ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ : เจดีย์พุทธ ยุคอยุธยา บ้านพราหมณ์ สมอพลือ จ.เพชรบุรี

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

บ้านสมอพลือ ตั้งอยู่ที่ ต.สมอพลือ อ.บ้านลาด จ.เพชรบุรี เป็นย่านพราหมณ์เก่าแก่ มีร่องรอยเกี่ยวกับกลุ่มพราหมณ์ยุคอยุธยาสืบเนื่องจนถึงรัตนโกสินทร์อยู่มากมาย

มีหลักฐานว่า ตระกูลพราหมณ์สมอพลือ ยุคอยุธยา มีธิดา 2 คน เป็นมเหสีสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ แล้วมีโอรส คือ เจ้าฟ้ากุ้ง, เจ้าฟ้าเอกทัศน์, เจ้าฟ้าอุทุมพร, ฯลฯ

เจ้าของคอลัมน์หน้าข้างๆ ของผม อย่าง คุณสุจิตต์ วงษ์เทศ เคยเขียนอธิบายเอาไว้ว่า สุนทรภู่ เขียนนิราศเมืองเพชร บอกตระกูลสายแม่กับสายพ่อของท่านเองว่าเป็น “พราหมณ์รามราช” อยู่เมืองเพชรบุรี ก็น่าจะเกี่ยวข้องกับพราหมณ์สมอพลือ

ข้างบ้านสมอพลือมีแม่น้ำเพชรบุรี หรือที่นิยมเรียกกันอย่างกระชับว่า ลำน้ำเพชร ไหลผ่านทางวัดท่าไชย บ้านสมอพลือ เป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ตักไปเป็นน้ำเสวยของ ร.4, ร.5, ร.6 และใช้ทำพิธีศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ เช่น พระราชพิธีถือน้ำพระพัทธ์สัตยา (ซึ่งเพี้ยนเป็นชื่อ พระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา ในภายหลัง) หรือพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

ดังความในพระราชหัตถเลขาของรัชกาลที่ 5 เมื่อเสด็จประพาสมณฑลราชบุรีเมื่อ พ.ศ.2452 ที่ว่า

“ชื่อตำบลที่เรียกว่าท่าๆ นั้น คือเป็นท่าสำหรับผักของไร่ เช่น ฟักเหลือง ฟักเขียว เป็นต้น ลงเรือลำโตๆ เพราะที่สองข้างแม่น้ำนั้นเป็นไร่ตลอดไป ทางที่ขึ้นไปนี้เกินท่าชัยซึ่งเป็นที่ตักน้ำเสวยขึ้นไปเป็นอันมาก มีข้อหนึ่งซึ่งลี้ลับอยู่ คือน้ำราชาภิเษกนั้นไม่ใช่ใช้แต่น้ำ 4 สระ ใช้แม่น้ำทั้ง 5 ในกรุงสยาม คือ แม่น้ำบางประกง แม่น้ำศักดิ์ (ป่าสัก) แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำกลอง และแม่น้ำเพชรบุรี มีชื่อตำบลที่ตักทุกเมือง แต่ที่เพชรบุรีนี้ที่ท่าชัย”

 

“ท่าชัย” ในพระราชหัตถเลขา หมายถึง “ท่าไชยศิริ” คือท่าของ “วัดท่าไชยศิริ” ที่ตั้งอยู่ในบ้านพราหมณ์สมอพลือ ดังนั้น ความศักดิ์สิทธิ์ที่ว่าจึงเป็นความศักดิ์สิทธิ์ที่ปนๆ กันอยู่ ไม่ได้เป็นความศักดิ์สิทธิ์เฉพาะของศาสนาใดศาสนาหนึ่งอย่างเป็นเอกเทศ

ส่วนเหตุที่ถือกันว่า “น้ำ “จากที่ท่านี้ “ศักดิ์สิทธิ์” คงเป็นเพราะผ่านบ้านพราหมณ์ผู้มีเทพมนตร์ จึงถือว่าศักดิ์สิทธิ์กว่าที่อื่น ไม่ใช่ผ่านเฉพาะหน้าวัดในพระพุทธศาสนาเพียงอย่างเดียว

ดังนั้น จึงไม่น่าประหลาดใจเลยที่ในปัจจุบันนี้ “น้ำ” ที่ตักจากแม่น้ำเพชรบุรีที่วัดท่าไชยศิรินี้ ยังมีการนำไปทำพิธีปลุกเสก ณ พระวิหารหลวง วัดมหาธาตุ ต.คลองกระแชง อ.เมือง จ.เพชรบุรี เพื่อใช้ประกอบพิธีต่างๆ ที่ชาวเมืองเพชรเห็นว่ามีความสำคัญ

 

นอกเหนือจากวัดท่าไชยศิริ ละแวกบ้านพราหมณ์สมอพลือ ยังมีวัดอื่นๆ อีกด้วย แต่วัดที่ผมอยากจะพูดถึงเป็นการเฉพาะในที่นี้ คือ “วัดกลาง” ซึ่งมีเจดีย์เก่าอยู่สององค์

องค์เจดีย์ทั้งสอง ก่ออิฐถือปูน มีฐานบัวในผังรูปแปดเหลี่ยมสองชั้นรองรับชุดมาลัยเถา เหนือขึ้นไปเป็นบัวปากระฆังที่รองรับองค์ระฆังทรงลังกา

ที่มีลักษณะพิเศษคือส่วนฐานสอบเข้าอยู่อีกทอดหนึ่ง ถัดขึ้นไปเป็นบัลลังก์รูปทรงแปดเหลี่ยม รองรับส่วนยอดสุดคือปล้องไฉน ที่ฐานของปล้องไฉนยังมีลายปูนปั้นรูปกลีบบัวหงายรองรับอยู่อีกด้วย

รูปทรงเจดีย์ลักษณะนี้นิยมอยู่ในงานช่างอยุธยาระหว่างช่วง พ.ศ.1900-2000 โดยประมาณ

มีหลักฐานสำคัญเป็นเจดีย์ประจำมุมของพระปรางค์ประธาน วัดราชบูรณะ จ.พระนครศรีอยุธยา ที่พระราชพงศาวดารระบุไว้ว่าสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.1964

ผิดกันก็แต่กลุ่มเจดีย์แปดเหลี่ยมแบบที่พบในอยุธยามักจะมีฐานบัวในผังแปดเหลี่ยมซ้อนกันสามชั้น แต่เจดีย์ทั้งสององค์นี้สร้างซ้อนกันเพียงสองชั้น

และแทนที่ฐานบัวในผังแปดเหลี่ยมชั้นบนสุดด้วยชุดมาลัยเถา

ซึ่งก็ถือเป็นลักษณะเฉพาะของเจดีย์ที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมของกรุงศรีอยุธยาในช่วงเวลาดังกล่าวอย่างชัดเจน

 

ประเด็นที่น่าสนใจมากๆ ก็คือ การที่เจดีย์ทั้งสองนี้มีอายุอยู่ในช่วงเวลาที่ไม่ห่างกันนักกับรัชสมัยของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ซึ่งขึ้นครองราชย์เมื่อปี พ.ศ.2015

พระกฤษฎาภินิหาริย์ของพระองค์ที่เกี่ยวข้องกับพราหมณ์มีเล่าอยู่ในเอกสารของพ่อค้าชาวเนเธอร์แลนด์ ของบริษัทดัตช์อีสต์อินเดียอย่าง เยเรเมียส ฟาน ฟลีต หรือที่มักจะเรียกกันแบบไทยๆ ว่า วันวลิต ที่เข้ามาในอยุธยาเมื่อสมัยพระเจ้าปราสาททอง ซึ่งผมขอนำมาเล่าอย่างย่อๆ ดังนี้

ในเวลาที่สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ปกครองอยุธยานั้น มีพระเจ้าแผ่นดินอีกองค์หนึ่งประทับอยู่ ณ รามรัฐ ชายฝั่งโจฬะมณทล ทรงมีพระนามและตำแหน่งเดียวกันกับพระรามาธิบดี พระเจ้าแผ่นดินพระองค์นี้ทรงคิดเสมอว่าพระองค์แต่เพียงผู้เดียวสง่างาม มีเกียรติยศและปกครองแผ่นดินดีที่สุด

พระองค์ได้ข่าวว่าพระเจ้าแผ่นดินสยามมีพระนามและตำแหน่งเหมือนกับพระองค์ก็ทรงพระพิโรธ จึงทรงพยายามสังหารสมเด็จพระรามาธิดีที่ 2 ด้วยวิธีการต่างๆ นานาแต่ก็ไม่เป็นผลสำเร็จ ซ้ำยังถูกพระเจ้าแผ่นดินแห่งอยุธยาท้าทายกลับเสียด้วยซ้ำ

ท้ายที่สุดพระเจ้ารามาธิบดีแห่งรามรัฐทรงส่งนายทหาร 4 คน ที่ชำนาญการโกน (หนวด) เป็นเครื่องราชบรรณาการแก่สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 แห่งอยุธยา นัยว่าเป็นการขอสงบศึก

แต่ที่จริงแล้วเป็นกลลวงหมายจะให้ช่างโกนเหล่านั้นลอบตัดพระศอของกษัตริย์แห่งอยุธยา

แต่เมื่อถึงคราวกระทำการจริง เหล่าทหารช่างโกนเหล่านั้นกลับสั่นเทาไม่กล้าลงมือ

สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 จึงทราบเรื่องและส่งคนร้ายทั้งสี่กลับรามรัฐพร้อมพระราชสาส์นของพระองค์

พระเจ้ารามาธิบดีแห่งรามรัฐจึงทรงตัดพระทัยยอมแพ้ และถามเหล่าทหารช่างโกนเหล่านั้นว่ามีการละเล่นใดที่ไม่มีในสยาม จะส่งไปเป็นพระราชบรรณาการ เพื่อเจริญสัมพันธไมตรี

ทหารช่างโกนเหล่านั้นตอบว่า ไม่ว่าการละเล่นหรือดนตรีใดๆ ล้วนมีในสยาม เว้นก็แต่ “กระดานโล้ชิงช้า”

พระเจ้ารามาธิบดีจึงส่งกระดานโล้ชิงช้า และพราหมณ์ผู้มีความรู้ 2 คน ซึ่งสามารถประกอบพิธีโล้ชิงช้าได้มายังสยาม วันวลิตยังเล่าไว้อีกว่า พราหมณ์ทั้งสองคนนี้ได้รับการยกย่องเป็นอย่างดีในสยาม

(ที่จริงแล้ว ประเพณีโล้ชิงช้า ไม่ใช่พิธีกรรมของพวกพราหมณ์มาแต่เดิม แต่เป็นพิธีกรรมพื้นเมืองอุษาคเนย์ ที่ถูกพราหมณ์ผนวกรวมเข้าไปในช่วงก่อน-ต้นกรุงศรีอยุธยา เรื่องเล่าในวันวลิตเป็นเพียงการอ้างสิทธิธรรมบางอย่าง แต่นี่ไม่ใช่ประเด็นที่ควรกล่าวถึงในที่นี้)

ที่เพชรบุรีก็มีเสาชิงช้า อยู่ที่วัดพริบพลี หรือที่เปลี่ยนชื่อใหม่เป็นวัดเพชรพลี ตั้งอยู่ที่ ต.ท่าราบ อ.เมือง จ.เพชรบุรี เช่นเดียวกับที่ กรุงเทพฯ นครศรีธรรมราช รวมถึงอยุธยาครั้งรุ่งเรือง พราหมณ์กลุ่มนี้มีความสัมพันธ์ถึงกันทั้งหมด

อยุธยาในช่วงดังกล่าวมีการปรับเปลี่ยนและผนวกรวมจักรวาลวิทยาของศาสนาพราหมณ์เข้ามาอยู่ในศาสนาพุทธ (หรือผี?) แบบของอยุธยาเอง

 

และน่าเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าในช่วงเวลาดังกล่าวมีการติดต่อสัมพันธ์กันระหว่างอยุธยา และอินเดียใต้ (รามรัฐ) กันอย่างเข้มข้นอีกระลอก จนทำให้ความเชื่อ หรือคติความเชื่อ พิธีกรรม หรือปกรณัมแบบพราหมณ์อินเดียใต้เข้ามาสู่อยุธยา นอกเหนือจากปกรณัมพราหมณ์ที่มีมาแต่ดั้งเดิมซึ่งอยุธยารับผ่านขอม

แต่การปกรณัมและพิธีพราหมณ์เหล่านี้ เข้ามาในรูปของของความศักดิ์สิทธิ์ที่เข้ามาเสริมบารมี หรือความขลังให้กับจักรวาลวิทยาในพุทธศาสนา (หรือผี?) แบบไทยๆ

ปกรณัมพราหมณ์หลายเรื่องจึงถูกปรับแต่ง และผิดเพี้ยนไปจากเรื่องราวดั้งเดิมในชมพูทวีป

เราจึงสามารถเห็นพิธีกรรมแบบพราหมณ์อยู่ในบริบทที่เราคิดว่าเป็นเรื่องในพุทธศาสนาได้อย่างไม่รู้สึกเคอะเขิน รวมถึงที่ไม่ได้รู้สึกแปลกใจอันใดเมื่อเห็นวัดพุทธอยู่ในชุมชนพราหมณ์ รวมไปถึงเจดีย์อยุธยาทั้งสององค์ที่ บ้านพราหมณ์สมอพลือ ด้วยเช่นกัน