วิเคราะห์การเมือง : คำถามจาก “สุดารัตน์” พุ่งตรงไปยัง “บิ๊กตู่” จะเลือกตั้ง-แต่ทำไม ทหารไม่กลับกรมกอง?

ถึงมีการประกาศพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ) ให้มีการเลือกตั้ง ส.ส. และ กกต.ประกาศให้วันที่ 24 มีนาคม 2562 เป็นวันเลือกตั้งแล้วก็ตาม

แต่ก็ยังมีบางอย่างสะท้อนถึงการไม่ส่งเสริม หรือกระทั่งขัดขวางบรรยากาศเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยปรากฏให้เห็น โดยเฉพาะกับพรรคเพื่อไทย

หากใครติดตามข่าวคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์การเลือกตั้งพรรคเพื่อไทย

นำทัพตระเวนปราศรัยหาเสียงเปิดตัวว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.ในภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลางและกรุงเทพฯ ก็จะรู้ว่าเหตุการณ์ที่ อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี

ไม่ใช่ครั้งแรก

เพราะแค่เดือนแรกปี 2562 ก็เกิดเหตุการณ์ลักษณะเดียวกันหรือคล้ายกัน หลายต่อหลายครั้งกับคุณหญิงสุดารัตน์และเพื่อไทย

ไม่ว่าด้วยการส่งทหาร-ตำรวจลงเกาะติดการปราศรัยหาเสียง สั่งยกเลิกอนุญาตให้ใช้สถานที่ราชการตั้งเวทีปราศรัย การจับกุมว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. และเครือญาติ เป็นต้น

กระบวนการเหล่านี้สะท้อนอะไร

“กระบวนการเช่นนี้ไม่ส่งเสริมบรรยากาศประชาธิปไตย ไม่ส่งเสริมบรรยากาศการเลือกตั้ง” นายภูมิธรรม เวชยชัย เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ระบุ

“เมื่อมีพระราชกฤษฎีกาจัดการเลือกตั้งแล้ว เหตุใดทหารยังไม่กลับเข้ากรมกอง” คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ตั้งคำถามผ่านไปถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

หลังการเดินปรี่เข้าไปพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ทหารนอกเครื่องแบบที่มาสังเกตการณ์การหาเสียงพื้นที่ อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี เมื่อวันที่ 27 มกราคม

ต่อมามีการเผยแพร่คลิปดังกล่าวในสื่อออนไลน์

สรุปได้ว่า เจ้าหน้าที่ทหารดังกล่าวสังกัด กอ.รมน. ได้รับคำสั่งจาก “นาย” ให้มาเกาะติด ติดตามการหาเสียงของพรรคการเมืองแล้วจัดทำรายงานเสนอ

คุณหญิงสุดารัตน์ไม่ได้แสดงอาการกราดเกรี้ยวกับเจ้าหน้าที่ทหาร ตรงกันข้าม กลับแสดงท่าทีเข้าอกเข้าใจ แต่ก็ไม่ได้สยบยอม

“เจ้านายคิดอย่างไร ทำไมไม่ให้เป็นอิสระต่อกัน ต้องหาเสียงแล้ว ต้องถอยแล้ว ไม่ใช่มาทำอะไรแบบนี้ เข้าใจว่าเป็นผู้น้อย แต่ระบบมันไม่ถูก”

แต่ประเด็นแหลมคมที่ถูกหยิบยกขึ้นมาก็คือ

การที่ พล.อ.ประยุทธ์กำลังมีสถานะเป็นแคนดิเดตนายกฯ ในบัญชีพรรคการเมืองหนึ่งในการเลือกตั้ง

การมีเจ้าหน้าที่หน่วยงานรัฐภายใต้การบังคับบัญชาอย่าง กอ.รมน. มาคอยติดตามคู่แข่งทางการเมือง เป็นการเอาเปรียบและข่มขวัญกันหรือไม่

“ควรสั่งให้ กอ.รมน. จัดกำลังพลไปดูแลความปลอดภัยให้ประชาชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จะเป็นประโยชน์กับประชาชน คุ้มค่ากับภาษีอากร ไม่ใช่ส่งมาติดตามคู่แข่งทางการเมือง” แม่ทัพเพื่อไทยกล่าวตบท้าย

ย้อนกลับไป 7 มกราคม

กำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจจากส่วนกลาง ภายใต้การคุมทีมของ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ผบช.สตม. ในฐานะรอง ผอ.ศูนย์ปราบปรามเทคโนโลยีและสารสนเทศ

นำหมายศาลเข้าจับกุมนายพรชัย ศรีสุริยันโยธิน ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.เขต 6 บุรีรัมย์ พรรคเพื่อไทย ขณะพาคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ลงพื้นที่พบปะประชาชนและเปิดเวทีปราศรัย อ.ลำปลายมาศ

นายพรชัยถูกควบคุมตัวไปที่ สภ.นางรอง รับทราบข้อกล่าวหาคดีปล่อยเงินกู้ มีการยื้อประกันตัว อ้างต้องรอคำสั่งผู้บังคับบัญชา แม้จะได้ประกันปล่อยตัวภายหลัง แต่ก็ไม่ทันขึ้นเวทีปราศรัย

“เป็นการกลั่นแกล้งทางการเมืองหรือไม่ รู้อยู่แล้วว่าวันนี้มีการเปิดเวทีพบปะประชาชน หากจะจับกุมตามหมายจับ ก็น่าจะรอให้เสร็จกิจกรรมปราศรัย หรือรอวันถัดไปก็ได้ ทำไมเจาะจงเป็นวันนี้” นายประกิจ พลเดช ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.เขต 4 บุรีรัมย์ พรรคเพื่อไทย ตั้งข้อสังเกต

ล่าสุดยังเกิดเหตุการณ์ทำนองเดียวกัน

วันที่ 28 มกราคม พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล นำทีมแถลงผลปฏิบัติการในพื้นที่ตำรวจภูธรภาค 3 และ 4 จับกุม ยึดทรัพย์กลุ่มนายทุนเงินกู้นอกระบบ 13 ราย

ในจำนวนนั้นมีพ่อและพี่สาวของนายยุทธจักร เรืองวรบูรณ์ ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.นครพนม พรรคเพื่อไทย รวมอยู่ด้วย พร้อมอายัดทรัพย์สินรวมกว่า 260 ล้านบาท

พล.ต.ท.สุรเชษฐ์กล่าวยืนยันดำเนินการตามนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเท่าเทียมในสังคม

ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง หรือการเลือกตั้ง

วันที่ 9 มกราคม ที่ จ.เชียงราย คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ เดินเข้าไปสอบถามเจ้าหน้าที่ตำรวจที่มาเฝ้าติดตามการลงพื้นที่ปราศรัยของพรรคที่ลานชุมชนสันโค้งน้อย

คุณหญิงสุดารัตน์กล่าวถึงเหตุการณ์ดังกล่าวว่า “ผู้มีอำนาจห่วงเรามากเกินไป”

ภาพจากเพจ คุณหญิงสุดารัตน์

รุ่งขึ้น 10 มกราคม คณะของคุณหญิงสุดารัตน์เดินทางไปเปิดเวทีปราศรัยภายในสนามกีฬา อบจ.พะเยา แต่ก็ต้องผิดหวัง ได้แต่ขึ้นท้ายรถกระบะปราศรัยอยู่ด้านนอก โดยมีเจ้าหน้าที่หลายนายมาเฝ้าสังเกตการณ์

“การติดตามลักษณะนี้ อย่าคิดว่าคนชื่อสุดารัตน์จะกลัว”

คุณหญิงสุดารัตน์กล่าวกับประชาชนที่มารอฟังการปราศรัยว่า ได้รับข่าวจากข้าราชการผู้ใหญ่ของจังหวัดว่ามีคำสั่งจากผู้มีอำนาจในกรุงเทพฯ สั่งการตรงมาที่จังหวัด

ให้นายก อบจ.พะเยา ทำหนังสือยกเลิกไม่ให้พรรคเพื่อไทยและว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.ใช้สนามกีฬา อบจ.พะเยาเป็นสถานที่ปราศรัย ทั้งที่พรรคทำหนังสือขออนุญาตถูกต้อง และได้รับอนุญาตแล้ว

“ต้องดูว่าเขาใช้อำนาจเอารัดเอาเปรียบเราขนาดไหน ข่มเหงน้ำใจเราขนาดไหน ให้ประชาชนตรวจสอบดูเองจากเหตุการณ์ในครั้งนี้” คุณหญิงสุดารัตน์กล่าวก่อนเดินทางกลับ

ต่อเหตุการณ์ที่ อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี กรณีทหาร กอ.รมน.ตามประกบคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ และพรรคเพื่อไทย

หากฟังจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่กล่าวเพียงว่า “เขาก็ตามทุกพรรค พรรคไหนทำอะไร เขารายงานมาทั้งหมด” ก็ดูเหมือน คสช.ปฏิบัติกับทุกพรรคอย่างเสมอภาคเท่าเทียม ไม่ได้เลือกปฏิบัติแต่กับเฉพาะพรรคเพื่อไทย

หากสรุปจากคำชี้แจงของ พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษก คสช. ก็คือ

เป็นแนวทางทำงานตามปกติของเจ้าหน้าที่ในทุกพื้นที่ ซึ่งมีทั้งการรักษาความปลอดภัย อำนวยความสะดวก ดูแลภาพรวมให้เกิดความสงบเรียบร้อย เฝ้าระวังกลุ่มผู้ไม่หวังดีฉวยโอกาสสร้างสถานการณ์

ไม่ใช่การทำงานในลักษณะเฉพาะเจาะจงตัวบุคคลหรือพรรคการเมือง แต่เป็นไปตามขอบเขตการดูแลรักษาความปลอดภัยในแต่ละพื้นที่ ซึ่งมีการแบ่งมอบกันในแต่ละพื้นที่

เหมือนช่วงที่ผ่านมา

“ขอให้เข้าใจการทำงานของเจ้าหน้าที่ ที่จำเป็นต้องดูแลการเคลื่อนไหวต่างๆ ในพื้นที่รับผิดชอบให้เรียบร้อย เหมาะสมตามขอบเขตกฎหมาย โดยเฉพาะการแสวงข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับความมั่นคง เพื่อดูแลภาพรวมให้เอื้ออำนวยต่อการเลือกตั้งวันที่ 24 มีนาคมนี้” โฆษก คสช.กล่าว และว่า

เจ้าหน้าที่ทุกคนยึดถือแนวทางการปฏิบัติอย่างสุภาพ และจะไม่ส่งผลกระทบใดๆ ต่อการจัดกิจกรรมทางการเมืองในทุกพื้นที่และทุกพรรค

ขออย่าได้กังวล

อย่างไรก็ตาม มีการตั้งข้อสังเกตโต้แย้งคำชี้แจงของโฆษก คสช. ว่า การส่งเจ้าหน้าที่ กอ.รมน.ไปดูแลรักษาความปลอดภัย อำนวยความสะดวก ให้เกิดความสงบเรียบร้อย

ส่งไปคนเดียวพอหรือ?

และการที่ใครก็ตามไม่ว่านักการเมืองหรือไม่ ถูกเจ้าหน้าที่ทหารนอกเครื่องแบบคุกคามด้วยการติดตามถ่ายรูป ถ่ายวิดีโอแทบทุกฝีก้าว

จะไม่ให้กังวลได้อย่างไร?

และที่อ้างว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามขอบเขตความรับผิดชอบเหมือนที่ผ่านมา หากเป็นช่วงก่อนหน้านี้ไม่ว่าเกิดขึ้นที่ จ.เชียงราย หรือ จ.พะเยา ก็พอทำใจได้

แต่เหตุการณ์ที่ อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี กลับแตกต่างออกไป เนื่องจากgกิดขึ้นภายหลัง พ.ร.ฎ.เลือกตั้ง ส.ส.ประกาศในราชกิจจานุเบกษา มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 23 มกราคมเป็นต้นมา

อีกทั้ง กกต.ยังกำหนดให้วันที่ 24 มีนาคม เป็นวันเลือกตั้งแล้วเช่นกัน

เมื่อเป็นเช่นนี้ คำถามของคุณหญิงสุดารัตน์ที่ว่า เมื่อมี พ.ร.ฎ.ให้มีการเลือกตั้ง เหตุใดทหารไม่กลับเข้ากรมกอง เพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปอย่างเสรีและเป็นธรรม

เป็นคำถามกระตุ้นให้คนในสังคมฉุกคิด

อยากรู้คำตอบจาก คสช.เช่นเดียวกัน