ศัลยา ประชาชาติ : ลุ้น ม.44 แจกโปรทิ้งทวน ค่ายมือถือ-ทีวีดิจิตอล-รถไฟไฮสปีด เฮ

เข้าสู่โค้งสุดท้ายของรัฐบาลที่ดูเหมือนจะเต็มไปด้วยเรื่องร้อนๆ ทั้งกระแสการเมือง การเร่งผลักดันกฎหมาย และโครงการต่างๆ ให้ถึงฝั่ง

โดยเฉพาะที่ลุ้นระทึกตอนนี้คือวงการ “โทรคมนาคม-ทีวีดิจิตอล” เมื่อหน่วยงานกำกับดูแลอย่าง “กสทช.” สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติสนับสนุนสุดตัวให้หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ “คสช.” ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ออกคำสั่งให้ยืดเวลาจ่ายเงินประมูลคลื่น 900 MHz ที่เพิ่งประมูลไปในราคาที่ติดอันดับแพงที่สุดในโลก

กสทช.แจกแจงเหตุผลพร้อมย้ำว่า “ม.44” คือทางออกเดียวที่จะทำให้ประเทศไทยมีเทคโนโลยี 5G ใช้ได้ทันในปี 2563

 

“ฐากร ตัณฑสิทธิ์” เลขาธิการ กสทช. อธิบายเรื่องนี้ว่า ตอนนี้ทั้ง 3 ค่ายมือถือไม่มีใครมีกระแสเงินสดเพียงพอ ถ้าต้องลงทุน 5G เพิ่มขึ้นมา แต่หากใช้ ม.44 มายืดเวลาจ่ายค่าคลื่นออกไป รัฐก็ไม่ได้เสียประโยชน์ เพราะเป็นแค่การโยกเงินจาก “ค่าประมูล” จากคลื่น 900 นำไปใช้ในการประมูลคลื่นใหม่ เพื่อลงทุนเทคโนโลยี 5G

แนวทางนี้ยังช่วยปลดล็อกปัญหาผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลที่กำลังบาดเจ็บ ประสบปัญหาขาดทุนอย่างหนัก การที่ กสทช.จะนำเงินจากการประมูลคลื่นใหม่ที่เกิดขึ้นไป “เยียวยา” ทำให้ทีวีดิจิตอลยังยืนอยู่ได้

เลขาธิการ กสทช.ย้ำว่า การที่ประเทศไทยไม่มี 5G ภายในปี 2563 จะส่งผลกระทบกับทุกภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะภาคการผลิตที่เป็นหัวใจหลักของการพัฒนาประเทศ มีผลกระทบกับ GDP ของประเทศ และมูลค่าทางเศรษฐกิจระดับ 7 แสนล้าน ถึง 1 ล้านล้านบาทต่อปี

เรียกว่า “ม.44” ครั้งนี้จะเป็น “ยาวิเศษ” ต่อลมหายใจอุตสาหกรรมหลัก และพยุงเศรษฐกิจประเทศกันเลยทีเดียว

 

เลขาธิการ กสทช.มั่นใจว่า สุดท้ายแล้วหัวหน้า คสช.จะออก ม.44 มาปลดล็อกรีเซ็ตธุรกิจใต้กำกับของตัวเองอย่างแน่นอน ชนิดกล้าตัดพ้อว่า ถ้าประมูลคลื่นครั้งนี้ยังไม่สำเร็จอีกก็ยุบ กสทช.ไปเลยดีกว่า เพราะไม่รู้จะทำอย่างไร

เมื่อถามว่าการใช้ ม.44 กับเรื่องนี้ จะทำให้หัวหน้า คสช. “เปลืองตัว” หรือไม่?

ได้รับคำตอบว่า “ผมไม่เชื่อว่านายกฯ จะคิดถึงแค่ตัวเอง ท่านคิดถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติมากกว่า ทั้งการแก้ปัญหาทีวีดิจิตอลได้ และทำให้เกิด 5G”

เมื่อเปิดดูข้อเสนอของ 3 ค่ายมือถือ “เอไอเอส” และ “ทรู” พบว่าเคยขอยืดเวลาในการจ่ายงวดสุดท้ายที่จะครบกำหนดในเดือนมีนาคม 2563 โดย “เอไอเอส” ยังมีวงเงินต้องจ่ายให้รัฐ 59,574 ล้านบาท ขณะที่ “ทรู” มีตัวเลขอยู่ที่ 60,218 ล้านบาท โดยมีเงื่อนไขขอแบ่งการจ่ายเป็น 7 งวด (7 ปี)

ส่วน “ดีแทค” ขอให้ขยายเวลาการจ่ายเงินประมูลทั้งหมด หารเฉลี่ยเป็นรายปีตลอดอายุใบอนุญาต 15 ปี โดยที่ตัวเองไม่ต้องรับภาระดอกเบี้ย

ล่าสุด พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษก คสช.เปิดเผยว่า ที่ประชุม คสช. เมื่อ 26 กุมภาพันธ์ 2562 ได้มีการพิจารณาในประเด็นนี้แล้ว

แต่ยังไม่ฟันธงว่าสุดท้ายผลลัพธ์จะเป็นอย่างไร

 

แน่นอนว่าแนวทางของ กสทช. ย่อมมีทั้งผู้เห็นด้วยและเห็นต่าง

โดยเฉพาะมวยหมัดหนักอย่าง ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างเผ็ดร้อนว่า เป็น “นิทาน” เรื่องใหม่ของ กสทช.ที่พยายามผูกเรื่องการ “อุ้ม” ค่ายมือถือเข้ากับ 5G หลังจากพยายามผูกกับการช่วยเหลือผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลมาแล้ว

“ที่ผมเรียกเรื่องนี้ว่าเป็นนิทาน เพราะเป็นเพียงเรื่องเล่าที่ไม่เป็นความจริง เนื่องจากประเทศไทยไม่มีความจำเป็นใดๆ จะต้องรีบร้อนประมูลคลื่น 5G ในย่าน 700 MHz ดังที่ กสทช.พยายามผลักดัน”

เพราะแม้แต่ผู้บริหาร AIS ยังยอมรับว่า ปัจจุบันทุกประเทศทั่วโลกยังไม่มีบริการ 5G ในเชิงพาณิชย์ที่ชัดเจน

ที่ผ่านมาประเทศที่เร่งเปิด 5G ในขณะนี้ล้วนเป็นประเทศที่ “ขาย” อุปกรณ์ 5G การเปิดบริการเชิงพาณิชย์ได้เร็วก็เพื่อผลในการโฆษณาและทำการตลาดในต่างประเทศ

เมื่อได้คุยกับผู้พัฒนาเครือข่ายหลายๆ รายที่เป็นพันธมิตรก็ได้คำตอบว่า อีก 3 ปีค่อยมาคิดว่าควรจะลงทุนทำ 5G หรือไม่ทำ

ที่สำคัญ กสทช.เองก็ยังไม่มีโรดแม็ปประมูลคลื่น 5G ซึ่งจำเป็นต้องใช้หลายย่านคลื่นความถี่มาผสมผสาน

ดร.สมเกียรติย้ำว่า รัฐควรปล่อยให้การลงทุนเป็นไปตามกลไกตลาด ดีกว่า “หลงเชื่อ” แล้วทำให้รัฐเสียหาย อย่างน้อยที่สุดคือ 1.6 หมื่นล้านบาท เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่ กสทช.เสนอให้เก็บจากภาคเอกชนต่ำมาก

ประธาน TDRI ทิ้งท้ายว่า …หวังว่าผู้นำรัฐบาลซึ่งเป็น “บูรพาพยัคฆ์” ผ่านร้อนผ่านหนาวมามาก จะไม่หลงเชื่อ “นิทานกระต่ายตื่นตูม” เอาเงินของรัฐและประชาชนไป “อุ้ม” นายทุนโทรคมนาคม ในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้ง

เรียกว่าส่งสัญญาณอย่างแรงๆ ถึงรัฐบาลอีกครั้ง

หลังจากเมื่อต้นปี 2561 ที่ผ่านมา TDRI เคยกระทุ้งเรื่องนี้มาแล้วครั้งหนึ่ง จนทุกฝ่ายที่ลุ้น “วืด” กันทั่วหน้าไปแล้ว

 

ย้อนไปในช่วงก่อนหน้านี้ ช่วงที่รัฐบาลนี้เริ่มเข้ามาบริหารประเทศใหม่ๆ โมเดลที่เรียกเสียงฮือฮาจากทุกภาคส่วนคือ การรวบรวมธุรกิจชั้นนำ ภายใต้โครงการ “สานพลังประชารัฐ” นัยว่าเพื่อให้บิ๊กๆ ในแวดวงธุรกิจมาร่วมกันพัฒนาประเทศให้มั่นคงแข็งแรง

การเกิดขึ้นของ “สานพลังประชารัฐ” มาพร้อมกับคำถามที่ว่ายักษ์ใหญ่เหล่านี้จะยอมเสียสละโดยไม่หวังผลตอบแทนจริงๆ หรือ

ความเอาจริงเอาจังของภาคธุรกิจ (บางราย) ทำให้เสียงครหาเบาบางลง

แต่เสียงครหากลับมาหนาหูอีกครั้งในช่วงไคลแมกซ์ โค้งสุดท้ายของรัฐบาล

บังเอิญที่ผู้เกี่ยวข้องกับโครงการใหญ่ๆ อาทิ 5G, ทีวีดิจิตอล, รถไฟไฮสปีด ถูกตั้งข้อสังเกตว่า ล้วนเคยเกี่ยวข้องกับ “สานพลังประชารัฐ” มากบ้างน้อยบ้างทั้งสิ้น

และต่างก็กำลังจะได้รับอานิสงส์ไปเต็มๆ หากมีการใช้ ม.44 ผ่าทางตันในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนที่จะมีการเลือกตั้งและมีรัฐบาลใหม่ในช่วงกลางปี 2562 นี้