เศรษฐกิจ / นับถอยหลัง 1 มกราคม 2563 ล้างอาถรรพ์ภาษีที่ดินจริง? เศรษฐียังตื่นตัวทำนา-ทำไร่เลี่ยงภาษี

เศรษฐกิจ

 

นับถอยหลัง 1 มกราคม 2563

ล้างอาถรรพ์ภาษีที่ดินจริง?

เศรษฐียังตื่นตัวทำนา-ทำไร่เลี่ยงภาษี

 

ใกล้เข้าไปทุกทีสำหรับการประกาศใช้พระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการประกาศใช้กฎหมาย หลังผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ไปเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา

หลังประกาศใช้กฎหมายแล้ว มีเวลา 120 วันในการออกกฎหมายลูก 20 ฉบับ เพื่อให้ทันการบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2563

ปกติการเสียภาษีเกี่ยวกับที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งอยู่ในรูปแบบภาษีโรงเรือนและที่ดิน ภาษีบำรุงท้องที่ จะเสียในช่วงเดือนเมษายนทุกปี ดังนั้น ภาษีที่ดินกำหนดเวลาเสียภาษีช่วงเดียวกัน

ดังนั้น หลังกฎหมายบังคับใช้ทำให้ผู้เสียภาษีต้องจ่ายภาษีแบบใหม่ ในเดือนเมษายน 2563 ทันที

 

อย่างไรก็ตาม อัตราภาษีที่ประกาศออกมาโดยกระทรวงการคลัง มีความแตกต่างกันระหว่างที่ดินแต่ละประเภทพอควร

โดยมีการแยกตามลักษณะการใช้งาน 4 ประเภท

แบ่งเป็น

ที่ดินเกษตรกรรมมีเพดานจัดเก็บ 0.15% มีอัตราการจัดเก็บแบ่งเป็น 5 ขั้น ตั้งแต่ 0.01-0.1% บ้านพักอาศัยมีเพดานจัดเก็บ 0.3% อัตราการแบ่งเป็น 4 ขั้น ตั้งแต่ 0.02-0.1% ที่ดินอื่น (พาณิชยกรรม) มีเพดานจัดเก็บ 1.2% อัตราจัดเก็บแบ่งเป็น 5 ขั้น ตั้งแต่ 0.3%-0.7% ส่วนสำหรับที่ดินรกร้างว่างเปล่าอัตราเพดานและการจัดเก็บเหมือนประเภทอื่นๆ แต่จะเพิ่มอัตราภาษี 0.3% ทุก 3 ปี แต่ไม่เกิน 3%

จากอัตราภาษีดังกล่าว ทำให้กลุ่มคนมีบ้านพักอาศัยและที่ดินเกษตรไม่ค่อยเดือดร้อนเท่าไหร่ เพราะอัตราจัดเก็บต่ำมาก แถมรัฐยังยกเว้นสำหรับที่ดินเกษตร และบ้านหลังแรกของบุคคลธรรมดา หากมีมูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท ไม่ต้องเสียภาษี

ที่จะได้รับผลกระทบมากคือกลุ่มเศรษฐีที่ดิน เพราะหากไม่มีการนำที่ดินมาใช้ประโยชน์ปล่อยให้เป็นที่ดินรกร้างว่างเปล่า จะเสียภาษีสูงกว่าทุกประเภท เช่น ถ้ามีที่ดินมูลค่า 100 ล้านบาท เป็นที่ดินรกร้างว่างเปล่าจะเสียภาษี 3.5 แสนบาท และเพิ่มขึ้นทุก 3 ปี แต่ถ้าเป็นที่ดินเกษตรเสียภาษี 1 หมื่นบาท

ดังนั้น จึงเกิดปรากฏการณ์เศรษฐีที่ดินจัดตั้งบริษัทเพื่อบริหารที่ดินนับสิบบริษัท โดยบริษัทดังกล่าวให้บริการเช่าที่ดินเพื่อไปทำสวน ทำนา ทำไร่

 

ข้อมูลจากคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พบว่ามีที่ดินถูกปล่อยให้รกร้างว่างเปล่าถึง 8 ล้านไร่ทั่วประเทศ โดยเป็นนาร้าง 1.2 แสนไร่ ส่วนที่เหลือจะเป็นที่ดินซื้อสะสมเก็งกำไรกับที่ดินมรดก

ประเมินว่ากฎหมายภาษีที่ดินทำให้เกิดความเคลื่อนไหวนำที่ดินออกทำประโยชน์ในหลากหลายรูปแบบ

ในส่วนของผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ ถูกจับตามองว่าได้รับผลกระทบจากภาษีที่ดินเช่นกัน โดยเฉพาะในบริษัทซึ่งถือครองที่ดินไว้จำนวนมาก อาจจะต้องมีภาระภาษีที่เพิ่มขึ้น ทำให้เริ่มเห็นความเคลื่อนไหวจากบริษัทอสังหาฯ หลายแห่ง

“เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์” รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เสนาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวไว้ว่า “ทุกบริษัทมีแนวทางการบริหารจัดการที่ดิน และเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับภาษีที่ดินพอสมควร เพราะรับรู้มาระยะหนึ่งแล้ว คาดว่าจะมีทั้งจัดตั้งบริษัทขึ้นมาเพื่อนำที่ดินไปปล่อยเช่า นำที่ดินไปทำการเกษตร รวมถึงการขายที่ดินในแปลงที่ยังไม่มีแผนพัฒนาอันใกล้ออกไปก่อน เพื่อจะได้ไม่ต้องเป็นต้นทุน ต้องดูว่าทางไหนจะดีที่สุด และลดภาระจากภาษีที่ดินให้มากที่สุด กำลังรอกฎหมายประกาศใช้ และรอดูกฎหมายลูก

ขณะที่หลายคนมองว่าการบริหารจัดการที่ดินของบรรดาเศรษฐีและบริษัทอสังหาฯ ที่กำลังเกิดขึ้นเพราะเพื่อหลีกเลี่ยงภาษี

แต่ “ลวรณ แสงสนิท” ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กลับมองว่า ถือเป็นการนำที่ดินว่างเปล่ามาใช้ประโยชน์ ถ้านำมาทำเกษตรช่วยให้มีผลผลิตเพิ่มมากขึ้น

เป็นการเพิ่มรายได้ให้กับประเทศ ดีกว่าการปล่อยให้ที่ดินทิ้งไว้โดยไร้ประโยชน์

ใครอยากจะทำอะไรก็ทำ เพราะกฎหมายไม่ได้ห้าม ซึ่งการนำที่ดินเปล่าไปใช้ประโยชน์เป็นเจตนาของกฎหมายฉบับนี้อยู่แล้ว

 

ซึ่งสวนทางกับความเห็นกับ “นิพนธ์ พัวพงศกร” นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) มองว่า กฎหมายภาษีที่ดินมีช่องโหว่ ทำให้บรรดาผู้ถือครองที่ดินจำนวนมากหลบหนีภาษี

เช่น ไปตั้งบริษัทเพื่อให้เช่าที่ดินทำการเกษตร เนื่องจากอัตราภาษีที่ดินเกษตรต่ำที่สุด มีความกังวลว่าเมื่อนำที่ดินไปทำเกษตรมากๆ อาจเกิดปัญหาตามมา เช่น ทำให้ผลผลิตล้นตลาด เกิดปัญหาราคาตกต่ำ

ชี้ถึงความกังวลอีกว่าจะทำให้รายได้ท้องถิ่นหายไป เพราะเดิมท้องถิ่นมีรายได้จากที่ดินเกษตร เช่น แปลงละ 200-300 บาทต่อปี แต่เมื่อกฎหมายยกเว้นที่ดินเกษตร 50 ล้านบาทไม่ต้องเสียภาษี ทำให้ตรงนี้ไม่สามารถเก็บรายได้ สุดท้ายเป็นภาระของส่วนกลางต้องจัดสรรงบประมาณเข้าไปช่วยเหลือ

“รู้สึกเสียดายที่กฎหมายออกมาเป็นแบบนี้ แต่ผ่าน สนช.ไปแล้วก็ทำอะไรไม่ได้ ดังนั้น กระทรวงการคลัง ควรเก็บข้อมูลอีก 2-3 ปีข้างหน้าว่า เมื่อบังคับใช้กฎหมายแล้วเกิดปัญหาอะไรบ้าง และควรนำไปปรับแก้ ถ้าปล่อยไว้คงจะคล้ายภาษีมรดก ออกมาหลายปีแล้วแต่มีคนมาเสียภาษีเพียง 2-3 รายเท่านั้น”

 

ด้านกระทรวงการคลังประเมินว่าภาษีที่ดินทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น 4 หมื่นล้านบาท จากปัจจุบันจัดเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดิน 2.3-2.4 หมื่นล้านบาทต่อปี ส่วนภาษีบำรุงท้องที่เก็บได้ 900 ล้านบาทต่อปีเท่านั้น โดยเม็ดเงินภาษีที่เพิ่มขึ้นส่วนหนึ่งเกิดจากการปรับฐานราคาที่ดินใช้เคยอ้างอิงเมื่อ 40 ปีก่อน มาเป็นราคาปัจจุบัน

จากข้อมูลของ ผอ.สศค.ระบุว่า ถ้าเทียบกฎหมายภาษีที่ดินกับกฎหมายภาษีโรงเรือนและที่ดินเดิม ภาษีเก็บจากภาษีที่ดินของใหม่จะถูกกว่า

เช่น หอพักให้เช่ามีมูลค่า 10 ล้านบาท เสียภาษีที่ดิน 0.3% หรือเสีย 30,000 บาทต่อปี

แต่ภาษีโรงเรือนต้องเสีย 70,000 บาทต่อปี แต่คนที่ทำหอพักเสียภาษีน้อย เพราะหลบเลี่ยงภาษี ในอดีตเมื่อได้รับการแจ้งให้ไปเสียภาษี ผู้เสียภาษีต้องประเมินตัวเองว่ามีภาระภาษีเท่าไหร่ แล้วเดินไปที่ อปท.เพื่อขอเสียภาษี ภาษีที่ดินของใหม่ อปท.ต้องประเมินราคาที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในท้องถิ่นว่าแต่ละแปลงเสียภาษีเท่าไหร่ และแจ้งไปยังผู้ถือครอง พร้อมติดประกาศเพื่อให้รับทราบโดยทั่วกัน ซึ่งจะทำให้เกิดกระบวนการตรวจสอบกันเอง เช่น ทำไมบ้านนั้นเปิดเป็นร้านอาหาร แต่เสียเท่าบ้านพักอาศัย

กระบวนการนี้จะทำให้เกิดการทักท้วงกันขึ้น จากเดิมแต่ผู้เสียภาษีไม่เคยรู้ของคนอื่นว่าเสียภาษีเท่าไหร่

 

อีกเรื่องสำคัญไม่แพ้กันคือการจัดทำราคาประเมินที่ดินรายแปลง ” อำนวย ปรีมนวงศ์” อธิบดีกรมธนารักษ์ กล่าวว่า ขณะนี้ประเมินราคาที่ดินรายแปลงแล้ว 20 ล้านแปลง คาดว่าปี 2562 จะประเมินอีก 13 ล้านแปลง รวมเป็น 33 ล้านแปลง ยืนยันว่าการประเมินราคาที่ดินรายแปลงจะเสร็จทันกับการประกาศบังคับใช้ภาษีที่ดินใหม่แน่นอน

นอกจากนี้ กรมธนารักษ์อยู่ระหว่างการสำรวจราคาที่ดินใหม่เพื่อนำมาเป็นฐานในการเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เตรียมประกาศใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2563 เป็นการประกาศรอบ 2 ปี จากเดิมจะประกาศทุก 4 ปี อีกทั้งกรมธนารักษ์มีแผนร่วมกับ สศค. กรมการปกครองส่วนท้องถิ่น อบรมเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นเกี่ยวกับภาษีที่ดินฉบับใหม่ รวมถึงวิธีปฏิบัติในการเก็บภาษี ซึ่งเป็นการอบรมต่อเนื่องจากปี 2561

ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างทำให้การจัดเก็บภาษีสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน เพราะภาษีบำรุงท้องที่ ภาษีโรงเรือนและที่ดินใช้มานานหลายสิบปี ซึ่งกฎหมายนี้ถือเป็นความสำเร็จของกระทรวงการคลัง และของรัฐบาลชุดนี้สามารถผลักดันกฎหมายขึ้นเชื่อว่าอาถรรพ์ที่สุดฉบับหนึ่งสำเร็จ ในโค้งสุดท้ายก่อนเลือกตั้ง

  หลังจากบังคับใช้แล้วต้องมาติดตามว่าสร้างปัญหาอย่างที่หลายคนกังวล จนนำไปสู่การแก้ไขกฎหมายอีกรอบหรือไม่