เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ : เขมานันทะอมตะนิรันดร์

เคยมีข้อถกเถียงกันอยู่เรื่องการบวชเป็นพระภิกษุณีของสตรีในสมัยนี้ว่าจะทำได้หรือไม่ อย่างไร

ถามปัญหานี้เพื่อขอความเห็นจาก “พี่โกวิท” หรือโกวิท เอนกชัย พี่โกวิทตอบด้วยการถามกลับว่า

“การบรรลุธรรมจำเป็นต้องเป็นนักบวชหรือไม่”

นี่คือพี่โกวิท

คำถามกลับคือ “การบรรลุธรรม” เป็นคำตอบที่ครอบคลุมหมดทั้งหลักการ เป้าหมาย และวิธีการ ของข้อถกเถียงที่เป็นปัญหานั้นทันที

นี้คือพี่โกวิท

พบกันครั้งแรกสมัยเป็นพระอยู่สวนโมกขพลารามที่ไชยา พ.ศ.2511 พี่โกวิทบวชเป็นพระอยู่สวนโมกข์มานาน เราเพิ่งเป็นพระพรรษาเดียว มีโอกาสได้สนทนาธรรมกันบ่อยครั้ง เราเรียกท่านว่า “ท่านโกวิท”

วันแรกที่พบ ท่านนอนหงายอยู่บนนั่งร้านกำลังเขียนรูปบนเพดานอาคารโรงมหรสพทางวิญญาณ นุ่งสบงกับอังสะปีนบันไดลงมาพาดูภาพปริศนาธรรมที่เรียงรายอยู่บนผนัง ส่วนใหญ่เป็นภาพจากนิทานเซนของญี่ปุนกับภาพจากนานาชาติ รวมทั้งจากสมุดข่อยของไทย

ท่านว่า ภาพเหล่านี้ “ท่านอาจารย์” บอกว่าไม่ควรอยู่เพียงในสมุด ควรนำมาขยายเผยแผ่เพื่อการเรียนรู้ จึงได้สร้างอาคารหลังนี้เพื่อเผยแผ่หลักธรรมในพุทธศาสนาด้วยภาพและงานศิลปะ

ดังเรียกอาคารนี้ว่า “โรงมหรสพทางวิญญาณ” คือโรงมหรสพทางธรรมนั่นเอง

“ท่านอาจารย์” เป็นคำที่พี่โกวิทใช้เรียกท่านอาจารย์พุทธทาสภิกขุ บางครั้งก็เรียกว่า “ท่านอาจารย์ส่วนโมกข์” หรือ “ท่านอาจารย์ที่สวนโมกข์”

เราเองเรียกพี่โกวิทสมัยนั้นว่า “ท่านโกวิท” ต่อมาท่านไม่อยากให้เรียก “ท่าน” เราจึงเปลี่ยนมาเรียกเป็น “พี่โกวิท”

พี่โกวิทนั้นจบคณะมัณฑนศิลป์ ม.ศิลปากร ใฝ่ธรรมมาตลอด จบแล้วจึงบวชมาอยู่สวนโมกข์จึงกลายเป็นพระผู้สร้างงานศิลปกรรมแทบทั้งหมดในสวนโมกข์ ทั้งรูปเขียนและงานปั้น ดังมีโรงปั้นอยู่ในสวนโมกข์ด้วย โดยพี่โกวิทเป็นผู้สอนพระ-เณรในสวนโมกข์ให้เป็นช่างปั้นและช่างเขียนอยู่หลายรูป

รวมทั้งเราเองพลอยมีโอกาสได้เขียนอยู่สองรูปในโรงมหรสพทางวิญญาณด้วย คือภาพนิทานยายกะตาปลูกถั่วปลูกงาให้หลานเฝ้า สองรูปที่มีโอกาสร่วมเขียนคือรูปหลานขอให้แมลงหวี่ตอมตาช้าง กับรูปแมลงหวี่ตอมตาช้างอันเป็นนิทานปริศนาธรรมเรื่องปฏิจจสมุปบาทที่แสดงกระบวนการเกิดขึ้นของความทุกข์และความดับทุกข์ โดยมีอวิชชาคือความไม่รู้เป็นเหตุปัจจัยเนื่องกันโดยตลอด

รูปสำคัญที่พี่โกวิทคิดขึ้นและเขียนขึ้นเองคือภาพ “แจกดวงตา” ตรงผนังด้านนอกของอาคารนั้น

นอกจากความสามารถด้านงานศิลปะ พี่โกวิทยังเป็นนักเขียนและนักบรรยายธรรมชั้นยอด ผลงานวรรณศิลป์ชั้นเลิศของท่านทำให้ได้รับยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์

ตัวอย่างจากหนังสือ “ข้อพินิจฯ ก่อนภาวนา” ของพี่โกวิทที่ใช้นาม “เขมานันทะ” อธิบายคำภาษาอังกฤษ ALONE ว่า มาจากศัพท์ ALL+ONE ตอนหนึ่งว่า

“สำหรับผมแล้วคิดว่าปัจเจกนั้น เราเกิดคนเดียว อยู่คนเดียว และต้องตายคนเดียวแน่ๆ แต่คำว่าคนเดียว หนึ่งเดียวนี้มันไม่ได้หมายถึง ความเหงา จับเจ่า เศร้าโศก แต่มันหมายถึงว่าความเป็นทั้งหมด คือ ALL ONE”

“ความเหงาเป็นสิ่งประหลาด ความเหงาไม่ใช่เป็นของคนที่อยู่ถ้ำ อยู่ป่า หรืออยู่ทะเลทราย นั่นเป็นความโดดเดี่ยว ซึ่งผมคิดว่าเป็นความสะดวกสบายเสียมากว่า แต่ความเหงานั้นเป็นคุณสมบัติของคนเมือง ซึ่งเป็นระบบสัมพันธ์อันหลากหลาย แต่สัมผัสกันไม่ได้จริง เมื่อผมพูดกับลูกผมไม่รู้เรื่อง พูดกับภรรยาก็ไม่เข้าใจ พูดกับเพื่อนไม่รู้เรื่อง ผมก็จะเหงามากเลย ผมจะรู้สึกว้าเหว่และขัดแย้ง และมันจะโน้มเอียงไปในทงรุนแรงด้วย แต่ถ้าผมไม่เหงา แม้ผมจะอยู่คนเดียว ผมก็รู้สึกว่าสบายดี”

นี่คือความหมายลึกซึ้งของคำ ALONE กับ LONELY หรือ “โดดเดี่ยว” กับ “เปลี่ยวเหงา”

ก่อนจากสวนโมกข์ พี่โกวิทบอกให้หาโอกาสขึ้นไปค้างคืนบนยอดเขานางเอที่อยู่หลังสวนโมกข์ เป็นเนินเขาย่อมๆ มีกุฏิเหล็กให้เข้าไปนอนได้ปลอดภัย ด้วยบนเขานั้นว่าบางทีจะมีสัตว์ป่าเช่นหมีอาศัยอยู่ในละแวกนั้นด้วย

เราตกลงขึ้นไปคนเดียว เดินขึ้นไปแต่ก่อนมืด ขึ้นไปก็โพล้เพล้ พอดีจัดที่จัดทางในกุฏิเหล็ก แล้วออกมานั่งเผชิญความโดดเดี่ยวและเปลี่ยวเหงาใต้ร่มไม้หน้ากุฏินั้น เห็นแสงไฟระยิบระยับของตัวเมืองจากด้านล่าง กระทั่งดึกสงัดเผชิญกับความกลัว ว้าเหว่ เหงา จับใจ กระทั่งเข้าใจถึงความเป็น “หนึ่งเดียว” คือโดดเดี่ยวนี้เองว่าเป็นอย่างไร

เปิดบันทึกที่เขียนไว้ในหนังสือ “แผ่วผ่านธารน้ำไหล” ถึงความคิดตอนนั้นว่าดังนี้

“ดูไม่มีอะไรแตกต่างอีกแล้ว เราได้กลายเป็นสิ่งนั้นหรือสิ่งนี้ที่เป็นอันเดียว สนิทและมักคุ้น เหมือนกับการได้อยู่ยังที่คุ้นเคยเป็นแรมปี

“นี่กระมังคือสิ่งที่ท่านเขมานันทะเคยว่าไว้เกี่ยวกับคำว่าอะโลนในภาษาอังกฤษ ว่ามันคือออลวันนั่นเอง รวมสองคำเข้าเป็นคำเดียวคือ ออล+วัน = อะโลน

“ความโดดเดี่ยวที่กลายเป็นหนึ่งเดียวโดยแท้”

พี่โกวิทละสังขารเมื่อวันอาทิตย์ 13 มกราคม 2562 ระหว่างเวลาราวตีสี่ถึงตีห้าที่โรงพยาบาลเชียงราย ญาติท่านเล่าว่า คืนนั้นก่อนเข้านอน หมอได้ตรวจอาการทุกอย่างของท่านว่าเป็นปกติ กระทั่งอาการติดเชื้อในปอดที่เป็นเหตุให้เข้าโรงพยาบาลก็ไม่มีแล้ว หัวใจและอื่นๆ ทั้งหมดเป็นปกติ

ตรวจอีกครั้งระหว่างราวตีสี่ตีห้านั่นแหละจึงได้รู้ว่า ท่านได้ “ละสังขาร” ไปแล้ว คือหมดลมหายใจ

หลังจากอยู่กับสังขารอันไม่เป็นปกติมาเป็นเวลานานหลายปี ท่านก็ละสังขารเข้าสู่ความเป็นปกตินิรันดร์ คือ ALONE หรือออล+วัน เป็นหนึ่งเดียวกับสรรพสิ่งตลอดไป

ดังคำแปลที่ท่านเขมานันทะ “แปลอิสระเป็นไท” จาก “โศลกคำสอนมหามุทราของติโลปะ” ซึ่งเป็นผู้บรรลุธรรมชาวอินเดียสองบทที่ว่า

3. เพ่งมองอย่างใจจดจ่อสู่ท้องฟ้าว่าง มโนทรรศน์ ดับสิ้น

เฉกเช่น เมื่อจิตเล็งแลสู่จิตเอย

ขบวนความคิดคาดคะเน เพ้อพก จบลง

การตรัสรู้อันเลิศ พลันได้มา

4. ดุจดังหมอกยามรุ่งสางสลายสู่อากาศอันเบาบาง

ไม่ไปไหน ทว่าสิ้นสภาพลงเอง

(เฉกเช่น) คลื่นแห่งความคิดทั้งหมดอันจิตเนรมิตขึ้นมาสลายหมด เมื่อเธอเห็นประจักษ์ธรรมชาติแท้แห่งจิตตน

จะรู้จักโกวิท เอนกชัย หรือเขมานันทะ ต้องอ่านงานเขียนที่เป็นข้อคิดแหลมคมมากมายของท่าน ซึ่งนอกจากจะลึกซึ้งตรึงใจแล้วสำคัญสุดคือ ได้รู้จักจิตของเราเองโดยแท้ ซึ่งเหมือนจะไม่เคยรู้จักมาก่อนหน้านี้เลย ทั้งที่อยู่ด้วยกันมาตลอด

ท่านโกวิทได้ก้าวสู่ความเป็นอมตะ คือความไม่ตายเสร็จสิ้นแล้ว

นับแต่นี้สืบไปนิรันดร์

คารวาลัย

๐ โกวิท ภูมิปราชญ์ผู้ พุทธธรรม

เอนกชัย ชัยชำ- นะถ้วน

เขมา ภิวัตน์สัม- ฤทธิศาสตร์ ศิลป์นอ

นันทะ จิตนิมิตล้วน เลิศล้ำธรรมเขษม ฯ

๐ โกวิท เอนกชัย อเนกชนพิมลเปรม

ปรีติธรรมหทัยเอม มธุรอรรถวาที

๐ เขมา นันทะบท ผจงจด พิจิตรพจี

คือกวีของกวี อันกังวานไกวัลยธรรม

๐ สะอาดสว่างสงบ ผ่านพ้นภพพิบากกรรม

วิชชาวจารณะนำ สู่สุคติ ณ พุทธภูมิ ฯ