ล้อมรอบด้วยนาข้าวสุดลูกหูลูกตา สำหรับเป็นสถานที่กลบฝังเสืออากาศโสมแดง 12 นายกับเจ้าหน้าที่เทคนิคอีก 2 นาย ปรากฏให้เห็นอยู่จนทุกวันนี้

เหนือหลุมศพจัดตั้งแผ่นป้ายจารึกหินอ่อน สะอาดแวววาว แสดงถึงผ่านการขัดถู ทำความสะอาดเป็นประจำ บริเวณสุสานที่ระลึกผ่านการดูแลเป็นระเบียบเรียบร้อย

ดั๋ง ฟาน เดา ทหารผ่านศึกเวียดนาม ผู้ดูแลสุสานแห่งนี้ชี้ให้เห็นว่า แผ่นจารึกเหนือหลุมศพทั้งหมด บ่ายหน้าไปทางตะวันออกเฉียงเหนือ ทิศทางที่ตั้งของดินแดนอันเป็นมาตุภูมิของทหารหาญเหล่านี้

“นี่คือบรรดาคนที่สละชีพเพื่อประเทศชาติของเรา ผมถึงได้มีหน้าที่ปกป้องดูแลพวกเขา”

ทหารอากาศและช่างเทคนิคทั้ง 14 คน คือส่วนหนึ่งของนักบินและช่างเครื่องประจำเครื่องบินรบ มิก-21 จำนวน 80 นายที่เกาหลีเหนือส่งมาร่วมทำสงครามเวหาในสงครามเวียดนามระหว่างปี 1966-1969

ยุทธเวหาเหนือดินแดนเวียดนามในครั้งนั้นเกิดขึ้นหลังจากสงครามเกาหลี (1950-1953) สิ้นสุดลงเพียง 12-13 ปี

ที่น่าสนใจก็คือ ในสงครามเวียดนามเดียวกันนี้ เกาหลีใต้ส่งทหารมาช่วยเหลือรัฐบาลเวียดนามใต้นิยมอเมริกันมากถึง 300,000 นาย

คู่ปรับตัวฉกาจของเสืออากาศโสมแดงยังคงเป็นทหารอากาศอเมริกันคู่แค้นเก่าจากสงครามเกาหลีเมื่อกว่าสิบปีก่อน ที่ส่งฝูงบินทิ้งระเบิดพร้อมเครื่องบินคุ้มกันถล่มพื้นที่เวียดนามเหนือนับหมื่นนับแสนเที่ยว ภายใต้ยุทธการ “โรลลิ่งธันเดอร์”

ทหารเกาหลีไม่เคยเผชิญหน้าซึ่งกันและกันในสมรภูมิเวียดนาม ทหารเกาหลีใต้ไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามีอีกฝ่ายหนึ่งคงอยู่ในการทำศึกหนนี้

เชื่อกันว่าเสืออากาศเกาหลีเหนือสามารถสอยเครื่องบินรบอเมริกันร่วงไปหลายลำ แต่กระนั้นการมีส่วนร่วมของนักรบโสมแดงก็ส่งผลต่อสงครามโดยรวมน้อยมาก

นักบินรบเหล่านี้ได้รับการยอมรับว่าแกร่ง ห้าว แต่ใช่ว่าจะมีประสิทธิภาพมากมายนัก

ฟู ง็อก ดินห์ นักบินรบชาวเวียดนาม พูดถึงทหารอากาศเกาหลีเหนือไว้ว่า ได้ชื่อว่าเป็นคนกล้า แต่มักช้าเกินไป ขาดไหวพริบ ปฏิภาณ เมื่อต้องประจัญบานกลางเวหาเลยถูกฝ่ายอเมริกันยิงตกเสียหลายลำ

 

กระนั้น คิม จี ยุล ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์แห่งโอเบอร์ลิน คอลเลจ ก็ชี้ว่า การที่คิม อิล ซุง ตัดสินใจส่งนักบินรบมานั้น มีส่วนไม่น้อยในการช่วยให้เวียดนามสู้ศึกต่อไปได้ในสภาพไม่เสียเปรียบมากนัก

เรื่องราวทั้งหมดไม่ค่อยเป็นที่รับรู้กันเพราะเวียดนามไม่เคยประกาศเชิดชูเกียรติทหารเหล่านี้ในที่สาธารณะ

“เอาชนะกองทัพอเมริกันได้ด้วยตัวเองเพียงลำพัง เท่กว่ากันเยอะเลย” บัลลาซส์ ซาลอนไท นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญเกาหลีเหนือศึกษาและประวัติศาสตร์สงครามเย็นศึกษาบอก

นั่นเป็นเหตุผลหนึ่ง แต่อีกเหตุผลที่สำคัญกว่าคือ ช่วงท้ายสงครามสัมพันธ์เกาหลีเหนือ-เวียดนามเสื่อมทรามลง ก่อนตกต่ำสุดในปี 1992 เมื่อฮานอยเปิดสัมพันธ์ทางการทูตกับทางการโซล

รอจนถึงปี 2000 เรื่องนี้ถึงปรากฏต่อโลก ปี 2002 ศพของนักบินและช่างเทคนิคทั้ง 14 นายถึงถูกขุดขึ้นมานำกลับไปกลบฝังในสุสานทหารที่เกาหลีเหนือ

เหลือสุสานเล็กๆ ไว้เป็นอนุสรณ์ เตือนให้คนเวียดนามรุ่นหลังใคร่ครวญถึง “สหายศึก” เหล่านี้ต่อไปเท่านั้น