ต่างประเทศอินโดจีน : “นาปาล์มเกิร์ล” จากเหยื่อสงครามเวียตนาม สู่ผู้รับรางวัล “เดอะ เดรสเดน ไพรซ์”

สิ่งที่เกิดขึ้นกับบางคน อาจเลือนหายไปกับกาลเวลาที่ผ่านไป แต่บางอย่างที่เกิดขึ้นกับอีกบางคน กลับจำหลักติดตัวอยู่กับคนผู้นั้นไปจนตลอดชีวิต

สิ่งที่เกิดขึ้นกับคิม ฟุก ที เด็กหญิงชาวเวียดนาม เมื่อ 8 มิถุนายน ปี 1972 ขณะที่เธออายุเพียง 9 ขวบ คือตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุด

วันนั้น เครื่องบินรบเวียดนามใต้ปฏิบัติการโจมตีที่ซุ่มซ่อนของกองกำลังเวียดกง ใกล้เคียงกับพื้นที่บ้านจั่ง บาง บ้านเกิดของเธอในเวียดนามใต้ ในขณะที่ทางภาคพื้นดิน กองกำลังของกองพลทหารราบที่ 25 ของเวียดนามใต้ ก็กำลังปฏิบัติการอยู่ในละแวกเดียวกัน

ไม่มีใครรู้ชัดว่าสิ่งที่เกิดขึ้นคือความเข้าใจผิดหรืออุบัติเหตุ แต่ที่แน่ๆ ก็คือ ระเบิดนาปาล์มลูกหนึ่งถล่มลงใส่ทหารของกองพลทหารราบที่ 25 และพลเรือนที่กำลังอพยพอยู่ตามแนวถนนรูท 1

คิม ฟุกและครอบครัวคือเหยื่อของระเบิดลูกนั้น

 

นิค อุท ช่างภาพสงครามของสำนักข่าวเอพี จับภาพเธอในสภาพเปลือยเปล่า วิ่งร้องไห้สุดเสียง แผ่นหลังเต็มไปด้วยบาดแผลพุพองจากอิทธิฤทธิ์ของระเบิด ก่อนช่วยเธอกับน้องชายอีก 2 คนเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล ร่างกายของคิม ฟุก อยู่ในสภาพถูกไฟไหม้ถึง 30 เปอร์เซ็นต์

ภาพของนิคได้รับรางวัลพูลิตเซอร์และรางวัลภาพข่าวยอดเยี่ยมแห่งปีในปี 1973

ส่วนคิม ฟุก รอดชีวิตมาได้ฉิวเฉียด และได้ลี้ภัยไปใช้ชีวิตอยู่ในแคนาดา แต่งงานมีลูกเป็นของตนเอง ภาพของเธอโด่งดังไปทั่วโลกพร้อมกับฉายา “นาปาล์มเกิร์ล” ของเด็กหญิงตัวเล็กๆ ในภาพ

แต่นอกจากแผลเป็นไฟไหม้พาดเต็มแผ่นหลังที่ก่อให้เกิดความเจ็บปวดเป็นครั้งคราวแล้ว คิม ฟุก ยังต้องเผชิญกับการทรมานทางจิตใจ ถูกสะกิดให้หวนรำลึกถึงเหตุน่าสะพรึงกลัวที่เผชิญมาทุกครั้งที่มีคนเอ่ยถึง

คิม ฟุก เพิ่งเขียนบทความเผยแพร่ในวอลสตรีตเจอร์นัลเมื่อปี 2017 ที่ผ่านมา ระบุว่า ความเจ็บปวดร้าวรานทั้งกายและใจของเธอยังคงจำเป็นต้องได้รับการเยียวยาแม้ในเวลานี้

แต่เธอเปลี่ยนมันให้เป็นพลัง ก่อตั้ง คิม ฟุก ฟาวน์เดชั่น อินเตอร์เนชั่นแนล รับหน้าที่เป็นทูตสันถวไมตรีของยูเนสโก และทำงานรณรงค์เพื่อเด็กๆ ทั่วโลกที่ได้รับผลกระทบจากการสู้รบมาตลอด

 

เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา คิม ฟุก ในวัย 55 ปี ถูกเลือกให้เป็นผู้เหมาะสมได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติ “เดอะ เดรสเดน ไพรซ์” ประจำปี 2019 มูลค่า 10,000 ยูโร (ราว 353,000 บาท) ด้วยเล็งเห็นความสม่ำเสมอในการทำงานเพื่อเด็กที่บาดเจ็บจากสงคราม ทั้งกับยูเนสโกและโดยส่วนตัว ทั้งยังแสดงออกเรื่อยมาถึงการต่อต้านความรุนแรงและความเกลียดชัง

สถานะของคิม ฟุก ถูกยกขึ้นสู่ระดับเดียวกันกับคนอย่างมิกฮาอิล กอร์บาชอฟ และนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิพลเมืองอเมริกันอย่าง ทอมมี่ สมิธ อดีตผู้ที่ถูกรับเลือกให้รับรางวัลนี้แล้ว

เมื่อปี 2008 คิม ฟุก ให้สัมภาษณ์ “เอ็นพีอาร์” สื่ออเมริกันไว้น่าสนใจอย่างยิ่งว่า

“การให้อภัย ทำให้ฉันเป็นอิสระจากความเกลียดชัง ร่างของฉันยังเต็มไปด้วยรอยแผล และยังคงเจ็บปวดอยู่เป็นประจำเกือบทุกวัน แต่หัวใจฉันใสสะอาดแล้ว

“นาปาล์มทรงพลังอย่างมาก แต่ความรักมีอานุภาพยิ่งกว่า

“เราคงไม่ทำสงครามเข้าใส่กัน ถ้าหากทุกคนรู้จักที่จะใช้ชีวิตอยู่ด้วยความรักที่แท้จริง ความหวังที่แท้จริง และการให้อภัยที่แท้จริง

“ถ้าเด็กหญิงในภาพนั้นสามารถทำอย่างนั้นได้ ถามตัวเองดูเถอะว่า คุณทำได้ไหม?”

นี่คือความยิ่งใหญ่ที่แท้จริงของ “นาปาล์มเกิร์ล”!