เพ็ญสุภา สุขคตะ : พระเจ้าข้าวชีวิต พินิจพระคุณแม่โพสพ

เพ็ญสุภา สุขคตะ

บนพิพิธภัณฑ์บริขารวัดบ้านปาง ตำบลศรีวิชัย อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน ซึ่งเป็นวัดบ้านเกิดของ “ครูบาเจ้าศรีวิชัย” มีการจัดแสดงสิ่งของเครื่องบริขารส่วนตัว รวมทั้งคัมภีร์พระไตรปิฎก และพระพุทธรูปที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยเคารพบูชา

หนึ่งในพระพุทธปฏิมาองค์นั้นเป็นพระพุทธรูปองค์น้อย ระบายสีสันสดใส ที่ฐานทำเป็นรูปเสือนักษัตรปีขาล มีชื่อว่า “พระเจ้าข้าวชีวิต”

อันหมายถึงพระพุทธรูปที่ทำด้วยก้อนข้าว เป็นผลงานการปั้นของครูบาเจ้าศรีวิชัยด้วยมือของท่านเอง

 

ฉันมื้อเดียว
เตียวจงกรม
ห่มสามผืน

ครูบาเจ้าศรีวิชัยเป็นผู้บริโภคน้อย และบริโภคเพียงมื้อเดียวคือมื้อเช้า กล่าวคือ ฉันเพียงแค่ข้าวกับผักต้มใส่เกลือ-พริกไทย เว้นจากการบริโภคอาหารที่เป็นปลาและเนื้อ ด้วยไม่อยากเบียดเบียนสัตว์

เว้นจากการเสพของมึนเมา ของเสพติด เช่น หมาก เมี่ยง บุหรี่ ของหมักของดอง บางครั้งก็งดเว้นจากการฉันข้าวเป็นเวลา 1-2 เดือน ฉันเฉพาะลูกไม้หัวมัน

ดังที่ปรากฏเนื้อความในใบลานประวัติครูบาเจ้าศรีวิชัย ฉบับวัดข้าวแท่นน้อย ว่า

“ท่านก็ฉันข้าววันละคาบ จิ้นปล๋าอาหารท่านก็บ่ฉัน บางเตื้อเดือนสองเดือนก็บ่ฉันข้าว ฉันก้ามูลละมันลูกไม้ไปเต้าอั้น เวลานั้นคนตังหลายก็ปากั๋นไปกะตำบุญหื้อตานบ่มีขาด ท่านก็บ่ยินดียินฮ้ายสักอัน ท่านก็บ่เอาปัจจั๋ยไว้กับต๋นท่าน สักมาสก ๑ ก็บ่มี”

โยมอุปัฏฐากผู้ใกล้ชิดกับครูบาเจ้าศรีวิชัย ระบุว่า ครูบาเจ้าศรีวิชัยมีความเคร่งครัดและงดรายการพืชผักตามวัน ได้แก่

๏ วันอาทิตย์ไม่ฉันหมากฟักหมากแฟง

๏ วันจันทร์ไม่ฉันแตงโมและแตงกวา

๏ วันอังคารไม่ฉันมะเขือ

๏ วันพุธไม่ฉันใบแมงลัก

๏ วันพฤหัสบดีไม่ฉันกล้วย

๏ วันศุกร์ไม่ฉันเทา (เตา)

๏ วันเสาร์ไม่ฉันบอน และไม่ชอบฉันผักบุ้ง ผักปลอด ผักเปลว ผักหมากขี้กา ผักจิก ผักเหือด เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมี “น้ำเต้า” ที่ท่านงดฉันอย่างเด็ดขาด เพราะตอนที่ท่านเกิด บิดาของท่านได้เอาน้ำเต้าแห้ง (เป็นน้ำเต้าทรงยาวสูงขนาดเล็กคล้ายกรวยน้ำต้น ไม่ใช่น้ำเต้าทรงกลม) มาใส่รกไปฝังไว้ใต้ต้นพิกุล (ภาษาถิ่นเหนือเรียกว่าต้นแก้ว) ทั้งนี้ก็เพราะความยากจนจึงไม่มีเงินซื้อหม้อดินใส่รก ท่านจึงนึกถึงพระคุณของน้ำเต้าที่เคยใส่รกเปรียบดังครรภ์ของมารดาที่หุ้มห่อท่านไว้ ทำให้ฉันไม่ลง

กรณีการระบุว่าวันไหนไม่ฉันพืชผักอะไรบ้างนี้ ในแวดวงวิชาการด้านครูบาเจ้าศรีวิชัยศึกษา เกิดการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง โดยมีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและเห็นต่าง

ฝ่ายที่ไม่เชื่อคำกล่าวนี้ มองว่าจะเป็นความจริงได้ล่ะหรือ ในเมื่อครูบาเจ้าศรีวิชัยเป็นคนสมถะ กินง่าย อยู่ง่าย ยาตราจาริกไปบูรณปฏิสังขรณ์ตามสถานที่ต่างๆ ตลอดเวลา จะมานั่งเลือกอาหารการกินแบบคนเรื่องมากได้อย่างไรกัน

พร้อมให้เหตุผลว่า คงมีแต่พวกที่เล่นไสยศาสตร์เท่านั้นที่มีความจำเป็นต้องหลีกเลี่ยงพืชผักชนิดต่างๆ ในแต่ละวัน เพราะผักบางชนิดมีลักษณะลื่นหรือเป็นเมือก เป็นปฏิปักษ์ต่อคาถาอาคม เมื่อทานเข้าไปแล้วจะทำให้ความคงกระพันชาตรีลื่นหลุดไป

และในเมื่อครูบาเจ้าศรีวิชัยไม่ได้ฝักใฝ่ในไสยศาสตร์ เหตุไฉนต้องมาระแวดระวังเรื่องอาหารการกินในแต่ละวันให้ยุ่งยากเหมือนพวกเล่นของ?

คำตอบของฝ่ายที่ยืนยันว่าการเคร่งครัดต่อการงดฉันผักชนิดต่างๆ ของครูบาเจ้าศรีวิชัยตามตารางในรอบสัปดาห์นั้น เป็นเรื่องจริง โดยที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยไม่ได้เอาอย่างพวกมนตร์ดำแต่อย่างใด

ทั้งนี้ เป็นผลสืบเนื่องมาจากการที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยรู้ตัวว่าแพ้เนื้อสัตว์ (ภาษาล้านนาเรียกว่า “เบื่อ”) แพ้อาหารหลายชนิด และมีโรคประจำตัวด้านทางเดินอาหาร ทำให้ไม่สามารถฉันอาหารทุกประเภทได้เหมือนกับคนปกติทั่วไป จึงต้องมีความระมัดระวังมากเป็นพิเศษในการเลือกที่จะปฏิเสธชนิดของอาหารในแต่ละวัน

ปัจจุบันนี้ ยังมีศิษยานุศิษย์สายที่มีปฏิปทาต่อครูบาเจ้าศรีวิชัยจำนวนหลายรูป ที่ยังคงปฏิบัติตามแนวทางการงดฉันผักผลไม้บางประเภทตามวันต่างๆ ตามแนวทางของท่านอย่างเคร่งครัด ดังเช่น ครูบาป่านิกร ชยฺยเสโน วัดพระบรมธาตุแก่งสร้อย จังหวัดตาก เป็นต้น

 

เมล็ดข้าวก้นบาตรคือหยาดเหงื่อชีวิต

อย่างไรก็ดี ในช่วงที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยอาพาธ ณ บั้นปลายชีวิต ท่านมักฉันแต่ผักที่มีสรรพคุณเป็นโอสถช่วยสมานแผลในท้อง อาหารพื้นๆ ง่ายๆ ที่ฉันประจำก็คือ แกงบะค้อนก้อม (มะรุม) ใส่ถั่วเน่า (ทำจากถั่วเหลืองหมัก) ส่วนข้าวนั้นฉันทั้งข้าวเหนียวและข้าวเจ้า บางครั้งก็ฉันข้าวทั้งสองชนิดปะปนกันในมื้อเช้า

มื้อเพลฉันแต่น้ำปานะและผลไม้ น้ำปานะที่ชาวบ้านชอบนำมาถวายคือ น้ำส้มเกลี้ยงจากอำเภอเถิน และอำเภอแม่พริก จังหวัดลำปาง

ปัญหาคือ ในเมื่อครูบาเจ้าศรีวิชัยฉันเฉพาะมังสวิรัติ แล้วหากชาวบ้านที่ไม่ทราบ เกิดนำอาหารที่มีเนื้อสัตว์มาใส่บาตร ท่านจะปฏิเสธปิดฝาบาตร หรือเอาไปเททิ้งกระนั้นรึ?

เรื่องนี้ จากการสัมภาษณ์คนใกล้ชิดของท่านได้เล่าว่า ครูบาเจ้าศรีวิชัยรับประเคนภัตตาหารทุกอย่างที่ศรัทธาญาติโยมถวาย สำหรับอาหารที่มีเนื้อสัตว์ท่านก็ยกให้ลูกศิษย์ฉันต่อ ไม่ได้บังคับลูกศิษย์ต้องฉันเพียงผักเช่นท่าน

สิ่งที่น่าสนใจยิ่งกว่านั้นคือ อาหารที่คนนำมาใส่บาตรให้ท่านในแต่ละวันมักเหลือปริมาณมาก เหตุที่ญาติโยมมีความศรัทธาในตนบุญแห่งล้านนาเป็นอย่างสูง จึงต่างแย่งกันมาทำบุญกับท่าน อาหารที่เหลือท่านจะสั่งลูกศิษย์ว่าอย่าทิ้ง แต่นำเอาไปให้ชาวบ้านผู้ยากไร้

หากช่วงที่ท่านจำพรรษาอยู่ที่วัดพระสิงห์ เชียงใหม่ก็ดี วัดเชียงยัน (ปัจจุบันคือคณะหนึ่งของวัดพระธาตุหริภุญชัย) ลำพูนก็ดี ทั้งสองแห่งต่างก็ไม่ไกลจากเรือนจำกลางของแต่ละจังหวัด ท่านจะนำอาหารไปให้แก่กลุ่มคนที่ชาวบ้านเรียกว่า “ขี้โซ่” (คือคนคุกนักโทษ) ต่อเสมอ

ครูบาอานันท์ พุทฺธธมฺโม แห่งวัดพระธาตุแสงแก้วมงคล อำเภอดอกคำใต้ จังหวัดพะเยา ผู้มีปฏิปทาต่อครูบาเจ้าศรีวิชัยเป็นอย่างสูง ได้ศึกษาประเด็นเรื่องการบิณฑบาตและการฉันภัตตาหารของครูบาเจ้าศรีวิชัยอย่างละเอียด พบว่า

เมื่อมีข้าวเหลือจากการฉันที่ก้นบาตรก็ดี หรือบางมื้อบางวันครูบาเจ้าศรีวิชัยไม่ฉันก็ดี ท่านจะเก็บข้าวทุกเม็ดมารวมกันไว้โดยไม่ทิ้ง นำมาตากแห้ง ตำละเอียด ใส่ขี้ชันบดเป็นผง แล้วนำมาต้มให้เหนียวพอปั้นได้

นำข้าวบดนั้นมาปั้นเป็นพระพุทธรูปเรียกว่า “พระเจ้าข้าวชีวิต” เพื่อเป็นพุทธานุสติเตือนใจให้ตัวท่านเองได้รำลึกนึกถึงบุญคุณของข้าว ของแม่โพสพ และเพื่อแผ่เมตตาให้ชาวบ้านที่นำข้าวมาใส่บาตรให้ท่านทุกวัน

ปัจจุบัน “พระเจ้าข้าวชีวิต” เก็บรักษาอยู่ในพิพิธภัณฑ์บริขารวัดบ้านปางในตู้กระจกด้านขวามือ นอกเหนือไปจากที่วัดบ้านปางแล้ว ดิฉันเชื่อว่าน่าจะยังมีพระเจ้าข้าวชีวิตที่จะกระจายอยู่ตามวัดต่างๆ ที่เป็นผลงานการก่อสร้างของท่านอีกหลายแห่ง

 

เท่าที่ดิฉันสงสัยก็คือพระพุทธรูปขนาดเล็กองค์หนึ่งของวัดพระธาตุจอมทอง อำเภอเมืองพะเยา (อยู่เยื้องคนละฟากถนนกับวัดศรีโคมคำ) ประดิษฐานอยู่แทรกปนกับกลุ่มพระพุทธรูปปูนปั้นปิดทองบนฐานแท่นแก้วด้านหลัง

พิจารณาจากพื้นผิวพระพุทธรูปแล้ว พบว่าค่อนข้างขรุขระ จึงน่าจะสร้างด้วยวัสดุข้าว ประกอบกับมีสัดส่วนและขนาดเล็กใกล้เคียงกับพระเจ้าข้าวชีวิตที่วัดบ้านปาง ซึ่งวัดพระธาตุจอมทองนี้ในอดีตถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของวัดศรีโคมคำ วัดที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยจำพรรษาอยู่ค่อนข้างนานและมีความผูกพันอย่างมาก

เพียงแต่ว่า ต่อมาวัดพระธาตุจอมทองได้ร้างไปนานหลายทศวรรษ คนรุ่นหลังเข้ามาอยู่ใหม่ จึงไม่มีใครรับรู้เรื่อง “พระเจ้าข้าวชีวิต” อีกก็เป็นได้