เศรษฐกิจ / ‘ท่องเที่ยว’ ซ้ำรอย ‘ส่งออก’ จริงหรือ หลุดโผ…พระเอกขับเคลื่อน ศก.ไทย

เศรษฐกิจ

 

‘ท่องเที่ยว’ ซ้ำรอย ‘ส่งออก’ จริงหรือ

หลุดโผ…พระเอกขับเคลื่อน ศก.ไทย

 

เริ่มหวาดหวั่นกันแล้ว ว่าภาคท่องเที่ยวไทยจะซ้ำรอยภาคส่งออกไทยหรือไม่

ที่เริ่มต้นมาตัวเลขไม่ค่อยจะสวยงาม และอยู่ในอาการร้อนๆ หนาวๆ เพิ่งผ่านไปเพียงเดือนแรกของปี 2562 ทั้งภาคเอกชนและนักวิชาการฟันธง ส่งออกปีนี้หดหาย อาจเติบโตดีสุดไม่เกิน 3-3.5%

เพราะหากภาคท่องเที่ยว ซึ่งเป็นเสาหลักของการพยุงตัวเลขเศรษฐกิจไทย กร่อยตั้งแต่ต้นปี อาจฉุดรั้งเป้าหมายตัวเลขจีดีพีปีนี้หวังให้โตได้ 4% วูบหายไปอีก!!!

เมื่อดูตัวเลขเดือนมกราคมที่ผ่านมา พบว่า นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในไทย 3,718,504 ล้านคน และขยายตัว 4.91% เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนมกราคม 2561 ที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวในไทย 3,544,528 คน และขยายตัว 10.87%

แม้จำนวนจะเพิ่มขึ้น แต่อัตราการขยายตัวกลับลดลงและต่ำกว่าหลายๆ ปีที่ผ่านมา

โดยเฉพาะเทียบเดือนมกราคม 2561 ซึ่งฐานตัวเลขค่อนข้างสูง เพราะขณะนี้การท่องเที่ยวได้รับอานิสงส์เต็มๆ จากภาวะเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัวหลังชะลอมาหลายปีก่อนหน้า

ทำให้ผู้บริโภคกลับมากล้าใช้จ่ายและฟื้นความอยากเดินทางท่องเที่ยวอีกครั้ง

 

ต่างกับสถานการณ์ปีนี้ ปัจจัยรุมเร้าเข้ามาต่อเนื่อง และไม่เห็นทิศทางจะจบลงจริงๆ

เริ่มจากผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาทไทย ทั้งผันผวนและแข็งค่าเร็ว บางช่วงแข็งค่าจนเงินแพงกว่าประเทศคู่แข่งในอาเซียนด้วยกัน ดังนั้น บาทแข็งนานๆ ทำให้นักท่องเที่ยวแลกเป็นเงินบาทได้ลดลง ผู้ประกอบการบางส่วนเมื่อเงินบาทได้ลดลงก็หันปรับราคาสินค้าหรือเพิ่มค่าบริการแฝง

อีกปัญหาที่ไม่น่าเกี่ยวข้องก็เกี่ยวข้อง คือ สงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน ที่สหรัฐต้องการลดการขาดดุลการค้ากับจีนโดยการปรับเพิ่มอัตราภาษีนำเข้าจาก 10% เป็น 15-25% แม้ตอนนี้ซื้อเวลาด้วยการเจรจากันไปมา แต่ก็ป่วนการค้าโลก รวมถึงการค้าการลงทุนในจีนเองด้วย

ทำให้เกิดการชะงักของการส่งออกสินค้าจีนไปสหรัฐ การหาตลาดทดแทนก็ไม่ได้มากนัก ทำให้การค้าระหว่างประเทศของจีนก็ป่วนพอควร ทำให้บางส่วนชะลอการเดินทางและใช้จ่ายเงินเมื่อเที่ยวนอกประเทศ รวมถึงไทยด้วย

ความขัดแย้งการเมืองระหว่างประเทศก็เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่มองข้ามไม่ได้ แม้บางเรื่องจะเป็นการมาไวไปไว อย่างกรณีข้อพิพาทอินเดียกับปากีสถาน จนปากีสถานประกาศปิดน่านฟ้า จนเกิดนักท่องเที่ยวตกค้างนานหลายวัน และต้องทำให้ทุกสายการบินที่บินเข้ายุโรปต้องปรับเส้นทางบินอ้อมกันวุ่นวาย

กลายเป็นต้นทุนเพิ่มของผู้เดินทางและสายการบิน

 

เรื่องนี้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุชัดว่า ไม่น่าส่งผลกระทบกับชาวอินเดียเที่ยวไทย เนื่องจากคนอินเดียมาเที่ยวไทยไม่ได้มาจากพื้นที่ที่เป็นปัญหา

และการปิดน่านฟ้าของปากีสถาน ไม่ได้ส่งผลกระทบทำให้สายการบินปรับเปลี่ยนเส้นทางการบิน เพียงการบินอ้อมอาจส่งผลกระทบไม่มากนัก

เมื่อดูการคาดการณ์นักท่องเที่ยวอินเดียเข้ามาเที่ยวไทยปี 2562 ยังมองว่าจะยังรักษาการเติบโตได้ เพราะมีเรื่องประโยชน์จากมาตรการฟรีวีซ่า ที่ช่วยกระตุ้นการเติบโตของนักท่องเที่ยวอินเดียในไทยมาตั้งแต่ปลายปี 2561

โดยคาดว่าปีนี้นักท่องเที่ยวอินเดียมาเที่ยวไทยน่าจะมีจำนวน 1.70-1.74 ล้านคน ขยายตัว 6.7-8.7%

และการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวอินเดียในไทยคาดว่าจะสร้างรายได้กว่า 76,680-78,100 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.2-9.2% ดูแล้วก็น่าจะโล่งใจ

ต่างกับตลาดนักท่องเที่ยวจีน ถึงตอนนี้จำนวนก็ยังไม่ฟื้นเต็มตัว หลังเกิดเหตุการณ์เรือล่มทางตอนใต้ของไทย กลางปี 2561 จนทำให้ตัวเลขชาวจีนเดือนสิงหาคม-ตุลาคม สูญหาย จนรัฐแก้เกมด้วยการใช้มาตรการฟรีวีซ่า หวังกระตุ้นชาวจีนกลับมาเที่ยวอีกครั้ง ก็เข้าเดือนพฤศจิกายน

ยังไม่รวมเรื่องโครงสร้างพื้นฐานที่เริ่มวิตกขีดความสามารถในการรองรับของสนามบิน จากการที่จำนวนนักท่องเที่ยวทั่วโลกเข้าไทยจนแน่น และบางส่วนมาเพื่อต่อไปประเทศที่ 3

 

ปัญหาโครงสร้างพื้นฐานพัฒนาไม่ทัน เป็นเรื่องที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ออกมาเตือนล่วงหน้าไว้แล้ว และปีนี้ออกมาเพิ่มความกังวลว่าไม่เร่งแก้ไขอาจกระทบต่อเศรษฐกิจไทย ที่ยังต้องพึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยว และดูเหมือนท่าทีของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา หันไปเน้นคุณภาพและความปลอดภัยต่อการท่องเที่ยว แทนที่จะพูดถึงการดึงจำนวนนักท่องเที่ยวใหม่ เช่น เน้นความปลอดภัยทางการเดินทาง รณรงค์ใช้วัตถุดิบลดขยะและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ผลักดันการเที่ยวเมืองรอง และเข้าถึงแหล่งชุมชนใหม่ๆ มากขึ้น

แม้ในบางเทศกาลจะกระตุ้นการท่องเที่ยว เช่น ช่วงตรุษจีน ก็พบว่ายอดเดินทางเพิ่มเพียง 5% และเป็นกลุ่มชาวอาเซียนด้วยกันเอง

ขณะที่นักท่องเที่ยวจีนที่เป็นตลาดหลักมาตลอด กลับเพิ่มขึ้นไม่เท่าก่อนเกิดเหตุเรือล่มและสหรัฐประกาศขี้นภาษีนำเข้าจากจีน

ก็ต้องมาติดตามกันต่อไปสำหรับเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งในไทยเอง รัฐบาลประกาศหยุดยาวต่อเนื่อง 5 วัน ทั้งกระทรวงการท่องเที่ยวฯ และ ททท. จะงัดไม้เด็ดอะไรออกมากระตุ้นความอยากเที่ยวของคนไทยและต่างชาติมาไทย

จุดเล่นน้ำที่เคยสร้างความคึกคักจะมีมนต์ขลังอีกครั้งหรือไม่ในสงกรานต์ปีนี้

ซึ่งปีที่ผ่านมาช่วงสงกรานต์คึกคัก สร้างเงินใช้จ่ายสะพัดทำสถิติสูงสุดรอบ 13 ปี มูลค่าสูงกว่า 1.32 แสนล้านบาท

แถมด้วยการท่องเที่ยวฯ เริ่มใช้เทคโนโลยีเข้ามาอำนวยความสะดวกอีกทาง เช่น วีซ่าอิเล็กทรอนิกส์สำหรับการยืนยันตัวตนในช่องทางอนุญาตของด่านตรวจคนเข้าเมือง (อี-วีโอเอ) ที่เดือนพฤษภาคม ไทยประกาศว่าพร้อมเปิดให้ใช้งานอิเล็กทรอนิกส์วีซ่า (อี-วีซ่า) โดยเริ่มนำร่องจากชาวจีน สหราชอาณาจักร และฝรั่งเศส โชว์ความพร้อมไทยเข้ายุค 5 จีได้แล้ว

เมื่อสอบถามเจ้าของธุรกิจที่เกี่ยวข้องด้านท่องเที่ยว ทั้งที่พัก การบิน และร้านอาหาร ยังมองอนาคตท่องเที่ยวไทยยังดี แต่อาจไปไม่ดีเท่าปีก่อน เพราะยังเชื่อว่าเศรษฐกิจโลกและข้อพิพาทการเมืองคือตัวแปรสำคัญที่ท่องเที่ยวไทยอาจถึงดวงดาว!

 

ย้อนดูสถิติจำนวนนักท่องเที่ยวสะสม 5 ปี พบการเปลี่ยนแปลงตัวเลขในทุกปีอย่างมีนัยยะสำคัญ โดยเฉพาะปี 2559 ตัวเลขนักท่องเที่ยวในภูมิภาคเอเชียตะวันออก เติบโตพรวดจากหลักล้านต้นๆ ในปี 2558 มาเป็นหลักสิบล้าน

ทำให้ปีต่อมาตัวเลขเพิ่มขึ้นดูเหมือนไม่มาก แต่ช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ยังไม่มีตัวเลขในตลาดภูมิภาคเอเชียตะวันออกติดลบเลยแม้แต่ปีเดียว

ขณะที่ตลาดนักท่องเที่ยวอื่นๆ กลับมีตัวเลขปรับตัวเพิ่มขึ้นแทบทุกตลาดตีคู่กันมา แม้สัดส่วนในตลาดจะปรับขึ้นไม่มาก แต่จำนวนนักท่องเที่ยวปรับขึ้นค่อนข้างมาก โดยปี 2557 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทยกว่า 2,075,304 คน ปี 2558 เพิ่มเป็น 2,613,699 คน ปี 2559 ทะลุ 32,529,588 คน และปี 2560 อยู่ที่ 35,381,210 คน และปี 2561 ยอด 38,277,300 คน ขยายตัว 7.54%

แม้เปิดตัวอาจไม่สวยนัก แต่เหลือเวลาอีกไกล ถึงจะชี้ชัดท่องเที่ยวไทยปี 2562 ที่คาดหวังตัวเลขถึง 40 ล้านคน และก่อรายได้ประมาณ 3.5 ล้านล้านบาท อีกทั้งจะยังครอง “พระเอกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย” ได้อีกปีหรือไม่

  หากคำนวณเวลาแล้ว เรื่องนี้คงฝากฝีมือไว้กับรัฐบาลใหม่