วิรัตน์ แสงทองคำ : 15 ปี “ไทยเบฟ” ยักษ์ใหญ่จากเบียร์สู่ความหลากหลาย

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

ว่าด้วยธุรกิจใหญ่ไทยอันทรงอิทธิพล ในช่วงเวลากับบริบทอันผันผวน

กลุ่มบริษัทไทยเบฟเพิ่งเฉลิมฉลองครบอรอบ 15 ปีอย่างมีนัยยะสำคัญ ทั้งกลุ่มทีซีซี สังคมไทย และอาจรวมถึงระดับภูมิภาคด้วย

เกี่ยวกับบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) หรือไทยเบฟในฐานะกิจการหลักของกลุ่มไทยเจริญคอร์ปอเรชั่น หรือทีซีซี กรุ๊ป แต่ครั้งนี้ค่อนข้างพิเศษ เนื่องจากไทยเบฟเพิ่งผ่านช่วงเวลาสำคัญครบรอบ 15 ปี (2546-2561)

ที่น่าสนใจไทยเบฟเองให้ความสำคัญนำเสนอประวัติบริษัท 15 ปีไว้ด้วย (หากสนใจโปรดติดตาม http://15years.thaibev.com)

เช่นเดียวกัน ผมในฐานะนักสังเกตการณ์คนหนึ่ง ได้นำเสนอเรื่องราวกลุ่มทีซีซีและไทยเบฟมาโดยตลอด หลายครั้งหลายครา ย่อมให้ความสนใจช่วงเวลาดังกล่าว (หากสนใจเทียบเคียง โปรดติดตามได้จาก https://viratts.wordpress.com)

 

เรื่องราวไทยเบฟนั้นย้อนกลับไปไกลพอสมควร ไปเชื่อมโยงกับประวัติทีซีซี “กลุ่มไทยเจริญคอร์ปอเรชั่น หรือทีซีซี กรุ๊ป ก่อตั้งขึ้นมากว่า 30 ปี โดยคุณเจริญ สิริวัฒนภักดี” ประวัติที่เขียนโดยทีซีซีเอง ให้ความสำคัญผู้ก่อตั้งอย่างมากๆ ทั้งมีประวัติเพิ่มเติมอย่างที่ควรอ้างอิงพอสังเขป

“คุณเจริญเกิดและเติบโตในย่านธุรกิจทรงวาด ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของไชน่าทาวน์ ในครอบครัวชาวจีนโพ้นทะเลจากเมืองซัวเถา อำเภอเท่งไฮ้”

โดยเน้นว่า เขา “ได้เริ่มทำการค้าตั้งแต่เยาว์วัย” โดยเฉพาะให้ความสำคัญอีกตอนหนึ่งควรสังเกต “ต่อมาได้สมรสกับคุณหญิงวรรณา สิริวัฒนภักดี จากนั้นได้ร่วมกันพัฒนากิจการจากเล็กสู่ใหญ่”

ผมเองได้จับปรากฏการณ์นั้น ตีความว่าเป็นโมเดลสำคัญอย่างเฉพาะเจาะจงของธุรกิจในเครือทีซีซี ซึ่งสืบทอดส่งต่อมายังรุ่นที่สอง

นอกจากนี้ยังนำเสนอพัฒนาการธุรกิจอย่างคร่าวๆ แต่พอเห็นภาพ “จากการขายสินค้าให้โรงงานสุรา พัฒนามาสู่การเป็นเจ้าของโรงงานสุรา จนได้รับสัมปทานโรงงานสุราทั้งหมดเมื่อเข้าสู่ยุคการค้าสุราเสรี ได้ประมูลโรงกลั่นสุราในนามกลุ่มแสงโสม” และ “ได้ขยายกิจการไปสู่ธุรกิจอุตสาหกรรมที่ต่อเนื่อง เช่น เบียร์ แอลกอฮอล์ น้ำตาล บรรจุภัณฑ์ และอื่นๆ ตลอดจนได้เข้าสู่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์… กลุ่มเกษตร รวมทั้งได้เข้าลงทุนในกิจการของกลุ่มธุรกิจที่สำคัญ เช่น กลุ่มเบอร์ลี่ ยุคเกอร์ และกลุ่มอาคเนย์ประกันภัย ประกันชีวิต เป็นต้น” (อ้างแล้วจาก http://www.tcc.co.th)

ส่วนเรื่องราว “15 ปีไทยเบฟ” โดยไทยเบฟนั้นนำเสนอพัฒนาการสำคัญของกลุ่มธุรกิจซึ่งต่อเนื่องมาจากฐานดั้งเดิมที่กล่าวไว้ข้างต้น ในเบื้องต้นควรเปิดฉากด้วยมุมมอง ประธานและรองประธานกรรมการ (เจริญ-วรรณา สิริวัฒนภักดี) เพื่อให้ภาพกว้างเบื้องต้นอย่างย่นย่อ

“ในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา เราได้ขยายธุรกิจเข้าไปในกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายและตลาดใหม่ๆ ในต่างประเทศ รวมถึงการสร้างตราสินค้าที่มีความหลากหลายสำหรับผลิตภัณฑ์ทุกประเภท หลังจากไทยเบฟเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ เมื่อ พ.ศ.2549”

ตอนสำคัญที่กล่าวไว้โดยระบุด้วยว่า ในปีเดียวกันนั้นได้เข้าเข้าสู่ธุรกิจสก๊อตช์วิสกี้ โดยการซื้อกิจการโรงงานกลั่นสุราในต่างประเทศ–Inver House Distillers แห่งสกอตแลนด์

 

เหตุการณ์สำคัญเครือข่ายธุรกิจใหญ่ไทยย่อมมีความเชื่อมโยงกับบางบริบททางสังคมที่ควรอ้างอิง

–ผ่านเป็นช่วงเวลาสั่นสะเทือนจากวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจปี 2540 โดยกลุ่มทีซีซีจำต้องทิ้งสถาบันการเงินและธนาคารมหานคร เป็นช่วงเวลาควรเทียบเคียงด้วย ว่าด้วยบทบาทเครือข่ายธุรกิจการเงินแห่งสิงคโปร์เข้ามามีบทบาทในสังคมธุรกิจไทยอย่างชัดเจน

–ต่อเนื่องมาจากปี 2541 เชื่อกันว่ากลุ่มทีซีซี ได้กลับมาสู่ฐานเดิม โดยเฉพาะธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พร้อมๆ กับเปิดฉากสู่โอกาสใหม่ๆ จากการเข้าซื้อกิจการต่างๆ รวมทั้งการร่วมลงทุนกับธุรกิจสิงคโปร์

ช่วงเวลาไทยเบฟเข้าตลาดหุ้นสิงคโปร์ และถือเป็นครั้งแรกๆ ซื้อกิจการในต่างประเทศด้วยนั้น ช่างบังเอิญเป็นจังหวะเดียวกับเรื่องราวอันครึกโครมในสังคมไทย “เทมาเส็ก-ไทยพาณิชย์และกลุ่มนักลงทุนไทยร่วมซื้อหุ้นชินคอร์ปจากชินวัตรและดามาพงศ์” นี่คือหัวข้อข่าวแถลงที่แจกจ่ายให้กับสื่อมวลชนไทย (23 มกราคม 2549) เกี่ยวกับดีลใหญ่ มูลค่ากว่า 70,000 ล้านบาท ต่อมาสร้างแรงกระเพื่อมสั่นสะเทือนอย่างกว้างขวาง จากสังคมธุรกิจ สู่การเมือง

ในภาพกว้างขึ้น จากนั้นถือเป็นช่วงกว่าทศวรรษ ท่ามกลางสถานการณ์หัวเลี้ยวหัวต่อทางการเมืองไทย จากทักษิณ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี 9 กุมภาพันธ์ 2544 – 19 กันยายน 2549) พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ (นายกรัฐมนตรี 1 ตุลาคม 2549 – 29 มกราคม 2551) สมัคร สุนทรเวช (นายกรัฐมนตรี 29 มกราคม 2551 – 9 กันยายน 2551)

และสมชาย วงศ์สวัสดิ์ (นายกรัฐมนตรี 18 กันยายน 2551 – 2 ธันวาคม 2551)

 

ในสารประธานและรองประธานกรรมการไทยเบฟข้างต้น มีอีกตอนที่สำคัญๆ สะท้อนพัฒนาการในช่วงเวลาที่น่าตื่นเต้น อ้างอิงเป็นไทม์ไลน์ในการเข้าซื้อกิจการต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ (ชื่อกิจการในต่างประเทศ ขอใช้ภาษาอังกฤษแทน)

ปี 2551 “เราเจาะตลาดชาเขียวพร้อมดื่มและอาหารญี่ปุ่น โดยการซื้อกิจการกลุ่มโออิชิ”

ปี 2552 “ได้ขยายธุรกิจสู่ประเทศจีน โดยการซื้อกิจการ Yunnan Yulinquan Liquor Co., Ltd.”

ปี 2554 “เราได้ขยายสู่ธุรกิจเครื่องดื่มอัดลม โดยการซื้อกิจการเสริมสุข”

ปี 2555 “ได้ซื้อกิจการ Fraser and Neave, Limited ซึ่งเป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเครื่องดื่มชั้นนำของสิงคโปร์ ทำให้ธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ของเราขยายขนาดขึ้นเป็นผู้นำในระดับภูมิภาค”

และปี 2560 ถือเป็นช่วงที่มีแผนการเชิงรุกอย่างมากๆ อาจเป็นไปได้ เป็นความพยายามครั้งสำคัญ เพื่อเข้าสู่ช่วงเวลาการเฉลิมฉลองครบรอบ 15 ปี

“ได้ซื้อกิจการวิสกี้รายใหญ่ที่สุดของเมียนมา–Grand Royal Group และธุรกิจเบียร์อันดับ 1 ของประเทศเวียดนาม คือ Saigon Beer-Alcohol-Beverage Corporation (Sabeco) ซึ่งเป็นบริษัทที่เก่าแก่ที่สุดบริษัทหนึ่งในภูมิภาค รวมทั้งได้เข้าซื้อร้าน KFC ในประเทศไทยอีกกว่า 250 สาขา”

 

ว่าไปแล้วช่วงเวลานั้นสังคมไทยดำเนินไปท่ามกลางความซับซ้อนทางการเมือง จากยุคอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี 17 ธันวาคม 2551 – 5 สิงหาคม 2554) ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี 5 สิงหาคม 2554 – 7 พฤษภาคม 2557) ก่อนจะเข้าสู่ยุค พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี 24 สิงหาคม 2557 – ปัจจุบัน)

สิ่งที่น่าสนใจอย่างมาก ว่าด้วยพัฒนาการ 15 ปีไทยเบฟคือผลประกอบการปีล่าสุด ปีที่ครบรอบ 15 ปีพอดี — Thai Beverage PLC FY18 Financial Results (Full Year ended 30 September 2018) ซึ่งเพิ่งนำเสนอเมื่อไม่กี่วันมานี้ ทั้งนี้ ได้นำเสนอข้อมูลข้างต้นมาเปรียบเทียบกับในช่วงที่ผ่านๆ มา นับว่าได้ข้อมูลมากพอ สะท้อนภาพพัฒนาการทางธุรกิจ โดยรวบรวม เรียบเรียง จากข้อมูลทางการเงินที่นำเสนอต่อตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ (โปรดพิจารณาข้อมูลจำเพาะทางการเงิน-บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน))

ข้อมูลดังกล่าวเป็นดัชนีสะท้อนการเติบโตทางธุรกิจไทยเบฟ (พิจารณาอย่างคร่าวๆ จากยอดขาย) ในช่วงเวลาสำคัญๆ ปรากฏว่ามีอยู่ 2 ช่วง คือช่วงปี 2555 กับช่วงปี 2561 ที่เพิ่งผ่านพ้น

เป็นที่แน่ชัดว่าในช่วงปี 2555 มีความสัมพันธ์กับการซื้อกิจการในสิงคโปร์ (Fraser and Neave, Limited) อย่างมิพักสงสัย

ส่วนปีที่ผ่านพ้นนั้น ให้ภาพเชิงยุทธ์ทั้งสอดคล้องกัน และปรับเปลี่ยนไปจากเดิม

มิติแรก–ปี 2561 ยอดขายรวมของไทยเบฟเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด กว่า 20% มาจากธุรกิจเบียร์ ระบุไว้ชัดเจนในรายงานนำเสนอนั้นว่าได้รวมผลประกอบการจาก Saigon Beer-Alcohol-Beverage Corporation (Sabeco)

อีกมิติหนึ่ง-ไทยเบฟปรับยุทธศาสตร์อย่างได้ผล กลับมาสู่ฐานธุรกิจเดิม ธุรกิจหลักเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะธุรกิจเบียร์ มียอดขายเพิ่มขึ้นเกือบๆ 65% หรือยอดขายเพิ่มขึ้นเกือบๆ 30,000 ล้านบาท เมื่อมองภาพใหญ่ ธุรกิจเบียร์มีความสำคัญมากขึ้นทัดเทียมกับธุรกิจสุรา มีสัดส่วนมากกว่า 40%

ที่สำคัญกว่านั้นในภาพใหญ่ ธุรกิจใหญ่ไทยอย่างกรณีไทยเบฟกับความเจริญเติบโตทางธุรกิจ จากดัชนีข้างต้น เชื่อได้ว่ามาจากปัจจัยภายนอกสังคมไทย

คำถามจึงมีว่า ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น