โฟกัสพระเครื่อง/โคมคำ เหรียญที่ระลึกฉลองเจดีย์ หลวงปู่ตื้อ อจลธัมโม มงคลวัดป่าอรัญญวิเวก

หลวงปู่ตื้อ อจลธัมโม

โฟกัสพระเครื่อง/โคมคำ [email protected]

เหรียญที่ระลึกฉลองเจดีย์

หลวงปู่ตื้อ อจลธัมโม

มงคลวัดป่าอรัญญวิเวก

 

“หลวงปู่ตื้อ อจลธัมโม” พระเกจิอาจารย์สายวิปัสสนากัมมัฏฐานชื่อดัง อดีตเจ้าอาวาสวัดป่าอรัญญวิเวก บ้านข่า ต.บ้านข่า อ.ศรีสงคราม จ.นครพนม พระเถระชื่อดังที่ได้รับความเลื่อมใสศรัทธา

เป็นกัมมัฏฐานศิษย์หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต บูรพาจารย์สายพระป่า ที่ได้ติดตามบำเพ็ญกัมมัฏฐาน เผยแผ่ธรรมคำสอน ตลอดจนร่วมเดินธุดงค์ไปตามป่าเขาทั่วทุกหนทุกแห่งทั่วทั้งภาคเหนือและอีสาน

อีกทั้งเป็นสหธรรมิกกับหลวงปู่แหวน สุจิณโณ ด้วย

หลวงปู่ตื้อ สร้างวัดป่าขึ้นหลายแห่งที่ จ.เชียงใหม่ จนเป็นที่เคารพของชาวล้านนา ก่อนมุ่งหน้าไปตามป่าเขา บำเพ็ญเพียรบนภูเขาควาย ไปจนถึงประเทศพม่า

เมื่อปี พ.ศ.2516 นำช่างฝีมือมาก่อสร้างเจดีย์วัดป่าอรัญญวิเวก เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ เป็นเจดีย์ทรงระฆังคว่ำสูงร่วม 10 เมตร

ในปีดังกล่าว คณะศิษย์โรงเรียนจ่าอากาศดอนเมือง จัดสร้างเหรียญวัตถุมงคลที่ระลึกมอบให้ผู้ที่มาร่วมงานฉลองสมโภชเจดีย์

ลักษณะเป็นเหรียญชนิดกลม พ.ศ.2516 มีหู เนื้อกะไหล่เงิน กะไหล่ทองรมดำ แต่ไม่ทราบจำนวนการจัดสร้างเหรียญที่แน่ชัด

ด้านหน้าเหรียญ มีรูปเหมือนหลวงปู่ตื้อห้อยลูกประคำ นั่งขัดสมาธิเต็มองค์บนฐาน ด้านข้างเหรียญมีจุดไข่ปลาล้อมรอบ ด้านล่างใต้ฐาน เขียนตัวหนังสือนูน คำว่า “พระอาจารย์ตื้อ อจลธัมโม” ส่วนด้านข้างหลวงปู่ตื้อบริเวณหัวไหล่ ตอกโค้ด จอ. หมายถึงชื่อโรงเรียนจ่าอากาศ

ด้านหลังเหรียญ ประดิษฐานรูปเจดีย์ ด้านล่างมีอักขระเรียงกัน 3 แถว ถัดลงมาระบุ รร.จอ. สร้างถวาย ๒๕๑๖ ขอบเหรียญจากขวาไปซ้ายสลักคำว่า “ที่ระลึกฉลองเจดีย์วัดป่าอรัญญวิเวก ต.ท่าบ่อ อ.ศรีสงคราม จ.นครพนม”

เหรียญรุ่นนี้ ได้รับเมตตาจากหลวงปู่ตื้ออธิษฐานจิตปลุกเสกเดี่ยว

กล่าวขานกันว่าเหรียญรุ่นนี้เป็นวัตถุมงคลที่มีประสบการณ์ ทำให้เป็นที่ปรารถนาของบรรดานักสะสมและนิยมพระเครื่องทั้งในภาคเหนือและอีสาน นับวันจะหายาก

เหรียญหลวงปู่ตื้อ (หน้า)

 

สําหรับหลวงปู่ตื้อ เกิดในสกุลปลิปัตต์ เมื่อวันจันทร์ที่ 3 กุมภาพันธ์ 2431 เป็นชาวบ้านข่า ต.บ้านข่า อ.ศรีสงคราม ช่วงเยาว์วัยอาศัยวัดเป็นลูกศิษย์วัด ด้วยอุปนิสัยรักสงบ จึงเข้าพิธีบรรพชา

ครั้นอายุ 21 ปี เข้าพิธีอุปสมบทครั้งแรกในฝ่ายมหานิกาย โดยมีพระอุปัชฌาย์คาน อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม เป็นพระอุปัชฌาย์

ด้วยนิสัยใฝ่ศึกษาเล่าเรียนและชอบค้นคว้า หลังจากออกพรรษาได้เดือนเศษ จึงเดินเท้าระยะทาง 51 กิโลเมตร ไปศึกษาพระปริยัติธรรม วิชาบาลีสนธิ์นามและมูลกัจจายน์ ที่วัดโพธิ์ชัย อ.ท่าอุเทน ที่มีชื่อเสียงมากขณะนั้น ใช้เวลา 4 ปีเต็ม

เดินธุดงค์แสวงความหลุดพ้น แวะพักทำกัมมัฏฐานที่พระบาทบัวบก อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี ผ่าน จ.หนองคาย ไปฝั่งลาวนครเวียงจันทร์ ก่อนมุ่งหน้าไปบำเพ็ญเพียรภาวนาที่เชิงภูเขาควาย ที่เต็มไปด้วยป่าทึบและภยันตรายเป็นเวลา 4 เดือนเต็ม

จากนั้นเดินทางต่อไปยังหลวงพระบาง ผ่านเมืองแมด เมืองกาสี และเข้าสู่เขตเมืองเชียงตุง ประเทศพม่า เรียนคาถาอาคมในการเดินทาง เพื่อความปลอดภัยกับพระพม่า ค่ำที่ไหนนอนที่นั่น แต่ละวันท่านจะเดินทางเฉลี่ย 7-10 กิโลเมตร

ก่อนมุ่งหน้ากลับเข้าประเทศไทย มุ่งหน้าสู่ จ.เชียงใหม่ เนื่องจากทราบว่า ขณะนั้นพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต และพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ มาพำนักสอนและอบรมกัมมัฏฐาน

หลังไปกราบพระอาจารย์มั่น ที่วัดเจดีย์หลวง อ.เมือง จ.เชียงใหม่ จึงญัตติเป็นฝ่ายธรรมยุต โดยมีพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ เป็นพระอุปัชฌาย์, พระครูศรีพิศาลสารคุณ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระครูนพีสีพิศาลคุณ เป็นพระอนุสาวนาจารย์

เหรียญหลวงปู่ตื้อ (หลัง)

 

หลวงปู่ตื้อชอบอากาศทางภาคเหนือ สามารถบำเพ็ญธรรมได้โดยสงบ

ต่อมาได้สร้างวัดป่ากัมมัฏฐานขึ้นหลายแห่งคือ วัดป่าดาราภิรมณ์ อ.แม่ริม, วัดป่าสามัคคีธรรม อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ ซึ่งวัดป่าที่ อ.แม่แตงแห่งนี้ เป็นวัดที่พระอาจารย์ตื้ออยู่จำพรรษานานที่สุด

ขณะธุดงค์กับพระอาจารย์มั่นไปตามสถานที่ต่างๆ จนพระอาจารย์มั่นกลับอีสานแล้ว แต่หลวงปู่ตื้อกลับเดินธุดงค์ต่อ

จนกระทั่งในปี พ.ศ.2514 หลังจากออกพรรษา ลูกหลานและทายกทายิกาชาวนครพนม ได้ไปกราบอาราธนานิมนต์ให้กลับไปจำพรรษาที่วัดป่าอรัญญวิเวก ต.บ้านข่า อ.ศรีสงคราม จ.นครพนม

เมื่อกลับสู่มาตุภูมิ ได้นำช่างมาก่อสร้างเจดีย์ สร้างเสร็จในปี พ.ศ.2516 และบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ พร้อมจัดงานฉลองสมโภช บวชชีพราหมณ์ 230 คน ตลอดจนแสดงธรรมโปรดญาติโยมไม่ว่างเว้น และอบรมพระภิกษุ-สามเณรให้รู้จักปฏิบัติกัมมัฏฐานอย่างแท้จริง

วันที่ 19 กรกฎาคม 2517 หลังจากเทศนาให้โอวาทพระภิกษุสามเณรที่มาถวายสักการะ หลวงปู่ตื้อได้หมดลม เนื่องจากร่างกายอ่อนเพลีย ก่อนมรณภาพลงอย่างสงบ เวลา 19.05 น. สิริรวมอายุ 86 ปี พรรษา 65