จรัญ มะลูลีม : “ซูฟี” มรรควิถีสู่ความบริสุทธิ์

จรัญ มะลูลีม

4)ความสัมพันธ์ระหว่างพระเจ้ากับมนุษย์

ความสัมพันธ์ระหว่างพระเจ้ากับมนุษย์คือสายสัมพันธ์แห่งความรัก

พระเจ้าทรงสร้างสากลจักรวาลขึ้นเพราะความรัก และมนุษย์ก็คือภาพของพระองค์เอง

ดังนั้น ในดวงวิญญาณของมนุษย์จึงมีคุณลักษณะแห่งความรักของพระเจ้าอยู่

ทำให้มนุษย์ใฝ่ฝันที่จะไปรวมกับพระองค์

ดวงวิญญาณของมนุษย์ก็คล้ายกับเป็นผู้แปลกหน้าที่ถูกเนรเทศมา

ใฝ่ฝันคะนึงหาที่จะได้กลับไปยังบ้านเดิมของตน

 

5)จุดหมายของชีวิต

เนื่องจากว่าความสัมพันธ์ที่มนุษย์มีต่อพระเจ้านั้นเป็นแบบคู่รักที่มีต่อผู้เป็นที่รัก ดังนั้น ซูฟีจึงถือว่าจุดหมายของชีวิตคือการกลับไปรวมกับพระเจ้า

คือการที่ดวงวิญญาณของมนุษย์แต่ละดวงละลายหายเข้าไปในดวงวิญญาณสากล

ความมุ่งหมายของชีวิตมนุษย์จึงมิใช่การหลีกเลี่ยงจากนรกและการบรรลุถึงสวรรค์ดังที่มุสลิมจารีตนิยมเข้าใจกันโดยทั่วไป

แต่มันคือการบรรลุถึงพระเจ้า

การเข้ารวมกับพระองค์

การเข้ารวมนี้คือหลักพื้นฐานของจริยธรรมของซูฟีเป็นอุดมคติสูงสุด

 

6)แหล่งความรู้

แม้ว่าเราสามารถบรรลุถึงความรู้ของพระเจ้าได้โดยอาศัยญาณวิสัย (กัชฟ์) เท่านั้น

ตามความคิดเห็นของซูฟีนั้น เหตุผลไม่สามารถช่วยให้ได้รับความรู้ของพระเจ้าได้

ญาณวิสัยนั้นเป็นผลจากความดื่มด่ำ (ฮัล)

ซึ่งจะมีได้หลังจากการฝึกฝนทางจิตมาเป็นเวลานาน

 

7)ความดื่มด่ำ

ซูฟีชอบความดื่มด่ำซาบซึ้ง (ฮัล)

หรือประสบการณ์ทางจิตใจทำนองนั้นมากกว่าปฏิบัติกิจทางศาสนาซึ่งเป็นพิธีการ ตามปกติแล้วฝ่ายจารีตนิยมมักจะถือว่าการปฏิบัติกิจทางศาสนาที่เป็นพิธีการ (เช่น การละหมาด ถือศีลอด ฯลฯ) มีผลอยู่ในตัวเอง

แต่ตามคำสอนที่แท้จริงของอิสลามแล้ว การปฏิบัติที่เป็นพิธีการก็คือวิถีทางที่จะนำไปสู่การบรรลุถึงศีลธรรมในระดับที่สูง

การปฏิบัติเหล่านี้ไม่อาจถูกละเลยได้

ซูฟีส่วนมากก็ยึดมั่นในทรรศนะนี้ แต่เน้นความสำคัญของแง่มุมทางด้านศีลธรรมหรือด้านจิตวิญญาณของการปฏิบัติเช่นนั้นมากกว่า

ความดื่มด่ำหมายถึงภาวะของจิตที่นำไปสู่ภาวะและขั้นตอนที่สูงส่งกว่านั้น

ซึ่งหมายถึงฟะนาและบะกอ

 

8)การระลึกถึง (ซิกร์)

เพื่อที่จะให้บรรลุถึงภาวะแห่งความดื่มด่ำ ซูฟีต้องอาศัยการระลึกถึง ในอัล-กุรอานมีกล่าวไว้ว่า “…จงระลึกถึงพระเจ้าอยู่เสมอ”

ซูฟีจึงระลึกถึงพระเจ้าอยู่เสมอโดยการเอ่ยพระนามของพระองค์ซ้ำๆ กัน (อัสมาอุล-ฮุสนา)

หรือมิฉะนั้นก็ท่องโองการหนึ่งในคัมภีร์อัล-กุรอานอยู่ตลอดเวลา

ซูฟีกลุ่มหนึ่งๆ ก็มีวิธีระลึกแตกต่างกันไป

บางพวกก็ท่องเบาๆ

บางพวกก็ตะโกนเสียงลั่นเอะอะจนถึงกับแสดงท่าทางบ้าคลั่ง

อย่างเช่น เอามีดแทงตัวเอง กินไฟ กลืนงู เป็นต้น

 

9) ความชั่วร้าย

ตามความคิดเห็นของซูฟีนั้น ความชั่วร้ายที่เราเห็นอยู่ในโลกนี้ไม่ใช่ของจริง

เนื่องจากว่าโลกภายนอกไม่มีความเป็นอยู่จริงๆ ฉะนั้น ความชั่วร้ายในโลกภายนอกจึงไม่มีความเป็นอยู่จริงๆ ด้วย

พวกเขาถือว่าความชั่วคือสิ่งที่ไม่มีอยู่ แต่เป็นการขาดไปหรือการไม่มีอยู่ของสิ่งที่มีอยู่

ซูฟีบางคน (อย่างช่น ญะลาลุดดีน (รูมี)) คิดว่า ถึงแม้ว่าความชั่วร้ายเป็นสิ่งที่ไม่เป็นจริงในเรื่องความสัมพันธ์กับพระเจ้า แต่มันก็เป็นจริงในเรื่องความสัมพันธ์กับโลกนี้ มันเป็นผลอันหลีกเลี่ยงไม่ได้ของการผสมกันระหว่างความมีอยู่ (ความเป็นจริง) กับความไม่มีอยู่

ถึงแม้ว่าจะมีคำจำกัดความของ “ลัทธิซูฟี” อยู่ในหนังสือภาษาอาหรับและเปอร์เซียมากมายก็ตาม แต่ความสำคัญของคำจำกัดความเหล่านี้อยู่ที่ว่ามันได้แสดงให้เห็นว่าไม่อาจให้คำจำกัดความที่เหมาะสมแก่มันได้

ผู้ที่ให้คำจำกัดความเหล่านั้นได้แต่พยายามที่จะแสดงออกมาซึ่งสิ่งที่ตัวเขาเองรู้สึกอยู่เท่านั้น แต่ก็ไม่อาจครอบคลุมเนื้อหาและความรู้สึกทั้งหมดได้

เปรียบเทียบคนตาบอดคลำช้างแล้วกล่าวว่าช้างนั้นเหมือนโน่นเหมือนนี่ซึ่งก็ถูกต้องเพียงส่วนเดียวเท่านั้น

แต่อย่างไรก็ตาม ขอยกคำจำกัดความบางประโยคมาให้ดูเป็นตัวอย่างดังนี้

“ลัทธิซูฟีเป็นอย่างนี้ คือการกระทำที่พระเจ้าเท่านั้นจะทรงทราบจะผ่านไปบนเขา (คือกระทำแก่เขา) และเขาจะอยู่กับพระองค์ในวิธีที่พระองค์เท่านั้นทรงทราบ”

“ลัทธิซูฟีเป็นอย่างนี้ คือการมีวินัยควบคุมตนเองอย่างเต็มที่”

“ลัทธิซูฟี คือการไม่เป็นเจ้าของสิ่งใดและไม่ให้สิ่งใดมาเป็นเจ้าของ”

“ลัทธิซูฟี คืออิสรภาพและความเอื้ออารีและไม่มีการเหนี่ยวรั้งตนเอง”

“ลัทธิซูฟี คือการมองดูความบกพร่องของโลกแห่งปรากฏการณ์ การปิดตาต่อทุกๆ สิ่งที่ไม่สมบูรณ์เพื่อไตร่ตรองถึงพระองค์ผู้ทรงอยู่ห่างไกลจากความไม่สมบูรณ์ทั้งปวง นี่แหละคือลัทธิซูฟี”

“ลัทธิซูฟี คือการควบคุมอวัยวะต่างๆ และสังเกตดูลมหายใจ” ฯลฯ

ลัทธิซูฟีไม่ใช่นิกายเพราะมันไม่มีระบบคำสอนหรือหลักเกณฑ์อะไร ส่วนวิถีทางหรือที่เรียกว่าเฏาะรีก็อตที่จะบรรลุถึงพระเจ้าก็มีอยู่มากมายหลายทางทีเดียว

คำนิยามที่เก่าแก่ที่สุดของคำว่า “ลัทธิซูฟี” คือ “การเกรงกลัวความเป็นจริงของพระเจ้า” ซูฟีมักจะเรียกตัวเองว่า “ผู้ติดตามสิ่งจริงแท้ (อะห์ลุลฮักก์)” คำว่า อัล-ฮักก์นั้นเป็นคำที่ซูฟีมักใช้กันทั่วไปเพื่อเรียกพระเจ้า ซูฟีส่วนใหญ่ถือว่าคำว่า อัล-ฮักก์ มาจากรากศัพท์ภาษาอาหรับ หมายถึง “ความบริสุทธิ์” ฉะนั้น ซูฟีจึงมีความหมายว่า “ผู้มีความบริสุทธิ์ในดวงใจ” หรือ “ผู้ที่ได้รับเลือก”

คำว่าซูฟี (Sufi) นั้นมาจากต้นตอต่างๆ นักวิชาการมุสลิมสมัยแรกๆ ถือว่า มันมาจากคำว่า “อะห์ลุส ซัฟฟาห์” (Ahl-us Saffah) คือผู้ที่ใช้ชีวิตแบบสันโดษที่อยู่ในมัสญิดของท่านศาสดามุฮัมมัดบางคนก็กล่าวว่ามาจากคำว่า “ซอฟ” ซึ่งหมายถึงแถวหรือลำดับ เพราะซูฟีอยู่ในระดับหนึ่ง

อัล-ญามิอ์ (Al-Jami) และผู้อื่นบางคนเชื่อว่ามาจากคำว่า “เซาะฟา” (ความบริสุทธิ์) ส่วนนักวิชาการตะวันตกชอบเอาคำนี้ไปเกี่ยวกับคำว่า “Sophist” (ผู้รักความรู้หรือครูอาจารย์กรีกสมัยโบราณ ซึ่งสอนวิชาปรัชญาและวาทศิลป์)

อย่างไรก็ตาม ทรรศนะที่ใหม่ที่สุดก็คือคำว่า “Sufi” มาจากคำว่า “Suf” (ผ้าขนสัตว์) เพราะเครื่องแต่งกายที่ทำด้วยผ้าขนสัตว์เป็นสัญลักษณ์ของการใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายและสละความฟุ่มเฟือยทิ้งไป