ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ : ยอร์ช วอชิงตัน กับสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว “เสรีชน” ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

ในรายการเครื่องบรรณาการถวายพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 และสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่นายทาวน์เซนด์ แฮร์ริส (Townsend Harris) ทูตจากสหรัฐอเมริกา ที่ประธานาธิบดีแฟรงกลิน เพียร์ซ (Franklin Pierce) ประธานาธิบดีคนที่ 14 แห่งสหรัฐอเมริกา ส่งมาเมื่อปี พ.ศ.2399 มีภาพวาดประธานาธิบดีคนแรกของอเมริกันชนอย่าง “ยอร์ช วอชิงตัน” (George Washington) ขนาดเท่าตัวจริง ฝีมือของเรมบรันต์ พีล (Rembrandt Peale) ศิลปินชื่อดังชาวอเมริกัน รวมอยู่ด้วยทั้งสองพระองค์

เฉพาะภาพวาดที่ทูลเกล้าฯ ถวายให้รัชกาลที่ 4 ปัจจุบันไม่ทราบไปอยู่ไหน?

แต่ภาพวาดที่นำมาทูลเกล้าฯ ถวายให้แด่สมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ยังพอสืบสาวได้ว่าแขวนอยู่ที่พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์

ปัจจุบันอยู่ในเขตพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ข้างท้องสนามหลวงนี้เอง

สิ่งที่น่าสนใจก็คือ การที่ภาพวาดของประธานาธิบดีคนแรกของชาวอเมริกันนี้ ยังถูกเก็บรักษา และจัดแสดงเป็นอย่างดีในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ที่กลายสภาพมาจาก “วังหน้า” ซึ่งก็คือวังของสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ นี่แหละครับ

 

การที่ยอร์ช วอชิงตัน ได้รับการยกย่องจากเหล่าอเมริกันชนให้เป็น “บิดาแห่งสหรัฐอเมริกา” เหตุผลที่สำคัญส่วนหนึ่ง ย่อมมาจากการที่ท่านเป็นหัวหอกในการปลดเปลื้องชาวอเมริกัน ออกจากแอกอาณานิคมของอังกฤษ

เพราะการประกาศ “เอกราช” ของประธานาธิบดีวอชิงตัน ไม่ได้นำมาเพียงแค่ “เสรีภาพ” ของสหรัฐอเมริกา แต่ยังเป็นการสร้างอเมริกาให้เป็นประเทศที่มี “อัตลักษณ์” เฉพาะตน โดยเฉพาะอัตลักษณ์ในแง่บวกสำหรับโลกที่อ้างอุดมการณ์ประชาธิปไตยอีกด้วย

เอกราชที่ว่ายังส่งผลให้อเมริกันชนไม่ได้เป็นเพียงแค่พวกยุโรปอพยพที่ไปรุกรานพวกอเมริกันอินเดียน เจ้าของพื้นที่ดั้งเดิมอีกต่อไปแล้ว แต่ได้กลายเป็น “คน” หรือเสียงกลุ่มใหญ่ที่ครอบครองอำนาจการเมืองการปกครองในพื้นที่ที่ถูกเรียกว่า “ดินแดนแห่งเสรีภาพ”

ดินแดนที่ว่าเป็นโลกใหม่ที่ไม่ได้ใหม่เฉพาะในแง่ความรู้จักมักคุ้นของชาวโลกเก่า (คือ ยุโรป เอเชีย และแอฟริกา) แต่ใหม่ในอุดมการณ์ที่คัดง้างกับลัทธิอาณานิคมของโลกฝั่งฟากยุโรป (แม้จะเป็นไปอย่างผิวเผิน) และเป็นตัวอย่างสำคัญของการต่อสู้กับระบบราชาธิปไตยแบบเก่าของอังกฤษ สู่ระบบสาธารณรัฐยุคเริ่มต้นของสหรัฐอเมริกา

ยอร์ช วอชิงตัน จึงกลายเป็นภาพแสดงแทน (representation) ของจุดหักเหดังกล่าว โดยเฉพาะเมื่อท่านตรากตรำทำการ จนปลดแอกจากการเป็นอาณานิคมของอังกฤษได้จนสำเร็จ

 

จึงไม่แปลกอะไรเลยนะครับ ที่เมื่อครั้งหนึ่งนั้น รูปของยอร์ช วอชิงตัน ถูกนำเสนอในฐานะเทพเจ้าผ่านเสื้อผ้าหน้าผม และอิริยาบถอย่างโรมัน เช่น ประติมากรรมหินอ่อนรูปยอร์ช วอชิงตัน ถูกนำมาประดิษฐานที่ดอริก ฮอลล์ แห่งแมสซาชูเซตส์ สเตต เฮาส์ (Doric Hall of the Massachusetts State House) ที่ทำการของรัฐในเมืองบอสตัน เมื่อปี พ.ศ.2369 แล้วจะไม่ได้รับความนิยมเอาเสียเลย เพราะเทพเจ้าของพวกโรมันเข้ากันไม่ได้กับอุดมการณ์ของอเมริกันชนอย่างเห็นได้ชัด

ก็สหรัฐอเมริกาในฐานะประเทศแห่งเสรีภาพ จะมีบิดาแห่งประวัติศาสตร์อยู่ในรูปลักษณ์ของเทพเจ้าได้อย่างไรกันเล่าครับ?

รูปของยอร์ช วอชิงตัน ภายใต้ภาพลักษณ์ของมหาเทพโรมันจึงไม่ได้รับการต้อนรับจากหมู่อเมริกันชน ที่เชื่อในความเป็นมนุษย์

และโปรดอย่าลืมว่า ความเชื่อเกี่ยวกับเรื่องเทพเจ้าในโรมเป็นแบบพหุเทวนิยม (polytheism) มนุษย์สามารถสืบหน่อเนื้อเชื้อไขมาจากเทพ หรือที่ยกตนเองเทียบเท่ากับเทพเจ้าไปเลยก็มี

ต่างไปจากศาสนาที่บทบาทในโลกตะวันตกตั้งแต่ช่วงปลายของจักรวรรดิโรมันอย่างศาสนาคริสต์ ที่เชื่อว่าเทพเจ้ามีองค์เดียว (monotheism) นอกเหนือจากพระเจ้า จึงไม่มีสิ่งมีชีวิตไหนยิ่งใหญ่ไปกว่าพระองค์

ทุกคนเป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียม แม้กระทั่งกษัตริย์ก็ยังเป็นเพียงมนุษย์ ผิดกับศาสนาจากโลกตะวันออกอย่างพุทธ อย่างพราหมณ์ ที่กษัตริย์มักจะอวตาร หรือสืบสายมาจากทวยเทพ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

ยอร์ช วอชิงตัน จึงประกาศเสรีภาพเหนืออำนาจแห่งมนุษย์ด้วยกันเอง ไม่ใช่เทพเจ้า หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์จากที่ไหน

ภาพของท่านประธานาธิบดีที่แสดงออกในรูปของมนุษย์ ในท่วงท่าอย่างนายพล หรืออีลิตชั้นสูงจึงเป็นสิ่งที่นิยมมากกว่า จนถูกผลิตซ้ำ และส่งต่อความหมายในภาพออกไปยังภูมิภาคอื่นๆ ของโลก

พร้อมกันนั้นเองรูปลักษณ์ของท่านก็อยู่ในลักษณาการที่หนุ่มกว่าช่วงสุดท้ายในชีวิตที่ใครๆ ได้พบเห็น

ในกรณีนี้ผู้ผลิตภาพเหมือนของยอร์ช วอชิงตัน จึงเป็นอเมริกันชนมากกว่านายยอร์ช วอชิงตัน เองเสียอีกนะครับ ความเหมือนในภาพวาดจึงเป็นสิ่งที่เหมือนกับความคาดหวัง หรือจินตกรรมของชาวอเมริกันที่มีต่อบิดาแห่งประเทศของพวกเขา มากกว่าความเหมือนต่อวัตถุธาตุ

และก็เป็นภาพเหมือนในฐานะมนุษย์ธรรมดาๆ ของประธานาธิบดียอร์ช วอชิงตัน อย่างนี้นี่แหละ ที่ถูกแขวนเอาไว้ที่พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์ ตราบจนกระทั่งทุกวันนี้

 

เป็นที่รู้กันดีว่า สมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ เป็นเชื้อพระวงศ์ที่นิยมศึกษาหาความรู้สมัยใหม่ และติดตามเรื่องราวข่าวสารในโลกตะวันตกเป็นชีวิตจิตใจ

ลักษณะอย่างนี้ทำให้ฝรั่งมองสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ว่าเป็นผู้มี “อารยะ” ยิ่งไปกว่านั้นยังมองพระองค์ “ต่าง” ไปจากชาวตะวันออกอื่นๆ ที่พวกฝรั่งสมัยนั้นมักจะดูแคลนว่าล้าสมัย

“ยอร์ช วอชิงตัน” ใน “ภาพเหมือน” คงจะถูกพระทัยของสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ เป็นที่สุด ก็ขนาดว่าพระองค์เคยพระราชทานนามพระโอรสองค์โตของพระองค์ ในเจ้าจอมมารดาเอมว่า “ยอช วอชิงตัน” ตามชื่อบิดาแห่งสหรัฐอเมริกาคนดังกล่าว (ภายหลังเมื่อรัชกาลที่ 4 ขึ้นครองราชย์ ได้พระราชทานพระนามให้เจ้าชายยอช วอชิงตัน เสียใหม่ว่า “พระองค์เจ้ายอดยิ่งยศ” ต่อมาคือ “กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ” วังหน้าพระองค์สุดท้ายของสยาม)

ดังนั้น ผมคงไม่ต้องพรรณนาความใดๆ เพิ่มเติมให้มากความ เพราะว่าในสมัยของพระองค์ “ยอร์ช วอชิงตัน” คือฮีโร่แห่งความเป็นอารยธรรมอเมริกันผิวขาว

และก็น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งด้วยว่า ถ้าภาพของยอร์ช วอชิงตัน ที่ถูกนำมาถวายเป็นเครื่องราชบรรณาการแก่สมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ เป็นรูปท่านประธานาธิบดีในฐานะเทพเจ้าโรมันแล้ว พระองค์จะทรงตั้งโชว์เอาไว้ในพระที่นั่งองค์เดียวกันนี้หรือไม่?

น่าแปลกดีนะครับ มีแต่คนบอกว่าสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ชื่นชมตะวันตก โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา แต่ไม่ยักจะมีใครบอกว่าโดยเนื้อแท้แล้ว พระองค์ยกย่องเสรีชน ทั้งที่จริงๆ แล้วพระองค์เองก็ทรงประพฤติพระองค์อย่างเสรีชนโดยไม่ผิดเพี้ยน ดังนั้น จึงไม่แปลกอะไรที่รูปของยอร์ช วอชิงตัน จะถูกแขวนไว้ในที่ประทับส่วนพระองค์ แม้จนกระทั่งทุกวันนี้ที่วังหน้า ได้ถูกแปรสภาพไปเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร โดยสมบูรณ์แล้วก็ตาม