โลกหมุนเร็ว/เพ็ญศรี เผ่าเหลืองทอง/หัวอกชนกลุ่มน้อย

โลกหมุนเร็ว/เพ็ญศรี เผ่าเหลืองทอง /[email protected]

หัวอกชนกลุ่มน้อย

 

ชั่วชีวิตคนคนหนึ่ง จะเรียนรู้ จดจำได้มากมายเพียงไร

บางคนเลือกที่จะมองภาพกว้างให้เข้าใจบริบทของสิ่งต่างๆ บางคนเลือกที่จะลงลึกในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง

ยิ่งเฝ้าสังเกตความเป็นไปของโลกและผู้คน ก็ยิ่งเห็นถึงความขัดแย้งเนื่องมาจากความเชื่อที่ต่างกัน การกดขี่ข่มเหงคนที่ด้อยกว่า และการแย่งชิงผลประโยชน์ ดูเหมือนว่าสามสิ่งนี้คือรากเหง้าของการต่อสู้อันไม่สิ้นสุด

ในประเทศไทยชายแดนภาคใต้ยังคงร้อนระอุ เรื่องนี้มีรากแห่งความขัดแย้งมาจากการที่รัฐปัตตานีที่รุ่งเรืองในอดีตต้องมาอยู่ภายใต้การปกครองของสยามและปัจจุบันคือประเทศไทย และต้องกลายเป็นคนกลุ่มน้อยที่การต่อสู้เพื่ออัตลักษณ์ของตนกลายเป็นสิ่งผิดกฎหมาย

ในประเทศเมียนมาปัจจุบันที่เต็มไปด้วยชนกลุ่มน้อยหลายหลากมากมาย ชนแต่ละกลุ่มก็ยังไม่หยุดสู้เพื่ออัตลักษณ์เช่นกัน

เรื่องราวของกลุ่มคนซึ่งในอดีตไม่ใช่คนกลุ่มน้อย แต่เมื่อต้องพ่ายแพ้ไม่ว่าจะเป็นด้วยทางการเมืองหรือการต่อสู้ด้วยกองกำลัง ก็เปลี่ยนสถานะกลายเป็นชนกลุ่มน้อยไป

ไม่ว่าประวัติศาสตร์จะเรียบเรียงบอกเล่าความเป็นไปของชนกลุ่มน้อยอย่างไร ก็ยังไม่สามารถถ่ายทอดได้ดีเท่ากับเรื่องราวจากปากของตัวละครที่มีชีวิตอยู่ในเรื่องเหล่านั้น

 

หนังสือ “จันทราเทวี ความทรงจำจากรัฐฉาน” เป็นหนึ่งในเรื่องเล่าจากปากของเจ้าหญิงแห่งรัฐฉานที่อยู่ในเหตุการณ์การรวมชาติของพม่า หนังสือนี้ริเวอร์สบุคเป็นผู้จัดพิมพ์

รัฐฉานอยู่ทางตอนเหนือของพม่า เหนือจรดจีน ตะวันออกจรดลาว และใต้จรดไทย ถ้าจะนับพื้นที่กันแล้วฉานก็เป็นรัฐที่มีอาณาเขตกว้างขวางที่สุดในบรรดา 14 รัฐของพม่า มีเมืองตองยีเป็นเมืองหลวง

เจ้าจันทราเทวีเป็นธิดาของเจ้าอู้ฟ้าเป็นหลานสาวเซอร์จ้าวหม่อง ผู้ปกครองเมืองยองห้วย คนที่รัฐฉานถือว่าตนเองเป็นคนไท และอยู่ร่วมแผ่นดินกับคนพม่า ต่างฝ่ายต่างมีวิถีชีวิตของตนเอง โดยที่พม่ามีนโยบายทางการเมืองที่ได้รับอิทธิพลจากระบอบสังคมนิยมและคอมมิวนิสต์ ส่วนรัฐฉานยังคงปกครองในระบบกษัตริย์

ในขณะที่ไทยเปลี่ยนแปลงการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตยเมื่อปี 2475 สำหรับพม่าในปี 2478 มีการประชุมโต๊ะกลมเปลี่ยนแปลงการปกครอง แต่ยังไม่มีผลต่อรัฐฉาน เจ้าฟ้ายังคงปกครองตามเดิมภายใต้การดูแลของรัฐบาลพม่า

เมื่อเมืองยองห้วยล่มสลายลง หอหลวงที่เจ้านางจันทราเทวีเติบโตได้กลายเป็นพิพิธภัณฑ์ผู้นำรัฐฉาน

เจ้านางจันทราเทวี มีชีวิตในวัยเด็กที่สวยงามแบบลูกเจ้าทั่วไป ในขณะนั้นการเมืองยังไม่คุกรุ่น ต่อมาเติบใหญ่ เธอเข้าเรียนมหาวิทยาลัย ออกจะมีอิสระและความคิดเห็นของตัวเอง

และต่อมาถูกขับออกจากพม่าเพราะพูดวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล

 

มีเกร็ดเล็กๆ ที่เจ้านางจันทราเทวีเล่าไว้ในหนังสือเล่มนี้คือ เมื่อเจ้าแม่ของเจ้านางสิ้นบุญ เจ้าพ่อของเธอเศร้าโศกมาก ได้เดินทางทางเรือท่องเที่ยว

ระหว่างทางได้ทิ้งเครื่องประดับเพชรพลอยของมหาเทวีลงทะเลจนหมดเพราะไม่อยากเห็นคนอื่นสวมใส่อีกแล้ว

เรื่องนี้สะท้อนความร่ำรวยของคนที่เป็นเจ้าที่ไม่เห็นมูลค่าของเครื่องเพชรพลอยเป็นเรื่องสำคัญ สามารถทิ้งน้ำได้เหมือนกรวดทราย

ปี 2493 เจ้าจาแสงราชบุตรของเจ้าอู้ฟ้า พี่ชายของเจ้าจันทราขึ้นเป็นเจ้าฟ้า ต่อมาในปี 2505 เมื่อทหารก่อการปฏิวัติ ได้หายตัวไปอย่างลึกลับ เจ้าจาแสงผู้นี้เองที่แต่งงานกับอิงเง่ ซาเจนท์ ชาวออสเตรีย ผู้เขียนหนังสือเรื่อง “สิ้นแสงฉาน” และต่อมามีผู้นำไปสร้างภาพยนตร์

เจ้าจันทราเขียนหนังสือเล่มนี้อย่างเป็นกลาง ไม่ได้มีเสียงโกรธเกรี้ยวฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ในช่วงชีวิตผู้ใหญ่ เธอศึกษาที่ต่างประเทศ แต่งงานกับชาวอังกฤษ ทำงานหลายที่ และต่อมาท่องโลกกว้าง

นับว่าเธอโชคดีที่ไม่ได้มีชีวิตจ่อมจมอยู่กับความสูญเสียครั้งแล้วครั้งเล่า นับแต่การสูญเสียครั้งสำคัญที่สุดคือเจ้าพ่อซึ่งสิ้นชีวิตในคุกหลังจากถูกพม่าจับไป เสียความเป็นเอกเทศของบ้านเมืองเมื่อต้องเข้าไปรวมกับพม่า เสียคุ้มเจ้าที่เคยอยู่อาศัย

สังคมบอบช้ำจากการถูกยึดครองโดยญี่ปุ่น ญี่ปุ่นทิ้งระเบิด จนพม่าซึ่งขณะนั้นอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษแตกอย่างรวดเร็ว อังกฤษต้องถอยร่นไปยังอินเดีย เรื่องที่น่าสนใจคือในขณะที่พม่าถูกอังกฤษยึดครอง คนอังกฤษกลับไม่ได้ถูกมองด้วยความเกลียดชัง

 

ครอบครัวของเจ้าจันทราเป็นชาวพุทธและเลือกที่จะเดินสายกลาง ไม่นิยมการเป็นคนหัวรุนแรง ไม่ว่าอังกฤษหรือญี่ปุ่นจะเข้ามาก็วางตัวเป็นมิตรคบค้าด้วยตามสมควร

ความเป็นคนฉลาดรู้จักปรับตัวของเจ้าจันทราที่แม้เป็นเจ้า ในยามที่ต้องอพยพให้ไกลจากญี่ปุ่นยังคิดอ่านแม้แต่จะทอผ้าขายให้ญี่ปุ่นเพื่อนำรายได้มาเติมเงินที่ร่อยหรอ

เมื่ออังกฤษหวนกลับมาโจมตีญี่ปุ่น นายพลออง ซาน วีรบุรุษพม่า บิดาออง ซาน ซูจี หันเหออกจากญี่ปุ่นไปเข้าข้างอังกฤษ แต่ต่อมาออง ซาน ก็ได้ยินข่าวลับว่ากองทัพของเขาจะต้องถูกสลายลง เมื่ออังกฤษกลับเข้าปกครองพม่าได้รัฐฉานแม้ยังไม่ถูกให้เข้ารวมกับพม่าแต่เป็นเขตปกครองพิเศษภายใต้อำนาจของข้าหลวงใหญ่อังกฤษ

การเมืองเปลี่ยนแปลงเรื่อยมาหลังจากนั้น จนในที่สุดรัฐฉานก็ถูกรวมกับพม่าจนได้ แม้ว่าก่อนหน้านั้นเจ้าอู้ฟ้าเองจะได้พูดกับนายพลออง ซาน ว่า “เมื่อได้รับอิสรภาพแล้ว รัฐฉานต้องไม่เดือดร้อนและมีอิสรภาพอย่างแท้จริง …เมื่อได้รับเอกราชก็อยากเห็นชาวไทมีสิทธิ์ทัดเทียมชาวพม่า ทำงานร่วมกันอย่างพี่น้อง”

เดี๋ยวนี้ไม่มีรัฐฉานอีกต่อไป คงมีแต่อดีต และนี่คือสัจธรรมแห่งความเปลี่ยนแปลง ที่เป็นจริงสำหรับหลายๆ ดินแดนที่มีอยู่แต่ในอดีตเท่านั้น