วรศักดิ์ มหัทธโนบล : วิสัยทัศน์จีนศตวรรษที่ 21 จากคุมอินเตอร์เน็ตสู่คุมเส้นทางการค้าโลก

การเผด็จอำนาจสู่เผด็จการดิจิตอล (ต่อ)

ไม่เพียงเท่านั้น ในปี 2015 กระทรวงความมั่นคงสาธารณะยังได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปยังองค์กรเอกชนเหล่านี้ เพื่อคอยดูแลความปลอดภัยทางอินเตอร์เน็ตผ่านกิจกรรมต่างๆ ในโลกออนไลน์

หากพบว่ามีการกระทำอันไม่พึงประสงค์ ก็จะทำการจับกุมในข้อหาอาชญากรทางอินเตอร์เน็ตทันที

ตราบจนปี 2017 รัฐบาลก็แสดงความประสงค์ที่จะเข้าไปซื้อหุ้นร้อยละ 1 จากเท็นเซ็นต์ โยวคู่ และถู่โต้ว ซึ่งจะทำให้รัฐบาลเข้าไปเป็นกรรมการของบริษัทเหล่านี้ได้โดยปริยาย

จากที่กล่าวมานี้จะเห็นได้ชัดว่า การเข้าควบคุมอินเตอร์เน็ตในยุคสีจิ้นผิงนี้มีความเข้มข้นมากกว่ายุคก่อนหน้าอย่างมาก

หากการควบคุมอินเตอร์เน็ตจากที่กล่าวมาจะให้ความรู้สึกเชิงลบแล้ว การควบคุมที่ดูจะเป็นในเชิงบวกก็มีให้เห็นเช่นกัน นั่นคือ การควบคุมผ่านระบบที่เรียกว่า ระบบความน่าเชื่อถือทางสังคม (เส้อฮุ่ยซิ่นย่งถี่ซี่, social credit system)

ในทางหลักการแล้วระบบนี้เป็นระบบให้คะแนนหรือหักคะแนนความประพฤติของบุคคล ว่าประพฤติตนดีหรือไม่ อย่างไร หากประพฤติตนดีก็จะให้คะแนน หากไม่ดีก็จะหักคะแนน ซึ่งในเบื้องต้นความประพฤติดังกล่าวจะมุ่งไปที่การใช้หนี้ของบุคคล ว่าปฏิบัติตนได้ดีหรือไม่

แน่นอนว่า การจะตรวจสอบเช่นนี้ได้หมายความว่าตัวระบบจะต้องมีข้อมูลประวัติของบุคคลนั้น

 

และในปี 2015 ทางการจีนได้ให้ 43 เมืองกับอีกแปดบริษัทจีน อันมีอาลีบาบา เท็นเซ็นต์ และไป่ตู้เข้าร่วมทดสอบระบบนี้ วิธีการจะเป็นไปโดยบันทึกประวัติ ความสามารถในการใช้หนี้ และการศึกษาของบุคคล บันทึกนี้จะปรากฏผ่านเมื่อบุคคลซื้อสินค้าในฐานะลูกค้าหรือใช้หนี้ในฐานะลูกหนี้

หากบุคคลใดประพฤติตนเป็นลูกค้าหรือลูกหนี้ที่ไม่ดี ตัวระบบก็จะบันทึกความประพฤติพร้อมกับหักคะแนนของบุคคลนั้น หากคะแนนถูกหักถึงจุดที่ตั้งเอาไว้แล้วบุคคลนั้นก็จะลงโทษผ่านการห้ามใช้บริการต่างๆ เช่น การซื้อตั๋วรถไฟ ไม่อาจเลื่อนตำแหน่งงานให้สูงขึ้น หรือไม่สามารถกู้เงินเพื่อกิจต่างๆ ได้ เป็นต้น

แต่หากบุคคลใดที่ประพฤติตนดีก็จะสามารถกู้เงินหรือซื้อสินค้าต่างๆ ได้โดยสะดวก หรือเวลาเข้าสู่สนามบินก็จะไม่ต้องถูกตรวจตราอย่างเข้มงวดดังคนอื่น เป็นต้น

ไม่เพียงปัจเจกบุคคลเท่านั้น ระบบนี้ยังใช้กับบริษัทหรือองค์กรต่างๆ อีกด้วย ทางการจีนจะพัฒนาระบบความน่าเชื่อถือทางสังคมนี้ให้มีความสมบูรณ์แบบจนพร้อมใช้ในปี 2020 หากสำเร็จตามแผนแล้วก็หมายความว่า ประชาชนจีนก็จะถูกควบคุมมากยิ่งขึ้น

จากที่กล่าวมานี้จะเห็นได้ว่า จีนภายใต้การนำของสีจิ้นผิงได้เผด็จอำนาจที่เด็ดขาดมากขึ้นกว่ายุคก่อนหน้านี้อย่างมาก และแม้จะไม่มากเท่ากับยุคที่เหมาเจ๋อตงเรืองอำนาจก็ตาม แต่ความแตกต่างที่เห็นได้ชัดก็คือ การเผด็จอำนาจของสีจิ้นผิงได้ใช้กลไกที่ก้าวหน้ากว่าอดีต

นั่นคือ เป็นการเผด็จอำนาจผ่านกลไกทางเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าในปัจจุบัน

จากเหตุนี้ โดยที่พื้นฐานการเมืองที่เป็นรัฐเผด็จการแล้วใช้เทคโนโลยีสารสนเทศดังที่กล่าวมา การใช้อำนาจเช่นนี้จึงถูกเรียกว่า เผด็จการดิจิตอล (Digital Dictatorship)

 

โลกาภิวัตน์บนเส้นทางสายไหม

มีประเด็นอยู่ประเด็นหนึ่งที่พึงเข้าใจเกี่ยวกับจีนคือ นับแต่ที่จีนเข้าสู่ยุคปฏิรูปในปี 1978 เป็นต้นมา จีนได้มีการวางแผนเป็นระยะมาโดยตลอด เมื่อสิ้นสุดระยะหนึ่งแล้วเริ่มระยะใหม่ สิ่งที่เห็นได้ประการหนึ่งคือ ระยะใหม่นอกจากจะต่อเนื่องกับระยะเดิมแล้ว ก็ยังก้าวหน้าจากระยะเดิมขึ้นมาอีกขั้นหนึ่งอีกด้วย

ดังจะเห็นได้ว่า ระหว่างประมาณสิบปีแรกของการปฏิรูป (1978-1989) จีนจะเน้นการพัฒนาภายในเป็นหลัก พอเข้าทศวรรษที่สองของการปฏิรูป (1990-1999) จีนได้เร่งการปฏิรูปไปสู่แนวทางเสรีนิยมใหม่มากขึ้น

ครั้นเข้าสู่ทศวรรษ 2000 (2000-2009) เป็นช่วงที่จีนได้เป็นสมาชิกองค์การการค้าโลกแล้วนั้น จีนมีบทบาทเชิงรุกในการเข้าทำข้อตกลงการค้าเสรีกับนานาประเทศ จนกล่าวได้ว่า พอถึงทศวรรษ 2010 (2010 เป็นต้นมา) การค้าของจีนไม่เพียงจะครอบคลุมไปทั่วโลกเท่านั้น หากแต่จีนยังเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ในหลายประเทศอีกด้วย

แน่นอนว่า สีจิ้นผิงซึ่งก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในทศวรรษ 2010 ยังคงสืบสานนโยบายปฏิรูปและเปิดประเทศที่เริ่มเมื่อปี 1978 ต่อไป แต่ก็เช่นเดียวกับผู้นำยุคก่อนหน้าเขาที่สีจิ้นผิงได้แสดงวิสัยทัศน์เฉพาะยุคของตนเช่นกัน

โดยในเดือนกันยายน 2013 ขณะไปเยือนคาซัคสถานนั้น เขาได้แสดงปาฐกถาที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งของประเทศนี้ด้วยการเริ่มว่า เมื่อกว่า 2,100 ปีก่อนจีนได้ส่งขุนนางคนหนึ่งไปเจริญสันถวไมตรียังดินแดนเอเชียกลาง จากนั้นมาจีนก็มีความสัมพันธ์กับรัฐต่างๆ ในแถบนี้เรื่อยมาเป็นระยะๆ

จนกระทั่งเส้นทางที่เชื่อมความสัมพันธ์กันนี้รู้จักกันในเวลาต่อมาว่า เส้นทางสายไหม

เดือนถัดมาสีจิ้นผิงได้กล่าวถึงเส้นทางสายไหมขึ้นมาอีกเมื่อไปเยือนอินโดนีเซีย คราวนี้ปาฐกถาของเขากล่าวถึงความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับกลุ่มประเทศอาเซียน ที่ส่วนหนึ่งเป็นการค้าทางทะเล แล้วเขาก็กล่าวคำว่า เส้นทางสายไหมทางทะเลในศตวรรษที่ 21 ในฐานะที่เป็น “แนวเขต” ขึ้นมา

พร้อมกันนั้นก็เชิญชวนให้อาเซียนและประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาค ให้รับการสนับสนุนเงินทุนจากธนาคารที่จีนกำลังจะสร้างขึ้นมา นั่นคือ ธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชีย (Asia Infrastructure Investment Bank, AIIB)

ต่อมาในเดือนมิถุนายน 2014 ในการประชุมระดับรัฐมนตรีของเวทีความร่วมมือจีน-อาหรับครั้งที่ 6 สีจิ้นผิงนอกจากจะกล่าวถึงเส้นทางสายไหมในฐานะจิตวิญญาณที่ยิ่งใหญ่แล้ว ก็ยังได้กล่าวคำใหม่ขึ้นมาอีกคำหนึ่งว่า หนึ่งแถบหนึ่งทาง (One Belt One Road, OBOR)1

จนปี 2016 ศัพท์แสงที่สะท้อนแนวคิดดังกล่าวก็มาจบลงตรงคำว่า ข้อริเริ่มแถบและทาง (Belt and Road Initiative, BRI) ในที่สุด

 

อาจกล่าวได้ว่า แทบไม่มีครั้งไหนที่จีนจะได้เผยแพร่สิ่งที่ตนคิดออกไปทั่วโลกด้วยท่าทีที่จริงจัง กว้างขวาง และทุ่มทุนมากเท่าครั้งที่ชูแนวคิดเรื่อง ข้อริเริ่มแถบและทาง อีกแล้ว

ท่าทีนี้สะท้อนผ่านตัวอย่างอันมากมาย เช่น ชื่อของสถาบันขงจื่อที่จีนสนับสนุนไปทั่วโลกนั้น ก็จะเพิ่มคำว่า หนึ่งแถบหนึ่งทาง หรือเส้นทางสายไหมใหม่ พ่วงท้ายชื่อเดิมเข้าไปโดยที่เห็นได้ชัดว่าไม่มีอะไรที่เกี่ยวข้องกัน หรือการทุ่มทุนจัดเสวนา อภิปราย และสัมมนาที่กำหนดหัวข้อว่าจะต้องเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับแนวคิดดังกล่าว

หรือจากประสบการณ์ตรงของงานศึกษานี้ ที่ครั้งหนึ่งฝ่ายไทยได้ตกลงกับฝ่ายจีนว่าจะจัดสัมมนาในหัวข้อเกี่ยวกับความสัมพันธ์ไทย-จีน และใช้เวลานานหลายเดือนในการเตรียมการจนทุกอย่างพร้อมแล้วนั้น เมื่อคณะฝ่ายไทยไปถึงจีนก็พบว่า…

ฉากหลังของเวทีห้องประชุมที่จัดสัมมนาที่ระบุหัวข้อการสัมมนา (และชื่อผู้จัดร่วมระหว่างฝ่ายไทยกับจีน) กลับมีคำว่า หนึ่งแถบหนึ่งทาง นำหน้าข้อความสัมพันธ์ไทย-จีน โดยที่ฝ่ายไทยไม่เคยได้รับการแจ้งล่วงหน้าในการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวมาก่อน เป็นต้น

ในตัวอย่างหลังนี้มารับทราบในภายหลังว่า ทางการจีนจะให้การสนับสนุนกิจกรรมใดก็ตาม ต่อเมื่อกิจกรรมนั้นจะต้องกล่าวถึงแนวคิดดังกล่าวด้วยเท่านั้น

ตัวอย่างที่มีลักษณะยัดเยียดดังกล่าวเกิดขึ้นกับหลายประเทศ และในขณะที่ศัพท์แสงนี้กำลังทำงานของมันอยู่นั้น สิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในระหว่างนี้จึงคือ การถูกตั้งข้อสงสัย แนวคิดที่ว่าของสีจิ้นผิงในด้านหนึ่งจึงถูกวิพากษ์วิจารณ์ไปต่างๆ นานา

ข้อวิพากษ์วิจารณ์มักจะรวมศูนย์อยู่ตรงที่จีนถูกมองว่ากำลังทำตัวเป็นจักรวรรดิใหม่ของโลก คือมองว่าลึกลงไปแล้ว ข้อริเริ่มแถบและทาง นั้นแฝงผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของจีนเป็นหลัก มากกว่าที่จะเป็นการผลประโยชน์ร่วมหรือสมประโยชน์ (win-win) ทั้งต่อจีนและมิตรประเทศดังที่จีนกล่าวอ้าง

หรือมีผลประโยชน์ทางการเมืองระหว่างประเทศแฝงอยู่

————————————————————————————————————————–
(1) ทางการจีนบัญญัติศัพท์ดังกล่าวว่า หนึ่งเขตหนึ่งเส้นทาง ส่วนในไทยบัญญัติศัพท์นี้แตกต่างกันไป งานศึกษานี้ใช้คำว่า แถบและทาง เพื่อความกระชับทางภาษาเท่านั้น