โฟกัสพระเครื่อง/โคมคำ/เหรียญรุ่น 1-พ.ศ.2493 หลวงพ่ออินทร์ วัดยาง อดีตพระเกจิดังเพชรบุรี

โฟกัสพระเครื่อง/โคมคำ/[email protected]

เหรียญรุ่น 1-พ.ศ.2493

หลวงพ่ออินทร์ วัดยาง

อดีตพระเกจิดังเพชรบุรี

“พระเทพวงศาจารย์” หรือหลวงพ่ออินทร์ อินทโชโต อดีตเจ้าคณะจังหวัดเพชรบุรี และอดีตเจ้าอาวาสวัดยาง อ.เมือง จ.เพชรบุรี พระเกจิผู้มีชื่อเสียงโด่งดัง

จัดสร้างพระเครื่อง วัตถุมงคล และเครื่องรางของขลังที่มีชื่อเสียงเป็นที่เลื่องลือ เป็นที่รู้จักไปทั่วคือลูกกระสุนดิน (ดินเหนียวปั้นกลมๆ) ชาวบ้านเรียกวัตถุมงคลนี้ว่า “ลูกกระสุนพระปลัดอินทร์” มีคุณวิเศษในทางแคล้วคลาด หาได้ยากและมีการสร้างน้อย

นอกจากนี้ยังได้สร้างเหรียญรูปและพระผง เป็นที่ระลึกผู้มาแสดงมุทิตาจิต ในโอกาสที่ได้เลื่อนสมณศักดิ์หรือทำบุญอายุ มากมายหลายรุ่น

ที่ได้รับความนิยมคือ เหรียญรุ่นที่ 1 พ.ศ.2493 ในโอกาสฉลองสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะสามัญ ที่พระพิศาลสมณกิจ

ลักษณะเหรียญเป็นเหรียญรูปไข่หูในตัวห่วงเชื่อม เนื้อโลหะทองแดง

ด้านหน้ารอบเหรียญจะปรากฏเม็ดไข่ปลาอยู่โดยรอบ ตรงกลางเหรียญเป็นรูปท่านห่มหลุดไหล่ครึ่งองค์หน้าตรง ส่วนล่างใต้รูปมีอักษรภาษาไทยโค้งตามรูปเหรียญว่า “พระพิศาลสมณกิจ”

ด้านหลังตรงกลางเหรียญเป็นรูปยันต์สี่ มีอักษรขอมเขียนว่า “ทุ สะ นิ มะ” อันเป็นหัวใจพระอริยสัจสี่ ตรงกลางยันต์เป็นรูปอักษรขอมตัว “นะ” ใต้ยันต์ลงมาจะปรากฏเป็นเลขไทยเขียนว่า “๒๔๙๓”

ปัจจุบันเป็นที่ต้องการ เริ่มหาได้ยากยิ่งและมีมูลค่าสูงเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ

เหรียญหลวงพ่ออินทร์ พ.ศ.2493

 

มีนามเดิมชื่อ อินทร์ พรหมโลก เกิดเมื่อวันอาทิตย์ที่ 10 ตุลาคม 2429 ที่บ้านไร่คา ต.ลาดโพธิ์ อ.บ้านลาด จ.เพชรบุรี บิดา-มารดา ชื่อ นายพรหมและนางนวล พรหมโลก

ครั้นอายุครบ 14 ปี บรรพชาเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2442 โดยมีเจ้าอธิการพลับ วัดวังบัว เป็นพระอุปัชฌาย์

ต่อมาเดินทางไปศึกษาต่อที่วัดอรุณราชวราราม กรุงเทพฯ เรียนพระปริยัติธรรมกับพระมหาริด เปรียญ 4 ประโยค และอาจารย์นวล เป็นเวลา 6 ปี

ครั้นถึงวันที่ 9 พฤษภาคม 2450 เข้าพิธีอุปสมบท ณ วัดวังบัว โดยมีพระพิศาลสมณกิจ (ริด) เป็นพระอุปัชฌาย์

ขณะเรียนวันหนึ่งได้แปลหนังสืออยู่กับพระพิศาลสมณกิจ (ริด) กรมพระสมมติอมรพันธุ์ และกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ซึ่งโดยเสด็จมากับพระพุทธเจ้าหลวง รัชกาลที่ 5 ครั้งแปรพระราชฐานมายังเมืองเพชรบุรี เสด็จชมวัดคงคาราม ทรงได้ยินการแปลหนังสือ จึงสนับสนุนให้ไปสอบในสนามหลวง แต่ในปีนั้นพระพุทธเจ้าหลวงรัชกาลที่ 5 เสด็จสวรรคต จึงเป็นเหตุให้งดการสอบ

กระทั่ง พ.ศ.2452 ได้รับตราตั้งเป็นพระสมุห์ ฐานานุกรมพระพิศาลสมณกิจ (ริด)

พ.ศ.2453 ได้เป็นพระปลัดฐานานุกรม พระพิศาลสมณกิจ

พ.ศ.2456 เดินทางเข้าไปเรียนนักธรรมที่วัดเบญจมบพิตรพระนคร ใช้ระยะเวลาศึกษาอยู่ 8 เดือน เมื่อกลับมาได้สร้างหอไตรขึ้นหลังหนึ่ง โดยมีจีนหงส์ ชาวบ้านปากทะเล อ.บ้านแหลม เป็นผู้ออกทุนทรัพย์ นายนิ่ม กลิ่นอุบล เป็นผู้ทำลวดลาย ทำอยู่ 3 ปีจึงแล้วเสร็จ

พ.ศ.2460 ขณะพรรษาที่ 11 ติดตามพระพิศาลสมณกิจ (ริด) ผู้เป็นอาจารย์ ย้ายสำนักจากวัดคงคาราม มาอยู่ ณ สำนักวัดยางซึ่งอยู่คนละฝั่งถนนราชดำเนิน

กระทั่ง พ.ศ.2478 ท่านจึงดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดยาง

ลูกกระสุนหลวงพ่ออินทร์

 

เป็นผู้มีความสามารถออกแบบและควบคุมการก่อสร้างด้วยตนเอง โดยอาศัยการจดจำและการสังเกต ตลอดระยะเวลาที่อยู่วัดยาง ท่านทุ่มเทเรื่องศิลปะการช่างสร้างผลงานไว้มากมาย อาทิ ธรรมาสน์เทศน์หลายหลัง เช่นที่ วัดบัวงาม วัดหนองควง วัดสำมะโรง วัดปากคลองบางครก วัดใหม่ตีนครุ เป็นต้น

นับเวลาที่ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดยาง เปรียบประดุจเป็นแหล่งเพาะช่างใหญ่เป็นที่ชุมนุมช่างแห่งหนึ่งของเมืองเพชรบุรี ผู้ที่ได้ผ่านการบวชเรียนจากสำนักนี้แล้วจะเป็นผู้มีความรู้ทางการช่างติดตัวไปเสมอ

นอกจากนี้ ยังขยายการศึกษาด้านวิชาชีพ สร้างโรงเรียนอาชีพแห่งแรกของจังหวัด ชื่อว่าโรงเรียนช่างไม้วัดยาง เปิดการสอนครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2478 โดยใช้หลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ

ต่อมาได้ขยายย้ายที่ตั้งโรงเรียนไปไว้ที่วัดเลา ซึ่งเป็นวัดร้าง ตั้งอยู่ ถ.บริพัตร ต.ท่าราบ อ.เมืองเพชรบุรี ปัจจุบัน คือ วิทยาลัยเทคนิคเพชรบุรี

ตลอดที่อยู่ใต้ร่มเงาพระศาสนา หลวงพ่ออินทร์เป็นผู้ที่มากไปด้วยคุณความดีเป็นอเนกประการ มีศรัทธาแน่วแน่ในพระพุทธศาสนา

จึงมีคณะศิษยานุศิษย์และผู้เคารพนับถือมากมาย

 

ลําดับงานปกครองคณะสงฆ์

พ.ศ.2478 เป็นเจ้าอาวาสวัดยาง

พ.ศ.2478 เป็นเจ้าคณะตำบลบ้านหม้อ

พ.ศ.2481 เป็นพระอุปัชฌาย์

พ.ศ.2512 ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดเพชรบุรี

ลำดับสมณศักดิ์

พ.ศ.2481 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรที่ พระครูพิศาลสมณกิจ

พ.ศ.2493 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมศักดิ์เป็นพระราชาคณะสามัญที่ พระพิศาลสมณกิจ

พ.ศ.2505 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นราชที่ พระราชวชิราภรณ์

พ.ศ.2517 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นเทพที่ พระเทพวงศาจารย์

หลวงพ่ออินทร์ตรากตรำต่อการทำงานและหน้าที่พระสังฆาธิการ ตลอดระยะเวลาอันยาวนาน ทำให้เริ่มมีอาการอาพาธหนัก ต้องเข้ารักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เป็นเวลา 22 วัน

กระทั่งเวลา 21.15 น. วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2524 จึงละสังขารลงอย่างสงบ

สิริอายุ 95 ปี พรรษา 74