เมื่อ “ไอเอ็มเอฟ” ตรวจสุขภาพการเงิน “เอเชีย”

ย้อนหลังไปเมื่อราวๆ 10 ปีเศษที่ผ่านมา กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เคยนำเสนอรายงานออกมาในทำนองว่า ประเทศในเอเชียหลายต่อหลายประเทศ “ตุน” ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศเอาไว้ “มากจนเกินไป”

ที่น่าสนใจก็คือ ในรายงานว่าด้วย “การตรวจสุขภาพ” ทางการเงินของบรรดาประเทศในเอเชียครั้งล่าสุด ที่เผยแพร่ออกมาเมื่อ 25 พฤศจิกายน ท่าทีดังกล่าวเปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง

เปลี่ยนไปอย่างไร และเปลี่ยนไปเพราะอะไร ยูมิ เทโสะ กับ มาซากิ คอนโดะ ของบลูมเบิร์ก นิวส์ หยิบเอาความคิดเห็นของบรรดานักวิเคราะห์ตลาดเงินตราระหว่างประเทศมาว่าเอาไว้ให้ฟังอย่างน่าสนใจทีเดียว

 

รายงานของบลูมเบิร์ก ระบุว่า ท่าทีของไอเอ็มเอฟ เปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ สืบเนื่องจากสภาวการณ์แวดล้อมที่เกิดขึ้นอยู่ในเวลานี้ ตั้งแต่การขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐอเมริกา ที่ว่ากันว่าแน่นอนเกินร้อยเปอร์เซ็นต์ในเดือนธันวาคม

เรื่อยไปจนถึงมาตรการ “รีเฟลชั่น” หรือการเพิ่มอัตราการหมุนเวียนเงินภายในประเทศที่คาดว่าจะเป็นนโยบายหลักในการกระตุ้นเศรษฐกิจของฝ่ายบริหารใหม่ภายใต้การนำของ โดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา

ตรงนี้ต้องขยายความกันหน่อยว่า ภายใต้ภาวะดังกล่าว เงินทุนที่หลั่งไหลเข้ามาลงทุนเพื่อแสงหากำไรสูงๆ จากบรรดาประเทศในเอเชีย เพื่อแทนที่การลงทุนในสหรัฐอเมริกาหรือชาติตะวันตกที่อัตราดอกเบี้ยต่ำเตี้ยเรี่ยดินก่อนหน้านี้ ก็จะไหลกลับไปในประเทศเหล่านั้น ที่ให้ผลตอบแทนสูงขึ้น การถอนเงินลงทุนกลับไปดังกล่าวต้องนำเอาเงินสกุลท้องถิ่นไปแลกกลับเป็นดอลลาร์

ผลก็คือค่าเงินดอลลาร์จะถีบตัวสูงขึ้น ในขณะที่ค่าเงินท้องถิ่นในภูมิภาคเอเชียก็จะถูกกดให้อ่อนค่าลง

เราเห็นปรากฏการณ์ดังกล่าวนี้ในตลาดเงินมาตลอดสัปดาห์สองสัปดาห์หลังนี้ ซึ่งถ้าหากไม่มีเครื่องมือบริหารจัดการให้ดีๆ ก็มีสิทธิเดือดร้อนได้เหมือนกัน

นั่นทำให้ ไอเอ็มเอฟ นำเอามาตรวัดชุดหนึ่งที่จัดทำขึ้นเพื่อการนี้มาใช้เพื่อตรวจสอบสถานะของประเทศต่างๆ ในเอเชีย โดยยืนอยู่บนสมมุติฐานที่ตรงกันข้ามกับที่เคย “บ่นๆ” ไว้ก่อนหน้านี้ นั่นคือ ประเทศที่มี “ทุนสำรอง” มากๆ อย่างไทยกับฟิลิปปินส์ จัดว่าอยู่ในสภาพดีที่สุดในอันที่จะรับมือกับสถานการณ์ผันผวนทางการเงินของตลาดเงินระหว่างประเทศในลักษณะนี้ได้

เครื่องมือวัดของไอเอ็มเอฟที่ว่านั้นเรียกว่า ตัวชี้วัดการประเมินความเพียงพอของทุนสำรอง ซึ่งไม่ได้ดูแค่ปริมาณเงินทุนสำรองที่แต่ละประเทศมีเพียงอย่างเดียว แต่นำเอาปริมาณดังกล่าวมาเทียบเคียงเชื่อมโยงเข้ากับปัจจัยอีกหลายอย่าง เช่น ปริมาณหนี้สินระยะสั้น, ปริมาณเงินหมุนเวียน, ปริมาณการนำเข้าสินค้า และปริมาณการไหลออกของเงินทุน เป็นต้น

พูดง่ายๆ ว่า ไอเอ็มเอฟ จะมองว่า แต่ละประเทศมีทุนสำรองเท่าใด และเทียบทุนสำรองที่จำเป็นต้องมีให้เพียงพอต่อการรับมือกับสถานการณ์นั้นเป็นอย่างไรกันแน่

 

ตัวเลขที่ไอเอ็มเอฟประเมินออกมา พบว่า ไทยอยู่ในสถานะที่ดีที่สุดอย่างที่ว่า เพราะคาดว่าถึงสิ้นปีนี้ ทุนสำรองของไทยจะอยู่ 163,300 ล้านดอลลาร์ ในขณะที่สัดส่วนทุนสำรองที่จำเป็นนั้นอยู่เพียงแค่ 64,900 ล้านดอลลาร์เท่านั้นเอง สัดส่วนใกล้เคียงกับฟิลิปปินส์ที่มีทุนสำรองอยู่ 84,000 ล้านดอลลาร์ โดยระดับทุนสำรองที่จำเป็นอยู่ที่เพียง 31,000 ล้านดอลลาร์เท่านั้นเอง

ถ้าไม่อยู่ในสภาพดีอย่างนี้จะเกิดอะไรขึ้น?

คำตอบของบลูมเบิร์กก็คือการแสดงสภาพของค่าเงินริงกิตของมาเลเซียออกมาให้เห็นกันเป็นอุทาหรณ์ ริงกิต อ่อนค่าลงมากที่สุดเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐในเดือนที่ผ่านมา ถือเป็นเงินสกุลที่แย่ที่สุดในบรรดาเงินสกุลต่างๆ ของบรรดาประเทศเศรษฐกิจใหม่ทั้งหลายในเอเชียเลยทีเดียว

ซึ่งสอดคล้องกับผลการ “ตรวจ” ของไอเอ็มเอฟ ที่แสดงให้เห็นว่า ทุนสำรองของมาเลเซีย ณ สิ้นปีนี้จะอยู่ที่ 100,000 ล้านดอลลาร์ แต่คาดว่าจะเผชิญกับปัญหาหนี้ระยะสั้นสูงถึง 128,200 ล้านดอลลาร์

ในข้อมูลของไอเอ็มเอฟ ประเทศที่ตกอยู่ในสภาพเดียวหรือใกล้เคียงกับมาเลเซีย นอกเอเชียมีหลายประเทศ อาทิ ตุรกี, แอฟริกาใต้ และเม็กซิโก เป็นต้น

 

สึโตมุ โซมะ ผู้เชี่ยวชาญจากบริษัทหลักทรัพย์ เอสบีไอ ชี้ ในช่วงเวลาที่แนวโน้มโดยรวมแล้ว ค่าเงินดอลลาร์จะแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องนั้น เงินสกุลของประเทศที่มีทุนสำรองสูงๆ จะปรับตัวบริหารจัดการค่าเงินของตัวเองได้ดีกว่าประเทศอื่นๆ อย่างน้อยๆ ก็จะไม่มีใครโจมตีค่าเงินสกุลนั้นที่เห็นกันชัดเจนว่ามีทุนสำรองมากพอจะที่เข้าแทรกแซงตลาด แต่จะหันไปโจมตีสกุลเงินที่มีขีดความสามารถในการป้องกันน้อยกว่าแทน

นอกเหนือจากบริหารจัดการค่าเงินได้ดีกว่าแล้ว ประเทศที่มีทุนสำรองสูงๆ ในเวลานี้ ยังมีโอกาสใช้ นโยบายทางการเงิน เพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้มากกว่าอีกด้วย ไม่ว่าจะใช้นโยบายทางการเงินอย่างเดียว หรือใช้ควบคู่ไปกับนโยบายการคลังก็ตามที

บลูมเบิร์ก นิวส์ บอกเอาไว้ชัดเจนครับว่า ที่ไทยและประเทศในเอเชียหลายประเทศอยู่ในสภาพดีอย่างนี้ได้ เพราะซึมซับบทเรียนล้ำค่ามาจากยุค “ต้มยำกุ้ง”

อันเป็นความเจ็บปวดที่หลายคนยังไม่ลืมจนถึงขณะนี้ครับ