จรัญ พงษ์จีน : นักการเมืองพาเหรดเปิดตัว สู่การเลือกตั้งหลังอัดอั้นมานาน

แสดงว่า “อั้น” มานาน พลันที่ “คณะกรรมการการเลือกตั้ง” เคาะเปิดสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขตทั่วประเทศ จำนวน 350 เขต ระหว่างวันที่ 4-8 กุมภาพันธ์ 2562 แค่วันแรก พรรคการเมืองก็พากันคึก แย่งส่งผู้สมัครลงชิงชัยกันอย่างล้นหลาม รวม 58 พรรค จำนวน 5,831 คน ยอดทะลุเพดาน วันที่สองเพิ่มไปอีกพันกว่าราย

ยังไม่นับรวม “ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ” ที่แต่ละพรรคจะส่งผู้สมัครได้อีกพรรคละไม่เกิน 150 คน คาดว่า 2 ระบบ จะมียอดผู้สมัครมากกว่า 10,000 คน ถือว่าทุบสถิติมากที่สุดในประวัติศาสตร์การเลือกตั้งของประเทศไทยจากทั้งหมด 27 ครั้ง นับตั้งแต่ปี 2476 เป็นต้นมา

สะท้อนภาพให้เห็นความตื่นตัวของประชาชนพลเมืองไทย “ศึกเลือกตั้ง” ในวันที่ 24 มีนาคม 2562 จึงมีความหมาย ประชาชนเจ้าของอำนาจอธิปไตยจะออกมาใช้สิทธิ เสรีภาพตามกฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน

เลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือ ส.ส.ไปทำหน้าที่แทนตนในรัฐสภา โดยการเลือกตั้งจำนวน 2 ระบบ 500 ที่นั่ง ภายใต้ร่มเงารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 แบบ “จัดสรรปันส่วนผสม”

แม้ตามกรอบรัฐธรรมนูญ ด้วยไฟต์บังคับ ให้มี “วุฒิสมาชิก” ซึ่งมาจากการ “สรรหา” หรือ “ลากตั้ง” ผสมผสานจำนวน 250 คน แต่ถึงจะ “ฟันหลอ” ยังดีกว่าไม่ได้เลือกตั้ง หรือเลื่อนเลือกตั้งอีก

ตาม “มาตรา 159” เมื่อเลือกตั้งแล้วเสร็จ ให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคล “ซึ่งสมควรไดัรับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี” จากบุคคลซึ่งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม “จากผู้ที่มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้เฉพาะ” ตาม “มาตรา 88”

ที่ระบุว่า ในการเลือกตั้งทั่วไป ให้พรรคการเมืองส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งแจ้งรายชื่อบุคคลซึ่งพรรคการเมืองนั้นมีมติว่า “จะเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีไม่เกินสามรายชื่อ” ต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งก่อนปิดการรับสมัครรับเลือกตั้ง และให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศรายชื่อบุคคลดังกล่าวให้ประชาชนทราบ

และเมื่อมีการสมัครรับเลือกตั้งแล้ว ผู้สมัครรับเลือกตั้งหรือพรรคการเมืองจะถอนการสมัครรับเลือกตั้งหรือเปลี่ยนแปลงผู้สมัครรับเลือกตั้งได้เฉพาะกรณีผู้สมัครรับเลือกตั้งตายหรือขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้าม แต่ต้องกระทำก่อนปิดการรับสมัครรับเลือกตั้ง

 

ตามช่องทางของรัฐธรรมนูญ แห่ง “มาตรา 159” และ “มาตรา 88” บุคคลที่จะมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนต่อไป ต้องมาจาก “พรรคการเมืองเสนอ” มาจากส่วนอื่นไม่ได้ และหลังจากที่ กกต.เปิดรับสมัคร พรรคการเมืองหลายพรรคต่างทยอยเปิดชื่อ “แคนดิเดตนายกฯ” บางพรรคเสนอ 3 คน บางพรรคเสนอเพียงชื่อเดียว

พรรคที่ประกาศชื่อชิงเก้าอี้นายกฯ ครบ 3 คน แต่ไม่ได้จัดอันดับ ได้แก่พรรคเพื่อไทย ประกอบด้วย “คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์” ประธานยุทธศาสตร์การเลือกตั้งพรรคเพื่อไทย “นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์” หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ พรรคเพื่อไทย อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และ “นายชัยเกษม นิติสิริ” อดีตอัยการสูงสุด และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม

“พรรคประชาชาติ” อันดับ 1 “นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา” อดีตประธานรัฐสภา อดีตรองนายกรัฐมนตรี อันดับ 2 “พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง” เลขาธิการพรรค และอันดับ 3 “ดร.ณหทัย ทิวไผ่งาม” รองหัวหน้าพรรค

พรรคที่เสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ เพียงคนเดียว ได้แก่ “ประชาธิปัตย์” เสนอ “นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” หัวหน้าพรรค อดีตนายกรัฐมนตรี “พรรคภูมิใจไทย” เสนอ “นายอนุทิน ชาญวีรกูล” หัวหน้าพรรค อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข “พรรคอนาคตใหม่” เสนอ “นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” หัวหน้าพรรค “พรรคเสรีรวมไทย” เสนอ “พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส” หัวหน้าพรรค อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

“พรรคชาติไทยพัฒนา” ส่ง “น.ส.กัญจนา ศิลปอาชา” หัวหน้าพรรค “พรรคชาติพัฒนา” เสนอ “นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ” อดีตรัฐมนตรีว่าการหลายกระทรวง และรองนายกรัฐมนตรี

กระนั้นก็ตาม วันเปิดรับสมัครวันแรกก็แล้ว วันที่สองก็แล้ว ปรากฏว่า “พรรคขนาดใหญ่” ที่ชื่อ “พลังประชารัฐ” ซึ่งถูกจัดอันดับว่าจะเป็นคู่แข่งสำคัญสุดของ “เพื่อไทย” ดูดเอานักการเมืองชื่อดังๆ ไปรวมพลกันคับคั่ง

มีการขึ้นกระดาน ว่าจะเสนอชื่อ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” เป็นแคนดิเดตนายกฯ หมายเลข 1 ขายเหล้าพ่วงเบียร์ ส่งชื่อ “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” กับ “อุตตม สาวนายน” หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ลงประกบก่อนทั้งสองจะถอนตัวเหลือเพียง “พล.อ.ประยุทธ์” คนเดียว

ยิ่งกว่านั้น “อุตตม” พร้อมแกนนำพรรค 3-4 กุมาร “สนธิรัตน์-สุวิทย์” อุตส่าห์จัดฉากยกขันหมากไปทำพิธีสู่ขอ “บิ๊กตู่” ถึงทำเนียบ ให้มานั่งว่าที่นายกฯ คนที่ 1 ของพรรค คุยกันเป็นเรื่องเป็นราวกว่าชั่วโมง

แต่จนแล้วจนรอด “บิ๊กตู่” ยังสงวนท่าทีในความปรารถนาดี กลับไม่ตอบตกลง บอกเพียงแต่ “ขอบคุณทุกคนที่ให้เกียรติ ผมจะรับไว้พิจารณา” ก่อนมาตอบรับเอาจนได้

แม้หลายคนใน พปชร.จะเชื่อมั่นว่า ท้ายที่สุดแล้ว “พล.อ.ประยุทธ์” ต้องประกาศรับตำแหน่งแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีอยู่วันยังค่ำ โดยคาดว่าจะลั่นวาจาตอบรับในโค้งสุดท้าย ก่อนเส้นตายวันที่ 8 กุมภาพันธ์

สรุปว่า เหลือเวลาอีกไม่กี่วันจะถึงวันชิงชัยศึกเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 ไม่ว่าพรรคไหนจะอยู่ขั้วใด แต่สำหรับผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนต่อไปก็ต้องมีที่มาจากรายชื่อข้างต้น ตามช่องทางของรัฐธรรมนูญ

จะเป็นอื่นไปไม่ได้