วิกฤติศตวรรษที่21 | ยุทธศาสตร์การทหารจีนกับสถานการณ์โลก

วิกฤติประชาธิปไตย (46)

จีนเป็นประเทศใหญ่ และผู้นำจีนก็คิดเช่นนั้น พวกเขาไม่ได้คิดเล็ก แต่คิดใหญ่ถึงบทบาทของจีนในช่วงประวัติศาสตร์หรือสถานการณ์โลก หลังการปลดปล่อย (1949) ไม่นานจีนก็เข้าสู้รบกับสหรัฐในสงครามเกาหลีอยู่หลายปี ได้ประจักษ์ถึงอำนาจของสหรัฐในฐานะที่เป็นโลกที่หนึ่ง

เมื่อจีนเกิดวิวาททางอุดมการณ์และปะทะกันที่ชายแดนกับสหภาพโซเวียตในทศวรรษ 1960 ก็ได้มองเห็นมหาอำนาจอีกขั้วหนึ่ง มีอาวุธนิวเคลียร์มากคล้ายสหรัฐ

ช่วงต้นทศวรรษ 1970 เหมาเจ๋อตงผู้นำจีนก็ได้เสนอทฤษฎีสามโลกต่อสาธารณะ

ระบุว่าจีนสังกัดอยู่ในโลกที่สาม ถูกกระทำจากโลกที่หนึ่งและที่สองทำนองเดียวกับประเทศกำลังพัฒนาอื่นและจีนมีบทบาทสำคัญในการเป็นป้อมปราการการปฏิวัติประชาชาติ-ประชาธิปไตยของประเทศเหล่านี้

เติ้งเสี่ยวผิงรับทฤษฎีสามโลกมาปฏิบัติต่อในสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป คือสหรัฐเล่นไพ่จีน ไม่ได้เป็นภัยคุกคามเหมือนเดิม

เติ้งเองเดินทางไปเยือนสหรัฐขึ้นปกนิตยสารไทม์ที่ทรงอิทธิพล สหภาพโซเวียตกำลังติดหล่มสงครามในอัฟกานิสถาน ไม่ได้เป็นภัยคุกคามอีกเช่นเดียวกัน

จีนเปลี่ยนบทบาทจากการเป็นป้อมปราการปฏิวัติเป็นการปฎิรูป “สี่ทันสมัย” (1979) และยึดยุทธศาสตร์ทางทหารแบบ “การรับหรือป้องกันเชิงกระทำ” ต่อจากสมัยเหมาโดยมีคำชี้แนะให้ “หมอบต่ำ”

อาศัยโอกาสเหมาะนี้พัฒนาเศรษฐกิจและการทหารของตนอย่างไม่มีใครมาวอแวขัดขวาง

หลังการพัฒนาเศรษฐกิจและการทหารไปพักใหญ่ ผ่านเหตุการณ์เทียนอันเหมิน (1989) สร้างเอกภาพภายในพรรค ความมั่นใจในหนทางการปฏิรูปและเปิดกว้าง จีนที่เข้มแข็งขึ้น ได้ปรับยุทธศาสตร์ทางทหารครั้งใหญ่ในปี 1993 (สมัยเจียงเจ๋อหมิน) ได้แก่ การเอาชนะสงครามระดับท้องถิ่นโดยการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการพร้อมรบ

ในปี 2004 (สมัยหูจิ่นเทา) มีการปรับยุทธศาสตร์ทางทหารอีกครั้ง จากการที่โลกเข้าสู่ยุคข่าวสารเต็มตัว การเตรียมรบและเอาชนะในสงครามท้องถิ่นจากการใช้เทคโนโลยีข่าวสาร

การเปลี่ยนแปลงยุทธศาสตร์การทหารสำคัญมากเกิดขึ้นในสมัยสีจิ้นผิง (ปี 2014 เผยแพร่ปี 2015) เป็นยุทธศาสตร์ที่กำหนดขึ้นจากการวิเคราะห์สถานการณ์และแนวโน้มทั้งในระยะใกล้และไกลไปจนถึงปี 2050

มีเป้าประสงค์เพื่อทำให้ความฝันของชาวจีน “สองรอบร้อยปี” เป็นจริง

คือรอบร้อยปีการตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีน (ก่อตั้งปี 1921)

และรอบร้อยปีของการก่อตั้งประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน (ก่อตั้งปี 1949)

ซึ่งในปีนั้นจีนจะเป็นมหาอำนาจของโลก มีความทันสมัย เข้มแข็งและความไพบูลย์

ข้อสังเกตบางประการเกี่ยวกับยุทธศาสตร์ทางทหารของจีนตั้งแต่ปี 1949 ได้แก่

ก) แม้ยุทธศาสตร์จะยังคงเป็น “การรับเชิงกระทำ” แต่มีแนวโน้มเป็นฝ่ายกระทำมากยิ่งขึ้น ตามความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ การทหาร การทูต ก่อความกังวลสูงแก่สหรัฐที่เป็นผู้จัดการระเบียบโลกที่เป็นอยู่ รวมทั้งประเทศเพื่อนบ้านในย่านเอเชียแปซิฟิก มีเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นต้น ที่รู้สึกว่าไม่อาจต้านทานกับอำนาจที่รุ่งเรืองขึ้นของจีนได้ อย่างไรก็ตาม จีนนับว่ามีโชคช่วย นั่นคือการปฏิบัตินโยบายอเมริกาเหนือชาติใดแบบสุดขั้วในสมัยประธานาธิบดีทรัมป์ของสหรัฐ ทำให้ทั้งโลกรวมทั้งพันธมิตรรู้สึกว่าการคบค้ากับสหรัฐก็ไม่ได้ปลอดภัยอะไร

ข) เป็นยุทธศาสตร์ที่เน้น “การต่อสู้และการชนะ” ให้ความสำคัญสูงแก่การเตรียมพร้อมรบในสมรภูมิต่างๆ และการเข้าสู่สงครามเฉพาะที่จำเป็นจริงๆ ต่อผลประโยชน์ใจกลางและความเป็นความตายของชาติ ไม่เข้าสู่สงครามยาวนานที่ไม่จำเป็นรู้ว่าจะจบอย่างไร เช่น สงครามต่อต้านการก่อการร้ายของสหรัฐ

ในที่นี้จะกล่าวถึงยุทธศาสตร์การทหารจีนปี 2015 ในบางประเด็นได้แก่ สถานการณ์ความมั่นคงแห่งชาติของจีนในยุคปัจจุบัน พันธกิจและภารกิจทางยุทธศาสตร์ของกองทัพจีน การเตรียมพร้อมรบทางทหาร

(รายละเอียดดูเอกสารปกขาวของรัฐบาลจีน ชื่อ China”s Military Strategy ใน english.gov.cn 27.05.2015)

ยุทธศาสตร์การทหารกับสถานการณ์ความมั่นคงแห่งชาติจีน

ฝ่ายนำของจีนเห็นว่า ประวัติศาสตร์ช่วงนี้ได้ปรากฏสถานการณ์และแนวโน้มที่ทวีความเข้มข้นขึ้นอยู่ 4 ข้อ ได้แก่

ข้อแรกสำคัญที่สุด คือ การเคลื่อนสู่โลกหลายขั้วอำนาจ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในดุลอำนาจโลก โครงสร้างการปกครองโลก ภูมิทัศน์ของภูมิศาสตร์การเมืองในเขตเอเชีย-แปซิฟิก โดยศูนย์กลางอำนาจโลกจะถ่ายน้ำหนักมาอยู่บริเวณเอเซีย-แปซิฟิกอย่างรวดเร็ว

จีนมีภารกิจในการต้องรักษาความมั่นคงทางการเมืองและเสถียรภาพทางสังคมของภูมิภาคนี้ (นั่นคืออำนาจของจีนจะเข้าแทนที่ของสหรัฐ) และจะก่อให้เกิดการแข่งขันในระหว่างประเทศอย่างเข้มข้น ทั้งทางเศรษฐกิจ วิทยาศาสตร์-เทคโนโลยีและการทหาร

ในการเปลี่ยนแปลงนี้ สหรัฐได้สร้างยุทธศาสตร์ “ปรับสมดุล” ใช้ลัทธิการแทรกแซงและโจมตีก่อน ขัดขวางการขยายอิทธิพลของจีน ด้วยการเพิ่มกำลังทางทหาร กระชับพันธมิตรทางทหารในภูมิภาค โดยเฉพาะที่ญี่ปุ่น บริเวณทะเลจีนใต้ ไต้หวัน และที่เกาหลี เป็นต้น

ใน ข้อที่สอง ได้แก่ กระบวนโลกาภิวัตน์ที่ไม่อาจหวนกลับ ไม่ว่าสหรัฐจะพยายามใช้ลัทธิปกป้องการค้า และลัทธิปลีกตัวเพียงใด เนื่องจากกระบวนโลกาภิวัตน์ครั้งนี้เชื่อมร้อยทั้งโลกเข้าด้วยกัน มีการแลกเปลี่ยนทั้งสินค้าและบริการ ข่าวสารและความรู้ ประเพณีและวัฒนธรรม

การปลีกตัวมีแต่ทำให้ประเทศนั้นๆ อ่อนแอล้าหลัง

จีนเคยมีบทเรียนมาแล้วจากการปิดประเทศในสมัยราชวงศ์ชิง (ปี 1757) ทำให้ตะวันตกขึ้นหน้าและยึดครองจีนเป็นกึ่งเมืองขึ้นในสงครามฝิ่น (1839)

ความพยายามปฏิรูปและเปิดประเทศในเวลาต่อมาก็ไม่ทันกาล จนกระทั่งได้รับการปลดปล่อยในปี 1949 จีนเองได้ริเริ่มโครงการแถบและทางที่ประกันว่า โลกาภิวัตน์ไม่อาจหวนกลับ โดยมีประเทศใหญ่น้อยเข้าร่วม รวมราว 80 แห่ง

โครงการนี้ยังเป็นการขับเคลื่อนการไปสู่โลกหลายขั้วอำนาจอย่างได้ผล

ข้อที่สาม ได้แก่ การขยายตัวของสังคมข่าวสารอย่างเต็มที่ และการทำให้การสงครามเป็นเชิงข่าวสาร ในด้านเศรษฐกิจมีการ “ปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4” และ “ทำในจีน 2025” ในทางการทหาร มีการใช้อาวุธยุทโธปกรณ์ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เช่น อาวุธและยุทโธปกรณ์นำวิถีพิสัยไกลความเร็วเหนือเสียง แม่นยำ ฉลาด ล่องหนและขับเคลื่อน หรือปฏิบัติโดยไม่ต้องมีมนุษย์บังคับ นอกจากนี้ อวกาศและไซเบอร์สเปซได้กลายเป็นสมรภูมิที่นานาชาติแข่งขันกัน เพื่อเป็นผู้นำหน้าอยู่เหนือกว่า เกิดเป็นการป้อนกลับที่เสริมกำลังตนเอง กล่าวคือ การปฏิวัติข่าวสารและการสื่อสาร มีปัญญาประดิษฐ์ เป็นต้น กระตุ้นการพัฒนาทางทหาร และการพัฒนาทางทหารได้กระตุ้นให้มีการปฏิวัติข่าวสารเร็วขึ้น

ข้อสุดท้าย ได้แก่ พลังแห่งสันติภาพ และการสร้างประชาคมโลกที่มีอนาคตร่วมกัน ในท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างอำนาจโลก การตีกลับของกลุ่มอำนาจเดิม การไหลรุดของสถานการณ์ความปั่นป่วนไม่แน่นอน ภาวะศึกสงครามหลายรูปแบบที่กำลังก่อตัว

ได้แก่ สงครามการเงิน การค้า การลงทุน สงครามข่าวสาร การก่อการร้าย และสงครามต่อต้านการก่อการร้าย สงครามกลางเมือง สงครามศาสนา การปะทะที่ชายแดน เป็นต้น

เหล่านี้ทำให้เกิดพลังสันติภาพเพื่อต่อต้าน ความเกลียดชัง การวางตัวเป็นใหญ่ การแข่งขันที่ทุกฝ่ายแพ้ จีนต้องวางบทบาทเป็นพลังแห่งสันติภาพ พลังในการขับเคลื่อนอารยธรรมโลกต่อไป สร้างความร่วมมือระหว่างประเทศ กติกาการแข่งขันที่ทุกฝ่ายเป็นผู้ชนะ และการสร้างประชาคมโลกที่มีอนาคตร่วมกัน ซึ่งจีนสามารถปฏิบัติได้ เนื่องจากจีนมีความเข้มแข็งขึ้นทั้งทางเศรษฐกิจและการทหาร

และแม้เหตุการณ์และแนวโน้มปัจจุบันจะมีด้านที่คุกคามท้าทายต่อการพัฒนาปฏิรูปของจีน แต่ก็มีด้านที่เปิดโอกาสงามให้แก่จีนในการปฏิรูปเศรษฐกิจและกองทัพของจีนต่อเนื่องไป

จากนี้จะเห็นได้ว่าการวิเคราะห์และการนำเสนอของฝ่ายนำจีนนั้นมีครบชุด มีเบื้องต้น ขั้นกลาง และขั้นท้าย ที่จะทำได้ยากขึ้นโดยลำดับ ข้อเสนอนี้ทรงอิทธิพลในการสร้างความเป็นเอกภาพภายในของพรรคและรัฐ และความยินยอมจากประชาชนจีน และสามารถส่งออกขายให้แก่ชาวโลกได้ในระดับต่างๆ เป็นภาระของสหรัฐที่จะต้องสร้างบทวิเคราะห์ที่ขายได้เช่นเดียวกัน

เพราะว่าที่สหรัฐปฏิบัติอยู่ขณะนี้ แม้แต่พันธมิตรอย่างเช่น เยอรมนี ฝรั่งเศส และอังกฤษ ก็ยังส่ายหน้า

พันธกิจและภารกิจทางยุทธศาสตร์ของกองทัพจีน

พันธกิจและภารกิจทางยุทธศาสตร์ของกองทัพจีน กำหนดขึ้นโดยการคำนึงถึงบทบาทสำคัญของกองทัพ ในการบรรลุเป้าประสงค์ “ความฝันของชาวจีน” การเฉลิมฉลอง “สองรอบร้อยปี” สถานการณ์และประเด็นความมั่นคงแห่งชาติใหม่ การมองแบบองค์รวม และการปฏิบัติเพื่อความมั่นคงและสันติภาพทั้งภายในระดับภูมิภาค และระดับโลก

ภารกิจทางยุทธศาสตร์ของกองทัพจีนสรุปได้ดังนี้

– รับมือกับภาวะฉุกเฉินและการคุกคามทางทหารต่างๆ พิทักษ์อธิปไตยและความมั่นคงแห่งดินแดนจีน ทั้งทางบก อากาศและทางทะเล

– พิทักษ์ความเป็นเอกภาพของมาตุภูมิอย่างเด็ดเดี่ยว (เช่นกรณีไต้หวัน ซินเจียง ทิเบต)

– พิทักษ์ความมั่นคงและผลประโยชน์ขอบเขตใหม่ของจีน (เช่น อวกาศ ไซเบอร์สเปซ)

– พิทักษ์ผลประโยชน์โพ้นทะเลของจีน (ซึ่งจะมีเพิ่มมากขึ้นจากการค้าและการลงทุนทั่วโลก)

– รักษาการป้องปรามและการโจมตีตอบโต้ด้วยอาวุธนิวเคลียร์

– เข้าร่วมการร่วมมือในด้านความมั่นคงทั้งระดับภูมิภาคและระดับโลก และรักษาสันติภาพของภูมิภาคและของโลก (การรักษาสันติภาพนี้มหาอำนาจโลกเท่านั้นที่ทำได้ดี เช่น ยุคจักรวรรดิโรมัน สามารถสร้างภาวะที่เรียกว่า “สันติภาพโรมัน” ขึ้น)

– เสริมความเข้มแข็งในปฏิบัติการต่อต้านการแทรกซึม ลัทธิแบ่งแยกดินแดนและลัทธิก่อการร้าย เพื่อรักษาเสถียรภาพทางการเมืองและความมั่นคงทางสังคม

– ปฏิบัติภารกิจอื่นได้แก่ การช่วยเหลือยามฉุกเฉินและบรรเทาสาธารณภัย การคุ้มครองสิทธิและผลประโยชน์ การเฝ้าระวังและสนับสนุนการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

การเตรียมพร้อมรบทางทหาร

การเตรียมพร้อมรบเป็นการปฏิบัติทางทหารพื้นฐาน เป็นสิ่งประกันว่ากองทัพพร้อมที่จะรักษาเสถียรภาพ ความมั่นคง แก้ไขวิกฤติและเอาชนะสงครามได้

จีนได้ให้ความสำคัญแก่เรื่องนี้เป็นพิเศษ ผู้นำจีนเองได้พูดในที่ต่างๆ ให้กองทัพจีนพร้อมรบ ซึ่งก่อความหวาดผวาแก่นักยุทธศาสตร์ตะวันตกมาก เพราะว่าในตะวันตกเองก็มีไม่กี่ชาติ ได้แก่ สหรัฐและอังกฤษ เป็นต้น ที่มีความพร้อมรบ เนื่องจากทำศึกหลายครั้งหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ขณะที่ประเทศใหญ่ อย่างเช่น เยอรมนี มีความพร้อมรบน้อย ส่วนหนึ่งจากการถูกสหรัฐยึดครอง และตกอยู่ในการควบคุมของนาโต้ อีกส่วนหนึ่งเกิดจากเยอรมนีตั้งงบฯ ทางทหารไว้น้อย

ความน่าหวั่นเกรงของการเตรียมพร้อมรบทางทหารของจีนในสายตาตะวันตกอีกอย่างหนึ่ง คือความคิดชี้นำของกองทัพจีนในการทำสงครามในศตวรรษที่ 21 ที่ทางจีนเห็นว่า เนื้อแท้เป็นการสู้รบกันระหว่างระบบปฏิบัติการสองระบบบนพื้นฐานของระบบข่าวสาร ไม่ใช่เพียงการปะทะกันของกองกำลังทหาร

ดังนั้น การเตรียมพร้อมรบจึงต้องเตรียมการสงครามสองด้าน ได้แก่ การเผชิญหน้าระบบเพื่อการต่อสู้ การทำลายระบบเพื่อเอาชนะสงคราม (ดูรายงานวิจัยของ Jeffrey Engstrom ชื่อ System Confrontation and System Destruction Warfare- How the Chinese People”s Liberation Army Seeks to Wage Modern Warfare ใน rand.org 2018)

ตามเอกสารของจีนระบุว่า กองทัพจีนจะต้องเร่งฝีก้าวในการแปรโฉม สร้างแบบการต่อสู้ใหม่ที่มีประสิทธิภาพ โดยใช้ระบบข่าวสารในการบูรณาการขอบข่ายการปฏิบัติการทั้งหลาย เข้าเป็นปฏิบัติการที่ทรงพลัง และค่อยๆ สร้างระบบปฏิบัติการที่มีลักษณะบูรณาการที่ทำให้ทุกส่วนเชื่อมเข้าด้วยกันแบบไร้รอยต่อ

ฉบับต่อไปจะกล่าวถึงการประเมินภัยคุกคามของจีนโดยหน่วยข่าวกรองและความมั่นคงสหรัฐ