เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ : ผนึกแน่น ณ แผ่นดิน

ไม่ว่าจะทำหรือไม่ทำอะไร มีสองเรื่องที่ควรคำนึงไว้เสมอ คือ หนึ่ง เงื่อนไข สอง ปัจจัยชี้ขาด

เงื่อนไขกับปัจจัยชี้ขาด

ตัวอย่างที่มักยกมาอธิบาย คือ เรื่องไก่กับไข่ ว่า การที่แม่ไก่จะฟักไข่ให้เป็นตัวได้นั้นต้องครบองค์ประกอบสองข้อคือ

หนึ่ง อุณหภูมิเหมาะสม

สอง ไข่นั้นมีเชื้อที่ทำให้เกิดเป็นตัว

อุณหภูมิเหมาะสม คือ เงื่อนไข

ไข่นั้นมีเชื้อชีวิต คือ ปัจจัยชี้ขาด

สองอย่างนี้ต้องมีครบ ขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้เลย เช่น

แม่ไก่ฟักไข่ให้อุณหภูมิถึงพร้อมที่ไข่จะเกิดเป็นตัวคือลูกเจี๊ยบได้แล้ว เรียกว่ามี “เงื่อนไข” พร้อม ทว่า ไข่ที่ฟักนั้นปราศจากเชื้อชีวิตจะฟักอย่างไร ไก่ก็ไม่เกิดแน่นอน ไข่มีเชื้อหรือไม่มีเชื้อจึงเป็น “ปัจจัยชี้ขาด” ของการฟักไข่ให้เกิดเป็นตัวได้จริง

กลับกัน ไข่ที่มีเชื้ออยู่พร้อมแต่ขาดการฟักของแม่ไก่ จะเป็นด้วยไม่ยอมมากกไข่เลยหรือกกไข่ไม่ครบกำหนด ถึงไข่จะมีเชื้อชีวิตคือ “ปัจจัยชี้ขาด” มีพร้อม แต่ขาด “เงื่อนไข” คือการให้อุณหภูมิที่ถึงพร้อม

ไข่มันก็ไม่เกิดเป็นตัวอยู่ดี

นี้เป็นทฤษฎี เพื่อบรรลุผลสำเร็จหรือไม่สำเร็จ คือล้มเหลว ของการกระทำหรือไม่กระทำการใดๆ ในทุกเรื่อง

 

บ้านเมืองเรายามนี้อยู่ในช่วงต้อง “ตั้งสติ” ด้วยกันชนิดสมควรตระหนักให้ผนึกแน่นเป็นเนื้อเดียวกันว่า

เราจะเป็นอะไร จะทำอะไรกันต่อไป

และอะไรที่ทำให้เราเป็นเราอยู่ ณ วันนี้

การจะเป็นอะไร จะทำอะไร นั้น เป็นเรื่องของ “เงื่อนไข” ส่วนอะไรที่ทำให้เราเป็นเราอยู่ ณ วันนี้ เป็นเรื่องของ “ปัจจัยชี้ขาด”

สมควรต้องสำรวจตรวจสอบอย่างจริงจังและจริงใจถึงความสำคัญของทั้งสองเรื่องนี้ได้แล้ว

 

ที่แล้วๆ มานั้นสังคมไทยเรามักแบ่งสองขั้วความคิดกันอยู่ เช่น ขั้วหนึ่งจะเอา “เงื่อนไข” เป็นหลัก เอาทฤษฎีเป็นกลไกขับเคลื่อน โดยไม่ใส่ใจความเป็นจริงซึ่งคือ “ปัจจัยชี้ขาด” อันเป็นส่วนสำคัญ เปรียบเหมือนมุ่งแต่จะ “ฟักไข่” โดยหาได้สนใจว่าไข่นี้จะมีเชื้อชีวิตหรือหาไม่

อีกขั้วหนึ่งนั้นนอกจากไม่เข้าใจ ไม่ยอมรับ รวมถึงไม่ไว้ใจกับท่าทีของขั้วตรงข้ามที่พยายามจะสร้าง “เงื่อนไข” เพื่อ “ฟักไข่” ให้ได้ ไม่ว่าเป็นไข่อะไรแล้ว ขั้วนี้ก็ยังไม่แน่ว่าจะเป็นไข่ที่มี “เชื้อชีวิต” หรือหาไม่ด้วย

ด้วยเหตุดังนี้ เงื่อนไขก็ไม่พร้อม ปัจจัยชี้ขาดก็ไม่มี แล้วไก่มันจะฟักเป็นตัวได้อย่างไรเล่า…เจ้าประคุณเอ๋ย

ก็ช่วงยามนี้แหละ เป็นช่วงยามเหมาะที่สุดที่เราจะช่วยกันตระหนักผนึกแน่นว่าอะไรเป็นอะไร และจะเป็นอะไร อย่างไร

 

ทางศาสนาบอกว่า ศรัทธากับปัญญานั้นต้องมีอยู่คู่กัน สุดโต่งไปฝ่ายใดฝ่ายเดียวไม่ได้ เปรียบเหมือนวัวเทียมเกวียนต้องเดินให้เสมอเป็นคู่โคไปพร้อมกัน

ศรัทธานำปัญญา ก็จะกลายเป็นโง่งมงายไสยศาสตร์

ปัญญานำศรัทธา ก็จะฟุ้งเฟื่องเขื่องโขโวบ้า

เพราะฉะนั้น มีศรัทธาต้องมีปัญญากำกับ มีปัญญาต้องมีศรัทธากำกับ เสมอกัน เสมือนคู่โคเทียมเกวียนดังกล่าว

สิ่งพึง “ตั้งสติ” ตระหนักรู้ในช่วงยามนี้ สำคัญสามเรื่อง ก็คือ สามสถาบันหลักของชาติ ดังท่องเป็นวาทกรรมว่า ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์นั้นแล

เรารู้เพียงสักว่ารู้ถึงความดีงามสำคัญได้เข้าถึงนัยยะที่เป็นความหมายแต่อย่างใดไม่

นั่นคือ องค์คุณของสามสถาบันนี้ ซึ่งมีอยู่คือ

ชาติ คือ ความมีอารยธรรม

ศาสนา คือ ความมีศานติธรรม

พระมหากษัตริย์ คือ ความมีสามัคคีธรรม

เราล้วนร่วมเทิดทูนสามสถาบันเป็นหลักของชาติ แต่เราเคยตรวจสอบถึงความเป็นองค์คุณแห่งสามสถาบันนี้ว่ามีอยู่หรือไม่

สถาบันชาติ ทำให้คนในชาติสำนึกและตระหนักถึงวิถีอารยะกันอย่างไร นอกจากแค่รณรงค์ไปตามวาระต่างๆ ไม่รวมถึงบางพวกที่ยัง “ล้าหลังคลั่งชาติ” สุดลิ่มทิ่มประตูกู่ไม่กลับไปโน่น

สถาบันศาสนา ทำให้คนในชาติแสวงสันติตามครรลองคลองธรรมได้จริงหรือ

สถาบันพระมหากษัตริย์ ณ ช่วงยามนี้ น่าอัศจรรย์ตรงที่ได้สำแดงให้ปรากฏถึงความสามัคคีธรรมว่ามีอยู่จริงบนแผ่นดินนี้

 

ช่วงยามนี้จึงเป็น “เงื่อนไข” สำคัญที่จะทำอย่างไรให้ “พลังสามัคคี” ของคนไทยอันไม่เคยปรากฏเยี่ยงนี้มาก่อน ได้กลายเป็นพลังสร้างสรรค์สืบไป

จิตสำนึกของเราทุกคนนี่แหละคือ

ปัจจัยชี้ขาด