สมหมาย ปาริจฉัตต์ : 4 พันธมิตรการศึกษา พัฒนา IT ครูอิสลาม

สมหมาย ปาริจฉัตต์

“คุณสมหมายคะ ท่านกฤษณพงศ์เชิญไปร่วมงานประชุมปฏิบัติการ PMCA Classrooms Connected จัดที่หาดใหญ่ วันที่ 22-23 ธันวาคมนี้ ไอเดียของโครงการมาจากการพูดคุยกันในมินิ Workshop ที่อินโดนีเซีย และเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กับมูลนิธิไอทีตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพฯ งานนี้เราเชิญครู Zainuddin จากมาเลเซีย ครู Herwin จากอินโดนีเซีย และครูเฉลิมพรมาทำ Workshop กับ ผอ.และครูโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ 16 โรงเรียนในความดูแลของมูลนิธิไอที พอจะจัดเวลาไปร่วมได้ไหมคะ”

ข้อความจดหมายส่งผ่านไลน์ปรากฏขึ้นหน้าจอสมาร์ตโฟน บ่ายพฤหัสฯ 13 ธันวาคม ปีที่ผ่านมา ผู้ส่ง Benjalug Namfa

ผมใช้เวลาคิดไม่นาน ก่อนส่งคำตอบกลับทันที ยินดีครับ

 

เหตุไม่ใช่แค่เพียงเพราะเจ้าของจดหมาย ดร.เบญจลักษณ์ น้ำฟ้า ผู้อำนวยการมูลนิธิ และผู้เชิญคือ ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร ประธานกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีเท่านั้น แต่กลุ่มผู้เข้าร่วมประชุมปฏิบัติการมีความน่าสนใจอย่างยิ่ง เป็นครูโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม

อีกทั้งกระบวนการประชุมน่าติดตามเป็นอันมาก ใช้ครูผู้ได้รับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี รุ่นแรก ปี 2558 จากสามประเทศ ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย มาทำงานร่วมกัน ใช้ภาษาในการสื่อสารพร้อมกัน 4 ภาษา คือ อังกฤษ ไทย บาฮาสา และภาษาคอมพิวเตอร์

ทั้งยังถ่ายทอดการประชุมออนไลน์ไปยังโรงเรียนในประเทศอินโดนีเซียให้กลุ่มครูที่โน่นได้ร่วมเวที Global Classroom ในเวลาเดียวกัน

 

การจัดประชุมแบบห้องเรียนข้ามโลก ไม่ใช่เพียงพันธมิตรทางการศึกษาที่มีบทบาทส่งเสริมการพัฒนาครู 2 มูลนิธิ คือมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีและมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ มาจับมือทำงานร่วมกันเท่านั้น ยังมีองค์กรเครือข่ายในประเทศ คือคุรุสภา และต่างประเทศ คือสำนักงานเลขาธิการรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือซีมีโอ เข้าร่วมอย่างแข็งขัน

เหตุที่ 4 เครือข่ายพันธมิตรเลือกเอากลุ่มครูและผู้บริหารโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามเข้าร่วมประชุมปฏิบัติการ นอกจากมีความเป็นกลุ่มก้อน มีเครือข่ายเชื่อมโยงช่วยเหลือส่งเสริมสนับสนุนซึ่งกันและกันอย่างใกล้ชิด วิถีชีวิต วัฒนธรรม เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

ที่สำคัญมีความผูกพันกับการดำเนินโครงการเพื่อพัฒนาครูโดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเป็นเครื่องมือ ของมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ มาอย่างต่อเนื่อง

โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามเป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่มูลนิธิได้ส่งเสริม สนับสนุนให้เกิดการพัฒนาบุคลากร ทั้งผู้บริหาร ครู และนักเรียน ภายใต้ชื่อโครงการเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษาของโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามภาคใต้

 

รายการประชุมปฏิบัติการข้ามชาติ ข้ามภาษาอย่างเข้มข้นทั้งสองวัน ว่ากันด้วยหัวข้อเรื่องอะไร วิทยากรหรือครูของครู เป็นใครมาจากไหน เนื้อหาสาระ สีสัน บรรยากาศ กระบวนการเรียนรู้ท่ามกลางเสียงหัวเราะอย่างมีความสุข เกิดขึ้นได้อย่างไร

ก่อนเล่าสู่กันฟังต่อไป น่าจะซึมซับรับรู้เรื่องราว ความเป็นมาการดำเนินงานของมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่ามูลนิธิไอทีในสมเด็จพระเทพฯ ซึ่งเป็นองค์กรหลักผลักดันการใช้เทคโนโลยีเพื่อการพัฒนา โดยเฉพาะกลุ่มผู้ด้อยโอกาสในสังคม แต่ละกลุ่มล้วนน่าสนใจติดตามอีกเช่นกัน

ต้องฟัง ดร.ชฎามาศ ธุวะเศรษฐกุล รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กรรมการและรองเลขาธิการมูลนิธิไอทีในสมเด็จพระเทพฯ กล่าวในการเปิดประชุมปฏิบัติการ PMCA Classrooms Connected เช้าวันแรก ด้วยภาษาไทยสลับอังกฤษ บางช่วงมีผู้แปลเป็นบาฮาสา ท่ามกลางผู้เข้าร่วมเต็มห้องประชุม

 

“เป็นพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเป็นอย่างยิ่ง สายพระเนตรยาวไกล ทรงมีพระราชดำริพระราชทานคำแนะนำเกือบ 25 ปีมาแล้ว ทรงตระหนักถึงประโยชน์และศักยภาพของเทคโนโลยีสารสนเทศหรือไอที Information Technology ในการพัฒนาประเทศและชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตให้แก่ผู้ด้อยโอกาส”

“ได้ทรงริเริ่มให้จัดทำโครงการเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริฯ ขึ้นในปี พ.ศ.2538 โดยมีกลุ่มเป้าหมายหลักประกอบด้วย ผู้ด้อยโอกาสในสังคม 4 กลุ่มได้แก่ เด็กนักเรียนในชนบท ผู้พิการ เด็กเจ็บป่วยเรื้อรังในโรงพยาบาล ผู้ต้องขังและเยาวชนในสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศพัฒนาโอกาสทางการศึกษาหลายกลุ่มเป้าหมาย ทุกกลุ่มมาอยู่ในโครงการมีโอกาสได้รับการศึกษา และมีชีวิตที่ดีขึ้น”

“กลุ่มโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามเป็นอีกกลุ่มหนึ่ง เอาไอทีมาพัฒนาการศึกษา การเรียนการสอน ทำมา 15 ปีแล้ว เดิมมี 13 โรง ปัจจุบันมี 16 โรง มาร่วมประชุม 15 โรง เปิดโอกาสให้ครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้าฯ ผู้สร้างความเปลี่ยนแปลงแก่ชีวิตศิษย์ นำประสบการณ์มาแลกเปลี่ยน เผยแพร่แก่ครูและผู้บริหาร เป็นตัวอย่างแก่โรงเรียนสอนศาสนาอิสลามแห่งอื่นๆ ต่อไป ทั้งยังเชื่อมโยงไปยังโรงเรียนในอินโดนีเซีย มาเลเซีย ขยายไปถึงระหว่างประเทศ

เมื่อปี 2561 ประธานมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้าฯ ไปเยี่ยมกระทรวงศึกษาธิการอินโดนีเซีย พบปลัดกระทรวง หารือกันว่าควรทำโครงการพัฒนาการศึกษาเชื่อมโยงกัน จึงนำมาสู่การนำร่องกลุ่มโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม 16 โรงก่อน ตั้งความหวังให้มีการทำกิจกรรมระหว่างนักเรียนของทั้งสามประเทศ โดยมีครูเป็นผู้ช่วย กระตุ้นให้เด็กทำงานร่วมกัน

เรื่องราวการดำเนินโครงการต่างๆ ตั้งแต่ก่อน จนกระทั่งจัดตั้งเป็นมูลนิธิไอทีในสมเด็จพระเทพฯ จากคำกล่าวและเรื่องเล่าของ ดร.ชฎามาศ เลขาธิการ ยังไม่จบ ทั้งหมดกี่โครงการ มีกระบวนการบริหารจัดการอย่างไร ต้องติดตามตอนต่อไป