รับงานหินเจาะอีสาน “สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” โกยคะแนนเข้า พปชร.ได้จริหรือ ?

“สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” หวนกลับสู่สนามการเมืองอีกครั้ง หลังห่างหายไปนานนับ 10 ปี ตั้งแต่ที่พรรคไทยรักไทย (ทรท.) ของทักษิณ ชินวัตร ถูกยุบ กรรมการบริหารพรรคถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองทั้ง 111 คน

กลับมาครั้งนี้ “สุริยะ” จับมือกับ “สมศักดิ์ เทพสุทิน” ดึงมือทำงานอย่าง “เสี่ยแฮงค์” อนุชา นาคาสัย อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย มาร่วมทำงานกับพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) พร้อมดึงหลานโฟม-พงศ์กวิน จึงรุ่งเรืองกิจ เข้าสู่สนามการเมืองครั้งแรก โดยหวังให้เป็นตัวตายตัวแทนทางการเมือง เพราะตัวเองนั้นจะขอทำหน้าที่อยู่เบื้องหลัง ขาดตกบกพร่องอะไรขอให้บอก พร้อมช่วยเต็มที่

ว่ากันว่า “สุริยะ” เป็นหนึ่งในนายทุนใหญ่พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เป็นกลุ่มก้อนที่มีพลังยิ่งใหญ่มหาศาลในพรรค เพราะไม่เพียงแต่ดูด ส.ส.จากพรรคการเมืองอื่นเข้าร่วมอย่างลับๆ แต่ยังมีตำแหน่งหน้าที่ใหญ่โตในพรรคด้วย

“กลุ่มสามมิตร” ที่ “สุริยะ” ปลุกปั้น ส่ง “เสี่ยแฮงค์” และ “เสี่ยโฟม” เข้าไปเป็นกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ ส่ง “ดร.แด๊ก” ธนกร วังบุญคงชนะ เด็กในคาถาของ “สมศักดิ์ เทพสุทิน” ไปเป็นรองโฆษกพรรค

การเลือกตั้งครั้งนี้นับว่าเดิมพันสูงมากสำหรับ “สุริยะ” และพรรคพลังประชารัฐ เพราะความต้องการเป็นพรรคการเมืองใหญ่ ส่ง ส.ส.ลงทุกเขตเลือกตั้ง ที่สำคัญจะต้องเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล มีสิทธิ์เสนอชื่อนายกรัฐมนตรี ชู “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัย

นั่นคือเป้าหมายที่สูงสุด

“สุริยะ” และทีมงานอยู่คนละสายกับ 4 รัฐมนตรีในพรรคพลังประชารัฐอย่างสิ้นเชิง

เพราะในขณะที่ทั้ง 4 คน ไม่ว่าจะเป็นอุตตม สาวนายน, สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์, สุวิทย์ เมษินทรีย์ และกอบศักดิ์ ภูตระกูล มีความเป็นนักวิชาการ และไม่ประสีประสาทางการเมือง ทว่ากลุ่มของ “สุริยะ” กลับล้วนแล้วแต่เป็นนักการเมืองขนานแท้ มีสายสัมพันธ์แนบแน่นกับนักการเมืองทั่วฟ้าเมืองไทย รู้จักวิธีการตกลง ต่อรอง หรือที่เรียกว่าดีลเป็นอย่างดี

“สุริยะ” ยอมเอาด้วยกับพรรคพลังประชารัฐ เพราะ “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” รองนายกรัฐมนตรี ผู้เป็นที่ปรึกษาทางใจแก่ 4 รัฐมนตรี ร้องขอให้เข้ามาใช้ประสบการณ์ทางการเมืองที่มีมากโขให้เกิดประโยชน์ ด้วยการทำงานร่วมกับพรรคพลังประชารัฐ เพื่อสานต่องานของรัฐบาลนี้ที่ “สมคิด” นั่งบริหารอยู่

พรรคพลังประชารัฐตั้งเป้าหลอกๆ ว่าต้องได้ ส.ส.เขต 150 ที่นั่ง เน้นภาคอีสานและภาคเหนือ โดยอีสานตั้งไว้ 60 ที่นั่ง ส่วนภาคเหนือ 40 ที่นั่ง

หลังจากได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ในฐานะยุทธศาสตร์การเลือกตั้งภาคอีสาน “สุริยะ” โหมลงพื้นที่อย่างหนัก พบปะประชาชนหลายวันต่อสัปดาห์

แม้ด้วยบุคลิกแล้ว “สุริยะ” จะเป็นคนพูดไม่เก่ง และไม่ใช่คนช่างพูดมากนัก แต่เมื่อสถานการณ์บังคับให้เขาต้องเป็นผู้นำในการปราศรัย “สุริยะ” จึงใช้ความพยายามอย่างยิ่งยวดในการถือไมโครโฟนพูดกับประชาชน

ในการปราศรัย เขาเน้นไปที่นโยบายบัตรสวัสดิการแห่งรัฐหรือบัตรคนจนของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ โดยพยายามอธิบายว่านโยบายนี้ดีอย่างไร และหากพรรคพลังประชารัฐได้เป็นรัฐบาลแล้ว ประชาชนจะเป็นสุขยิ่งกว่าเดิมจากนโยบายบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ

พรรคพลังประชารัฐทราบว่านับแต่ 4 ปีที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์บริหารประเทศ นโยบายบัตรคนจนนั้นเป็นที่จับต้องได้มากที่สุดแล้ว

พวกเขารู้ว่าคนไทยชอบให้มีการแจกเงิน เพราะได้จริง ใช้จริง ดีกว่าโครงการไทยนิยมยั่งยืนของกระทรวงมหาดไทยเป็นไหนๆ

แม้กระนั้น ถึงคนอีสานจะชอบนโยบายบัตรคนจน แต่ไม่ได้หมายความว่าคนอีสานจะชอบรัฐบาลนี้ เพราะต้องไม่ลืมว่าชื่อของ “ทักษิณ ชินวัตร” และ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ไม่ได้เลือนหายไปจากความทรงจำของคนอีสาน สิ่งที่พวกเขาจดจำคือ มีทหารเข้ามายึดอำนาจจากรัฐบาลที่พวกเขาเลือกเข้ามา เป็นความทรงจำที่ไม่ค่อยดีนักสำหรับพรรคการเมืองที่สนับสนุน “บิ๊กตู่”

ฉะนั้น จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่พรรคจะเจาะภาคอีสานได้สำเร็จอย่างที่ตั้งเป้าหมายเอาไว้

เพราะแม้จะดูด ส.ส.จากพรรคการเมืองอื่นเข้ามาเป็นพวกได้ ทว่า ส.ส.บางจำพวกกลับหาใช่ดาวฤกษ์ที่มีแสงสว่างในตัว

ยังต้องพึ่งพาอาศัยความยิ่งใหญ่ของพรรคอยู่

ขณะเดียวกัน การดูด ส.ส.ของพรรคพลังประชารัฐ ก็ไม่ได้เฉพาะเจาะจงที่เบอร์ 1 หรือเบอร์ 2 ในพื้นที่นั้นๆ แต่อาจเป็นเบอร์ 3 หรือลองๆ ลงมาก็ได้ โดยหวังจากการใช้กระแสของพรรค ที่ชูว่าจะได้กลับมาเป็นรัฐบาลบริหารประเทศอีกสมัย เรียกคะแนนเสียงจากประชาชน

เช่น ในจังหวัดศรีสะเกษเขต 1 มีตัวเต็งอยู่ 2 คนคือ “บิ๊กนาย” ธเนศ เครือรัตน์ ส.ส.หลายสมัยจากพรรคเพื่อไทย และ “เสี่ยโต้ง” สิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ แห่งพรรคภูมิใจไทย แต่พรรคพลังประชารัฐกลับดึงเอานายกล่ำคาน ปาทาน ที่ก่อนหน้านี้จัดอยู่ใน ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรคเพื่อไทย ห่างหายการทำพื้นที่ไปนานนับ 10 ปี มาเป็นผู้สมัคร

เลือกตั้งปี 2554 จังหวัดศรีสะเกษ พรรคเพื่อไทยเหมาไป 7 เขต ภูมิใจไทยเก็บไป 1 เขต สำหรับเลือกตั้งปี 2562 นี้ คาดว่าพลังประชารัฐจะไม่ได้แม้แต่เขตเดียว

ขณะที่อุบลราชธานี มีเพียง 2 เขต จากทั้งหมด 10 เขต ที่พรรคพลังประชารัฐพอจะสามารถแข่งขันได้อย่างดุเด็ดเผ็ดมันและมีโอกาสได้คะแนน นั่นคือเขตนายสุพล ฟองงาม อดีตเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ที่จะส่งลูกสาวลงชิงในสนามการแข่งขันในนามพรรคพลังประชารัฐ และเขตของนายสุทธิชัย จรูญเนตร อดีต ส.ส.เพื่อไทย ส่วนอีก 8 เขตที่เหลือ แทบไม่ต้องวัดดวง

ทั้งนี้ สถิติผลการเลือกตั้งปี 2554 เดิมอุบลฯ มี ส.ส.ทั้งหมด 11 เขต เป็นของเพื่อไทย 7 เขต ประชาธิปัตย์ 3 เขต และชาติไทยพัฒนาอีก 1 เขต

อย่างไรก็ตาม พรรคพลังประชารัฐยังพอมีสิทธิ์ใน 2 เขตของจังหวัดร้อยเอ็ดจากทั้งหมด 7 เขต เพราะได้รัชนี พลซื่อ และเอกภาพ พลซื่อ ซึ่งถือเป็นนักการเมืองชื่อดังในพื้นที่มาลงเลือกตั้งในเขต 2-3

ต้นเดือนมกราคม หลังกระแสข่าวเลื่อนเลือกตั้งออกไปจากเดิมวันที่ 24 กุมภาพันธ์ มีกระแสลืออย่างหนักว่าคะแนนความนิยมของพรรคพลังประชารัฐไม่ดีอย่างที่คาดหวัง เพราะในขณะที่แกนนำออกมาประกาศปาวๆ ว่ากระแสดีวันดีคืน คนสนับสนุนเยอะ และได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลแน่นอน

นั่นเป็นเวลาเดียวกับที่มีการประเมินแล้วว่า กระแสของพรรคไม่ได้เป็นไปอย่างนั้น จึงเป็นเหตุของความไม่พร้อมในการลงสนามการเลือกตั้ง ซึ่งการเลื่อนเลือกตั้งออกไปก็ย่อมเป็นผลดีต่อพรรคพลังประชารัฐเอง

อย่างไรก็ต้องไม่ลืมว่า ไม่เพียงแต่พรรคพลังประชารัฐที่จะได้อานิสงส์จากการเลื่อนการเลือกตั้ง เพราะพรรคอื่นก็ได้อานิสงส์เช่นกัน โดยเฉพาะพรรคใหญ่ที่ได้เปรียบกว่า

จึงน่าจับตาว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นเมื่อใด และใครจะมาวิน