วิเคราะห์ : คดียุบไทยรักษาชาติ เกมไม่เหนือคาดหมาย? เพิ่มโจทย์ยาก พรรคตระกูล ‘เพื่อ’

พูดกันอย่างตรงไปตรงมา วาทกรรมเรื่องยุทธศาสตร์แตกแบงก์พันเป็นแบงก์ร้อยของพรรคการเมืองฝ่ายเพื่อไทย ตามคำพูดของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำพรรครวมพลังประชาชาติไทย ที่เป็นคนแรกๆ ที่ยกวาทกรรมนี้ขึ้นมาวิจารณ์ ก็ไม่ผิดประการใด

.
เพราะหากจะมองการเมืองไทยในลักษณะองค์รวมของเหตุการณ์ที่มีลักษณะต่อเนื่องมายาวนาน ไม่ได้มองอย่างแยกส่วนแล้ว ก็จะพบพลังของฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับ คสช. พยายามที่จะต่อสู้กับกลไกอำนาจ โดยเฉพาะอำนาจทางกฎหมายของ คสช. ซึ่งเป็นผู้ออกแบบรัฐธรรมนูญและกฎหมายพรรคการเมืองอันนำมาสู่การเลือกตั้งที่จะถึงในวันที่ 24 มีนาคมนี้

.
ยุทธศาสตร์แตกแบงก์พันเป็นแบงก์ร้อยจึงไม่ใช่เรื่องที่ผิดปกติแต่ประการใด
แต่เป็นยุทธศาสตร์ในการแก้เกมของฝ่ายที่ถูกกระทำ เพื่อให้หันกลับมาชนะ แต่ทั้งหมดนี้ ไม่ว่าจะแก้เกมด้วยวิธีการใดในเชิงกลไกของพรรคการเมือง

.
สุดท้ายแล้วก็อยู่ที่ประชาชนอยู่ดี เพราะถ้าไม่มีคนสนับสนุน ไม่สามารถครองใจคนได้ ก็ไม่มีใครเลือก

จึงปฏิเสธไม่ได้ว่า ไทยรักษาชาติที่นำโดยจาตุรนต์ ฉายแสง ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ และสมาชิกส่วนใหญ่ซึ่งเป็นคนเพื่อไทยเก่า ถือกำเนิดมาจากการมองปัญหาของโครงสร้างการเมืองไทยในขณะนี้ เช่นเดียวกับพรรคเพื่อชาติ ที่นำโดยจตุพร พรหมพันธุ์ และยงยุทธ ติยะไพรัช รวมถึงพรรคเพื่อธรรมช่วงก่อนหน้านั้นด้วย เพราะส่วนใหญ่ล้วนมีอุดมการณ์ตรงกันในทางการเมือง

.
ขณะที่บริบทการเมืองกำลังเข้มข้น ประเทศไทยซึ่งตกอยู่ในระบอบการปกครองแบบรัฐบาลทหารมาเป็นเวลากว่า 5 ปี กำลังจะกลับสู่ระบอบการปกครองที่ ส.ส.มาจากการเลือกตั้ง และมีรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการยึดอำนาจอีกครั้ง โดยมีการกำหนดการเลือกตั้งขึ้นในวันที่ 24 มีนาคมที่จะถึงนี้
การงัดข้อกันของพลังกลุ่มก้อนทางอำนาจเดิม คือ คสช. กับกลุ่มก้อนทางอำนาจใหม่ที่ต้องการเปลี่ยนแปลง นำโดยพรรคเพื่อไทย ไทยรักษาชาติ เพื่อชาติ และรวมถึงพรรคอย่างอนาคตใหม่ ดำเนินต่อไปอย่างค่อนข้างดุเดือด


แต่ฝั่งผู้ท้าชิงเพลี่ยงพล้ำไปก่อน โดยเฉพาะไทยรักษาชาติ (ทษช.) ที่เสนอชื่อทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนฯ เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ก่อนจะมีพระราชโองการชี้ว่าเป็นเรื่องมิบังควร

เป็นเหตุให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรค แม้ ทษช.จะยื่นพยานไป 19 ปาก เป็นกรรมการบริหารพรรค 14 ปาก และบุคคลภายนอก 5 ปาก พร้อมข้อต่อสู้ 20 หน้ากระดาษ เป็นข้อต่อสู้ในชั้นศาล แต่ศาลเปิดโอกาสให้คู่กรณีแถลงปิดคดีด้วยวาจาเท่านั้น

.
ศาลรัฐธรรมนูญออกเอกสารชี้แจงผลการพิจารณาว่า ได้พิจารณาคำร้องที่ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญแล้วเนื่องจากมีผู้เกี่ยวข้องยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญหลายราย ศาลรัฐธรรมนูญได้อภิปรายเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยแล้วเห็นว่า คดีมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้ จึงไม่ทำการไต่สวน ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 58 วรรคหนึ่ง และกำหนดประเด็นที่ต้องพิจารณาวินิจฉัย

.
การไม่รับคำร้องขอไต่สวนของศาลรัฐธรรมนูญ สร้างความระทึกใจให้กับสมาชิกพรรคไม่น้อย

ซึ่งเมื่อพิจารณาจากบริบททางการเมืองและประวัติศาสตร์การเมืองช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ในการยุบพรรคไทยรักไทยและพรรคพลังประชาชน ก็ทำให้หลายคนเชื่อว่า แนวทางที่ 3 มีความเป็นไปได้สูงทีเดียว


การเดินเกมต่อสู้กันต่อ ระหว่างฝ่ายประชาธิปไตยกับฝ่ายเผด็จการ ตามความเชื่อของฝ่ายที่ต้องการเปลี่ยนแปลงการเมืองไทยในขณะนี้ ไทยรักษาชาติทีแรกถูกวางตัวไว้ให้เป็นพรรคน้อง คอยตามเก็บคะแนนปาร์ตี้ลิสต์ ขณะที่พรรคพี่ คือเพื่อไทย ไล่เก็บคะแนน ส.ส.แบบแบ่งเขตเป็นหลัก

.
แต่การยุบไทยรักษาชาติเรื่องนี้จาตุรนต์ ฉายแสง ก็พูดเองว่า ถ้า ทษช.ล้มเหลว คิดว่ายากมากที่พรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยจะถึงขั้นได้ตั้งรัฐบาล เพราะเพื่อไทยส่ง ส.ส.เขตแค่ 250 ที่ จาก 350 เขต เมื่อพรรคไทยรักษาชาติหายไป ก็ต้องแก้เกมกันในขนาดมโหฬาร


ยังไม่นับบุคลากรทางการเมืองของพรรคหลายคนซึ่งจัดเป็นตัวหลัก เป็นมันสมองในการวิพากษ์ คสช. ทั้งจาตุรนต์ ฉายแสง ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำ นปช.เก่า ทีมเศรษฐกิจอย่างพิชัย นริพทะพันธุ์ สุชาติ ธาดาธำรงเวช และอีกหลายคน แม้ไม่ถูกตัดสิทธิทางการเมือง แต่ก็อดเข้าไปนั่งในสภาในฐานะผู้แทนฯ ยังไม่นับต้นทุนทางการเมือง การออกไปรณรงค์หาเสียงที่ผ่านมาอีกด้วย เป็นอันสูญเปล่า

.
มีคำถามว่า แล้วอีก 100 เขต ซึ่งรวมถึง กทม.อีกหลายเขต ที่เป็นพื้นที่ของไทยรักษาชาติในการลงชิงชัยสู้กับคู่แข่งขันทางการเมือง ในส่วนผู้สนับสนุนจะเลือกใครดี

ลําดับแรกที่หลายคนคาดการณ์กันก็คงจะเป็นพรรคเพื่อชาติ ที่นำโดยจตุพรและยงยุทธ แต่ก็มีปัญหาในเชิงความไว้เนื้อเชื่อใจ เพราะจตุพรหลังออกจากเรือนจำ มีการตั้งข้อสังเกตเรื่องความเปลี่ยนไปในทางการเมือง กล่าวคือ แม้จะปราศรัย วิจารณ์ปัญหาของเผด็จการ แต่ก็พูดถึงการปรองดองสมานฉันท์บ่อยครั้ง จนเดาทางไม่ถูก
นอกจากนี้ยังมีข่าวปัญหาภายในพรรค ทั้งความสัมพันธ์ระหว่างทีมงานฝ่ายนายจตุพร กับทีมงานฝ่ายนายยงยุทธ

.
กระทั่งมีข่าวดังเรื่องการดีดระดับรองเลขาธิการพรรคพ้นจากกลุ่มไลน์ โดยรองโฆษกพรรคชี้แจงว่ามาจากปัญหาความไม่เข้าใจกันเพียงเล็กน้อย
ทางออกของฝ่ายหนุนประชาธิปไตยเรื่องนี้ ไทกร พลสุวรรณ อดีตแกนนำกลุ่มกองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณวิเคราะห์ว่า ทางออกน่าจะเป็นอนาคตใหม่ เพราะเพื่อชาติมีปัญหาการจัดการภายใน ขณะที่พรรคเสรีรวมไทยก็ค่อนข้างมีความเป็นตัวของตัวเองสูง

เรื่องนี้มีความเป็นไปได้และน่าจับตา เพราะหากวิเคราะห์ในเชิงจิตวิทยาการเมือง กลุ่มคนที่เคยสนับสนุนเพื่อไทยและไทยรักษาชาติ เมื่อไม่มีพรรคการเมืองให้เลือก คะแนนส่วนนี้ก็จะเทไปให้กับพรรคที่คิดตรงกัน

.
ขณะที่เพื่อชาติก็ยังมีความไม่แน่นอน จุดเด่นเชิงบุคคลมีน้อยเมื่อเทียบกับอนาคตใหม่
พรรคเสรีรวมไทยก็ชูจุดขายที่ตัวบุคคลเพียงคนเดียว อนาคตใหม่จะมีแต้มมากกว่า เพราะเสนอนโยบายต่อต้านกลุ่มอำนาจเดิม ที่แน่วแน่และชัดเจนกว่า มีบุคลากรที่สดใหม่กว่า ความไว้ใจว่าพรรคนี้น่าจะไม่จับมืออำนาจเก่าแน่นอน รวมถึงอนาคตใหม่ก็ส่งผู้สมัครครบทั้ง 350 เขต


ส่วนปัญหาหลังวันพิพากษา คาดว่าไม่น่าจะมีอะไรน่าห่วง ที่น่าห่วงกว่านั้นคือ ปัจจัยทางการเมืองอื่นๆ หลังการเลือกตั้งที่จะตามมาเล่นงานพรรคการเมืองได้

.
เพราะวันนี้มีการพูดกันแล้วว่า ต้องจับตามาตรา 28 กฎหมายพรรคการเมืองที่ “ห้ามมิให้พรรคการเมืองยินยอมหรือกระทำการใดอันทำให้บุคคลอื่นซึ่งมิใช่สมาชิกกระทำการอันเป็นการควบคุม ครอบงำ หรือชี้นำ กิจกรรมของพรรคการเมืองในลักษณะที่ทำให้พรรคการเมืองหรือสมาชิกขาดความอิสระ ทั้งนี้ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อม” เรื่องนี้อาจเป็นฉากต่อไปของการเมืองไทย

.
กฎหมายข้อนี้อาจนำมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง เอาผิดนักการเมืองและพรรคการเมืองได้อีกอย่างไม่ยากเลย

.
และหากไม่มีไทยรักษาชาติแล้ว เพื่อไทยก็จะเจองานหนัก หรือพรรคกระแสใหม่อย่างอนาคตใหม่ ที่มีนโยบายการเมืองสังคมคล้ายเพื่อไทย ก็ไม่ใช่ว่าจะเดินหน้าเข้าสภาอย่างสบาย เพราะแกนนำพรรคก็ต้องเจอกับคดีความหลายคดี

เส้นทางของฝ่ายที่เรียกตัวเองว่าประชาธิปไตย ในการไปต่อกรกับฝั่ง คสช. จึงไม่ใช่เรื่องง่าย