เศรษฐกิจ / สะท้อนสังคมไทย หนี้ครัวเรือนท่วม แก่แต่จน แก้ปัญหาต้องร่วมบูรณาการ

เศรษฐกิจ

 

สะท้อนสังคมไทย

หนี้ครัวเรือนท่วม แก่แต่จน

แก้ปัญหาต้องร่วมบูรณาการ

 

ปัญหาหนี้ครัวเรือนเป็นปัญหาที่มีนัยต่อสังคมไทย เพราะด้วยหนี้ที่อยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (จีดีพี) สะท้อนว่าการก่อหนี้ของครัวเรือนมีสัดส่วนสูงเมื่อเทียบกับรายได้ของประเทศ

ประเด็นนี้เป็นประเด็นที่ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือแบงก์ชาติ กังวลและออกมาแสดงความเป็นห่วงเป็นระยะๆ หากเห็นสัญญาณที่มีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) นัดแรกของปี 2562 ได้สะท้อน กนง.ให้น้ำหนักเรื่องเสถียรภาพเศรษฐกิจเป็นสำคัญ เนื่องจากยังกังวลความเปราะบางของเศรษฐกิจไทยยังมีอยู่จากหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพี ที่อยู่ในระดับสูง และเริ่มเห็นการปรับตัวสูงขึ้นจากเดิมที่หลายปีก่อนที่เพิ่มขึ้นไปสูงสุดและเริ่มลดลงบ้าง

ข้อมูลหนี้ครัวเรือน ล่าสุด ณ สิ้นไตรมาสที่ 3 ปี 2561 หนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีปรับสูงขึ้นเป็น 77.8% จาก 77.7% ในช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 2561 เป็นผลมาจากสินเชื่อรถยนต์เป็นหลัก รวมทั้งสินเชื่ออื่นๆ ขณะที่ในระยะต่อไปภาระหนี้ครัวเรือนอาจจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นหากพิจารณาจากสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ขยายตัวต่อเนื่อง

ถือเป็นเรื่องต้องจับตาเพราะอาจจะมีผลต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจได้

 

อีกมุมมองหนึ่งคือ ปัจจุบันภาครัฐได้มีการส่งเสริมให้การกู้นอกระบบเข้ามาอยู่ในระบบมากขึ้น

ดังนั้น ต้องมีการศึกษารายละเอียดให้ชัดเจนว่าการเพิ่มขึ้นของหนี้ครัวเรือนเป็นหนี้ที่สร้างมูลค่า มีสินทรัพย์ หรือใช้เพื่อการอุปโภคบริโภคเท่านั้น

รวมทั้งอาจจะต้องสะท้อนถึงหนี้ที่เปลี่ยนจากนอกระบบเข้ามาในระบบ เพราะหากสถานการณ์หนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นมาบ้างเป็นผลจากการที่มีประชาชนสามารถเข้าถึงบริการการเงินและสินเชื่อได้น่าจะเป็นเรื่องที่ดีต่อสังคมและเศรษฐกิจ เพราะหากประชาชนไปใช้บริการหนี้นอกระบบการคิดอัตราดอกเบี้ยจะสูงกว่าในระบบมาก

สำหรับในระบบ หากเป็นสินเชื่อบุคคลคิดดอกเบี้ยเพียง 28% ต่อปี และนาโนไฟแนนซ์ 36% ต่อปีเท่านั้น รวมทั้งปัจจุบันการเข้าถึงสินเชื่อในระบบสามารถทำได้มากขึ้น เพราะมีการใช้ข้อมูลต่างๆ เข้ามาร่วมในการวิเคราะห์ให้สินเชื่อนอกจากการใช้เพียงรายการเดินบัญชีของธนาคารเท่านั้น

เป็นการเพิ่มโอกาสให้กับกลุ่มพ่อค้าแม่ค้า ผู้ขับจักรยานยนต์รับจ้าง อาชีพอิสระ มากขึ้น

 

อย่างไรก็ดี อัตราดอกเบี้ยของไทยที่ต่ำมาเป็นเวลานานก็ส่งเสริมให้เกิดการก่อหนี้ที่สูงขึ้น เพราะต้นทุนการกู้ต่ำ ขณะที่การออมก็ผลตอบแทนต่ำจึงไม่จูงใจให้เกิดการออม รวมทั้งในจังหวะที่อัตราดอกเบี้ยปรับขึ้นภาระหนี้ที่จะเกิดขึ้นก็จะเพิ่มมาก ซึ่งเป็นปัจจัยที่ครัวเรือนอาจจะไม่ได้คำนึงไว้ในช่วงที่ก่อหนี้ แต่แม้ กนง.จะปรับดอกเบี้ยขึ้นไปแล้ว

แต่ขณะนี้ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ยังไม่มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ทั้งดอกเบี้ยเงินกู้รายใหญ่ชั้นดี (เอ็มแอลอาร์) ดอกเบี้ยเงินกู้รายย่อยชั้นดี (เอ็มอาร์อาร์) และดอกเบี้ยวงเงินเบิกเกินบัญชี (เอ็มโออาร์) ขึ้น

แม้ว่าจะมีธนาคารขนาดเล็กเริ่มปรับดอกเบี้ยเงินกู้แล้วก็ตามจากต้นทุนการเงินที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้ผู้กู้แม้การผ่อนชำระรายเดือนจะไม่กระทบยอดผ่อนให้สูงขึ้นมากนัก แต่จะทำให้ระยะเวลาการผ่อนชำระนานขึ้น เป็นหนี้นานขึ้น

แต่แนวโน้มที่ กนง.อาจจะปรับดอกเบี้ยขึ้นอย่างช้าๆ ทำให้ไม่มีแรงกดดันให้ธนาคารพาณิชย์ต้องขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ ดังนั้น ผู้ที่มีหนี้สินอยู่แล้วไม่มีภาระผ่อนชำระที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ผู้ที่ต้องการจะกู้ใหม่ยังได้ต้นทุนการเงินที่ต้นทุนเดิม

 

สําหรับเหตุที่ต้องสนใจหนี้ครัวเรือน เพราะหากเทียบกับประเทศในภูมิภาคหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีของไทยถือว่าอยู่ในระดับที่สูงกว่าประเทศที่มีศักยภาพใกล้เคียงกัน อย่างมาเลเซีย อินโดนีเซีย

ทั้งนี้ การที่หนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูงทำให้เกิดความกังวลว่าจะอาจกระทบต่อการบริโภคภาคเอกชน ซึ่งปีนี้ถือว่ายังมีแรงส่งต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา และถือเป็นเครื่องยนต์เศรษฐกิจสำคัญอีกตัวหนึ่งในปีนี้ผสานกับด้านการลงทุน

ทั้งนี้ แรงกดดันระยะยาวอาจจะทำให้เศรษฐกิจเติบโตชะลอลงในระยะยาว รวมถึงอาจส่งผลกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือน เพราะด้านรายได้เกษตรกรที่มีแนวโน้มชะลอลงตามทิศทางราคาสินค้าเกษตร และรายได้ของแรงงานบางส่วนที่มีแนวโน้มชะลอลงตามทิศทางการส่งออกสินค้าและบริการ

ขณะที่แนวโน้มการใช้เครื่องจักรทดแทนแรงงานในกระบวนการผลิต (ออโตเมชั่น) และอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำทำให้ผู้ประกอบการไม่จำเป็นต้องเพิ่มค่าจ้างมากนัก ส่งผลให้รายได้เฉลี่ยของแรงงานไทยยังอยู่ในระดับต่ำและเป็นปัจจัยกระทบกับกำลังซื้อ

ทั้งนี้ ในบางจังหวะแม้ว่าการก่อหนี้ช่วยให้ครัวเรือนสามารถเพิ่มการใช้จ่ายได้ในระยะสั้น และเป็นทางเลือกที่ช่วยให้ครัวเรือนสามารถรักษาระดับการบริโภคได้ในกรณีที่เกิดความผันผวนทางเศรษฐกิจ ซึ่งมักมีการนำมาตรการกระตุ้นการบริโภคมาใช้

แต่ในขณะเดียวกัน การก่อหนี้จะให้ภาระหนี้เพิ่มซึ่งอาจมีผลให้ความสามารถในการใช้จ่ายในอนาคตของครัวเรือนลดน้อยลงได้ และความสามารถในการรองรับความผันผวนทางเศรษฐกิจของครัวเรือนอาจจะลดลง มีเปราะบางต่อฐานะทางการเงินของภาคครัวเรือน

หากครัวเรือนที่มีภาระหนี้เกิดมีรายได้ลดลงจากสาเหตุต่างๆ เช่น เศรษฐกิจชะลอตัว ภัยธรรมชาติ อาจทำให้ครัวเรือนไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด ส่งผลให้หนี้เสียหรือเอ็นพีแอลของสถาบันการเงินสูงขึ้นและอาจกระทบต่อเสถียรภาพระบบการเงินโดยรวมได้ในที่สุด

 

นอกจากนี้ข้อมูลจากแบงก์ชาติยังพบอีกว่า คนไทยเริ่มเป็นหนี้ตั้งแต่อายุยังน้อยและเป็นหนี้นานแม้ว่าจะอายุวัยเกษียณแล้วยังมีหนี้ที่สูงอยู่ ขณะที่การหารายได้เพื่อชำระหนี้กลับลดลงซึ่งจะนำไปสู่ปัญหาหนี้เสีย ยังไม่รวมค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันหลังเกษียณด้วย

ภาพที่สะท้อนมาทั้งหมดเป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นซึ่งปัญหาโครงสร้างเป็นเรื่องที่ต้องใช้การแก้ไขในระยะยาว เป็นเรื่องที่ต้องสร้างวินัยทางการเงินและมีการวางแผนทางการเงินของประชาชน ไม่ก่อหนี้เกินตัว

ขณะที่ผู้กำกับดูแลอย่างแบงก์ชาติและภาครัฐเองต้องมีนโยบายและมาตรการเพื่อส่งเสริมให้ประชาชนมีการออม และสะสมความมั่งคั่ง รวมทั้งการแก้ลดหนี้และการเพิ่มรายได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ซึ่งจะช่วยลดภาระในแง่สวัสดิการของรัฐลงได้ แทนที่จะต้องมีภาระจ่ายให้กับประชาชนทั้งหมด