จรัญ มะลูลีม : “ซูฟี” ความลี้ลับในห้วงปรัชญาความคิดของอิสลาม

จรัญ มะลูลีม

ความรู้สึกถึงสิ่งลี้ลับและความคิดไตร่ตรองนั้นมีอยู่ในทุกศาสนาและในคนทุกชาติทุกภาษา แต่ก็แตกต่างกันไปตามบุคคลและเชื้อชาติเผ่าพันธุ์และแนวโน้มของเขาที่จะเอาสิ่งที่เป็นนามธรรมไปคละเคล้ากับสิ่งมีตัวตนจริงๆ

ผู้ถือศาสนาฮินดู (Hinduism) ถือว่าการที่สิ่งที่มีตัวตนจำกัด (คือมนุษย์) ถูกดูดซึมเข้าไปในสิ่งที่ไม่มีขอบเขตจำกัด (คือพระเจ้า) นั้นก็คือความสุขอันสูงสุด และเพื่อไปให้ถึงจุดหมายนี้เขาจะหยุดนิ่งอยู่ที่จุดจุด หนึ่ง และถอนอัตตาออกจนกระทั่งกลายเป็นความว่างเปล่าเต็มที่

กระบวนการแพ่งพิจารณา (เข้าฌาน) นี้จะค่อยๆ นำไปสู่ข้อสรุปดังที่ปรากฏในพระคัมภีร์ภควัทคีตาว่าพระผู้สร้างกับการสร้างนั้นเป็นสิ่งเดียวกัน ดังนั้น เราจะเห็นได้ว่าลัทธิที่ถือว่าพระเจ้าสิงสถิตอยู่ทุกหนทุกแห่ง (Pantheism) ในขั้นสุดโต่งนั้นเกือบจะกลายเป็นลัทธิเชื่อเครื่องรางไสยศาสตร์

หรือนับถือบูชาสิ่งใดๆ โดยปราศจากเหตุผล (Fetishism) ซึ่งมีอยู่ก่อนความคิดอย่างอื่นทุกอย่างที่เกี่ยวกับพระเจ้าไปเสียแล้ว

ในขั้นตอนที่จิตใจของมนุษย์ยังเป็นทารกไม่รู้จักความรู้สึกด้านจิตวิญญาณใดๆ นอกจากความหวาดกลัวแต่อย่างเดียว ป่าดงดิบซึ่งมนุษย์ยังไม่เคยเห็น ภูเขาสูงตระหง่านที่อยู่ไกลๆ ความมืดของยามค่ำคืนอันเต็มไปด้วยรูปร่างแปลกประหลาดน่ากลัวที่กำลังเคลื่อนไหวอยู่ไปมา

เสียงหวีดหวิวของลมที่พัดผ่านยอดไม้ในป่าทึบ ทั้งหมดเหล่านี้ก่อให้เกิดความหวาดหวั่นพรั่นพรึงขึ้นมาในจิตใจขั้นทารกของมนุษย์

เขาจะบูชาวัตถุทุกอย่างที่เขาคิดว่ามีอำนาจหรือน่ากลัวมากกว่าตัวเขาเอง หรือน่ากลัวกว่าสิ่งแวดล้อมใกล้ตัวเขา

แล้วเขาก็จะค่อยๆ เติมอุดมคติเข้าไปในวัตถุธรรมชาติเหล่านั้น และคิดว่าลักษณะอุดมคติเหล่านั้นมีค่าควรแก่การนับถือบูชา

 

เมื่อกาลเวลาผ่านไป ลักษณะอุดมคติที่อยู่แยกกันแต่ละอย่างเหล่านี้ก็ค่อยๆ เข้ามารวมกันกลายเป็นลักษณะอุดมคติสากลที่โอบล้อมทุกสิ่งทุกอย่างไว้ ดังนั้น ต่อจากขั้นการนับถือบูชาวัตถุ (Fetishism) จึงกลายเป็นขั้นที่คิดว่าพระเจ้าสิ่งสถิตอยู่ในวัตถุต่างๆ (Materialistic Pantheism)

นี่คือความนิยมสิ่งลี้ลับที่แฝงอยู่ในจิตใจของมนุษย์

ปรัชญาที่นิยมความลี้ลับ ถือกำเนิดมาจากความสำคัญด้านความลี้ลับ (Esoteric) ที่มุสลิมส่วนหนึ่งถือว่ามีอยู่ในพระวจนะของพระเจ้าในคัมภีร์อัล-กุรอาน

ลัทธินิยมความลี้ลับซึ่งมีความใฝ่ฝันอย่างสูงที่จะบรรลุถึงพระเจ้าถูกนำมาโดยคำสอนของอิสลามในเรื่อง “แสงสว่างภายในตน”

มุสลิมที่เป็นนักคิดหลายคนมีความคิดว่าในข้อความของคัมภีร์อัล-กุรอานนั้นมีความหมายที่ลึกซึ้งอยู่ข้างในเกินกว่าที่จะเข้าใจกันเพียงเผินๆ ได้

ที่พวกเขาคิดดังนี้มิใช่เพื่อจะหลีกหนีไปจากความเข้มงวดเคร่งครัดของ “คัมภีร์และกฎเกณฑ์คำสอน”

แต่เกิดจากความมั่นใจอันลึกซึ้งว่าถ้อยคำของพระเจ้าเหล่านั้นมีความหมายลึกซึ้งมากกว่าที่ได้รับการอภิปรายโดยนักอรรถาธิบาย

ความมั่นใจนี้รวมกับความรู้สึกลึกๆ ในใจในเรื่องความแผ่ซ่านอยู่ทั่วไปของพระเจ้า อันเป็นความรู้สึกที่เกิดจากคำสอนของอัล-กุรอานและสอดคล้องอย่างเต็มที่กับคำสอนของพระคัมภีร์นั้นและของท่านศาสดา ดังนั้น จึงได้เกิดเป็นปรัชญานิยมความลี้ลับที่เราเรียกว่าลัทธิซูฟี (Sufism) ขึ้นในหมู่มุสลิม

ตามความคิดของคนทั่วไป ลัทธินี้หมายถึงการละทิ้งเรื่องทางโลกโดยสิ้นเชิง ต้องสละพันธะหน้าที่ที่มีต่อครอบครัวและมุ่งสำรวมจิตคำนึงแต่สิ่งเดียวโดยเด็ดขาดจากสิ่งอื่นๆ ทั้งปวง

แต่อันที่จริงแล้วผู้เป็นซูฟีที่แท้จริงในอิสลามก็คือผู้ที่ต้องปฏิบัติให้ครบถ้วนสมบูรณ์ทั้งสองด้าน คือส่วนประกอบซึ่งกันและกัน ไม่ใช่ศัตรูของกันและกัน

 

หลักการของซูฟี

ปรัชญาซูฟีเป็นเรื่องที่กว้างขวางและหลากหลายมาก ไม่อาจถือว่าสำนักคิดที่ถูกตั้งขึ้นมาเป็นหนึ่งเดียวอย่างตรงไปตรงมาได้ มันได้เผยตัวออกมาในรูปลักษณ์ต่างๆ กัน ในสถานที่และกาลเวลาต่างๆ กัน

ยิ่งกว่านั้นในคำสอนของซูฟี ผู้คนต่างๆ ซึ่งตั้งระบบต่างๆ กันก็มีแนวโน้มไปต่างๆ กันด้วย สำนักคิดซูฟีมีสาขาหรือระบบต่างๆ ถึง 200 สาขา

จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะกล่าวถึงหลักการของสำนักคิดนี้ให้ถูกต้องแน่นอนลงไป แต่ก็ได้

1) หลักการเรื่องพระเจ้า

แนวความคิดของซูฟีเรื่องพระเจ้ามักจะแตกต่างจากฝ่ายจารีตนิยม ซูฟีให้ความหมายส่วนแรกของคำปฏิญาณ (กะลิมะฮ์) ที่ว่า “ลาอิลาฮะ อิล ลัลลอฮ์” มิใช่ว่า “ไม่มีสิ่งใดควรแก่การสักการบูชานอกจากอัลลอฮ์” แต่เป็น “ไม่มีสิ่งใดอยู่นอกจากอัลลอฮ์”

ดังนั้น ซูฟีจึงถือว่าพระเจ้าคือสิ่งเป็นจริง (Reality) สิ่งเดียวเท่านั้น สิ่งอื่นๆ นอกจากนั้นล้วนแต่เป็นมายา แต่ในเรื่องธรรมชาติของสิ่งเป็นจริงนี้ ซูฟีกลุ่มต่างๆ ก็มีความคิดเห็นไม่เหมือนกันอีก

บางคนก็ถือว่าคือเจตนารมณ์สากล

บางคนก็ถือว่าคือความรู้แท้จริง

บ้างก็คิดว่าเป็นแสงสว่างนิรันดร์

บางคนก็เห็นว่าเป็นความงามสูงสุด

2) หลักการเรื่องดวงวิญญาณของมนุษย์

พวกซูฟีถือว่าดวงวิญญาณของมนุษย์คือส่วนเล็กๆ ส่วนหนึ่งของพระเจ้า อัล-กุรอานกล่าวว่า “ข้าได้เป่าดวงวิญญาณของข้า (พระเจ้า) เข้าไปสู่เขา (มนุษย์)” ยิ่งกว่านั้นท่านศาสดายังได้กล่าวว่าพระเจ้าทรงสร้างมนุษย์ในรูปของพระองค์เอง

ดังนั้น ธรรมชาติภายในหรือจิตวิญญาณของมนุษย์จึงคล้ายคลึงกับดวงจิตของพระเจ้า

และคุณลักษณะบางประการของพระเจ้าก็สะท้อนอยู่ในมนุษย์

ดังนั้น ซูฟีจึงถือว่ามนุษย์เป็นเหมือนโลกเล็กๆ ซึ่งมีดวงจิตของพระเจ้าอยู่ในระดับสูงสุด เพราะฉะนั้น ซูฟีจึงกล่าวว่า “บุคคลผู้รู้จักตัวเองย่อมรู้จักพระผู้อภิบาลของเขา”

3) หลักการเรื่องโลกภายนอก

สำหรับซูฟีส่วนมากนั้นโลกภายนอกไม่ใช่ของจริงเป็นสิ่งลวง ของจริงอย่างเดียวคือพระเจ้า ไม่มีสิ่งใดนอกจากพระองค์ พระองค์คือแก่นแท้อย่างเดียวที่แฝงอยู่ในปรากฏการณ์ทุกอย่าง

โลกนี้ไม่มีความเป็นอยู่ที่แท้จริง มันเป็นเพียงสิ่งที่ไม่มีอยู่จริงๆ ทุกสิ่งในโลกอยู่กับพระองค์ สิ่งภายนอกทั้งหลายล้วนแต่เป็นสิ่งที่ออกมาจากพระเจ้า

หรือมิฉะนั้นก็เป็นกระจกเงาซึ่งสะท้อนคุณลักษณะของพระองค์

 

ที่กล่าวมาข้างต้นนี้เป็นทรรศนะกว้างๆ เกี่ยวกับโลกภายนอกเท่านั้น แต่ทว่าแต่ละกลุ่มหรือสาขาก็ยังมีทรรศนะแตกต่างออกไปอีกในการตีความเรื่องกระบวนการของจักรวาลและความสัมพันธ์ของจักรวาลที่มีต่อพระเจ้า

ในเรื่องนี้เราอาจแบ่งซูฟีออกได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ คือ

กลุ่มอิญาลียะฮ์

กลุ่มชุฮุดดียะฮ์

และกลุ่มวาญุดดียะฮ์

กลุ่มที่หนึ่งนั้นถือว่าแก่นแท้ของโลกอยู่ข้างนอกแก่นแท้ของพระเจ้า แต่โลกมาจากพระองค์ ถึงแม้ว่าในตอนต้นจะมีแก่นแท้อยู่สองชนิดก็ตาม แต่ในที่สุดเนื้อแท้ของโลกภายนอกก็จะละลายเข้าไปในเนื้อแท้ของพระองค์

ส่วนกลุ่มที่สองก็คิดว่าโลกภายนอกเป็นภาพสะท้อนของพระเจ้า โลกนี้ไม่มีความเป็นอยู่จริงๆ เลย พระเจ้าผู้ทรงเป็นสิ่งจริงแท้สูงสุดสิ่งเดียวนั่นเองที่ทรงสะท้อนภาพของพระองค์ผ่านสิ่งต่างๆ ในโลกนี้

ส่วนกลุ่มที่สามนั้นถือว่าแก่นแท้มีอยู่หนึ่งเดียวเท่านั้น นั่นคือพระเจ้า พระองค์ผู้เป็นสิ่งแท้จริงสูงสุดถูกมองดูจากมุมสองมุมที่ต่างกัน