แมลงวันในไร่ส้ม/ เช็กบิล ‘สื่อทีวี’ วอยซ์-โมเดิร์นไนน์ พิษ ‘ดีเบตเลือกตั้ง’

แมลงวันในไร่ส้ม

เช็กบิล ‘สื่อทีวี’

วอยซ์-โมเดิร์นไนน์

พิษ ‘ดีเบตเลือกตั้ง’

 

เทศกาลเลือกตั้งช่วยปลุกสถานการณ์ของสื่อต่างๆ ให้กลับมาคึกคักอีกครั้ง โดยเฉพาะสื่อทีวี ที่เกิดปรากฏการณ์แข่งกันจัดรายการดีเบต ประชันวิสัยทัศน์อย่างถี่ยิบ

บางช่องจัดแล้วแจ้งเกิด สร้างความประทับใจ แต่บางช่องเชิญนักการเมืองมานั่งพร้อมหน้า แต่ไม่สามารถคุมประเด็นได้ กลายเป็นประเด็นถูกวิพากษ์วิจารณ์ไปอีก

บางช่องถูกตามเช็กบิล อย่างวอยซ์ทีวี ถูกคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) สั่งปิด 15 วัน ตั้งแต่ 00.00 น. ของวันที่ 13 กุมภาพันธ์

โดยระบุความผิดว่า ออกอากาศรายการที่มีเนื้อหาทำให้เกิดความสับสนและยั่วยุให้เกิดความแตกแยก จากรายการทูไนท์ ไทยแลนด์วันที่ 16 ธันวาคม 2561 รายการเบรกกิ้งนิวส์ วันที่ 21, 28, 29 มกราคม และวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2562

อย่างไรก็ตาม วอยซ์ได้ยื่นศาลปกครองขอให้คุ้มครองชั่วคราวเพื่อออกอากาศต่อไป และต่อมาวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ศาลปกครองมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งของ กสทช.ไว้ชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น

ก่อนตัดสินในเวลาต่อมาว่า ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ให้ความคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของบุคคลซึ่งประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนและสื่อมวลชนไว้อย่างชัดแจ้ง

การที่วอยซ์ทีวีมีการจัดรายการโดยการจัดให้มีแหล่งข่าวมาออกทีวีเเละวิจารณ์เนื้อหาสนับสนุนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เป็นเรื่องที่ต้องไปว่ากล่าวกันในเรื่องจริยธรรมที่มีองค์กรวิชาชีพกำกับ

แต่การกระทำนั้นยังฟังไม่ได้ว่าทำให้ประชาชนสับสนก่อให้เกิดการปลุกปั่นยั่วยุให้เกิดความขัดแย้งและก่อให้เกิดความขัดแย้งเสียหายอย่างร้ายแรงหรือไม่อย่างไร

กรณี กสทช.สั่งพักใช้ใบอนุญาต 15 วัน จึงเป็นคำสั่งที่ไม่ถูกต้อง ที่จะเข้าเงื่อนไขในการถูกคำสั่งทางปกครองพักใช้ใบอนุญาตตาม ม.64, 16 และ 37 พ.ร.บ.กสทช.

จึงมีคำพิพากษาเพิกถอนคำสั่งเพิกถอนมติการประชุม กสทช.ครั้งที่ 3/2562 เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ ที่ให้พักใบอนุญาตวอยซ์ทีวีเป็นเวลา 15 วัน

ส่งผลให้วอยซ์ออกอากาศต่อไปได้

 

อีกกรณี เมื่อวันที่ 1 มีนาคม นางอรวรรณ ชูดี กริ่มวิรัตน์กุล เปิดเผยผ่านเฟซบุ๊กว่า ถูกบอร์ด อสมท สั่งให้ยุติการทำหน้าที่จากกรณีการจัดรายการดีเบตนิสิต นักศึกษา ในรายการ “ดีเบต เลือกตั้ง 62” ของช่อง 9 โมเดิร์นไนน์

รายการดังกล่าวนางอรวรรณจัดร่วมกับนายวีระ ธีรภัทร ภายใต้หัวข้อ “ประชันวิสัยทัศน์ คนรุ่นใหม่ การเมืองไทยในความคิดของคนรุ่นใหม่ ควรเป็นอย่างไร?” ออกอากาศทางช่องโมเดิร์นไนน์ เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์

เจ้าตัวระบุว่า น้อมรับการตัดสินใจ แต่ในฐานะสื่อมวลชนที่ทำงานมาเกือบ 30 ปี ไม่ยอมรับการถูกตราหน้าว่าลำเอียง

นางอรวรรณยังระบุในเฟซบุ๊กว่า คารวะพลังบริสุทธิ์ของนิสิต-นักศึกษาทั้ง 100 คนในห้องส่ง จาก 16 สถาบันทั้งใน กทม. เหนือ กลาง อีสาน ใต้ ที่แสดงความคิดเห็นต่อสถานการณ์บ้านเมืองในรายการดีเบตของช่อง 9 ในคำถามดังต่อไปนี้

  1. เห็นด้วยหรือไม่ที่ พล.อ.ประยุทธ์ตัดสินใจไม่ร่วมการดีเบต

เห็นด้วย 6 เสียง ไม่เห็นด้วย 94 เสียง

  1. เห็นด้วยหรือไม่ ที่ รธน.60 ในบทเฉพาะกาล 5 ปีแรกให้ ส.ว. 250 คนร่วมโหวตเลือกนายกฯ

เห็นด้วย 1 เสียง ไม่เห็นด้วย 99 เสียง

  1. เห็นด้วยหรือไม่ เรื่องยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี จำเป็นสำหรับประเทศไทย

เห็นด้วย 2 เสียง ไม่เห็นด้วย 98 เสียง

  1. เห็นด้วยหรือไม่ว่าประเทศไทยจะมีการปกครองแบบประชาธิปไตยเต็มใบหรือครึ่งใบก็ได้ ถ้าทำให้ปากท้องประชาชนดีขึ้น

เห็นด้วย 17 เสียง ไม่เห็นด้วย 83 เสียง

นางอรวรรณระบุว่า พวกเขาไม่ทราบคำถามล่วงหน้า แต่ 100 เสียงในคืนวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2562 ของเหล่าเฟิร์สต์โหวตเตอร์เหล่านี้กำลังขย่มขวัญไปถึงผู้มีอำนาจ จนมองว่านี่คือการชี้นำโจมตีรัฐบาล ทั้งที่เป็นประเด็นที่คนไทยทั้งประเทศมีสิทธิแสดงความคิดเห็น

ในฐานะ 1 ในพิธีกร และผู้ทำหน้าที่คิดรูปแบบรายการดีเบตทั้ง 2 ครั้งของช่อง 9 ขอยอมรับการตัดสินใจของบอร์ด อสมท และผู้บริหารในการให้ยุติการทำหน้าที่ ในฐานะผู้ใต้บังคับบัญชา

แต่ในฐานะวิชาชีพสื่อสารมวลชนที่มีอายุงานเกือบ 30 ปี ดิฉันไม่ยินยอมรับการตราหน้าว่าทำหน้าที่ลำเอียง และขอขอบคุณต่อเสียงตอบรับในแง่ดีจากผู้ชมทีวีต่อรายการดีเบตของช่อง 9 เมื่อคืนที่ผ่านมา ณ โอกาสนี้

หลังจากนางอรวรรณออกมาโพสต์ ส่งผลให้เว็บไซต์และโซเชียลมีเดียต่างๆ โพสต์ถึงบิ๊กทหาร ผู้เป็นประธานบอร์ด อสมท อย่างดุเดือด

 

ต่อมา นายเขมทัตต์ พลเดช กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ อสมท จำกัด (มหาชน) หรือ บมจ.อสมท ออกมาชี้แจงว่า อสมท มีการทำโครงการรายการสดดีเบต 4 ครั้ง เพื่อรณรงค์ให้คนไทยได้ทราบถึงแนวคิดนโยบายของพรรคการเมืองต่างๆ ในวันที่ 22, 28 กุมภาพันธ์ และ 7, 14 มีนาคม 2562 ซึ่งฝ่ายบริหารได้ให้แนวคิดและกรอบการจัดรายการให้มีความเป็นกลาง มีความเท่าเทียมกัน และมีความคิดสร้างสรรค์ที่แตกต่างจากสถานีแห่งอื่นๆ

หลังจากดีเบต ทีมงานได้มีการประชุมหารือ ประเมินผลทุกครั้ง เพื่อปรับปรุงคุณภาพของรายการ

ซึ่งใน 2 ครั้งแรก การจัดรายการอาจมีบางจุดที่ไม่ค่อยไหลลื่น ซึ่งเป็นเรื่องปกติของพิธีกรรายการสด สำหรับการจัดรายการครั้งที่ 3 ซึ่งเป็นเรื่อง “สวัสดิการแห่งรัฐ” ได้เชิญผู้บริหารสำนักข่าวไทยมาหารือ และปรึกษาว่า ในรายการดีเบตที่ต้องพูดถึงเรื่องสวัสดิการสังคมแห่งรัฐซึ่งเกี่ยวพันกับด้านเศรษฐกิจและการเงินการคลังของชาติ อาจจะให้พิธีกรที่มีความเชี่ยวชาญด้านข่าวเศรษฐกิจมาสลับกับพิธีกรเดิม เพื่อสร้างความหลากหลาย และให้กลับมาเสนอแนวทางอีกครั้งในวันจันทร์ที่ 4 มีนาคม เพื่อทำรายการให้น่าสนใจ

ส่วนการดีเบตครั้งสุดท้ายในวันที่ 14 มีนาคม การรายงานผลคะแนนในวันเลือกตั้ง 24 มีนาคม ยังใช้พิธีกร 2 คนเช่นเดิม

นายเขมทัตต์ระบุว่า ตระหนักดีว่าจรรยาบรรณและเสรีภาพของสื่อมวลชนเป็นสิ่งสำคัญ ดังนั้น การทำงานของ อสมท จึงให้อิสระแก่ทีมงานข่าวโดยไม่ก้าวล่วงหรือแทรกแซงแต่อย่างใด ในนามของฝ่ายบริหารขอเรียนว่า มิเคยมีคำสั่งเป็นลายลักษณ์อักษรให้ปลดพิธีกรและแทรกแซงสื่อตามที่เป็นข่าวแต่อย่างใด พิธีกรทั้งสองยังคงดำเนินการจัดรายการได้ตามปกติใน อสมท ทั้งจัดรายการวิทยุ และรายการข่าวโทรทัศน์เช่นเดิม

จึงขออภัยในความคลาดเคลื่อนของการสื่อความ และขอน้อมรับความผิดพลาดของข้อมูลดังกล่าว

กรณีที่ อสมท เป็นอีกครั้งที่กระแสสังคมได้แสดงออกอย่างชัดเจน ก่อนที่ฝ่ายบริหารจะออกมาชี้แจงดังกล่าว