ทุนใหญ่ควัก 850 ล้าน ซื้อหุ้น “อมรินทร์” อีกราย-พิษดิจิตอลทีวี

ข่าวใหญ่ของวงการในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา หนีไม่พ้นข่าว “เจ้าสัวเบียร์” สยายปีกเข้าซื้อหุ้น “อมรินทร์พริ้นติ้ง”

หลังจากที่ต่อสู้กับปัญหาขาดทุนมาอย่างต่อเนื่อง จากการเข้าลงทุนในทีวีดิจิตอล อมรินทร์ทีวี ขณะที่สภาพเศรษฐกิจมีปัญหา

มีเรตติ้งอยู่ในอันดับ 10-11 ของตาราง แม้จะมีการปรับทีมปรับรายการ เพื่อขยายฐานคนดูแล้วก็ตาม

และกิจการด้านหนังสือก็เข้าสู่ช่วงโรยรา ซึ่งเกิดขึ้นกับธุรกิจหนังสือทั้งหมด

โดยเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน นางเมตตา อุทกะพันธุ์ ประธานกรรมการบริษัท อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) ทำหนังสือแจ้งกรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทมีมติลดทุนจดทะเบียนจาก 220 ล้านบาท เป็น 219,999,865 บาท และเพิ่มทุนเป็น 419,999,865 บาท

โดยออกหุ้นสามัญเพิ่มทุน 200 ล้านหุ้น พาร์ 1 บาท เพื่อจัดสรรและขายให้กับบริษัท วัฒนภักดี จำกัด โดย นายฐาปน สิริวัฒนภักดี และ นายปณต สิริวัฒนภักดี เป็นผู้ซื้อในราคาหุ้นละ 4.25 บาท รวมเป็นมูลค่า 850 ล้านบาท

ทำให้นายฐาปนและนายปณต เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ที่ 47.62% ทั้งนี้ ราคาเสนอขายเป็นราคาที่ส่วนลดมากกว่า 10% ของราคาถัวเฉลี่ยของตลาดที่ 7.47 บาท

ดังนั้น จึงต้องขอมติที่ประชุมผู้ถือหุ้นพร้อมขออนุมัติผ่อนผันการทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมดของกิจการกับผู้ถือหุ้นซึ่งจะจัดประชุมในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2560

สาเหตุที่ทำให้ต้องขายหุ้นเพิ่มทุนครั้งนี้ เนื่องจากบริษัทประสบภาวะผลประกอบการขาดทุนจากการดำเนินงานในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา

โดยบริษัทมีผลขาดทุนสุทธิ 91.46 ล้านบาท 416.41 ล้านบาท และ 468.93 ล้านบาท ในงวดปี 2557 ปี 2558 และในรอบ 9 เดือนปี 2559

ส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องทางการเงินที่ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจของบริษัท ตลอดจนอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (ดีอี) ณ วันที่ 30 กันยายน 2559 ของบริษัทมีอัตราที่สูงเท่ากับ 4.32 เท่า

จึงมีความจำเป็นที่จะต้องใช้เงินทุนที่จะได้รับจากการเพิ่มทุนในครั้งนี้เพื่อการลงทุนเพิ่มเติมในธุรกิจทีวีดิจิตอลที่อยู่ในช่วงของการเริ่มต้นธุรกิจซึ่งมีต้นทุนการดำเนินการที่สูง

โดยใช้สำหรับการชำระค่าใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับการให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล การชำระค่าบริการโครงข่ายทีวีดิจิตอลรายเดือน การชำระคืนเงินกู้ยืม จากสถาบันการเงิน

และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนที่ใช้ในการดำเนินธุรกิจ เช่น การผลิตรายการโทรทัศน์ เป็นต้น โดยบริษัทมีแผนการใช้เงินที่ได้จากการเพิ่มทุนนี้ภายในต้นปี 2561

บริษัทจึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีเงินทุนเพิ่มเติมเพื่อดำเนินการต่างๆ ได้ตามที่กล่าวข้างต้น นอกจากนี้ ปัจจุบันธุรกิจทีวีดิจิตอลมีการแข่งขันสูง การที่บริษัทจะมีพันธมิตรทางธุรกิจที่มีความพร้อมในด้านเงินทุนและมีความเชี่ยวชาญในการดำเนินธุรกิจ มีสถานะทางการเงินและสายสัมพันธ์ที่ดีกับกลุ่มธุรกิจที่หลากหลาย จะทำให้บริษัทได้รับเงินตามจำนวนที่ต้องการ และยังช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นในการดำเนินธุรกิจได้ บริษัทจึงพิจารณาเห็นว่าการเพิ่มทุนโดยการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่บุคคลในวงจำกัดมีความเหมาะสมกับสถานการณ์ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องขายหุ้นเพิ่มทุนครั้งนี้

หลังตลาดรับรู้ข่าว ราคาหุ้นบริษัทอมรินทร์พริ้นติ้งฯ ปรับเพิ่มเกือบ 30% มาอยู่ที่ 9.65 บาท เพิ่มขึ้นจากวันก่อนหน้า 2.20 บาท

 

เฟซบุ๊กของ Theerapat Charoensuk ลำดับเหตุการณ์ ขอสรุปบางส่วนดังนี้

สำนักพิมพ์อมรินทร์ (AMARIN) ก่อตั้งโดย ชูเกียรติ อุทกะพันธุ์ จากยุค 14 ตุลา โดยเริ่มจาก “บ้านและสวน” นิตยสารแนวการจัดบ้าน ก่อนประสบความสำเร็จอย่างสูงจากนิตยสาร “แพรว” และ “แพรวสุดสัปดาห์” รวมถึงนิตยสารแนวสุขภาพ “ชีวจิต”

ชูเกียรติ ถึงแก่กรรมในปี พ.ศ.2545 จากนั้น เมตตา อุทกะพันธุ์ ภรรยา และ ระริน อุทกะพันธุ์ บุตรสาว บริหารงานต่อ

ปี 2556 อมรินทร์เพิ่มทุนเข้าประมูลทีวีดิจิตอล เปิดตัวในช่วงที่มีรัฐประหารพอดี ปี 2557-2559 ขาดทุนต่อเนื่อง

พฤศจิกายน 2559 อมรินทร์ร่วมกับคาโดกาว่าโชเต็น บริษัทจากญี่ปุ่น เพื่อทำตลาดนิยายแปลญี่ปุ่น ก่อนประกาศเพิ่มทุน และขายหุ้น 47% ให้ตระกูลสิริวัฒนภักดี เป็นเงิน 850 ล้านบาท เพื่อนำมาใช้จ่ายในกิจการต่อไป

ส่งผลให้ตระกูลสิริวัฒนภักดี มีสื่อในมือเทียบเท่ากับตระกูลเจียรวนนท์แห่งทรู-ซีพี รวมถึงเครือข่ายโลจิสติกส์หนังสือและหน้าร้านหนังสือนายอินทร์กว่า 160 สาขาทั่วประเทศทันที

ตระกูลอุทกะพันธุ์ยังดำรงตำแหน่งระดับบริหารของอมรินทร์ จนกว่าตระกูลสิริวัฒนภักดีจะแต่งตั้งกรรมการบริหารใหม่

ภายหลังข่าวดังกล่าว มีผู้แสดงความเห็นต่อการเปลี่ยนแปลงของเครืออมรินทร์อย่างคึกคัก โดยเฉพาะในโลกออนไลน์

เนื่องจากปัจจัยที่ทำให้เกิดปัญหาการดำเนินการ มาจากสภาพเศรษฐกิจ และการเมือง อันเป็นผลจากสถานการณ์พิเศษ

ก็คือการรัฐประหาร อันเป็นความต่อเนื่องจากการชุมนุมชัตดาวน์เมื่อปี 2556-2557

ในครั้งนั้น ธุรกิจหลายแห่ง สื่อหลายสำนัก เป็นผู้สนับสนุนที่แข็งขันของ กปปส. ฝ่ายบริหารสนับสนุนให้พนักงานออกไปร่วมชุมนุม

อมรินทร์ที่เป็นเจ้าของนิตยสารแพรว เคยนำ อัญชะลี ไพรีรัก แกนนำ มาขึ้นปกแพรวเดือนมกราคม 2557 มาแล้ว

เช่นเดียวกับแม็กกาซีนไฮโซอีกฉบับคือ Lips ของ ศักดิ์ชัย กาย ที่นำ สุเทพ เทือกสุบรรณ และอัญชะลี มาขึ้นปก ในเวลาใกล้เคียงกัน

 

ใบตองแห้ง เขียนในข่าวหุ้น ฉบับ 28 พฤศจิกายน ว่า สื่อทีวี “ตกยุค” รวดเร็วน่าตระหนก คนรุ่นใหม่แทบไม่ดูทีวี ใครมี content ดีๆ แค่โพสต์ลง YouTube หรือ facebook live ก็ได้คนดูตรึม

ใน 22 ช่องที่เหลืออยู่ อมรินทร์อาการหนักลำดับต้นๆ มือใหม่ สายป่านสั้น จึงต้องต่อสายป่าน

ด้านตระกูลสิริวัฒนภักดี การได้ขี่อมรินทร์ด้วยเม็ดเงินแค่นี้ คุ้มยิ่งกว่าคุ้ม กับการได้เป็น “เจ้าของสื่อ”

การเป็นเจ้าของสื่อในสังคมไทย มีความหมาย เพราะมีอิทธิพลสูงทางเศรษฐกิจ การเมือง

ณ วันนี้ เราจึงมีทีวีดิจิตอล 3 กลุ่มใหญ่ กลุ่มหนึ่งคือทีวีรัฐใช้เงินภาษี กลุ่มที่สองทีวีเอกชน ที่ดิ้นรนหาคนดูหารายได้ ซึ่งมีทั้งกำไรและขาดทุน กลุ่มที่สามได้แก่ทีวี “เด็กพิเศษ” 6-7 ช่อง ทำยังไงก็ขาดทุน แต่สายป่านยาว เพราะเป็นเจ้าของธุรกิจที่มีกำไรมหาศาล มีอภิสิทธิ์ ได้สัมปทานรัฐ รวยจากเก็งกำไรตลาดหุ้น ฯลฯ

กลุ่มเหล่านี้ดีดลูกคิดแล้วว่าซื้อสื่อคุ้มแสนคุ้ม ใช้ทำข่าว PR CSR ในเครือตัวเองและพันธมิตรธุรกิจ สร้างคอนเน็กชั่น น้ำใจไมตรี กระทั่งเป็น “อาวุธ” เป็นอำนาจต่อรอง ปกป้องผลประโยชน์จากอำนาจรัฐ อำนาจการเมือง หรือกระแสสังคม

ก่อนทิ้งท้ายว่า จากยุคสมัยที่สื่อโวยวายว่า ทุนสามานย์ซื้อสื่อ ณ วันนี้ เราเข้าสู่ยุคที่กลุ่มทุนเป็น “เจ้าของสื่อ” อย่างเปิดเผยเป็นทางการแล้วนะครับ อยากรู้จัง องค์กรวิชาชีพสื่อจะรับมืออย่างไร

เป็น “ข่าวล่าสุด” จากแนวรบดิจิตอลทีวี