จัตวา กลิ่นสุนทร : ศิลปินท่ามกลางข่าวลือรัฐประหาร

ข่าวลือกับสังคมไทยควบคู่กันมาโดยตลอด ยิ่งเกี่ยวกับเรื่องการเปลี่ยนแปลงในทาง “การเมือง” การ “ยึดอำนาจ” โดยใช้กำลังทหาร “ปฏิวัติ-รัฐประหาร”

ในอดีต “รัฐบาล” (ทหาร) ทำการ “ปฏิวัติ” ตัวเองเมื่อไม่สามารถบริหารงานให้เดินหน้าไปได้เนื่องจากถูกฝ่ายประชาธิปไตย หรือ “ผู้แทนราษฎร” พยายามท้วงติง คัดค้าน ต่อรองสร้างความวุ่นวายปั่นป่วนในสภา

“ทหาร” แตกแยกแบ่งเป็นฝักฝ่าย จัดสรรผลประโยชน์ไม่ลงตัว แย่งชิงตำแหน่งหัวแถว (เบอร์ 1) ของกองทัพ ก็มีการ “ปฏิวัติ” กันมาแล้ว

การ “ปฏิวัติ-รัฐประหาร” ไม่สามารถเกิดขึ้นโดยนักการเมือง กลุ่มบุคคลอื่นๆ นอกจาก “ทหาร” ใน “กองทัพ” ซึ่งผ่านมาจากโรงเรียนเดียวกันทั้งหมด โรงเรียนซึ่งเป็นภาษีอากรของประชาชนทั้งแผ่นดิน เป็นรุ่นพี่รุ่นน้องกันทั้งนั้น

“ทหาร” เป็นลูกหลานของประชาชนคนไทยในแผ่นดินนี้ เมื่อมี “อำนาจ” กลับมาใหญ่โตกับประชาชน มองไม่เห็นหัวประชาชน จนอยากจะเห็นวันที่พวกเขาหมดอำนาจ

ใหญ่โตมาก ขนาดรับรองได้ว่าไม่มีการ “ปฏิวัติซ้อน” แต่กลับไม่รู้ว่า “ข่าวปลอม” ปลดคนใหญ่คนโตระดับ “ผู้บัญชาการเหล่าทัพ” โผล่ออกมาจากไหน?

ในประวัติศาสตร์ “ข่าวลือ” ล้วนมีที่มาที่ไปเสมอ และสุดท้ายได้กลายเป็น “ข่าวจริง” ได้เห็นกันมาตลอด แต่ทุกวันนี้ผู้คนส่วนใหญ่ที่รัก “เสรีภาพ” รัก “ประชาธิปไตย” คงไม่มีอารมณ์กับเรื่อง “ปฏิวัติ” อีกต่อไป นอกจากชนชั้นที่ได้ประโยชน์ ซึ่ง “ยินดีรับใช้ด้วยความเคารพ”

การทำ “ปฏิวัติ-รัฐประหาร” ยึดอำนาจ “รัฐบาล” ของประชาชน จัดตั้งรัฐบาลขึ้นใหม่ ขนพวกพ้องมอบอำนาจบริหารให้คนสีเดียวกันช่วยกันบริหารประเทศ แบบว่าไม่มี “ฝ่ายค้าน” ไม่มีการตรวจสอบ มี “อำนาจพิเศษ” แต่กลับสร้างความเจริญรุ่งเรืองผาสุกให้ประชาชนส่วนใหญ่ของแผ่นดินไม่ได้

เกิดความผาสุกของชนชั้นระดับหนึ่งเท่านั้นเพราะได้ประโยชน์เต็มๆ

ฉะนั้น ประชาชนคนชั้นล่างสังเกตและรับรู้ได้ไม่ยากสำหรับคนกลุ่มพิเศษ รวมทั้งพวก “ผู้ยินดีรับใช้” ที่แปรเปลี่ยนไปให้การสนับสนุนพรรคการเมืองที่ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อจะทำการสืบทอดอำนาจต่อ

 

พรรคการเมืองที่เกิดขึ้นใหม่มีทุนใหญ่สนับสนุนมาจากแหล่งไหน ประชาชนซึ่งไม่ได้โง่งมย่อมอ่านออกวิเคราะห์ได้ว่า ใครเป็น “นายทุน” หนุนส่ง

กำลังมุ่งหน้าหาเสียงให้ประชาชนเข้าสู่คูหาลงคะแนน “เลือกตั้ง” กันอย่างเร่งรีบเนื่องจากเวลาการหาเสียงมีน้อย จะอธิบายนโยบายมากมายยาวเหยียดคงไม่ทันให้ได้รับรู้ประกอบการตัดสินใจแน่ ขอให้พิจารณาเลือกแค่ 2 ทางคือ จะเอา “ประชาธิปไตย” หรือ “เผด็จการ” เท่านั้น?

ดูไม่ยาก เลือกไม่ยากหรอกครับ หย่อนบัตรเอากันให้ขาดไปเลยไม่ต้องไปห่วงกังวลเรื่องข่าวลือ “ปฏิวัติซ้อน” เพราะเหตุว่ามันจะไม่ง่ายอีกต่อไปในอารมณ์ที่ประชาชนกำลังจะเลือกอนาคตของเขาเอง ยังมีความเชื่อว่าเวลานี้การทำอะไร? ดังที่ผ่านมามันจะไม่รอดหูรอดตาประชาชน

ถึงแม้จะล้มการ “เลือกตั้ง” ด้วยวิธีการอะไรก็สุดแท้แต่ จากประสบการณ์ยังมีความเชื่อว่าจะบริหารประเทศไม่ได้อีกต่อไป ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล “เผด็จการ” ชุดเดิม หรือ “ชุดใหม่” จากไหนย่อมพาประเทศนี้สู่ความโดดเดี่ยวยากไร้ และวุ่นวายอย่างหนักหนาสาหัส

การ “ปฏิวัติ” หลายครั้งที่ผ่านมาเป็นการ “เสียของ” ทำให้ประเทศถอยหลังลงคลองไปเรื่อยๆ ประชาชนส่วนใหญ่ยากจนลง เว้นกลุ่มสอพลอสนับสนุนอำนาจ “เผด็จการ” กลุ่มทุนผูกขาดขนาดใหญ่

ยังพอมีเวลาสำหรับผู้รู้ นักวิชาการ อาจารย์ ซึ่งซื่อตรง รัก “ประชาธิปไตย” ต้องช่วยกันชี้แนะสื่อสารบอกกล่าวให้ประชาชนคนรุ่นใหม่ที่มีสิทธิ์ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งว่าควร “หย่อนบัตร” ให้กับพรรคการเมืองประเภทไหน ชนิดเหยียบเรือสองแคม ต้องการอยู่กับผู้ชนะ ไม่มีอุดมการณ์ใดๆ อะไรทั้งนั้น รอแต่คอยผสมกับพรรคอื่นๆ จนถึงเวลานี้ก็ยังไม่ชัดเจน อย่าไป “เลือก” ให้เสียของ

เน้นย้ำเลือกพรรคฝ่าย “ประชาธิปไตย” ให้ชนะขาด วัดกันไปเลยว่าจะมี “ปฏิวัติซ้อน” มี “ยึดอำนาจ” เกิดขึ้นอีกหรือไม่?

 

พยายามทำใจให้นิ่งสงบยอมรับชะตากรรมความเป็นไปของบ้านเมือง แต่อารมณ์ความรู้สึกมันดันพุ่งแรงสวนกับวัยที่เพิ่มตัวเลขสูงขึ้นทุกวัน เมื่อได้รับข่าวการบ้านการเมืองเข้ามากระทบ จึงระงับสติอารมณ์นั่งเขียนรายงาน ความเคลื่อนไหวของ “ศิลปินแห่งชาติ” แต่เพียงอย่างเดียวเอาไว้ไม่ได้ ต้องเลี้ยววกมาระบายอารมณ์บ้าง แม้จะได้เพียงผิวๆ แค่เสียดสีเพื่อได้ระบายก็ยังดี

เท่าที่ได้เกาะติดรายงานการเดินสายทำกิจกรรมของกลุ่ม “ศิลปินแห่งชาติ” อย่างต่อเนื่อง ได้พบเห็นศิลปินแห่งชาติหลายสาขาจนคุ้นหน้าคุ้นตา โดยเฉพาะอย่างยิ่งสาขา “ทัศนศิลป์” และ “วรรณศิลป์” ซึ่งมักจะสัญจรไปด้วยกันอย่างสม่ำเสมอ

โดยมีตัวกระตุ้นซึ่งเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงเสนอโครงการต่างๆ อย่างไม่เคยหยุดนิ่ง ทั้งๆ ที่มีบ้านพักอาศัยอยู่ในสหรัฐอเมริกา คือ “กมล ทัศนาญชลี” (ทัศนศิลป์) และเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ (วรรณศิลป์)

นอกจากศิลปินแห่งชาติ 2 สาขาดังกล่าว ยังมี “นางสาววนิดา พึ่งสุนทร” ศิลปินแห่งชาติ (สาขาสถาปัตยกรรม) “นายธนิสร์ ศรีกลิ่นดี” ศิลปินแห่งชาติ (สาขาศิลปะการแสดง) และสาขาอื่นๆ สลับไปร่วมสัญจรเสมอๆ

เคยสอบถามเหมือนกันว่าทำไมโครงการ “ศิลปินแห่งชาติสัญจร” จึงได้เห็นแต่หน้าศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ จำนวนมากกว่าสาขาอื่นๆ เรียกว่าหน้าเดิม ๆ ตลอดเวลา อย่างเช่น เดชา วราชุน, ปรีชา เถาทอง, ธงชัย รักปทุม, สมศักดิ์ เชาว์ธาดาพงศ์ และ ฯลฯ

ความจริงในสาขาอื่นๆ ที่ได้ออกเดินทางสัญจรเพื่อเผยแพร่มีจนเกือบครบ หากแต่ว่าจะไปเป็นบางครั้งบางคราว เพราะศิลปินแห่งชาติส่วนใหญ่กว่าจะได้รับการเชิดชูเกียรติจะอยู่ในวัยสูงอายุ ซึ่งเราจะได้เห็นข่าวการจากไปของท่านอาวุโสเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง

อาจารย์ชาลี อินทรวิจิตร (ท่านพี่) สุเทพ วงศ์กำแหง ศิลปินแห่งชาติ 2 ท่านนี้ก็มีอายุมากเกินกว่า 80 ปี แม้จะพยายามให้ความร่วมมือในการสัญจรเสมอๆ แต่ย่อมเป็นไปอย่างยากลำบากมากขึ้นเรื่อยๆ

กระทั่ง ณ เวลานี้ได้ข่าว (ท่านพี่) สุเทพ วงศ์กำแหง ได้ล้มหมอนนอนเสื่อป่วยอยู่โรงพยาบาลศิริราช แม้จะมีอายุน้อยกว่าครูชาลี ซึ่งยังร้องเพลงอย่างแข็งแรงเสมอๆ ในงานต่างๆ

 

พูดถึง “ศิลปินแห่งชาติ” ที่ได้รับการเชิดชูเกียรติในทุกๆ ปีครบตามจำนวนทุกๆ สาขา ซึ่งได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ แสดงความคิดเห็นจากท่านผู้รู้ทั้งหลายว่า อันที่จริงไม่มีความจำเป็นเลยที่จะต้องประกาศให้ครบทุกสาขา ในบางปี แต่ละปีหากไม่มีท่านผู้ใดอยู่ในระดับเหมาะสมที่ควรจะได้รับเกียรติยศนี้ ควรผ่านเลยได้ก่อนบ้าง

ขณะเดียวกันการผลักดันเพื่อนพ้อง คนใกล้ชิดเพื่อให้ได้รับตำแหน่ง “ศิลปินแห่งชาติ” ทั้งๆ ที่ถ้ามีการพิสูจน์ทราบตรวจสอบผลงานกันอย่างจริงๆ จังๆ อาจไม่เหมาะสมเท่ากับท่านอื่นๆ ที่ไม่ได้รับเกียรติ ก็เคยพอมีให้รู้เห็น เรียกว่ามีการวิ่งเต้นเส้นสายกันไม่แตกต่างกับวงการอื่นๆ จนกระทั่งผู้ใหญ่ระดับ “ฐาปนศิลปิน” ยังเคยปรารภด้วยความเป็นห่วง

ประมาณ 4 เดือนในเมืองไทย “กมล ทัศนาญชลี” เดินสายทำงานในฐานะ “ศิลปินแห่งชาติ” สาขาทัศนศิลป์ อย่างทุ่มเทต่อเนื่อง ก่อนบินกลับสหรัฐอเมริกา เตรียมตัวต้อนรับครูศิลป์รุ่นที่ 10 เขาได้ไปเปิดโครงการถ่ายทอดงานศิลป์ กับศิลปินแห่งชาติ ณ หออัครศิลปิน คลอง 5 ปทุมธานี

คัดเลือกผู้มีผลงานดีเด่น “ครูศิลป์สร้างสรรค์งานศิลปะ” กับ “ศิลปินแห่งชาติ” (รุ่นที่ 10) จำนวน 19 คนจากทั่วประเทศ เพื่อไปแสดงงาน และศึกษางานเรื่องพิพิธภัณฑ์ศิลปะ ยังสหรัฐอเมริกา เป็นเวลา 2 สัปดาห์ ตามโครงการของกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม

วงการ “ศิลปะร่วมสมัย” ในประเทศไทย เจริญก้าวหน้าอย่างไม่หยุด แตกต่างจาก “การเมือง การปกครอง”