เทศมองไทย : “ลุงตู่” ในบริบท การเมืองไทย

เมื่อปี่กลองการเมืองเริ่มบรรเลงเพลงเชิด ตัวละครบนเวทีการเมืองก็ออกลีลาร่ายรำ ชัดเจน สนุกสนานมากขึ้นตามลำดับ ไม่เพียงทำให้บรรยากาศการเลือกตั้งเข้มข้นมากขึ้นเท่านั้น ยังทำให้หลายอย่างที่เคยคลุมๆ เครือๆ เดี๋ยวชัด เดี๋ยวเลือนหาย กลายเป็นแจ่มแจ้งแดงแจ๋ มองเห็นทะลุแจ้งแทงตลอดกันขึ้นมา

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา อย่าว่าแต่ในเมืองไทยเลยครับ แม้แต่ในเมืองนอกเมืองนา ข่าวคราวการเลือกตั้งของไทยก็ “ขึ้นหม้อ” ติดอันดับเป็นข่าวระดับ “ท็อปเท็น” ไปทั่วโลก

ว่าด้วยเรื่อง “แคนดิเดต” นายกรัฐมนตรีคนต่อไป ที่น่าสนใจก็คือ ในขณะที่ยอดรวมมีเกินครึ่งร้อย ต่างชาติกลับให้ความสนใจมากสุดๆ เพียง 2 รายเท่านั้นเอง

หนึ่งในจำนวนนั้นคือ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ที่พรรคพลังประชารัฐเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีหนึ่งเดียวของตนเอง

 

วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2 วันก่อนหน้านายกรัฐมนตรีประยุทธ์จะตอบรับคำเชิญของพรรคพลังประชารัฐ ภาณุ วงศ์ชะอุ่ม กับ พนารัตน์ เทพกำปนาท แห่งรอยเตอร์ส นำเสนอรายงานเจาะลึกลงไปเกี่ยวกับตัวแคนดิเดตรายนี้โดยเฉพาะ

เป็นแง่มุมจำเพาะต่อตัวแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีรายนี้ ที่ถูกนำเสนอออกไปเป็น “ภาพจำ” ของคนอ่านในต่างแดนหลายคนที่ได้อ่านงานชิ้นที่จั่วหัวไว้ว่า “From coup-maker to candidate” ชิ้นนี้

เริ่มต้นจากการตั้งข้อสังเกตว่า ระยะหลังมานี้ท่านนายกฯ “ทำตัวเหมือนนักการเมืองมากขึ้นมาก แม้จะยังทำให้คนทั้งประเทศต้องรอต่อไปว่าจะตอบรับเป็นตัวเลือกที่จะก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีในการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 24 มีนาคม เพื่อฟื้นฟูการปกครองด้วยพลเรือน ที่ล่าช้ามานานครั้งนี้หรือไม่อยู่ก็ตาม”

แล้วก็อดบอกไม่ได้ว่า แต่ส่วนใหญ่เข้าใจกันว่า พล.อ.ประยุทธ์ไม่น่าจะต้านทานเสียงเพรียกจากการเลือกตั้งได้แน่นอน

ด้วยเหตุผลที่ว่า รัฐธรรมนูญใหม่ซึ่งได้รับการรับรองไปเมื่อปี 2016 นั้น ทหารมีอำนาจอยู่สูงมากในการตัดสินชี้ขาดว่าใครจะกลายเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป

เพราะนายกรัฐมนตรีคนต่อไป จำต้องได้รับความเห็นชอบด้วยเสียงข้างมากจากทั้งวุฒิสภา 250 ที่นั่ง และจากสภาผู้แทนราษฎร จำนวน 500 ที่นั่งร่วมกัน ซึ่งรอยเตอร์สบอกว่า ทำให้วุฒิสมาชิกเพียงแค่ 126 คนก็สามารถ “วีโต้” ตัวเลือกนายกรัฐมนตรีที่สภาล่างนำเสนอมาได้แล้ว

รอยเตอร์สเรียกสิ่งนี้ว่า คือความได้เปรียบแบบ “บิลต์-อิน” ครับ

 

แต่ถึงจะมี “บิลต์-อิน แอดแวนเทจ” ขนาดนั้น รอยเตอร์สก็ยังเชื่อว่า การเปลี่ยนรูป พลิกโฉมหน้าของ พล.อ.ประยุทธ์ จากคนทำรัฐประหารมาเป็นตัวเลือกนายกรัฐมนตรีจากการเลือกตั้งก็ “ไม่ง่ายเสียทีเดียว”

ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บอกกับรอยเตอร์สไว้ว่า

“ตอนนี้ (พล.อ.) ประยุทธ์ต้องการให้ประชาชนรัก เพราะการที่เอาชนะในการเลือกตั้งนั้นคุณใช้ความกลัวไม่ได้…เขารู้ดีว่าจะเป็นเผด็จการอยู่ตลอดเวลาไม่ได้”

พงษ์พิสุทธิ์ บุษบารัตน์ อาจารย์รัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพิ่มเติมว่า พล.อ.ประยุทธ์มีแรงดึงดูดสำหรับกลุ่มชนชั้นสูง กลุ่มทหารและคนชั้นกลางที่ยืนอยู่ตรงกันข้ามกับอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร พงษ์พิสุทธิ์ชี้ว่า สำหรับชนชั้นสูง การรัฐประหารเมื่อปี 2014 ของ พล.อ.ประยุทธ์เป็น “ความจำเป็น” และคนเหล่านี้ก็อาจลงคะแนนเลือกอีกครั้งเพื่อสืบทอดการดำรงตำแหน่งของ พล.อ.ประยุทธ์ต่อไป

“(พล.อ.) ประยุทธ์ทำได้ดีสำหรับคนชั้นสูง กลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ และบรรดาผู้ที่นิยมสถาบัน…บุคลิกเจ้าอารมณ์ของเขาที่สำหรับผู้ลงคะแนนหลายคนถือเป็นภาพลักษณ์ติดลบ แต่สำหรับผู้สนับสนุนแล้วกลับเป็นการแสดงถึงความเข้มแข็ง” พงษ์พิสุทธิ์ระบุ

 

ผู้เขียนให้ข้อมูลน่าสนใจไว้ว่า ชีวิตทหารของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ถูกบ่มเพาะขึ้นมาท่ามกลางยุคเวลาของความผันผวนทางการเมืองสูงสุด

ตอนเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลา เมื่อปี 1973 พล.อ.ประยุทธ์เป็นนักเรียนโรงเรียนเตรียมทหาร อีก 3 ปีต่อมา ตอนเกิดเหตุสังหารหมู่ในวันที่ 6 ตุลาคม ต่อด้วยการรัฐประหารนั้น พล.อ.ประยุทธ์อยู่ในโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า เมื่อครั้งเป็นทหาร ได้ชื่อว่าเป็นคนเด็ดขาดยิ่ง ไต่เต้าขึ้นมาตามลำดับจนกลายเป็นผู้บัญชาการทหารบกและลงมือทำรัฐประหารที่ถือเป็นการรัฐประหารสำเร็จเป็นครั้งที่ 13 ในไทยเมื่อปี 2014

ผู้สนับสนุนและคนที่ชื่นชมชอบเรียกท่านนายกฯ ว่า “ลุงตู่” ด้วยบุคลิกลักษณะอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งทำให้วาสนา นาน่วม ผู้สื่อข่าวมือเก่าสายทหารเคยเปรียบเปรยว่าราวกับ พล.อ.ประยุทธ์เป็นคนสองบุคลิกยังไงยังงั้น เพราะนอกจากสามารถเขียนกลอน แต่งเพลงแล้ว ยังมีอารมณ์ขัน ซึ่งใครๆ ก็รู้ว่าไม่ได้แกล้งทำ

รอยเตอร์สชี้ว่า ตั้งแต่ก้าวขึ้นเป็นผู้บัญชาการทหารบก พล.อ.ประยุทธ์ต้องเลิกกิจกรรมที่เป็นงานอดิเรกโปรดปรานไปหนึ่งอย่าง นั่นคือ การขี่จักรยานยนต์บิ๊กไบก์ “ฮาร์เลย์ เดวิดสัน”

ก่อนตบท้ายด้วยคำบอกเล่าของ “แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี” รายนี้ว่า “ผมเป็นทหาร ถูกวิจารณ์มากๆ ก็โมโห” และ

“แต่ผมต้องปรับปรุงตัวเองในตอนนี้ เพราะต้องมีความอดทนถึงจะเป็นนักการเมืองได้”

คำถามของผมก็คือ เราจะเห็น “ลุงตู่” ในบริบทการเมืองอย่างนี้ไปอีกนานแค่ไหนกัน?