การศึกษา / ควบรวมโรงเรียนเล็ก ท้าทาย ‘คุณภาพศึกษา’

การศึกษา

ควบรวมโรงเรียนเล็ก

ท้าทาย ‘คุณภาพศึกษา’

 

กลับมาฮือฮาอีกรอบกับข้อเสนอของธนาคารโลก หรือเวิลด์แบงก์ ที่เสนอให้โรงเรียนขนาดเล็กควบรวมเพื่อคุณภาพการศึกษาที่ดีขึ้น

ธนาคารโลก สำนักงานประเทศไทย เสนอแนะในการประชุมของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ควบรวมโรงเรียน 30,506 โรง เหลือ 17,766 โรง ห้องเรียนจาก 344,009 ห้อง เหลือ 259,561 ห้อง แถมช่วยลดครูจาก 475,717 คน เหลือ 373,620 คน

โดยให้เหตุผลว่า ค่าใช้จ่ายทางการศึกษามีแนวโน้มสูงขึ้น แต่ผลสัมฤทธิ์อยู่ในระดับต่ำอย่างต่อเนื่อง

ขณะที่ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาระหว่างครอบครัวที่มีรายได้สูงสุดและรายได้ต่ำสุดก็มีแนวโน้มแย่ลง

เกิดช่องว่างในเรื่องคุณภาพการศึกษาที่มีความแตกต่างมากขึ้นเรื่อยๆ

พบความไร้ประสิทธิภาพในการใช้จ่ายด้านการศึกษาเกิดขึ้นในโรงเรียนขนาดเล็กระดับประถมศึกษา ที่มีสัดส่วนนักเรียนต่อครู อยู่ที่ 17:1 ใกล้เคียงประเทศญี่ปุ่น ออสเตรเลีย เกาหลีใต้ ฯลฯ

แต่การบริหารจัดการทรัพยากรครูและสถานศึกษาไม่สามารถกระจายไปสู่ห้องเรียนได้เพียงพอต่อความต้องการ เพราะมีห้องเรียนขนาดเล็กจำนวนมากเกินไป

แถมอัตราการเกิดลดลง ส่งผลให้จำนวนเด็กลดลงเรื่อยๆ

ขณะที่โรงเรียนขนาดเล็กส่วนใหญ่มีต้นทุนสูงในการบริหารจัดการ และมักได้รับการจัดสรรทรัพยากรไม่เพียงพอ

นักเรียนด้อยโอกาสส่วนใหญ่ศึกษาอยู่ในโรงเรียนขนาดเล็ก ยิ่งเกิดความเหลื่อมล้ำ

 

ทั้งนี้ งานวิจัยของธนาคารโลก แสดงหลักฐานเชิงประจักษ์ว่าการขาดแคลนครูเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้คุณภาพการศึกษาตกต่ำ โดยเฉพาะเด็กด้อยโอกาสและเป็นปัจจัยสำคัญของความเหลื่อมล้ำที่มีสูงในระบบ

ซึ่งถ้าจะจัดสรรครูและทรัพยากรให้เพียงพอกับทุกห้องเรียน ต้องใช้ทรัพยากรมหาศาล และหากมีห้องเรียนจำนวนมากอย่างในปัจจุบันก็จะยิ่งทำให้ค่าใช้จ่ายต่อหัวของนักเรียนในโรงเรียนขนาดเล็กเพิ่มสูงขึ้น

ด้วยเหตุผลดังกล่าว ธนาคารโลกจึงเสนอให้ สพฐ.ควบรวมโรงเรียนตามแผน จะสามารถลดจำนวนโรงเรียนจาก 30,506 โรง เหลือ 17,766 โรง ห้องเรียนจาก 344,009 ห้อง เหลือ 259,561 ห้อง

ทั้งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการบุคลากร

เพราะครูจะลดลงจากเดิมที่มีครู 475,717 คน เหลือ 373,620 คน

 

นายดิลกะ ลัทธพิพัฒน์ นักเศรษฐศาสตร์ด้านทรัพยากรมนุษย์ กลุ่มงานการศึกษา ธนาคารโลก สำนักงานประเทศไทย ระบุว่า ถ้าทำได้ตามโมเดลนี้ จะเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการศึกษาได้อย่างมหาศาล

ประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่เกิดจากการลดจำนวนโรงเรียนประถมศึกษาลงจาก 20,990 แห่ง เหลือ 8,382 แห่ง จะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายงบประมาณรัฐได้มากถึง 49,000 ล้านบาทต่อปี เฉพาะเงินเดือนครู คิดเป็นมูลค่า 7,150 บาทต่อนักเรียนต่อปี

มาตรการควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กช่วยส่งเสริมคุณภาพการศึกษาให้แก่ผู้เรียน โดยจะแก้ไขปัญหาการขาดแคลนครูได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน

นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เผยว่า ธนาคารโลกเสนอข้อมูลมาให้พิจารณาหลายเดือนแล้ว ได้ส่งต่อให้ สพฐ.พิจารณา

หากจะดำเนินการ ต้องมีแผนที่ชัดเจน ไม่ใช่ทำทันที แต่เรื่องนี้มีการพูดถึงเป็นประจำทุกปี พยายามทำมานานกว่า 30 ปี แต่ไม่สำเร็จ ซึ่งต้องกลับไปถามว่าทำไมถึงทำไม่สำเร็จ

สพฐ.ต้องไปดูว่ามีปัจจัยใดเข้ามาเกี่ยวข้องบ้าง รวมถึงต้องพิจารณากฎหมายที่เกี่ยวข้อง เดิมต้องให้คณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) เขตพื้นที่ฯ เสนอเรื่องให้พิจารณา

แต่ตอนนี้ไม่มี อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ แล้ว ก็ต้องให้เป็นหน้าที่คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) พิจารณาเสนอเรื่องขึ้นมาให้ สพฐ.ดูร่วมกัน

 

นายสุภัทร จำปาทอง เลขาธิการ สกศ. ย้ำว่า ช่วง 4-5 ปีมานี้ประเด็นความเหลื่อมล้ำถูกพูดถึงอย่างมากในหลากหลายมิติ เฉพาะความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา

วิธีการแก้ไขเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพเท่าเทียมกันอาจเป็นไปได้ยาก แต่การสร้างโอกาสเพื่อให้ทุกคนได้รับคุณภาพทางการศึกษาเท่าเทียมสามารถทำได้

ซึ่งข้อเสนอของธนาคารโลกให้มีการควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นการศึกษาวิจัยที่ทำให้เห็นภาพและผลเชิงการบริหารจัดการที่ชัดเจน

แต่ในทางปฏิบัติ การจะควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กยังต้องได้รับการยอมรับในพื้นที่ ดูข้อกฎหมายต่างๆ แต่ท้ายที่สุดต้องคำนึงถึงคุณภาพผู้เรียนเป็นสำคัญ

น.ท.สุมิตร สุวรรณ รองคณบดีคณะศึกษาศาสตร์และพัฒนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) กล่าวว่า เห็นด้วยกับข้อเสนอของธนาคารโลก

ขณะนี้เรามีโรงเรียนขนาดเล็กทั่วประเทศ 12,000-15,000 โรง เกือบครึ่งหนึ่งของโรงเรียนทั่วประเทศ ทำให้รัฐบาลต้องสูญเสียงบประมาณ ขณะที่การจัดการศึกษาไม่เกิดประสิทธิภาพ

แต่การควบรวมจะต้องไม่ทำให้ผู้ปกครอง เด็ก ครู และผู้อำนวยการโรงเรียนเดือดร้อน

โดยอาจต้องจัดรถรับ-ส่งไม่ให้กระทบกับการเดินทาง ส่วนโรงเรียนที่ถูกยุบ ให้องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) หรือสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) จัดทำเป็นศูนย์การเรียนรู้ เพื่อชุมชนจะได้ไม่รู้สึกว่าโรงเรียนหายไป

ส่วนโรงเรียนขนาดเล็กที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล บนภูเขา หรือตามเกาะต่างๆ ประมาณ 2 พันกว่าแห่งนั้นต้องคงไว้ เพื่อไม่ให้เด็กและผู้ปกครองเดือดร้อน

“ปัญหาใหญ่คือ มีครูไม่ครบชั้น ขณะที่รัฐบาลจัดสรรงบประมาณตามรายหัวเด็ก ทำให้โรงเรียนมีเงินไม่พอใช้จ่าย รัฐบาลควรเร่งแก้ปัญหานี้อย่างจริงจัง โดยอาจไม่ต้องทำพร้อมกันทั้งหมด อยู่ที่การวางแผน อาจทยอยทำเป็นพื้นที่ เริ่มจากโรงเรียนที่มีผู้อำนวยการโรงเรียนเกษียณก่อน เพื่อไม่ให้กระทบกับตำแหน่ง ส่วนครูก็อาจใช้วิธีให้เลือกย้ายกลับภูมิลำเนาได้ อย่างไรก็ตามเชื่อว่าการควบรวมหรือยุบรวม มีแนวโน้มจะทำให้คุณภาพการศึกษาดีขึ้น แต่ต้องใช้เวลา”

น.ท.สุมิตรระบุ

 

การควบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก พูดกันมานานแล้วว่าเป็นความจำเป็นที่ต้องทำ

แต่ในทางปฏิบัติเป็นเรื่องละเอียดอ่อน

ต้องได้รับการยินยอมจากชุมชนและผู้ปกครอง

แต่ถ้าวางแผนดีๆ โดยไม่ทำให้ชุมชนและผู้ปกครองเดือดร้อน

  ก็เป็นเรื่องที่ควรได้รับการสนับสนุน