จีนยุคบุราณรัฐ : ร้อยสำนักเปล่งภูมิ (12)

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

สำนักหมิงกับวาทนิยม (ต่อ)

แต่ก็ด้วยเหตุที่แนวทางการเล่นโวหารหรือตีสำนวนเพ่งไปที่ชื่อ (หมิง) กับความเป็นจริง (สือ) สำนักนี้จึงถูกเรียกว่า “สำนักหมิง” (สำนักนาม) ถึงกระนั้น โวหารที่สำนักนี้นำมาใช้เป็นแนวทางในการอธิบายสรรพสิ่งจนโดดเด่น ฐานะทางปรัชญาของสำนักนี้จึงมิใช่อะไรอื่น หากคือสำนักของกลุ่มนักเล่นสำนวนโวหารหรือพวกโซฟิสต์ส (sophists) ซึ่งทางตะวันตกในยุคอักษายนะก็มีกลุ่มคนเหล่านี้ด้วยเช่นกัน

ปรากฏการณ์ของพวกโซฟิสต์สของตะวันตกไม่ได้มีความแตกต่างไปจากจีนมากนัก คือเป็นกลุ่มบุคคลที่มีอาชีพเป็นครูบาอาจารย์ ผู้บรรยาย หรือนักคิดนักเขียน ซึ่งกรณีจีนก็คือพวกที่มีภูมิหลังเป็นวิชาธรทั้งหลาย

ครั้นเวลาผ่านไป จำนวนหนึ่งของคนกลุ่มนี้ก็เห็นถึงความสำคัญของความรู้ที่ว่าด้วยศิลปะในการพูด และได้พัฒนาความรู้นี้จนกลายเป็นวาทศาสตร์ และเมื่อวาทศาสตร์ของคนกลุ่มนี้เริ่มประสบผลสำเร็จขึ้นมา

คนกลุ่มนี้จึงเรียกตนเองว่า โซฟิสต์ส หรือ นักวาทนิยม

การเป็นโซฟิสต์สหรือนักวาทนิยมที่ประสบผลสำเร็จเท่ากับสะท้อนให้เห็นว่า นักวาทนิยมเหล่านี้ย่อมต้องเป็นพวกที่มี “วาจาดี” จนสามารถพูดจาโน้มน้าวให้ผู้ฟังหรือศิษยานุศิษย์ของตนคล้อยตามได้ง่าย

แต่ประเด็นที่โดดเด่นของการมี “วาจาดี” นี้มิได้อยู่ที่การพูดเรื่องยากๆ ให้เข้าใจง่าย หรือการสร้างเรื่องโกหกพกลมมาให้ผู้คนหลงเชื่อ

หากแต่อยู่ตรงการอธิบายเรื่องที่ผู้คนเคยเข้าใจหรือรับรู้มาอย่างหนึ่งให้เป็นอีกอย่างหนึ่ง ด้วยการยกเอาตรรกะหรือเหตุผลมาใช้ได้อย่างแนบเนียนจนชวนให้คล้อยตาม จนกระทั่งโอ้อวดตนในทางนี้ว่าสามารถ “ทำเหตุผลที่เลวที่สุดเป็นเหตุผลที่ดีกว่า” ได้เป็นอย่างดี

ความสามารถเช่นนี้ถือเป็นพื้นฐานสำคัญสำหรับผู้ที่แสวงหาความก้าวหน้าทางการเมือง

เพราะการเมืองคืออาชีพที่เหนืออาชีพอื่นทั้งปวง ด้วยเป็นอาชีพที่ให้ทั้งอำนาจ ชื่อเสียง และโภคทรัพย์

นอกจากนี้ก็ยังเป็นพื้นฐานสำคัญสำหรับการใช้ในการให้การแก่คดีต่างๆ จนชนะคดี ที่สำคัญคือ การชนะคดีนี้ล้วนมาจากทักษะของการใช้ “วาจาดี” มากกว่ามูลเหตุแห่งความเป็นธรรม ซึ่งคนกลุ่มนี้มิให้ความใส่ใจในเรื่องการแสวงหาความจริงอย่างมีวินัยอยู่แล้ว

จากเหตุนี้ นักปราชญ์อย่าง เพลโต อริสโตเติล และอริสทาเฟอนีซ จึงไม่เห็นด้วยและไม่ยอมรับคนกลุ่มนี้ และมองคนกลุ่มนี้ว่าเป็นพวกสิบแปดมงกุฎที่เน้นวาทศาสตร์มากกว่าความรู้บริสุทธิ์ พูดคุยโต้เถียงเพียงเพื่อจะเอาชนะเท่านั้น

จะเห็นได้ว่า กงซุนหลงมีความแตกต่างกับพวกโซฟิสต์สไม่มากนัก โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาจากกรณี “ม้าขาวมิใช่ม้า”

อนึ่ง กงซุนหลงคือผู้นำคนหนึ่งของสำนักหมิง (ประมาณ 320-250 ปีก่อน ค.ศ.) เป็นคนรัฐจ้าว มีชื่อเสียงในฐานะวิชาธรที่สันทัดในการใช้สำนวนโวหารในยุครัฐศึก โดยเฉพาะในช่วงระหว่าง 284-259 ปีก่อน ค.ศ. นั้น จัดเป็นช่วงที่รุ่งเรืองที่สุด

ทั้งนี้ นอกจากกงซุนหลงแล้วก็ยังมีปราชญ์ทางวาทศาสตร์อีกผู้หนึ่งที่มีชื่อเสียงมาก่อนเขา นั่นคือ ฮุ่ยซือ (ประมาณ 370-310 ปีก่อน ค.ศ.) ซึ่งเป็นชาวรัฐซ่ง บางที่ก็เรียกเขาว่า ฮุ่ยจื่อ

อย่างไรก็ตาม ผลงานของฮุ่ยซือได้สูญหายไปจนสิ้น แต่ที่ทำให้รู้ถึงหลักคิดของเขานั้นก็เพราะมีกล่าวเอาไว้ในปกรณ์ จวงจื่อ ซึ่งแม้จะมีข้อความไม่มากนัก แต่ก็ให้ความรู้ความเข้าใจในหลักคิดของฮุ่ยซือได้พอสมควร

ทั้งนี้ ควรกล่าวด้วยว่า การที่หลักคิดของฮุ่ยซือไปปรากฏอยู่ในปกรณ์เล่มนี้อาจเพราะฮุ่ยซือเป็นเพื่อนกับจวงจื่อก็เป็นได้ ถึงแม้จวงจื่อจะสมาทานสำนักเต้า ซ้ำที่กล่าวถึงฮุ่ยซือในปกรณ์เล่มที่ว่าจะเป็นไปในเชิงวิจารณ์ก็ตาม

จวงจื่อ ในส่วนที่กล่าวถึงหลักคิดของฮุ่ยซือปรากฏอยู่ในบท “เทียนเซี่ย” (ใต้หล้า) โดยเริ่มเกริ่นนำว่า ฮุ่ยซือมีหลักคิดอันมากมาย งานเขียนของเขาอาจนำมาบรรจุใส่รถม้าได้ถึงห้าคันรถ แต่หลักคิดเหล่านั้นดูสับสนวุ่นวายและขัดแย้ง ทั้งถ้อยคำก็เลื่อนลอย จากนั้นตัวบทดังกล่าวก็ยกเอาหลักคิดของเขามาแสดงไว้

ซึ่งในที่นี้จะยกเอาเฉพาะข้อความบางตอนมาให้เห็นเป็นตัวอย่าง

เช่น “สิ่งที่ไร้ความหนา ไม่อาจสั่งสมเพิ่มพูน กระนั้นก็มีความสูงนับพันหลี่ (ลี้)…ข้าออกเดินทางไปยังรัฐเย่ว์วันนี้ และไปถึงเมื่อวันวาน” หรือ “ไข่มีขน ไก่มีสามขา…สุนัขอาจถือเป็นแกะ ม้าออกไข่ คางคกมีหาง ไฟไม่ร้อน….ล้อไม่เคยสัมผัสพื้น ตาไม่ได้แลเห็น…เต่ายาวกว่างู ไม้ฉากหาใช่มุมฉากไม่ วงเวียนไม่อาจขีดวาดวงกลม…สุนัขขาวมีสีดำ ลูกม้ากำพร้าไม่เคยมีแม่…” เป็นต้น

จะเห็นได้ว่า ลักษณะการใช้โวหารมิได้ต่างไปจากกรณีกงซุนหลงแต่ประการใด และบางทีอาจเป็นต้นแบบให้แก่กงซุนหลงหรือสำนักหมิงด้วยซ้ำไปก็เป็นได้

ที่น่าสนใจก็คือ เมื่อสิ้นข้อความตามที่ยกมาแล้ว จวงจื่อ ในบทนี้ก็กล่าวต่อไปว่า ถ้อยคำดังกล่าวของฮุ่ยซือล้วนได้รับการตอบรับขับขานจากบรรดานักโวหาร สร้างความงุนงงแก่จิตใจของมนุษย์ ชักนำให้ไขว้เขวหลงผิด

พร้อมกันนั้นก็เล่าต่อไปว่า วันแล้ววันเล่า ฮุ่ยซือเพียรใช้ความรู้ของเขาในการประคารมกับผู้อื่น คิดหาวิธีสร้างความพิศวงแก่นักโวหาร สิ่งใดที่ขัดแย้งต่อทัศนะของผู้อื่น ฮุ่ยซือก็ประกาศยกสิ่งนั้นขึ้นเป็นสัจจะ โดยมุ่งหวังเพียงเอาชนะผู้อื่นเพื่อสร้างชื่อของตนให้ระบือ

จากนั้นจึงวิจารณ์ฮุ่ยซือว่า อ่อนแอต่อคุณธรรมภายใน แต่แข็งแกร่งในการคิดเรื่องภายนอก และเดินบนเส้นทางที่หลอกลวงปลิ้นปล้อน จนในที่สุดเขาก็เป็นที่รู้จักกันแต่เพียงความสามารถด้านการแสดงโวหาร โดยที่มิได้บรรลุสิ่งใดอย่างแท้จริงเลย

ถ้อยวิจารณ์ใน จวงจื่อ นี้ทำให้เห็นว่า สำนักหมิงมีหลักคิดและนิยามที่มิได้แตกต่างไปจากที่พวกโซฟิสต์สเป็นแม้แต่น้อย ทั้งนี้โดยที่มิพักใช้ทัศนะปัจจุบันมาพิจารณาหลักคิดของสำนักนี้แต่อย่างไร หากแม้แต่ทัศนะเมื่อนับพันปีก่อนก็พิจารณาไปแล้วในระดับที่แน่นอน ดังจะเห็นได้จากที่ จวงจื่อ ได้แสดงให้เป็นที่ประจักษ์แล้ว

ประเด็นคำถามจึงมีว่า ในเมื่อสำนักหมิงมีหลักคิดเพียงแค่วาทศาสตร์ แต่เหตุใดจึงได้รับการยอมรับให้เป็นสำนักปรัชญาไปด้วยเล่า?

คําตอบของคำถามนี้อาจพบได้ในคำอธิบายของนักปรัชญาจีนที่มีชื่อเสียงคนหนึ่งในศตวรรษที่ 20 คือ เฝิงโหย่วหลัน ที่กล่าวว่า สำนักหมิงได้อาศัยการวิเคราะห์นาม (หมิง) และความสัมพันธ์และความแตกต่างระหว่างนาม (หมิง) กับความเป็นจริง (สือ) จนค้นพบสิ่งที่นักปรัชญาจีนเรียกว่า “โลกที่เหนือรูปลักษณ์”

ซึ่งในปรัชญาจีนมีการแบ่งสิ่งที่เรียกว่า “ภายในรูปลักษณ์” ออกจาก “ภายนอกรูปลักษณ์” โดยสิ่งที่อยู่ “ภายในรูปลักษณ์” คือ ความเป็นจริง (สือ) เช่น เตี้ย ต่ำ ดำ ขาว ฯลฯ ที่สามารถสัมผัสได้

เช่น สามารถเห็นสิ่งที่เป็นสีขาวได้ แต่กลับมองไม่เห็นสามัญลักษณ์ของสีขาวได้ สามัญลักษณ์ที่มีนาม (หมิง) บ่งชี้ได้ล้วนอยู่ใน “โลกที่เหนือรูปลักษณ์” แต่สามัญลักษณ์ที่อยู่ใน “โลกที่เหนือรูปลักษณ์” กลับไม่มีนามให้บ่งชี้ได้ทั้งหมด

โดยเฝิงโหย่วหลันเห็นว่า เจตนารมณ์ของสำนักหมิงนั้น แท้จริงแล้วต้องการให้ราษฎรสำรวจตรวจสอบให้ดีก่อนที่จะเรียกขานนามแต่ละนาม เพื่อให้การเรียกขานนามเป็นไปอย่างถูกต้อง นั่นคือ ทำให้นาม (หมิง) สอดคล้องกับความเป็นจริง (สือ) นั้นเอง

หากคำอธิบายของเฝิงโหย่วหลันที่มองเห็นแง่ที่เป็นปรัชญาของสำนักหมิงเป็นเรื่องที่ยอมรับกันได้แล้ว ปัญหาก็ยังมีต่อไปว่า ถ้าเช่นนั้นแล้วจะมีราษฎรสักกี่คนที่สามารถตรวจสอบนาม (หมิง) ได้อย่างที่สำนักหมิงทำ

ทั้งนี้ ยังมิพักที่จะต้องถามถึงความจำเป็นที่จะต้องตรวจสอบด้วยซ้ำไป ว่าเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตตามปกติอย่างไร