มองบ้านมองเมือง/ปริญญา ตรีน้อยใส/ นักกฎหมายออกแบบบ้านเมือง

มองบ้านมองเมือง/ปริญญา ตรีน้อยใส

นักกฎหมายออกแบบบ้านเมือง

 

คนที่ร่างกฎหมาย จะรู้บ้างไหมว่า ผลพวงจากกฎหมาย นอกจากจะทำให้การเมืองมีสภาวะเป็นอยู่เช่นในขณะนี้แล้ว

ยังทำให้บ้านเมืองมีภาพลักษณ์หรือมีอัตลักษณ์ต่างๆ ได้

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ เคยมีกฎหมายภาษีที่มลายาในอดีต หรือมาเลเซียและสิงคโปร์ในปัจจุบัน กำหนดให้อัตราภาษีที่ดินแปรผันไปตามขนาดหน้ากว้างของอาคารหรือที่ดินด้านที่ตัดถนน

ด้วยเหตุผลที่ว่า การตัดถนนและวางระบบไฟฟ้า ประปา ระบายน้ำ ต้องใช้งบประมาณมาก ดังนั้น ผู้ได้ประโยชน์มากก็ต้องเสียภาษีมาก

ผลที่ตามมา ทำให้ผู้คนสร้างอาคารหรือตัดแปลงที่ดินด้านติดถนนกว้างแค่สามสี่เมตร แต่จะลึกหรือยาวไปด้านหลังหลายสิบเมตร

เลยเกิดเป็นแบบแผนอาคารที่เรียกขานว่าชิโนโปรตุกีส และผังเมืองต่างไปจากบ้านเมืองอื่น เกิดเป็นอัตลักษณ์ กลายเป็นมรดกสถาปัตยกรรมเพื่อการท่องเที่ยว

จนหลายเมืองในไทยรีบเดินตาม

 

แม้แต่เมืองไทยเรา ก็อาศัยต้นแบบนี้มาสร้าง ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ห้า แต่เรียกขานว่าห้องแถวหรือตึกแถว เพราะสร้างติดกันหลายคูหา

แม้ด้านหน้าจะแคบเหมือนกัน แต่ความลึกจะน้อยกว่า เนื่องจากเจ้าของที่ดิน ทั้งขุนนาง พระ และประชาชน เลือกวิธีให้คนจีนลงทุนก่อสร้างตึกแถวหน้าบ้านด้านติดถนน ครั้นจะสร้างลึกมากก็ไม่ได้ เพราะเจ้าของบ้านยังอาศัยอยู่อย่างสบาย มีรายได้จากค่าเช่าตึกแถวด้านหน้า

จนเกิดเป็นแบบมาตรฐานของตึกแถว กว้างสี่เมตร ลึกสิบสองเมตร ในปัจจุบัน

ตึกแถวบ้านเราเคยได้รับความนิยมสุดๆ แบบว่า ปรากฏทั่วบ้านทั่วเมือง ด้วยมีสภาพและรูปแบบสอดคล้องกับวิถีชีวิต ระบบเศรษฐกิจ และการเมืองไทยอย่างมาก

แต่บังเอิญว่า รูปแบบตึกแถวไทย ต่างไปจากอาคารบ้านเมืองในประเทศตะวันตก

บรรดานักวิชาการที่ไปเรียนนอก เลยไม่เข้าใจ เลยไม่ชอบ ช่วยกันตำหนิ ว่าร้าย จนตึกแถวกลายเป็นมะเร็งร้ายของบ้านเมือง

นักกฎหมายจึงร่วมด้วยช่วยกัน ออกกฎระเบียบมามากมาย อ้างเพื่อจะยกระดับคุณภาพ

แต่จริงๆ ต้องการคุมกำเนิดตึกแถว

 

แม้แต่ปรมาจารย์อสังหาริมทรัพย์ มานพ พงศทัต ยังต้องเลี่ยงไปเรียกขานตึกแถวที่ใช้อยู่อาศัย ในชื่อใหม่เป็นภาษาอังกฤษ ให้ดูโก้ว่า ทาวน์เฮาส์

นอกจากนักวิชาการและข้าราชการจะพอใจเพราะเหมือนฝรั่งแล้ว คนไทยก็ชอบใจด้วย

กลายเป็นสินค้าขายดีในหมู่ผู้บริโภคที่ไม่มีกำลังซื้อบ้านเดี่ยว

ส่งผลให้เกิดทาวน์เฮาส์ ทาวน์โฮม บ้านกลางเมือง บ้านกลางกรุง โฮมออฟฟิศ และอื่นๆ อีกมากมาย

แต่เมื่อเนื้อแท้ทาวน์เฮาส์คือตึกแถว จึงมีกฎหมายควบคุมเหมือนตึกแถวไม่ให้ยาวต่อเนื่อง คือสร้างได้ไม่เกินสี่สิบเมตร ถ้าจะสร้างชุดต่อไป ต้องเว้นระยะห่างกัน ให้มีที่ว่าง ให้รถดับเพลิงเข้าถึง และเพื่ออะไรอีกหลายอย่างที่อ้างไว้

จึงเป็นที่มาของทาวน์เฮาส์ หน้ากว้างสี่เมตร สิบคูหา ถ้าขยายหน้ากว้างห้าเมตร ก็จะเหลือแปดคูหา หรือห้าเมตรเจ็ดสิบ เจ็ดคูหา หกเมตรหกสิบ หกคูหา

และล่าสุด ทาวน์เฮาส์ของแลนด์แอนด์เฮ้าส์ ขยายหน้ากว้างสิบเมตร สี่คูหา ที่ นาย ต. ในมติชนสุดสัปดาห์ ชื่นชมนักหนา ว่าเป็นของแปลก ที่ทาวน์เฮาส์ไม่ยาวหลายคูหา

เชื่อว่านักกฎหมายคงไม่รู้ว่า กฎหมายที่เขียนออกมา จะส่งผลต่อขนาดหน้ากว้างและจำนวนคูหาของตึกแถว ซึ่งส่งต่อไปถึงการออกแบบ การก่อสร้าง อุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้าง ฯลฯ ในบ้านเรา อย่างมากมาย

เชื่อว่านักภูมิโหราศาสตร์สวมชุดจีน ก็ไม่รู้เรื่องนี้ เลยอุตริชี้แนะเลขสวย เพื่อช่วยเสริมบารมีสร้างทาวน์เฮาส์ 9 คูหาบ้าง มีหน้ากว้าง 6.8, 8.8 หรือ 9.9 เมตรบ้าง