คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง : “สวัสดิกะ” ในประเพณีและพิธีกรรมฮินดู

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

สวัสดิกะ (สฺวสฺติก) เป็นคำสันสกฤต ใช้เป็นชื่อเรียกสัญลักษณ์แบบหนึ่งที่มีลักษณะคล้ายกางเขนแล้วมีขาลากออกไปตวัดไปในทิศทางเดียวกัน

ในพจนานุกรมสันสกฤตของวาสุเทวะ อัปเต (Vasudeva Apte) แปลคำนี้ว่า a mystical mark, the meeting of four roads “เครื่องหมายที่เป็นรหัสนัย, ถนนสี่สายที่มาบรรจบกัน” ส่วนคำว่าสวัสตินั้นในพจนานุกรมอัปเต แปลว่าคำทักทายหรือคำบอกลา แต่โดยทั่วไปเข้าใจว่าหมายถึงสวัสดิมงคลต่างๆ

น่าสนใจครับว่า ทำไมพจนานุกรมของอัปเตถึงไม่ฟันธงไปเลยว่าสัญลักษณ์นี้มีความหมายว่าอะไร อาจเพราะมันมีความหมายมากมายหลายหลากเกินกว่าจะสรุปง่ายๆ ได้

ที่จริงสัญลักษณ์แบบสวัสดิกะนั้นมีปรากฏในอารยธรรมต่างๆ ทั่วโลก ไม่ได้มีเฉพาะในอินเดียเท่านั้น ไม่ว่าจะในอารยธรรมของละตินอเมริกา ตะวันออกกลาง หรือในเอเชีย โดยมีรายละเอียดต่างๆ กันออกไป

แสดงว่าสวัสดิกะเป็นสัญลักษณ์โบราณที่มีร่วมกันของมนุษย์ คล้ายคลึงกับสัญลักษณ์อื่นๆ เช่น บรรดาสัญลักษณ์รูปทรงเลขาคณิตต่างๆ

 

ผมจำได้ว่าเคยเห็นในหนังสือของท่านอาจารย์ฉัตรสุมาลย์ หรือท่านภิกษุณีธรรมนันทาในปัจจุบันนี้ ท่านพูดถึงสัญลักษณ์สวัสดิกะว่า มีผู้ตีความไป หมายถึง ผู้หญิงที่ยืนอยู่สี่คนในแต่ละมุม และผมยาวที่ปลิวไปกลายเป็นรูปสวัสดิกะ

แม้จะจำรายละเอียดการอธิบายและชื่อหนังสือไม่ได้แล้ว แต่การตีความทางโบราณคดีแนวนี้นับว่าน่าสนใจมาก เพราะแสดงให้เห็นการให้ความสำคัญกับผู้หญิงในสัญลักษณ์โบราณว่ามีมากเพียงใด

เนื่องด้วยความยาวนานของกาลเวลา เป็นปกติที่สัญลักษณ์ไม่ว่าแบบไหนจะเปลี่ยนความหมายไปต่างๆ ซึ่งขึ้นอยู่กับอำนาจของใครในการช่วงชิงความหมายด้วย

สวัสดิกะเองดูเหมือนจะเป็นสัญลักษณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงของความหมาย หรือพูดอีกอย่างคือการถูกนำไปใช้ในบริบทต่างกันมากที่สุดอันหนึ่ง

 

กรณีไอดอลจากวงวัยรุ่นที่ใส่เสื้อแสดงสัญลักษณ์ “สวัสดิกะ” แต่เป็นสวัสดิกะที่อยู่ในธงของพรรคนาซี เยอรมัน ซึ่งทำให้เกิดการกระเพื่อมไหวในโลกออนไลน์คงสะท้อน “พลัง” ของความหมายในสัญลักษณ์ที่ส่งผลต่อความรู้สึกของผู้คนอย่างมากมาย เมื่อสัญลักษณ์ได้เชื่อมโยงผู้คนเข้ากับความทรงจำเบื้องหลังการกระทำภายใต้สัญลักษณ์นั้น

การเลือกใช้สัญลักษณ์จึงเป็นสิ่งที่ต้องระมัดระวังไงครับ เพราะมันเองแฝงเร้นอะไรไว้เยอะ ไม่ว่าจะเป็นความเชื่อ อุดมการณ์ เผ่าพันธุ์ ประวัติศาสตร์ เหตุการณ์ ฯลฯ และมีผลต่อความรู้สึกของมนุษย์

ในหลายครั้ง การต่อสู้โดยใช้สัญลักษณ์จึงยังเป็นสิ่งที่มนุษย์กระทำมาตั้งแต่โบราณจนถึงทุกวันนี้

 

โดยยังไม่ได้ค้นคว้าอะไรเป็นกิจจะลักษณะ เท่าที่ผมจำได้จากครูบาอาจารย์ สวัสดิกะในศาสนาฮินดูนับว่าเป็นสัญลักษณ์สวัสดิมงคล ในความหมายทั่วไปแสดงถึงความมีโชค ความเจริญงอกงามบริบูรณ์

ท่านว่าสัญลักษณ์นี้เก่าแก่ อาจย้อนไปถึงยุคพระเวทเลยก็ว่าได้ และเมื่อกล่าวถึงยุคพระเวท เราก็มักเชื่อมโยงกับพวกอารยันด้วย

แต่เดิมสัญลักษณ์สวัสดิกะอาจหมายถึง “พระอาทิตย์” ขาทั้งสี่หมายถึงรัศมีที่ชี้ออกไปโดยรอบ นอกจากนี้ ในวัฒนธรรมอินเดีย มีสวัสดิกะในลักษณะใหญ่ๆ สองแบบ คือ ทักษิณาวรรต เวียนขวา และอุตราวัฏ เวียนซ้าย ที่ชาวฮินดูใช้กันคือ แบบเวียนขวา

การเวียนขวานับว่าเป็นมงคล เพราะเมื่อเราหันหน้าไปยังทิศตะวันออก ขวามือก็คือทิศใต้ จึงเรียกว่าทักษิณาวรรต ถือว่าเป็นการเวียนไปตามรอบของดวงอาทิตย์

ในเวลาต่อมาสวัสดิกะใช้แทนเทพเจ้าพระองค์หนึ่ง คือ “พระคณปติ” หรือพระคเณศและความหมายนี้จะยังใช้กันมาจนถึงปัจจุบัน

ท่านอธิบายว่า ขาทั้งสี่ของสวัสดิกะ คือ พระกรทั้งสี่ของพระคเณศ หรือบางทีอาจหมายถึง งวงที่กวัดแกว่งไปโดยรอบ

 

ที่จริงแล้วในบางประเพณีมีการเชื่อมโยงพระคเณศเข้ากับสุริยเทพด้วย เช่น ในพังคละ พระคเณศมักมีพระวรกายแดง หมายถึงดวงอาทิตย์ ในขณะที่มุสิกะหรือหนู ยังมีความหมายถึงความมืดได้อีกด้วย เพราะหนูมักซ่อนเร้นตนเองอยู่ในที่มืดอับ พระคเณศผู้ขี่หนูจึงมีความหมายถึงชัยชนะของแสงสว่างต่อความมืดอีกโสตหนึ่ง การใช้สัญลักษณ์สวัสดิกะที่หมายถึงพระอาทิตย์ มาสู่การใช้เป็นสัญลักษณ์ของพระคเณศจึงมีความเชื่อมโยงกันดังนี้

ในพิธีกรรมสำคัญของฮินดู โดยเฉพาะกิจในการบูชาเริ่มต้นพิธีมงคลต่างๆ ต้องมีการบูชาเทวดา ที่ประดิษฐานใน “ปีฐะ” หรือแท่นพิธี ซึ่งเป็นการบูชาตามขนบพระเวท ก็จะไม่ใช่เทวรูปต่างๆ เพราะในสมัยพระเวท การบูชาเทวรูปยังไม่แพร่หลาย แต่จะใช้ข้าวย้อมสีทำเป็นรูปทรงเลขาคณิต เพื่อบ่งถึงเทพเจ้าต่างๆ แทน

ในแท่นมณฑลนั้น จะมีการทำรูปสวัสดิกะด้วยข้าวสารสีเหลือง ประทับเคียงข้างรูปสามเหลี่ยมคว่ำสีแดง โดยสวัสดิกะหมายถึงพระคเณศ ซึ่งได้รับการบูชาคู่กับพระแม่เคารี หรือเทพีแห่งครอบครัวและธัญพืช ซึ่งแทนด้วยสามเหลี่ยมสีแดงนั้น

การบูชานี้จะเรียกว่า การบูชา “คเณศามพิกา” หรือพระคเณศ คู่กับเจ้าแม่ (อัมพิกา) นับเป็นกิจพิธีที่สำคัญ

แม้ในภายหลังเมื่อมีเทวรูปแล้ว การนับถือสัญลักษณ์สวัสดิกะในความหมายถึงพระคเณศก็ยังคงอยู่ หรือบางครั้งก็ใช้ควบคู่กันไปก็มี บางครั้งการมีสวัสดิกะตั้งไว้หรือเขียนไว้ ก็มีความหมายว่าพระคเณศประทับ ณ ที่นั้น

ดังนั้น ไม่ว่าจะเจิมรถเจิมบ้าน เจิมอะไรต่างๆ หนึ่งในสัญลักษณ์ที่นิยมเจิมกันเพื่อความเป็นมงคล คือสัญลักษณ์สวัสดิกะนี่แหละครับ เพราะนอกจากนับถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของพระคเณศแล้ว ความหมายทั่วไปยังหมายถึงความโชคดีและการปกป้องในทุกทิศทางด้วย

แต่สวัสดิกะในประเพณีฮินดูอาจมีรายละเอียดต่างกับที่ปรากฏในพรรคนาซี เป็นต้นว่า มักนิยมให้มีจุดสี่จุดใต้แขนที่ยื่นออกไปหรือมีมุมต่างกัน

 

ทั้งนี้ ศาสนาต่างๆ ในอินเดีย คือศาสนาไชนะและพุทธศาสนา ต่างก็ใช้สัญลักษณ์สวัสดิกะเป็นสัญลักษณ์มงคลของศาสนาด้วย ในพระสูตรของฝ่ายมหายานกล่าวว่า พระพุทธะทรงมีสัญลักษณ์สวัสดิกะ (เวียนซ้าย) อยู่ที่หน้าอก ซึ่งไม่ปรากฏในคัมภีร์ฝ่ายเถรวาท ด้วยเหตุนี้เมื่อไปยังวัดของพุทธศาสนามหายาน มักจะเห็นรูปสวัสดิกะอยู่ที่หน้าอกของพระพุทธรูปเสมอ

ผมเข้าใจว่า การให้มีสวัสดิกะที่หน้าอก อาจเป็นเพราะต้องการสู้กันในทางสัญลักษณ์กับพวกพราหมณ์ก็ได้นะครับ เพราะพระนารายณ์นั้นมี “ศรีวัตสะ” ที่อก ซึ่งเป็นสัญลักษณ์มงคลเช่นเดียวกัน

ดังนั้น ในประเทศที่นับถือมหายานจึงนิยมใช้สัญลักษณ์สวัสดิกะในแผนที่แทนวัดในพุทธศาสนา เช่น ญี่ปุ่นและเกาหลี

การใช้สวัสดิกะในวัฒนธรรมศาสนา บางครั้งก็สร้างความสับสนและไม่พอใจจากชาวตะวันตก จึงต้องค่อยๆ อธิบายและให้ความรู้กันไปว่า มีการใช้สวัสดิกะมาก่อนการใช้ของนาซี และมีรายละเอียดที่ต่างออกไป

กรณีข้อโต้เถียงเรื่องธงสวัสดิกะที่เกิดขึ้นในบ้านเราครั้งนี้ ซึ่งไม่ใช่ครั้งแรก คงสะท้อนอะไรหลายอย่างดังที่มีผู้กล่าวไว้มากแล้ว ผมคงไม่พูดอีก

แต่นั่นทำให้เราตระหนักว่า การเรียนรู้เรื่องประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม ในฐานะที่เราเป็นพลเมืองของโลก จึงเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง

และจะดียิ่งขึ้นไปอีกหากได้เรียนรู้บาดแผลในประวัติศาสตร์ของเราเองด้วย