ท่วงทำนอง วิพากษ์ ศึกษา ตรวจสอบ ลงมือปฏิบัติ ของ พุทธทาสภิกขุ

ครานี้คงเห็นแล้วว่าเหตุใด “กระบวนการ” ในการศึกษา แปล เรียบเรียงและรวบรวม “พระไตรปิฎก” โดยท่านพุทธทาสภิกขุจึงดำเนินไปในแนวทางซึ่งเน้น “จากพระโอษฐ์” เป็นสำคัญ

ดังที่เห็นได้ในหนังสือชุด “ธรรมโฆษณ์”

1 พุทธประวัติจากพระโอษฐ์ 1 ขุมทรัพย์จากพระโอษฐ์ 1 ปฏิจจสมุปบาทจากพระโอษฐ์ 1 อริยสัจจากพระโอษฐ์

ขณะเดียวกัน ก็จะสัมผัสได้จากการวิพากษ์วิจารณ์ “พระไตรปิฎก”

ในการตอบคำถามในวันล้ออายุครบ 74 ปี เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2523 ณ ลานหินโค้ง สวนโมกขพลาราม

ต่อปัญหาที่ 10 “ไม่รู้จำนวนจิตของอภิธรรม” ท่านยืนยันว่า

“เราก็ถือว่าอภิธรรมมิได้อยู่ในรูปของพุทธวจนะ เอาพระพุทธวจนะไปอธิบายเอาตามความพอใจ ตามความเห็นของตัวเอง เรียกว่าคัมภีร์พระอภิธรรม เราถือว่าคัมภีร์อภิธรรมชนิดนี้โดยเฉพาะยกเอาไปทิ้งทะเลเสียให้หมดก็ได้ โลกนี้ก็ไม่ขาดอะไรไป”

“คือเฟ้อในทางปรัชญา เฟ้อในทางอักษรศาสตร์ เฟ้อในทางตรรกะ เฟ้อในทางอะไรหลายๆ อย่างที่ไม่เกี่ยวกับการปฏิบัติเพื่อการดับทุกข์”

การทำความเข้าใจประเด็นที่ 3 โดย ปีเตอร์ เอ. แจ็กสัน จึงสำคัญ

นอกเหนือจากทฤษฎีการตีความพระไตรปิฎกตามแบบของท่านเอง และการที่ท่านไม่ยอมรับข้อความบางส่วนในพระไตรปิฎกกับอรรถกถาแล้ว ยังมีประเด็นสำคัญอย่างที่ 3 ในระบบการตีความของท่านพุทธทาสอีกด้วย

นั่นคือ การที่ท่านอาศัยวิธีการโต้แย้งตามหลักเหตุผล

ประเด็นนี้มีอยู่ว่า แทนที่ท่านจะตัดสินความถูกต้องของทัศนะของท่านโดยอิงอาศัยเฉพาะตัวอย่างที่เคยมีมาก่อนในพระคัมภีร์เท่านั้น อันเป็นวิธีการที่ท่านใช้อยู่บ้างในบางแห่งบางที่

ท่านยังได้ใช้ข้อสนับสนุนสำหรับแนวคิดเรื่อง “จิตว่าง” ซึ่งเป็นทฤษฎีสำคัญของท่านจากบรรดาหลักการเริ่มแรกด้วยทัศนะของท่านพุทธทาสจะต้องดำรงอยู่ด้วยพลังของแนวคิดที่ท่านใช้สนับสนุน เพราะท่านไม่อาจพึ่งพาอาศัยสิทธิอำนาจจากแหล่งที่มีอยู่ก่อน

อย่างเช่นบรรดาอรรถกถาที่เสนอผลการตีความหลักคำสอนในพระพุทธศาสนาตามแบบที่ท่านไม่ยอมรับ

แต่ถึงแม้ลักษณะแบบมูลวิวัติของทัศนะของท่านพุทธทาสจะบังคับให้ท่านต้องพึ่งพาอาศัยการวิเคราะห์แบบที่ใช้เหตุผลอย่างมากอยู่แล้วเพื่อนำเสนอบรรดาทัศนะทั้งหลายของท่านนั้น ท่านก็ยังคงถูกบีบบังคับด้วยปัจจัยต่างๆ ในเชิงสถาบันอยู่นั่นเอง

กล่าวคือ

 

ท่านต้องแสดงให้ผู้อื่นเห็นอยู่ตลอดเวลาว่า ท่านยังคงดำรงขนบประเพณีในพระพุทธศาสนา และต้องหลีกเลี่ยงมิให้ใครๆ เห็นว่า ท่านกำลังทำอันตรายแก่บทบาททางสังคมหรือบทบาทที่เป็นทางการของพระพุทธศาสนาในประเทศไทย

ดังนั้น ท่านจึงไม่สามารถแสดงท่าทีว่ามีคติแบบมูลวิวัติ หรือสร้างสิ่งแปลกใหม่ขึ้นมา แต่จะต้องนำเสนอทัศนะของท่านโดยอาศัยบาทฐานที่เป็นหลักการในพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง

อย่างไรก็ตาม ความจำเป็นที่จะต้องแสดงความซื่อตรง จงรักต่อหลักการทางพระพุทธศาสนาเช่นนี้ พร้อมๆ ไปกับการที่ตีความตามหลักคำสอนไม่เหมือนกับที่เคยมีมาก่อน ก็ทำให้ผลงานของท่านพุทธทาสต้องอาศัยข้อคิดที่ใช้หลักเหตุผลอย่างเข้มข้นมากกว่าที่เคยปรากฏมาก่อนในการศึกษาหลักคำสอนพระพุทธศาสนาในประเทศไทย

ข้อเท็จจริงที่ว่า ท้ายที่สุดท่านพุทธทาสก็ได้ผละออกจากแนวคิดและการตีความหลักคำสอนตามแบบดั้งเดิมนั้น จะเห็นได้จากการที่ท่านพร้อมที่จะยอมรับแนวคิดนอกนิกายเถรวาทที่ท่านเห็นว่ามีคุณค่าในทางศาสนาเข้ามาใช้ในพระพุทธศาสนานิกายเถรวาท

เนื่องจากท่านได้ให้ข้อคิดสนับสนุนทัศนะของท่านโดยอาศัยสิ่งที่ท่านเห็นว่าเป็นหลักการของพระพุทธศาสนา อีกทั้งท่านได้อิงอาศัยหลักการเหล่านั้นเป็นอย่างมาก แทนที่จะอาศัยแหล่งอ้างอิงที่จำเพาะเจาะจงใดๆ ในรูปของปกรณ์อรรถกถา หรือทัศนะที่ยอมรับกันมาแต่เดิม

ท่านจึงมีอิสระเสรีที่จะใช้แนวคิดต่างๆ ที่ท่านเห็นว่าเข้ากันได้กับการตีความหลักคำสอนในพระพุทธศาสนาตามแนวใหม่ของท่าน

 

การที่จะสร้างทฤษฎีใหม่ กระบวนทัศน์ใหม่ในทางความคิด มีความจำเป็นที่จะต้องศึกษาและทำความเข้าใจรากฐานเดิมอย่างถ่องแท้ รอบด้าน

การศึกษาอย่างถ่องแท้ รอบด้าน เท่านั้นจึงจะสร้างความมั่นใจ

1 สร้างความมั่นใจว่าอย่างไหนเป็นของแท้ อย่างไหนเป็นแก่น อย่างไหนเป็นกระพี้ อย่างไหนไม่น่าจะเป็นของแท้

จึงสามารถแยก “กาก” เอา “แก่น”

จึงสามารถวิพากษ์ได้อย่างหาญกล้า ฟาดกระหน่ำเข้าไปอย่างตรงเป้า เข้าประเด็นต่อจิตวิญญาณและความเป็นจริง

และก่อให้เกิด “เส้นทาง” สายใหม่ขึ้นในทาง “ความคิด”