คำ ผกา | ดิ้นกันไหมลุง?

คำ ผกา

มีหลายประการทางการเมืองที่มีการรับและส่งที่ค่อนข้างดีเลย์

เช่น ประเด็น ส.ว. 250 คน อันเป็นหนึ่งในประเด็นของการคัดค้านเมื่อรัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังไม่ผ่านประชามติว่า จะทำให้การเลือกตั้งเป็นเครื่องมือในการสืบทอดอำนาจ ทว่าสังคมในตอนนั้นเหมือนยังไม่มีสมาธิจะฟังและไม่สนใจ ไม่เห็นว่ามันสำคัญ

หลังจากนั้น ประเด็น ส.ว. 250 ก็เป็นเพียงประเด็นที่ถูกถกเถียงและตั้งคำถามในวงแคบๆ ของกลุ่มคนที่มักถูกเรียกว่า “เสื้อแดง”

จนกระทั่งไทยรัฐทีวีจัดดีเบตซึ่งมีคนดูในขณะที่ไลฟ์สดผ่านเฟซบุ๊กนับหมื่นคน ไม่นับคนที่ตามดูทีหลังอีกเป็นล้านคน

และตอนนี้เองที่คนเพิ่งจะมาตกใจว่า อ้าว – ส.ว. 250 มีความเกี่ยวข้องกับการที่หัวหน้า คสช. และนายกฯ เข้าเป็นแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคพลังประชารัฐอย่างมีนัยสำคัญนี่นา

แต่กระแสที่มาช้าก็ยังดีกว่าไม่มา เราปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ยิ่งใกล้เลือกตั้ง การเคลื่อนไหวของนักการเมืองและพรรคการเมืองก็ยิ่งเข้มข้น มีคนรุ่นใหม่ประมาณ 7 ล้านคนที่จะเลือกตั้งเป็นครั้งแรกในชีวิตของเขา

คนเหล่านี้เติบโตมานอกกระแสการเมืองสองขั้วสองข้าง

เขาไม่แคร์ทักษิณ ไม่สนใจสนธิ ลิ้มทองกุล ไม่แยแส กปปส. เขาไม่ได้เติบโตมากับนิทานเรื่องผีทักษิณ และวาทกรรม “คนดี” ก็ไม่มีน้ำหนักพอที่จะให้เขาเชื่อถือยอมรับ

ดังนั้น การรับรู้ทางการเมืองของเขาจึงมีอคติ และฉันทคติ น้อยกว่าคนรุ่นก่อนหน้า

คนรุ่นใหม่เหล่านี้ในตอนที่มีการรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ พวกเขาอาจจะไม่ได้สนใจในรายละเอียดของรัฐธรรมนูญ ไม่ได้คิดเรื่องการสืบทอดอำนาจ แต่พวกเขาก็รู้ว่า รัฐบาลนี้ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง และรัฐบาลนี้ถูกคาดหวังว่าจะอยู่ชั่วคราว เพื่อให้มีการเลือกตั้ง จากนั้นควรเปลี่ยนมือให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเข้ามาทำงานต่อ

เมื่อจะมีการเลือกตั้ง พวกเขาที่กำลังจะไปใช้สิทธิ์ จึงมีความกระตือรือร้นทางการเมือง พวกเขาอ่าน พวกเขาฟัง พวกเขาหาข้อมูล พวกเขาตั้งใจศึกษานโยบายของแต่ละพรรค

อันดับแรก พวกเขาเริ่มทะแม่งๆ เรื่อง ส.ว. 250 คน

ต่อมา พวกเขาทะแม่งๆ ว่า มีรัฐมนตรี มีโฆษก นายกฯ ที่ไปสังกัดพรรคการเมืองที่เพิ่งตั้ง แทบจะไม่ลาออกจากตำแหน่งจนวินาทีสุดท้าย

ทะแม่งหนักกว่านั้นอีกเมื่อนายกฯ ไปเป็นแคนดิเดตนายกฯ แถมยังมีอำนาจเต็มอยู่ในมือ แล้วเราก็เริ่มแยกแยะไม่ออก อันไหนเป็นภารกิจนายกฯ อันไหนเป็นภารกิจหาเสียงของแคนดิเดตนายกฯ

ไม่นับเขาทะแม่งเรื่อง “นากา” ไม่นับเขาทะแม่งเรื่องคำพูดคำจาและวิสัยทัศน์ของผู้นำคนปัจจุบัน

จากนั้น คนรุ่นใหม่เขาก็มองหาทางเลือกใหม่ๆ ของชีวิตสิ

และมันง่ายมากเลยสำหรับคนรุ่นใหม่ที่ไม่ถูกล้างสมองให้เห็นคำว่า “ประชาธิปไตย” เป็น dirty word เหมือนพวกแก่กะโหลกกะลาที่ได้ยินคำว่าประชาธิปไตยแล้วดิ้นพล่าน ชักดิ้นชักงอ เหมือนผีโดนน้ำมนต์

คนรุ่นใหม่ที่พูดภาษาเดียวกับสากลโลก เข้าใจว่า ประชาธิปไตยเป็นระบอบการปกครองเดียวที่พลเมืองมีอำนาจในการปกครองตนเอง คนรุ่นใหม่เข้าใจได้ชัดเจนว่า การอยู่กับผู้นำที่เราไม่ได้เลือกก็เหมือนการแต่งงานกับคนที่เราไม่ได้รัก แต่ถูกคลุมถุงชนให้ไปแต่ง

ดังนั้น ในเบื้องต้น คนรุ่นใหม่เขาเก๊ตว่า การเลือกตั้งคือการที่เราได้เลือกว่า เราอยากให้ใครเป็นนายกฯ เราอยากให้ใครเข้าไปทำงานในฝ่ายนิติบัญญัติ เขาเข้าใจว่าอยากเห็นอนาคตอย่างไรก็เลือกตัวแทนอย่างนั้นเข้าไปทำงาน

นอกจากนี้คนรุ่นใหม่ก็เข้าใจง่ายๆ อีกว่า ถ้าเลือกไปแล้ว ให้โอกาสไปทำงานแล้ว แต่ทำไม่ได้ ทำไม่เก่งอย่างที่คุยโม้โอ้อวดไว้ เมื่อครบเทอม 4 ปี เรามีโอกาสเลือกใหม่ได้เสมอ

ทีนี้มาดูว่านโยบายอะไรที่จะโดนใจคนรุ่นใหม่

หนึ่ง ต้องไม่มีรัฐประหารอีก เพราะคนรุ่นใหม่ไม่เข้าใจว่า ทำไมประเทศไทยรัฐประหารกันสิบปีครั้ง ติดอันดับต้นๆ ของโลก

คนรุ่นใหม่เริ่มเห็นว่า ประเทศไทยมีชะตากรรมคล้ายๆ หลายประเทศในแอฟริกาที่วนเวียนกับการรัฐประหาร

แล้วประเทศก็ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของคนกลุ่มเล็กๆ ในสังคมที่เข้ามาตักตวงผลประโยชน์โดยปราศจากตรวจสอบถ่วงดุล

และนี่คือหัวใจที่ทำให้ประเทศติดกับดักความด้อยพัฒนาไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

สอง คนรุ่นใหม่รู้ว่าโลกสมัยนี้ “รบ” กันด้วยข้อมูลข่าวสาร เทคโนโลยี

ดังนั้น จึงอยากเห็น smart army คือ กองทัพขนาดเล็ก มีประสิทธิภาพ เป็นทหารมืออาชีพ ใช้เทคโนโลยีทันสมัย

นโยบายทำกองทัพให้เล็กแต่ทันสมัยเฉียบๆ และไม่ต้องเกณฑ์ทหาร จึงโดนใจคนรุ่นใหม่มาก

และเราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า คนรุ่นใหม่ทั้งหลายไม่อยากโดนเกณฑ์ทหาร

ที่แน่ๆ พวกเขาคงอยากได้รถเมล์ดีๆ อยากได้รถไฟรางคู่มากกว่าอยากได้รถถัง

สาม คนรุ่นใหม่อยากได้คนที่มีวิสัยทัศน์ทางเศรษฐกิจ เพราะพวกเขาคือคนเจนวายที่ต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ตลาดแรงงาน ภาวะสังคมสูงวัยที่คนวัยทำงานต้องแบกรับภาระการเลี้ยงดูคนวัยหลังเกษียณทั้งทางตรงทางอ้อม

พวกเขาต้องเผชิญกับสิ่งที่เรียกว่า Modern poverty หรือความจนที่แฝงอยู่ในชนชั้นกลาง มีการศึกษาสูง รายได้ค่อนข้างดี แต่ต้องอยู่ในเมืองที่ค่าครองชีพสูง ทั้งค่ากินอยู่ ค่าเดินทาง ค่าที่อยู่อาศัย จนไม่มีความมั่นคงใดๆ ในชีวิต และกลายเป็นคนในเจเนอเรชั่นนอกจากจะไม่มีเงินออมแล้วยังหนักไปด้วยหนี้ และอนาคตทางการงานที่มั่นคง เพราะแนวโน้มการจ้างงานเป็นแบบฟรีแลนซ์มากขึ้น หรือเป็นการทำสัญญาการทำงานระยะสั้น

ในขณะที่พรรคเพื่อไทยมีนโยบายตอบโจทย์คนรากหญ้า เกษตรกร ชนชั้นกลางในต่างจังหวัด พรรคอนาคตใหม่เป็นพรรคที่คุยกับคนเจนวายรู้เรื่องและตอบโจทย์ที่เป็น frustrations ของคนเจนนี้ได้เกือบทั้งหมด นอกจากนโยบายหลักที่ถูกใจคนรุ่นใหม่ – ทำได้จริงหรือเปล่า เป็นอีกเรื่อง – รูปลักษณ์ หน้าตา บุคลิก ถ้อยคำ ภาษา ที่ใช้สมาชิกพรรค หัวหน้าพรรค และแกนนำของพรรค ล้วนแล้วแต่เป็น “มนุษย์”

ที่มีคนเจนวายเขาเห็นว่าเป็นมนุษย์ในเผ่าที่เขารู้จัก

นึกออกไหม ดูหน้าธนาธร หน้าปิยบุตร หน้าของกอล์ฟ ธัญวารินทร์ และคนอื่นๆ ก็รู้สึกว่า เออ… นี่คือคนที่เราเห็นอยู่รอบๆ ตัวเรา เหมือนเพื่อนเรา เหมือนรุ่นพี่เรา เหมือนครูบาอาจารย์เรา

เพราะฉะนั้น ไม่ใช่แค่ความหล่อ หรือความสวย แต่มันคือความรู้สึกว่า คนเหล่านี้ไม่ได้แปลกแยกไปจากเรา ไม่ได้สวยหรือหล่อไปกว่าเรา

ไม่ได้รวยหรือจนไปกว่าเรา พวกเขาคือมนุษย์ในชนชั้นที่อยู่รายล้อมเรานี่แหละ

ธนาธรเป็นเศรษฐีหมื่นล้านก็จริง แต่เป็นหมื่นล้านจากลูกจีนเยาวราช เป็นหมื่นล้านที่ไม่ใช่ไฮโซมาจากไหน หมื่นล้านก็หมื่นล้านพ่อค้าแม่ค้า คนหนึ่งที่ทำธุรกิจจนประสบความสำเร็จ ไม่ได้เป็นหมื่นล้านคุณชายที่ขับรถพอร์ชเล่นไปวันๆ มิหนำซ้ำยังเป็นหมื่นล้านที่แต่งตัวได้ดูเชยกว่ามนุษย์เงินเดือนช่างแต่งตัวอีกจำนวนมาก

เมื่อก่อนเรามีนักการเมืองสไตล์คุณหนูไฮโซ นักเรียนนอก อีลีต สูงส่ง มีนักการเมืองบ้านๆ เป็นภาพของนักเลงต่างจังหวัดสไตล์คุณบรรหาร มีนักการเมืองสไตล์นักธุรกิจจ๋าๆ แบบทักษิณ

ซึ่งทั้งสามแบบ คนชั้นกลาง เจนวาย หรือคนเจน X ตอนปลาย ก็ไม่สามารถนิยามตัวเองกับคนเหล่านั้นได้ และรู้สึกว่านักการเมืองเป็นมนุษย์คนละเผ่ากับเรา

แต่ภาพของพรรคและสมาชิกพรรค อนาคตใหม่ (ซึ่งที่ผ่านมาก็มีเรื่องรั่วๆ พลาดๆ เยอะ) เป็นภาพที่คนรุ่นใหม่ คนเจนวายทั้งหลายสามารถนิยามตัวตนของเขากับพรรคและภาพลักษณ์รวมไปถึงรูปลักษณ์ของคนในพรรคได้ว่า – เออ นี่แลดูเผ่าเดียวกัน พูดภาษาเดียวกัน

ดังนั้น คนรุ่นเก่าแก่กะโหลกกะลา อย่าเอาความล้าหลัง หรือประสบการณ์ของมนุษย์ที่ถูกโปรแกรมจากเรื่องเล่าล้างสมองในสมัยของตนไปตัดสินคนรุ่นใหม่ว่า

เขากรี๊ดคนหล่อ บ้าบอกับหน้าตา ไปเห่อพรรคอนาคตใหม่หรืออะไร ไม่อย่างนั้นจะโดนเด็กมันตอกหน้าหงายกลับมาว่า แล้วคนแก่ๆ เคยทบทวนความผิดพลาดของตัวเองหรือเปล่า ถ้าเลือกดี เลือกเก่ง ป่านนี้ประเทศไทยเป็นประเทศโลกที่ 1 ไปแล้ว

ดังนั้น อย่าสู่รู้มาสอนคนรุ่นใหม่ว่าควรเลือกอย่างไร ที่สำคัญ

ถ้าเลือกแล้วไม่ดี อีก 4 ปีเราได้เลือกใหม่เสมอ

ไม่เหมือนกับคนที่เราไม่ได้เลือกแต่เข้าสู่อำนาจด้วยวิธีพิเศษแล้วยังจะพยายามอยู่ยาวไปกับยุทธศาสตร์ชาติต่างๆ นานา

น่าเวทนาคนแก่เหล่านี้ที่ดิ้นไปถึงว่า คนรุ่นใหม่ถูกล้างสมองบ้าง คนกลุ่มนี้ระวังให้ดีจะเป็นแดงรุ่นใหม่บ้าง

ถ้าคนรุ่นใหม่จะถูกล้างสมองก็คือถูกล้างให้ออกมาจากนิทานเรื่องประชาธิปไตยแล้วสมาทานประชาธิปไตยตามหลักสากล

ส่วนแดงหรือไม่แดง เขาไม่สน เพราะเกิดไม่ทัน แล้วไม่เก๊ตด้วยว่า เป็นแดงที่ออกไปต้านรัฐประหารนั้นมันไม่ดีที่ตรงไหน?

คนที่ควรอายน่าจะเป็นคนที่ไปล้มล้างเลือกตั้งแล้วกลายเป็นทาสที่ปล่อยไม่ไปต่างหาก

โลกเปลี่ยนไปมากแล้ว และน่าเห็นใจที่มีคนจำนวนหนึ่งไม่อาจทำใจยอมรับการเปลี่ยนแปลงนี้ได้ จึงเกิดอาหารดิ้นทุรนทุรายอย่างคุมสติไม่ได้ให้เห็นอยู่ทั่วไปหมดเป็นที่น่าเวทนา