ความเชื่อเรื่องทิศของคนล้านนา และลัทธิบูชาผี

คนล้านนามีความเชื่อมาแต่โบราณตั้งแต่ก่อนตั้งอาณาจักรล้านนา อันเป็นความเชื่อในลัทธิบูชาผีบรรพบุรุษหรือการนับถือผี เช่น คนในสังคมบุพกาลทั่วไป

ย้อนอดีตไปเมื่อพันกว่าปีที่แล้วก่อนมีอาณาจักรโยนกนาคพันธุ์ ดินแดนภาคเหนือมีชาวลัวะพื้นเมืองที่นับถือผี ผีสำคัญคือผีบรรพบุรุษ ผีฟ้า ผีน้ำ ผีป่าเขา

แต่ด้วยการอยู่ภายใต้อำนาจทางสังคมและการเมืองของขอมโบราณที่ได้รับเอาศาสนาพราหมณ์-ฮินดูจากอินเดีย ทำให้อิทธิพลความเชื่อนี้เข้ามายังภาคเหนือด้วย

จวบจนเริ่มรับเอาพุทธศาสนามาประดิษฐานในอาณาจักรโยนกนาคพันธุ์ เจริญต่อเนื่องมาจนอาณาจักรหิรัญนครเงินยาง อาณาจักรหริภุญชัย และเจริญขึ้นมากในอาณาจักรล้านนา

การนับถือผีของคนล้านนาโบราณ ให้ความสำคัญกับทิศเบื้องบนหรือท้องฟ้าเป็นใหญ่

เชื่อว่าเป็นผีแถนหรือผีฟ้าผู้ให้กำเนิดมนุษย์มีพลังอำนาจสูงสุด

รองลงมาถือทิศเบื้องล่างหรือใต้ดินเป็นที่สถิตของปีศาจผีร้ายที่น่ากลัว บนโลกที่มนุษย์อยู่ทุกทิศมีผีประเภทต่างๆ ที่ให้คุณให้โทษได้เช่นกัน ดวงอาทิตย์และพระจันทร์ถือเป็นเครื่องมือในอำนาจของผีแถนมีทิศทางขึ้น-ลงหลักคือทิศตะวันออกและตะวันตก

ทิศตะวันออกเป็นตัวแทนทิศด้านดี ทิศตะวันตกเป็นทิศด้านร้าย

ความเชื่อทางศาสนาพราหมณ์-ฮินดู มีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตชาวลัวะพื้นถิ่นและชาวไทยวนและไทกลุ่มต่างๆ เช่นกัน

ความเชื่อเรื่องเทวดามาแทนที่ผีในตำแหน่งที่สูงขึ้น พระอินทร์อยู่บนสวรรค์ชั้นฟ้าเป็นหัวหน้าเหล่าเทวดาทั้งหลาย มีเทวดาประจำทิศทั้งสี่

พระพรหมอยู่สูงเหนือระดับสวรรค์สูงขึ้นไปอีก สิ่งศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้เป็นที่บูชาสักการะของชาวล้านนาโบราณ

พื้นดินมีพระแม่ธรณีหรือพระแม่โพสพผู้ช่วยดูแลการกสิกรรม

เราสามารถเห็นสัญลักษณ์ของความเชื่อเรื่องนี้ในพิธีกรรมบูชาท้าวทั้งสี่ของล้านนา

คติการสร้างเมืองเชียงใหม่เป็นตัวอย่างของการสะท้อนความเชื่อเรื่องทิศในการสร้างเมืองของล้านนา การกำหนดพิกัดเมืองตามตำแหน่งทิศหลักทั้งสี่

การแบ่งโฉลกพื้นที่ในกำแพงเมืองหรือในเขตรั้วบ้านให้เป็นเก้าช่องตามคติมันดาละแบบฮินดู นำมาซึ่งการขยายผลสู่ความเชื่อทิศทั้งแปด

ที่มีนักวิชาการบางส่วนเชื่อว่าพัฒนาไปสู่คติการกำหนดทักษาเมืองในความเชื่อแบบพุทธ

ภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์เป็นสิ่งที่บรรพบุรุษชาวล้านนาได้ศึกษาและพัฒนาขึ้นเป็นภูมิปัญญาทางความเชื่อเรื่องขึด (อัปมงคล) และมงคล สภาพแวดล้อมธรรมชาติแหล่งที่อยู่ส่วนใหญ่มีแนวเทือกเขาทอดยาวในทิศเหนือ-ใต้ เช่นเดียวกับเส้นทางลำน้ำไหลของแม่น้ำลำห้วยส่วนใหญ่ รวมทั้งทิศทางหลักไหลเวียนของลม ประวัติศาสตร์การอพยพเคลื่อนย้ายของผู้คนมาจากทางทิศเหนือ ซึ่งมักเป็นทิศที่ศัตรูใหญ่รุกราน การตั้งถิ่นฐานชุมชนบ้านเมืองจึงให้ความสำคัญของทิศเหนือเป็นทิศทางเข้าหมู่บ้านและเมือง เมืองตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกหรือตะวันตกของแม่น้ำ

ด้านที่ใกล้แม่น้ำและทางสัญจรจึงถูกกำหนดเป็นประตูเมืองด้านสำคัญในการทำการติดต่อการค้ากับสังคมภายนอก

ปรัชญาและความเชื่อทางพุทธศาสนาได้มีอิทธิพลต่อชีวิตชาวล้านนามากขึ้นอย่างชัดเจนตั้งแต่มีอาณาจักรล้านนา

ทิศมงคลที่เกี่ยวข้องกับพุทธประวัติถูกนำมากำหนดใช้ในวิถีชีวิต

เช่น ทิศหัวนอนคนเป็น นิยมหันหัวนอนไปทางตะวันออกหรือทิศใต้

ส่วนทิศเหนือเป็นทิศหัวนอนคนตาย

พระพุทธเจ้านั่งบำเพ็ญธรรมและตรัสรู้โดยหันหน้าไปสู่ทิศตะวันออก

การตั้งพระประธานในวิหารหรืออาคารจึงต้องหันหน้าไปทางทิศตะวันออกเช่นกัน

นำไปสู่ความสัมพันธ์ของพัฒนาการการวางผังวัดล้านนาที่ประกอบด้วย พระธาตุเจดีย์ตรงกลางดุจเขาพระสุเมรุ มีพระวิหารหลวงเป็นดั่งชมพูทวีป วิหารน้อยคือทวีปน้อยใหญ่ ข่วงลานวัดนั้นดุจทะเลสีทันดร แกนของอาคารในผังวัดจึงกำหนดขึ้นจากทิศตะวันออก-ตะวันตก เพิ่มเป็นสี่ทิศโดยเพิ่มทิศเหนือ-ทิศใต้

และพัฒนาไปสู่การกระจายแกนสู่ทิศทั้งแปด