มนัส สัตยารักษ์ | “บูชาท่อประปาหัวแดง” ไม่แตกต่างอะไรกับวิธีคิดของ… ?

ขวดน้ำหวานกับ หัวท่อประปาสีแดง

ข่าว “บูชาท่อประปาหัวแดง” แม้จะเป็นข่าวเล็กๆ แต่มาถูกเวลา… มาในเวลาขยะเต็มบ้านล้นเมือง มาพร้อมกับข่าวฝุ่นพิษ PM 2.5 ในประเทศไทย ค่าสูงเกินมาตรฐาน ในหลายพื้นที่ของ กทม.และปริมณฑล ตัวเลขวิกฤตสูงสุดอยู่ที่ อ.เมือง จ.สมุทรสาคร มีค่าฝุ่น PM 2.5 สูงถึง 120 มคก./ลบ.ม. มาหลายวันต่อเนื่องและยังคงวิกฤตต่อไปถึงถนนพระราม 2 อย่างน้อยก็ต้นเดือนมีนาคม

มคก./ลบ.ม. คือ “ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร” อธิบายได้สั้นๆ ง่ายๆ ได้ว่า เมื่อตัวเลขเกินมาตรฐาน 75 มคก./ลบ.ม. ก็ถือว่า “ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพ”

กรณีของภาพข่าว “บูชาท่อประปาหัวแดง” เกิดจากอารมณ์ขันเชิงส่อเสียดประชดประชัน ของผู้ใช้นามว่า Methus Kaewsaikao ซึ่งโพสต์ภาพกองขยะเกลื่อนกลาดรอบหัวรับน้ำดับเพลิง หรือที่ชาวบ้านเรียกกันทั่วไปว่า “ท่อประปาหัวแดง” คุณเมธัสคิดวิธีแก้ปัญหาการทิ้งขยะอย่างมักง่ายของชาวบ้าน ด้วยการบูชาหัวรับน้ำดับเพลิงด้วยน้ำแดง ให้หัวประปาเป็นเสมือนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประเภทเจ้าพ่อ เจ้าแม่ หรือกุมารทอง

แม้ว่าวันแรกน้ำแดงจะโดนเก็บไปพร้อมขยะ แต่ต่อมาเขาวางพร้อมกับตุ๊กตาและดอกไม้ พร้อมกับบอกคนเก็ยขยะว่าอย่าเก็บขวดน้ำแดงเป็นขยะไปด้วย ดังนั้น ในวันต่อมาในบริเวณนั้นก็ปราศจากขยะจากคนมักง่าย

อย่างน้อยก็ได้ผลเป็นรูปธรรมในการต่อต้านขยะพลาสติก มากกว่าภาพคณะรัฐมนตรีถือถุงผ้าในทำเนียบรัฐบาล!

ทําไมคนถึงไม่ทิ้งขยะในที่ซึ่งไม่ควรทิ้ง?… ผมคิดว่าน่าจะเป็นด้วย “แรงหักห้ามใจ” ซึ่งเป็นคำตรงข้ามกับคำว่า “แรงจูงใจ” ในวิชาอาชญาวิทยา หรืออาจจะเป็นแค่สัญชาตญาณพื้นฐานของมนุษย์ที่มีจิตสำนึก ผมจำได้ว่าในสมัยที่ยังหนุ่ม (ราว 5-60 ปีมาแล้ว) ผมสูบบุหรี่ค่อนข้างจัด แต่รู้สึกสะดวกและสบายในการเขี่ยหรือทิ้งก้นบุหรี่ลงบนพื้นทางเดิน หรือริมถนน หรือที่ไหนก็ตาม

แต่เมื่ออยู่ในตลาดร้านค้า ย่านอำเภอเมือง จ.ขอนแก่น หรืออำเภอเมือง จ.ยะลา ผมจะระมัดระวังเพราะบ้านเมืองของเขาเป็นระเบียบและสะอาดเหมือนอยู่ในห้องนอน จนเราเกิดแรงหักห้ามใจ ไม่กล้าและไม่อยากทำสกปรก

ความรู้สึกประทับใจจาก 2 อำเภอเมืองข้างต้น ผมคงได้เขียนอวดไว้ที่ไหนสักแห่ง เมื่อพูดถึงความสะอาดของบ้านเมืองผมอดไม่ได้ที่จะอ้างถึงความจริงนี้ หลังจากนั้นไม่นาน ได้มีองค์กรหนึ่งของรัฐได้กล่าวยกย่องเทศบาลอำเภอเมืองขอนแก่นกับเทศบาลอำเภอเมืองยะลา ถึงความสะอาดและเป็นระเบียบเรียบร้อย

โดยเฉพาะจังหวัดยะลาได้รับคำยกย่องจากองค์กรระดับโลกว่าเป็นเมืองที่ “ผังเมือง” ดีที่สุดเมืองหนึ่งของโลก

กรุงเทพมหานครครั้งที่ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง เป็นผู้ว่าราชการ ก็ได้ชื่อว่าเป็นเมืองสีเขียว เริ่มสะอาดไปเกือบทั่วทุกเขต ก่อนจะกลายมาเป็น “เมืองอากาศวิกฤต” หมายเลข 8 ของโลกในวันนี้ พอตกค่ำก็เลื่อนอันดับเป็นหมายเลข 4!

กรุงเทพฯ น่าจะเป็นเมืองอากาศวิกฤตมานานแล้ว เพียงแต่ไม่มีหน่วยงานทางการที่น่าเชื่อถือมายืนยันเป็นตัวเลขเท่านั้น เมื่อมองจากเครื่องบินเราจะเห็นท้องฟ้าด้านล่างเป็นสีฝุ่นอมแดงหนาแน่น ผมเคยออกปากบ่นหลายหน แต่ไม่ได้รับความสนใจจากใครเลย

ก่อนเมืองไทยจะกลายเป็นเมืองที่มี 3 ฤดูในวันเดียวกัน (ร้อน ฝนและหนาว) มองจากพื้นดินจะเห็นว่าเหมือนมีหมอกควันสีฝุ่นค่อนข้างหนาทึบเกือบทุกวันและตลอดทั้งวัน เป็นอย่างนี้ต่อเนื่องกันอยู่หลายเดือนหรือหลายปี

เราไม่ “รู้” ว่าอากาศเป็นพิษหรือเปล่า เราแค่ “รู้สึก” ว่าอากาศท่าจะเป็นพิษเท่านั้น

พอเราตระหนักชัดว่ากรุงเทพฯ อากาศเข้าขั้นวิกฤต ต่างก็แก้ไขกันในแบบ “ปัญหาเฉพาะหน้า” เช่น ฉีดน้ำขึ้นไปบนท้องฟ้า ฉีดน้ำผสมกากน้ำตาลจากเครื่องพ่นน้ำ ขู่ว่าจะห้ามรถควันดำ ขู่ว่าจะปิดโรงงาน ขู่ว่าจะมีมาตรการใช้รถวันคู่-คี่ ขู่ว่าจะห้ามรถยนต์หรือแท็กซี่ที่มีผู้โดยสารคนเดียว และมีข่าวว่านายกรัฐมนตรี “วอน” ให้ประชาชนทุเลาการเผากระดาษในเทศกาลตรุษจีนนี้ด้วย

ทุกวิธีการและทุกมาตรการมีเสียงคัดค้าน บ้างก็อย่างแผ่วเบา บ้างก็อึงมี่ด้วยความกลัวว่าวิกฤตจะบานปลายเป็นหายนะ เหมือนที่ประเทศจีนเคยประสบมาซึ่งต้องใช้เวลากว่า 4 ปีที่กอปรด้วยความเข้มแข็งและเอาจริงถึงจะเอาชนะฝุ่นพิษมาได้

เมืองที่ได้ชื่อว่าอากาศสะอาด เช่นที่ Toronto ประเทศแคนาดา หรือทุกเมืองของประเทศญี่ปุ่น ผมคิดว่าเขารักษาความสะอาดและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่าง “มีระบบ” ไม่ใช่แก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการ “ขู่” อย่างเมืองเรา

ผมอยากจะเห็นประเทศไทยเปลี่ยนวิธีทำความสะอาดบ้านเมือง เพียงแค่เกลี่ยเงินเดือนจากผู้ที่มีรายรับเกินกว่า 1 แสนบาท มาเฉลี่ยเพื่องานนี้ เพิ่มคนทำงานและเพิ่มยานพาหนะและเพิ่มเวลาทำงาน เราต้องการคนทำงานในพื้นที่ มากกว่าคนนั่งประชุมในห้องแอร์

ในส่วนตัวของผมแม้บำนาญจะน้อย แต่ผมก็พร้อมที่จะเพิ่มค่าทำความสะอาดให้แก่ กทม. มากกว่าเดือน 200 บาท อย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 1 หรือ 2 เปอร์เซ็นต์ คือ 360 หรือ 720 บาท

อาจมีคำถามว่าภาพขวดน้ำหวานบูชาท่อประปาหัวแดงเกี่ยวกับที่ทิ้งขยะก็จริง แต่เกี่ยวอะไรกับปัญหาฝุ่นละอองเป็นพิษ?

เกี่ยวสิครับ…เรากำลังแก้ปัญหากันอย่างอุตลุดใน “เชิงรับ” เช่น ใช้โดรนโปรยน้ำ ฉีดน้ำสู่ท้องฟ้า ล่าสุดเหมือนยอมแพ้ เมื่อเย็นวันที่ 30 มกราคม 2562 มีข่าวตัวอักษรวิ่งในจอทีวีช่องหนึ่งว่า ประเทศไทยมีค่าฝุ่นละอองเกินมาตรฐาน 39 พื้นที่ ติดอันดับ 8 ของโลก แล้วลดลงไปเรื่อยๆ จนถึงอันดับ 4 และบางสื่อรายงานว่าเป็นอันดับ 3!

โรงเรียนในสังกัด กทม. 437 แห่ง รวมทั้งบางมหาวิทยาลัย หยุดการเรียนการสอน ตั้งแต่ 31 มกราคม ถึง 1 กุมภาพันธ์ 2562 และจะหยุดต่อไปหรือไม่ต้องดูตัวเลขวิกฤตอีกครั้ง

ส่วนการแก้ปัญหาในเชิงรุกนั้นก็ได้แค่ขู่ด้วยคำพูดกับท่าทางเกรี้ยวกราด และวิงวอน (เจ้าสัวหรือคนเชื้อสายจีนชั้นกลาง) ในกรณี “เผากระดาษ” ในวาระตรุษจีน??

ภาพของการแก้ปัญหาช่างเหมือนกับภาพการวางขวดน้ำหวานสีแดงบูชาหัวท่อประปาไม่มีผิด!