โปรยเงินปั๊มเศรษฐกิจ คืนภาษีท่องเที่ยว-ช็อปช่วยชาติ กู้สถานการณ์จับจ่ายปลายปีฝืดสนิท

ในที่สุดรัฐบาลรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องงัดนโยบายกระตุ้นกำลังซื้อออกมาเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจในช่วงโค้งสุดท้ายของปีอีกระลอกใหญ่

เรียกว่าทุ่มกันทุกกระบวนท่า ออกสารพัดมาตรการ ด้วยหวังว่าจะช่วยบรรเทาปัญหาด้านเศรษฐกิจของประเทศซึ่งเครื่องจักรสำคัญๆ ยังไม่ขับเคลื่อนเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นแหล่งรายได้สำคัญอย่างการส่งออก การลงทุนใหม่ๆ จากภาคเอกชนที่ยังไม่ขยับตัว รวมถึงปัญหาสินค้าเกษตรทั้งข้าวและข้าวโพดที่ตกต่ำอย่างหนัก

ขณะที่รายได้จากการท่องเที่ยวที่เคยเป็นพระเอกมานาน ต้องมาเจอผลกระทบจากการปราบปราม “ทัวร์ศูนย์เหรียญ” ส่งผลให้นักท่องเที่ยวจีนลดหายไปเป็นจำนวนมาก

จนทำให้รัฐบาลไม่มีทางเลือกมากนัก และต้องตัดสินใจเร่งใส่เงินเข้าไปในระบบ เพื่อกระตุ้นกำลังซื้อทุกวิธีและทุกช่องทางเลยทีเดียว

 

ที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวในช่วงปลายปี 2559 ตลอดเดือนธันวาคมนี้ ให้คนไทยที่มีการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศ สามารถมาหักลดหย่อยภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้ตามจริงไม่เกิน 15,000 บาท จากเมื่อต้นปีที่เคยอนุมัติมาแล้ว 15,000 บาท รวมเป็น 30,000 บาท

“กอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา มองว่า มาตรการเพื่อการท่องเที่ยวที่ออกมาอยู่ในจังหวะที่เหมาะสม เพราะออกมาในช่วงไฮซีซั่นและเป็นช่วงหน้าหนาวที่คนไทยหลายๆ คนกำลังอยู่ในช่วงการวางแผนการเดินทางท่องเที่ยวอยู่พอดี”

“กอบกาญจน์” ยังย้ำด้วยว่า เครื่องมือสนับสนุนส่งเสริมการท่องเที่ยวในมิติเช่นนี้จะสามารถกระตุ้นการท่องเที่ยวในช่วงปลายปีให้ขยายตัวได้เพิ่มขึ้นอีกราว 5-10% และหนุนให้ภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทยมีรายได้เป็นไปตามเป้าหมาย 2.4 ล้านล้านบาทได้อีกด้วย

ไม่เพียงเท่านั้น “กอบศักดิ์ ภูตระกูล” ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยังส่งสัญญาณออกมาอีกว่า ขณะนี้กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการเตรียมเสนอมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการจับจ่ายใช้สอยช่วงปลายปี หรือ “ช็อปช่วยชาติ” อีกรอบ แต่จะเพิ่มระยะเวลาการช็อปให้เป็น 15 วัน นานกว่าปี 2558 ที่ผ่านมาที่ให้เวลาช็อปเพียงแค่ 7 วัน

 

ไล่เรียงมาตารการต่างๆ โดยมีเป้าหมายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจตลอดทั้งปี 2559 นี้ ปรากฏว่ารัฐบาล “บิ๊กตู่” ได้เดินหน้างัดมาตรการมาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งระยะสั้น ระยะยาว ออกมาอย่างต่อเนื่องเป็นระยะๆ

นับจากช่วงเทศกาลสงกรานต์มีมาตรการภาษี “กิน-ช็อป” สามารถหักลดหย่อนภาษีได้ในวงเงินไม่เกิน 15,000 บาท ตามมาด้วยมาตรการลดหย่อนภาษีท่องเที่ยว และอบรมสัมมนาภายในประเทศไม่เกิน 15,000 บาท ซึ่งลากยาวตลอดทั้งปี 2559 นี้

ที่เพิ่งเกิดขึ้นไม่นานมานี้คือ มาตรการแจกเงินช่วยเหลือประชาชนผู้มีรายได้น้อยรายละ 1,500-3,000 บาท ให้กับชาวบ้านประมาณ 5.4 ล้านคน วงเงิน 3,450 ล้านบาท โดยรัฐบาลจะเริ่มจ่ายให้ตั้งแต่วันที่ 1-30 ธันวาคมนี้

ตามมาด้วยการปรับค่าจ้างขั้นต่ำใน 69 จังหวัด สำหรับปี 2560 ซึ่งเป็นการปรับค่าจ้างขั้นต่ำครั้งแรกในรอบ 4 ปี หลังจากที่ปรับครั้งสุดท้ายที่ 300 บาทต่อวันไปเมื่อปี 2556

ยังไม่รวมถึงสารพัดการช่วยเหลือเกษตรกรในรูปแบบต่างๆ เช่น ช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง-น้ำท่วม, ช่วยเหลือเกษตรกรและรักษาเสถียรภาพราคาข้าว ฯลฯ และมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้มีรายได้น้อย 2.9 ล้านคน ภายใต้วงเงิน 6,540 ล้านบาท ที่ได้ดำเนินการไปก่อนหน้านี้

ซึ่งแต่ละมาตรการล้วนต้องการเพิ่ม-หมุนเงินในระบบเศรษฐกิจให้กลับมาคึกคักอีกครั้งหนึ่ง

 

ว่ากันว่า มาตรการภาษีช็อปช่วยชาติที่ออกมากระตุ้นเศรษฐกิจช่วงสงกรานต์ เป็นเวลา 9 วันนั้น ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจโดยรวมปี 2559 ให้ขยายตัวได้ 0.014%

หากรวมกับมาตรการหักลดหย่อนภาษีการท่องเที่ยวและจัดอบรมสัมมนาภายในประเทศ ตั้งแต่เดือนมกราคม-ธันวาคม 2559 จะมีผลช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในภาพรวมได้ราว 0.02%

“สมชัย สัจจพงษ์” ปลัดกระทรวงการคลัง วาดหวังว่า หากการกระตุ้นเศรษฐกิจจะทำให้จีดีพีขยายตัว 3.5% ถือเป็นเรื่องดี เพราะจากมาตรการกระตุ้นจับจ่ายปลายปี 2558 ใช้เวลาเพียง 7 วัน แต่ทำให้เกิดการจับจ่ายเพิ่มขึ้นถึง 9,000 ล้านบาท ขณะที่รัฐสูญเสียรายได้จากภาษีไป 1,200 ล้านบาท โดยมีผู้ได้ประโยชน์ถึง 1 ล้านคน โดยรวมจึงมีความคุ้มค่า

นั่นคือเหตุผลที่ทำให้บรรดาผู้ประกอบการร้านค้าต่างรอฟังมติ ครม. ด้วยใจจดจ่อ แม้ว่ามาตรการ “ช็อปช่วยชาติ” โค้งสุดท้ายปีนี้ ยังไม่ผ่านการพิจารณาของ ครม. แต่ทุกฝ่ายเชื่อว่ารัฐบาลต้องเข็นมาตรการนี้ออกมาแน่ๆ

ไม่ว่าจะเป็น “ไพบูลย์ กนกวัฒนาวรรณ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของกลุ่มบริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า ปกติช่วงเดือนธันวาคมจะมีแคมเปญออกมาจำนวนมาก อาทิ มิดไนท์เซลล์ ลดทะลุพิกัด รวมถึงคูปองของห้าง การจับรางวัลต่างๆ

เพราะฉะนั้น หากรัฐออกมาตรการลดหย่อนภาษีมาก็จะเป็นออนท็อปเพิ่มเข้ามา ช่วยเพิ่มความเข้มข้นให้โปรโมชั่นยิ่งแรงขึ้น จากมู้ดการจับจ่ายโดยรวมปีนี้ถือว่าซึมกว่าปีก่อน

“มาตรการลดหย่อนภาษีปีที่แล้วได้ผลในระดับหนึ่ง ปีนี้ก็น่าจะดี โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าที่มีการจัดโปรโมชั่นลดราคาอยู่แล้ว นำไปลดภาษีก็ยิ่งได้สินค้าราคาถูก ส่วนมาตรการแจกเงินให้ผู้มีรายได้น้อยคนละ 1,500-3,000 บาท น่าจะช่วยให้เกิดการใช้จ่ายผ่านร้านสะดวกซื้อ ซูเปอร์มาร์เก็ตมากขึ้น” นายไพบูลย์ กล่าว

ส่วน “สมพงษ์ รุ่งนิรัติศัย” ผู้บริหารเทสโก้โลตัส ระบุว่า ได้เตรียมจุดบริการออกใบกำกับภาษี ซึ่งเมื่อครั้งที่แล้วเคยมีปัญหาล่าช้า ให้พร้อมที่สุด อย่างไรก็ตาม หากรัฐขยายระยะเวลานานเกิน 1 สัปดาห์ จะทำให้คนทยอยออกมาจับจ่าย ไม่ได้โหมกระหน่ำเข้ามาพร้อมๆ กันอย่างปีก่อน

“ส่วนมาตรการแจกเงินให้ผู้มีรายได้น้อยคนละ 1,500-3,000 บาท น่าจะช่วยให้เกิดการใช้จ่ายผ่านร้านสะดวกซื้อ ซูเปอร์มาร์เก็ตมากขึ้น” นายไพบูลย์ กล่าว

แต่ที่เกิดขึ้นแน่ๆ คือ เชิงจิตวิทยา ซึ่ง “ฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์” ผู้อำนวยการสมาคมผู้ค้าปลีกไทย ชี้ให้เห็นว่า มาตรการช็อปช่วยชาติปลายปีที่แล้ว และมีผลต่อการจับจ่ายของผู้บริโภคในระดับหนึ่งอย่างแน่นอน

จากปกติช่วงเทศกาลปีใหม่คนจะใช้จ่ายมากกว่าเวลาปกติอยู่แล้ว

 

แม้ในแวดวงเศรษฐศาสตร์จะเป็นที่ยอมรับกันว่า การใช้กลยุทธ์ “เฮลิคอปเตอร์ มันนี่” โปรยเงินจากฟากฟ้า ถือเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่ส่งผลโดยตรงต่อระบบเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว เพราะรวดเร็วและทั่วถึง ทั้งยังถูกเหมารวมว่าเป็น “ประชานิยม” ได้ง่ายๆ

แต่ถึงนาทีนี้รัฐบาลคงไม่มีทางเลือกมากนักกับการทุ่มเงินจำนวนมหาศาลผ่านสารพัดมาตรการ

เพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจท่ามกลางสถานการณ์การจับจ่ายที่ยังฝืดสนิท

อย่างน้อยให้เห็นผลเป็นรูปธรรมเฉพาะหน้าโดยเร็วก็ยังดี…