คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง : โอบกอดธรรมชาติ คารวะ “นาค” แห่งดอยหลวงเชียงดาว

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

ผมได้รับการเชิญชวนจากวิจักษณ์ พานิช มิตรรัก ให้ไป “ตั้งศาลพญานาค” ที่ค่ายเยาวชนเชียงดาว ที่ดอยหลวงเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่

ฟังตอนแรกก็อึ้งๆ นะครับ ที่อึ้งคือนึกไม่ออกว่าเพื่อนคิดอย่างไรจึงอยากจะตั้งศาลนาคขึ้นมา

วิจักษณ์เล่าให้ผมฟังว่า ในสมัยที่เขาเรียนอยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกานั้น มีชุมชนผู้ปฏิบัติพุทธศาสนาแบบทิเบตในโคโลราโด ที่นั่นมีธรรมชาติเหมาะแก่การปฏิบัติ และมีคุรุจากทิเบตไปสอนธรรมมากมาย

ในเครสสโตน โคโลราโด มีสถูปแห่งองค์กรรมาปะที่สิบหกตั้งอยู่ องค์กรรมาปะเป็นประมุขของนิกายสำคัญในทิเบตคือนิกายการ์จู ในขณะที่องค์ทะไลลามะนั้นเป็นประมุขของนิกายเกลุค

คนไทยอาจคุ้นเคยกับองค์ทะไลลามะมากที่สุด แต่คนตะวันตกคุ้นเคยทั้งองค์ทะไลลามะและประมุของค์อื่นๆ เพราะท่านเหล่านี้ต่างเดินทางไปหมุนกงล้อธรรมที่เมืองฝรั่งกันเป็นหลัก

ทางไปสู่สถูปองค์กรรมาปะที่สิบหกนั้น มีลำธารคดเคี้ยว ชาวพุทธตะวันตกเหล่านั้นได้สร้างศาลเล็กๆ สำหรับนาคขึ้น ศาลนั้นทำด้วยหลังคาไม้อย่างง่ายๆ ครอบลงบนหินก้อนใหญ่ริมลำธาร

และเป็นจุดที่คนมาทำสมาธิ เชื่อมโยงตนเองกับธรรมชาติ

 

วิจักษณ์เองรู้สึกถึงความศักดิ์สิทธิ์ของธรรมชาติแห่งดอยหลวงเชียงดาว ซึ่งไม่ต่างกับที่เครสสโตน ยิ่งไปกว่านั้นดอยหลวงเป็น “ต้นน้ำ” แม่ปิง และมีลำธารเล็กๆ ไหลผ่านค่ายเยาวชนเชียงดาวของพี่อ้วน นิคม พุทธา

เผอิญปีนี้ เขาและมิตรสหายรวมตัวกันจัดงาน “มหกรรมภูเขาศักดิ์สิทธิ์” ในชื่อเก๋ๆ ว่า Sacred Mountain Festival เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นงานรวมตัวผู้คนทางจิตวิญญาณ นักแสวงหา นักทดลอง คนทำงานศิลปะและสิ่งแวดล้อม กิจกรรมมีทั้งการบรรยาย เวิร์กช็อป ออกร้าน มินิคอนเสิร์ต โยคะ เดินป่า ฯลฯ

มิตรของผมจึงอยากให้มีการตั้งศาลพญานาคขึ้น โดยถือเป็นกิจกรรมแรกของงาน เพื่อเชื่อมโยงคนเมืองเหล่านี้กับธรรมชาติของเชียงดาวเสียก่อน

เขาอยากให้ผู้คนมีความเคารพต่อธรรมชาติ ในฐานะที่ธรรมชาตินั้นคือ “สิ่งศักดิ์สิทธิ์” ในตัวเอง เพราะโลกนี้เป็น “โลกศักดิ์สิทธิ์” ผืนน้ำ ผืนป่า ภูเขาล้วนแต่เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งสิ้น และเมื่อเราสามารถเชื่อมโยงกับความศักดิ์สิทธิ์รอบตัวแล้ว เราก็อาจมองเห็นว่าชีวิตของเราก็ศักดิ์สิทธิ์เช่นเดียวกัน

ที่สำคัญความศักดิ์สิทธิ์นี้เป็นความศักดิ์สิทธิ์อย่างเท่าเทียมถ้วนทั่ว เปี่ยมไปด้วยศักยภาพที่จะรักและเติบโตแผ่ไพศาลยังประโยชน์แก่สรรพสัตว์

 

ผมฟังแล้วก็ยินดีไปช่วยงานนี้เท่าที่จะทำได้ และคิดว่าควรใช้ประเพณีแบบพุทธฝ่ายวัชรยานของทิเบตมาประยุกต์ เพราะแม่งานและผู้เข้าร่วมส่วนมากเป็นชาวพุทธ

ชาวทิเบตนั้นนับถือธรรมชาติมากครับ เขาอยู่กับสภาพธรรมชาติหลากหลายรูปแบบ ทั้งโหดร้ายและสวยงาม ดังนั้นธรรมชาติคือการสำแดงออกของเทพเจ้าและภูตผีต่างๆ

ในบรรดาเทพเจ้าหรือผู้ปกป้อง เขารับเอานาคจากคติแบบอินเดียมาผสมผสานกับความเคารพธรรมชาติตามคติพื้นบ้านของตัว

นาคในแบบทิเบตอาจต่างกับความนับถือในบ้านเราบ้าง ตรงที่ยังคงมีลักษณะเป็นพลังงานของธรรมชาติ มากกว่าจะอ้างอิงตำนานแล้วทำให้กลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นเอกเทศ

แม้ในบทสวดจะเอ่ยถึงนาคในตำนานต่างๆ ของพราหมณ์และพุทธ เช่น วาสุกี สังขปาล แต่นาคเหล่านี้เป็นเพียง “ราชานาค” ไม่กี่องค์ ยังมีนาคท้องถิ่นอีกมากมายมหาศาลที่อาศัยในลำธาร ในก้อนหิน ต้นไม้ ภูเขา สายลม ฯลฯ

อธิบายให้ง่ายขึ้นไปอีก นาคเหล่านี้ก็คล้ายๆ เจ้าที่เจ้าทาง ซึ่งเจ้าที่เจ้าทางในคติแบบทิเบตก็คือพลังของธรรมชาตินั่นแหละครับ

ในบทสวดถึงราชาของนาคนั้นบรรยายว่า พวกนาคมีท่อนบนเป็นมนุษย์ ท่อนล่างเป็นงู บนศีรษะมนุษย์มีหัวแบบนาคห้าหรือเจ็ดโผล่ออกมา และพวกนาคมีสีสันต่างๆ กัน รูปเคารพของนาคมักทำตามคำบรรยายนี้ ซึ่งมีทั้งนาคและนาคินี (เรียกว่า นาคกันยา)

 

ศาลนาคในเชียงดาวที่เราตั้งขึ้นเป็นศาลง่ายๆ แบบเดียวกับที่เครสสโตน ผมนำรูปนาคกันยาไปจากกรุงเทพฯ ในศาลยังมีรูปของพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ด้วย เพราะชาวทิเบตถือว่า ราชาแห่งนาคทั้งหลายล้วนเฝ้าแหนพระอวโลกิเตศวร และพระองค์ก็ทรงประทานอมฤตให้พวกนาคได้ดื่มกิน

นี่คือการผสมผสานพุทธศาสนาเข้ากับคติพื้นบ้านในทิเบต โดยเอาพระเมตตาคุณของพระอวโลกิเตศวรไปดูแลพวกนาคอีกที ไม่ได้ไปกดข่มหรือบังคับบัญชา

ชาวทิเบตนิยมให้พระกรุณาธิคุณของพระโพธิสัตว์และพระพุทธะทั้งหลายไปปรากฏ ในรูปแบบต่างๆ โดยบรรสานสอดคล้องกับธรรมชาติ เช่น ธงมนต์ หินมณีหรือหินแกะสลักบทสวดแห่งความกรุณา ฯลฯ

วิจักษณ์ให้คำอธิบายที่น่าสนใจว่า ทำไมนาคถึงเชื่อมโยงกับธรรมชาติในรูปของงูและน้ำ เขาชี้ให้ผมเห็นความคดเคี้ยวของลำธาร ซึ่งทำให้คนเราจินตนาการถึงงูใหญ่ ในขณะเดียวกันเมื่อแสงส่องต้องลำธารก็เกิดประกายระยิบระยับชวนให้นึกถึงเกล็ดอันพลิ้วไหวของงูในขณะที่เลื้อย

เราผู้เป็นคนเมืองหลายคนจึงยินดีที่จะได้สัมผัสจิตวิญญาณของธรรมชาติ โดยไม่ได้รู้สึกว่ากิจกรรมนี้ “ศาสนาจ๋า” หรือคร่ำครึโบราณอะไร

โดยมีผมทำหน้าที่ตัวแทนผู้ไขกุญแจเปิดประตูใจให้ในรูปแบบพิธีกรรม

 

พิธีกรรมในวันนั้นก็ไม่มีอะไรซับซ้อนครับ ผมแปลบทภาวนาต่างๆ มาจากภาษาอังกฤษซึ่งแปลมาจากภาษาทิเบตอีกที มีอาจารย์ประมวล เพ็งจันทร์ และพี่อ้วน นิคม ร่วมภาวนาในพิธี เราใช้จินตภาพหรือการตั้งนิมิตเพื่ออัญเชิญพระโพธิสัตว์และเหล่านาคมายังมณฑลพิธีและอ่านบทอ่านด้วยกัน

จากนั้นเราได้ถวายของมีค่าที่แต่ละคนนำมา โดยเฉพาะหินและแก้วมณีต่างๆ แทนขุมสมบัติให้นาค ในบริเวณนั้นได้ผูกธงมนต์ห้าสี เพื่อให้พระธรรมคำสอนกระจายไปในสายลม และพลังแห่งชีวิตอันสะท้อนด้วยสีทั้งห้าสถิตอยู่

จากนั้นพวกเราได้ถวาย “ซัง” หรือการถวายควันหอมตามประเพณีทิเบต ผมเตรียมทั้งยาสมุนไพรซึ่งเชื่อว่าช่วยรักษาอาการป่วยต่างๆ ของนาค ไม้สน เครื่องหอมและอาหาร ถวายลงในไฟให้เกิดควันสีขาวกระจายไปทั่ว ซึ่งชาวทิเบตเชื่อว่าเทพเจ้าจะมารับเอาของถวายจากควันหอมนี้และทำให้บรรยากาศสะอาดบริสุทธิ์

น่าสังเกตครับว่า บทถวายซังของทิเบตแก่นาคหรือแก่เจ้าที่เจ้าทางและเทพพื้นบ้าน มักจะจบท้ายด้วยมนต์โอวาทปาฏิโมกข์และคาถาเยธัมมา คงเพื่อเป็นการมอบธรรมให้แก่เทพและจิตวิญญาณเหล่านั้น แล้วจิตวิญญาณเหล่านั้นจะได้เป็นมิตรกับพุทธศาสนา

จนอาจช่วยปกป้องผู้ปฏิบัติและพระธรรมคำสอน

 

การปรากฏขึ้นของศาลนาคแห่งดอยหลวงเชียงดาวอันเป็นต้นน้ำแม่ปิงนั้น ได้ยังจิตยังใจให้ชุ่มชื่น ฟื้นฟูความเคารพต่อธรรมชาติอันทรงพลังอย่างยิ่ง ใครมีโอกาสก็ไปเยี่ยมชมครับ

ไปใช้เวลานั่งนิ่งๆ เงียบๆ ในบริเวณนั้น ฟังเสียงลำธารที่ไหลเรื่อย มองแสงสว่างที่ลอดผ่านใบไม้ โอบกอดธรรมชาติแล้วให้ธรรมชาติโอบกอดเรา สื่อสารกับ “นาค” ด้วยหัวใจ

ผมคิดว่า หากเราสามารถคิดถึง “นาค” ในฐานะพลังจิตวิญญานแห่งธรรมชาติได้ โดยเชื่อมโยงกับมโนคติและท่าทีแบบพุทธศาสนา ความนิยมนับถือนาคที่เฟื่องฟูในสังคมไทยขณะนี้ก็จะกลายเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ต่อโลกและสิ่งแวดล้อม และเราก็อาจพาตนเองหลุดจากกระแสการตลาดวัตถุมงคลได้

ที่จริงผมคิดว่าแต่เดิมเราก็คงนับถือนาคในความหมายเช่นนั้นมาก่อน จนกระทั่งขบวนการสร้างเสกวัตถุมงคลเปลี่ยนไปสร้าง “พญานาค” ให้กลายเป็นสินค้าใหม่ที่เน้นอิทธิฤทธิ์อภินิหาร

จนเสียความหมายเดิมไปอย่างน่าเสียดาย