จรัญ มะลูลีม : เส้นทางสุดท้ายของซูฟี สู่การเป็นส่วนหนึ่งกับพระเจ้า

จรัญ มะลูลีม

คําว่า (ฟะนา) หรือการตายไปนั้นรวมเอาขั้นตอน แง่มุมและความหมายต่างๆ ดังจะสรุปไว้ได้ดังต่อไปนี้

(1) การเปลี่ยนรูปในด้านศีลธรรมของดวงวิญญาณโดยอาศัยการดับสูญของกิเลสตัณหาของมัน

(2) การถอนจิตใจหรือทำให้จิตใจตายไปจากสิ่งที่แลเห็น คิด กระทำ ทุกอย่างโดยการมุ่งสำรวมคิดถึงแต่พระเจ้า ในที่นี้การคิดถึงพระองค์หมายถึงการใคร่ครวญถึงคุณลักษณะของพระองค์

(3) การหยุดความคิดที่มีความสำนึกทั้งปวงเสีย จะทำให้บรรลุถึงขั้นตอนสูงสุดของฟะนาได้แม้กระทั่งเมื่อความสำนึกถึงการบรรลุถึงมันได้มลายหายไปแล้วก็ตาม นี่คือสิ่งที่ซูฟีเรียกว่า “การตายไปของการตายไป” (ฟะนา อัล-ฟะนา) เมื่อถึงจุดนี้ผู้นั้นก็จะหมกหมุ่นอยู่กับการใคร่ครวญถึงตัวตนที่แท้จริงของพระเจ้าเท่านั้น

ขั้นตอนสุดท้ายของฟะนาก็คือการตายไปจากตัวตนโดยสิ้นเชิง ซึ่งจะเป็นการนำไปสู่ภาวะบะกอ (Baqa) คือ “การเดินทางต่อไป” หรือ “การเข้าไปอยู่” ในพระเจ้า

 

ขั้นตอนแรกดูคล้ายกับ “นิพพาน” ของพุทธศาสนามากทีเดียว

มันคือ “การตายไป” ของลักษณะที่เลวทรามและสภาพจิตที่ชั่วร้ายซึ่งจะต้องมีการ “ต่อ” ด้วยคุณสมบัติที่ดีและสภาพจิตที่ดีในขณะเดียวกันด้วย

นี่คือกระบวนการที่จำเป็นสำหรับจะทำให้เกิดความปิติดื่มด่ำ (Ecstasy) จนกระทั่งถือว่าลักษณะทุกอย่างของ “ตัวตน” ก็คือของชั่วร้าย ในเรื่องความสัมพันธ์กับพระเจ้าไม่มีใครเลยที่จะทำตัวให้มีศีลธรรมสมบูรณ์ได้ นั่นคือ “ไร้ตัวตน” โดยสิ้นเชิงได้ จึงต้องอาศัยให้พระเจ้าทรงทำโดยการ “ฉายความงามของพระองค์แวบเข้ามาในดวงใจของเขา”

ขั้นตอนที่หนึ่งการสร้าง “ตัวตน” ที่มีศีลธรรม

ขั้นตอนที่สองคือสร้าง “ตัวตน” ที่มีปรีชาญาณ ถ้าจะเทียบกับลัทธินิยมความลี้ลับของคริสเตียนแล้วเราอาจกล่าวได้ว่าขั้นตอนที่หนึ่งก็คือการทำให้ชีวิตที่ได้รับการชำระให้สะอาดบริสุทธิ์แล้วมีความครบถ้วนสมบูรณ์ ขั้นตอนที่สองคือมุ่งหมายให้ชีวิตนั้นบรรลุถึงความสว่างไสว

และขั้นตอนที่สามอันเป็นขั้นตอนสุดท้ายอันเป็นระดับสูงสุดก็คือชีวิตที่เต็มไปด้วยการพิจารณาใคร่ครวญนั่นเอง

 

ซูฟีได้แยกสื่อกลางสำหรับติดต่อสื่อสารทางด้านจิตวิญญาณไว้เป็นสามอย่างด้วยกันคือ ดวงใจ (กอลบ์) ซึ่งรู้จักพระเจ้า จิต (รุห์) ซึ่งรักพระองค์ และวิญญาณส่วนลึกที่สุด (ชิรร์) ซึ่งใคร่ครวญถึงพระองค์

ดวงใจนั้นถึงแม้จะมีความเกี่ยวข้องกับหัวใจซึ่งเป็นอวัยวะของร่างกายอยู่บ้างอย่างลับๆ แต่ก็ไม่ใช่สิ่งที่มีเลือดมีเนื้อ มันมีลักษณะไปในทางปัญญามากกว่าทางอารมณ์ แต่ในขณะที่สติปัญญาไม่สามารถมีความรู้อันแท้จริงเกี่ยวกับพระเจ้าได้นั้น ดวงใจสามารถรู้จักเนื้อแท้ของทุกๆ สิ่งได้ และเมื่อมันสว่างแจ้งขึ้นด้วยความศรัทธาและความรู้มันก็จะสะท้อนให้เห็นเนื้อหาทั้งหมดของจิตแห่งพระเจ้า

ดังที่ท่านศาสดาได้กล่าวไว้ว่า “ฉันมิได้อยู่ในผืนแผ่นดินและฟากฟ้าของฉัน แต่ฉันอยู่ในดวงใจของข้า ผู้มีศรัทธาทั้งหลายของฉัน”

ตามปกตินั้นดวงใจจะถูกปิดกั้นให้มืดมนไปด้วยบาป เปรอะเปื้อนไปด้วยความรู้สึกในกิเลสตัณหาและไหวไปมาระหว่างเหตุผลกับอารมณ์ มันเป็นสมรภูมิที่กองทัพของพระเจ้ากับของมารร้ายมาต่อสู้ชิงชัยกัน จากประตูบานหนึ่ง ดวงใจจะได้รับความรู้จักพระเจ้าอย่างทันทีทันใด และจากอีกประตูหนึ่ง มันจะปล่อยให้ภาพมายาของความรู้สึกลอบเข้ามาแล้วมนุษย์จะรู้จักพระเจ้าได้อย่างไร?

มนุษย์จะรู้จักพระองค์ได้มิใช่โดยประสาทสัมผัสต่างๆ เพราะพระองค์มิใช่วัตถุจะรู้จักโดยสติปัญญาก็ไม่ได้ เพราะพระองค์เป็นสิ่งที่ไม่อาจคิดให้ถึงได้ เหตุผลไม่เคยก้าวไกลไปกว่าขอบเขตจำกัดเลย ปรัชญามองอะไรสองแง่สองมุม การเรียนจากหนังสือก็ทำให้เกิดการลวงตัวเองและทำให้ความคิดเรื่องสัจจะมืดมัวไปด้วยเมฆหมอกแห่งคำพูดอันว่างเปล่าไร้สาระ แต่ความรู้ชนิดนี้ได้มาโดยแสงสว่าง โดยการเปิดเผยของพระเจ้าและโดยการดลใจจากพระองค์

ซูฟีกล่าวว่า “จงมองดูในดวงใจของท่านเอง เพราะอาณาจักรของพระเจ้าอยู่ในตัวท่าน”

 

แต่ความรู้สึกด้านจิตวิญญาณภายในที่ซูฟีเรียกว่านัยน์ตาจิตนั้นมืดบอดไปเหมือนกระจกเงาที่เปรอะเปื้อนไปด้วยฝุ่นละอองจึงต้องชำระล้างฝุ่นละอองนั้นให้สิ้นไป

การทำความสะอาดนั้น ถ้าจะให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพก็ต้องเป็นงานของพระเจ้าแต่ก็ต้องมีการร่วมมือภายในบางอย่างจากมนุษย์ด้วย

ความรู้พิเศษนี้ซูฟีเรียกว่า มะอ์ริฟาต หรืออิรฟาน ไม่ใช่อิลม์ ซึ่งเป็นความรู้ทั่วไป มะอ์ริฟาตของซูฟีก็คือ Gnosis ของปรัชญากรีกนั่นเอง นั่นก็คือความรู้ในเรื่องพระเจ้าโดยตรงซึ่งขึ้นอยู่กับการที่พระองค์จะทรงเปิดเผยให้หรือการมองเห็นแบบอภินิหาร

มันมิได้เป็นผลของกระบวนการทางสมองใดๆ แต่ขึ้นอยู่กับพระประสงค์และความโปรดปรานของพระเจ้าโดยสิ้นเชิง ซึ่งจะทรงมอบมันให้แก่ผู้ที่พระองค์ทรงสร้างขึ้นและแก่ผู้มีความสามารถที่จะรับมันไว้ได้เสมือนดังของกำนัลจากพระองค์

มันคือแสงสว่างแห่งความเมตตาของพระเจ้าซึ่งฉายแวบเข้าไปในดวงใจและท่วมท้นอวัยวะทุกอย่างของมนุษย์ด้วยแสงอันเจิดจ้าของมัน “เขาผู้รู้จักพระเจ้าย่อมนิ่งเงียบเสมือนเป็นใบ้”

ภาวะรวมตัวกับพระเจ้านั้นเป็นขีดสูงสุดของกระบวนการซึ่งทำให้ดวงวิญญาณค่อยๆ แยกออกจากทุกสิ่งมิใช่ของตัวเอง แยกจากทุกสิ่งที่มิใช่พระเจ้า ไม่เหมือนกับนิพพานในพุทธศาสนา ซึ่งเป็นเพียงภาวะหยุดนิ่งของตัวตนส่วนบุคคลเท่านั้น แต่ฟะนาของซูฟีหรือการตายไปจากความเป็นอยู่ภายนอกของเขานั้นรวมเอาภาวะที่เรียกว่าบะกอ (Baqa) คือการสืบเนื่องต่อไปของความเป็นอยู่อันแท้จริงของเขาไว้ด้วย

ผู้ที่ตายไปจากตัวตนของตนย่อมมีชีวิตอยู่ในพระเจ้า และฟะนาหรือขั้นตอนสุดท้ายแห่งความตายนี้หมายถึงการบรรลุถึงภาวะบะกอหรือการเข้าร่วมกับชีวิตของพระเจ้า

การเข้าร่วมกับพระเจ้านี้คือจุดหมายปลายทางขั้นสุดท้ายของซูฟีในอิสลาม

 

การสื่อสารติดต่อกับพระเจ้านั้นอาจทำได้เป็นลำดับไปจนกระทั่งบรรลุถึงจุดหนึ่งเมื่อเขาจะแลเห็นภาพของตัวตนที่แท้จริงของพระองค์ได้จริงๆ ขั้นแรกสำหรับผู้หัดใหม่ก็คือการตั้งเจตนา “นียาด” (Niyyat) ต่อไปก็คือการสำนึกผิด “เตาบะฮ์” (Tauba) คราวนี้ก็จะดำเนินต่อไปข้างหน้าได้แล้ว ขั้นตอนนี้เรียกว่าตะญาระบะฮ์ (การทดลองความสามารถหรือความพยายาม)

หลังจากที่ทำขั้นนี้อยู่เป็นเวลานาน ดวงวิญญาณที่ประสบความปิติซาบซึ้งดื่มด่ำ “วัจด์” (Wajd) ก็จะปรากฏตัวต่อหน้าพระเจ้าซึ่งยังดูรางเลือนอยู่ อารมณ์อันสูงส่งนี้ภาษาอาหรับเรียกว่า “มุฮาเฎาะเราะฮ์”

เมื่อดวงวิญญาณละทิ้งโลกและความฟุ้งเฟ้อของมันไปยอมจำนนต่อพระเจ้าก็จะได้ประสบการณ์ขั้นนี้

ขั้นต่อไปคือการ “เผยม่านบังออก” เมื่อม่านบังถูกเผยออก พระเจ้าก็จะเผยองค์แก่หัวใจของผู้สักการะพระองค์

ขั้นสุดท้ายคือการแลเห็น “มุซาฮะดะฮ์” (Mushahada) คือในขณะที่ดวงวิญญาณเข้าไปอยู่ต่อหน้าสัจจะเอง “อัล-ฮักก์” (Al-Haqq) แสงสว่างส่องมายังดวงใจของเขา แม้กระทั่งในระยะแรกๆ ความพยายามสำรวมความคิดทั้งหมดอยู่ที่สิ่งเดียวก็จะสามารถทำให้ผู้นั้นแลเห็นภาพต่างๆ และได้ยินเสียงของมลาอิกัต (ทูตสวรรค์) และได้รับประโยชน์จากคำแนะนำต่างๆ ของมลาอิกัตได้

ในคำศัพท์ของซูฟี ความพยายามจนบรรลุถึงขั้นนี้เรียกว่า “ภาวะ” หรือ ฮัล (Hal) นั่นเอง