สมหมาย ปาริจฉัตต์ : เปิดตัว “ซูปเปอร์บอร์ด” สานปฏิรูปการศึกษา “สำเร็จ” หรือ “ล้มเหลว”?

สมหมาย ปาริจฉัตต์

ซูเปอร์บอร์ดมาแล้ว

ตอนที่แล้วผมย้อนความหลังเรื่องการจัดทำแผนพัฒนาการศึกษาจังหวัดและกลุ่มจังหวัดซึ่งเคยมีมาแล้วตั้งแต่ปี 2553 แต่ไม่ได้ปฏิบัติจริง แพลนแล้วนิ่ง (ฮา) จนมาถึงยุคแม่น้ำห้าสายมีคำสั่งปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาค แนวคิดบริหารการศึกษาเชิงพื้นที่มาแรง ใช้จังหวัดเป็นตัวตั้ง มีแผนพัฒนาการศึกษาจังหวัดและกลุ่มจังหวัดเป็นลายแทง ก็ยังไม่คืบหน้าไปถึงไหน

เหตุส่วนหนึ่งเพราะปัญหาช่องว่างระหว่างศึกษาธิการจังหวัด กรรมการศึกษาธิการจังหวัด กับเขตพื้นที่การศึกษา ยังไม่ยอมรับการแบ่งสรรอำนาจ หน้าที่ ภารกิจกันจนลงตัว กรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการหาทางแก้กันไป

รอเวลาให้เกิดคณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติชุดใหม่ หรือที่เรียกกันว่าซูเปอร์บอร์ดขึ้นก่อน ตามร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ที่เพิ่งผ่านการลงมติเห็นชอบวาระแรกจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2561

โดย กอปศ.เสนอแนวทางปรับโครงสร้างกระทรวงศึกษาธิการใหม่ แบ่งเป็นสองส่วน คือ กลไกขับเคลื่อนทางนโยบายการปฏิรูปการศึกษา ได้แก่ คณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติและสำนักงานคณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติ ทำหน้าที่จัดทำแผนการศึกษาแห่งชาติเพื่อขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาในระยะยาวและในส่วนของสถานศึกษาที่มีความเป็นอิสระ

สำหรับโครงสร้างปัจจุบัน เสนอแนวคิดว่า กระทรวงศึกษาธิการน่าจะจัดระบบให้ชัดเจนและมีประสิทธิภาพ แบ่งเป็น 1.กลุ่มงานกำกับดูแล 2.กลุ่มสถานศึกษาของรัฐและเอกชน 3.กลุ่มสนับสนุนการจัดการศึกษาทางวิชาการและการบริหาร รายละเอียดจะปรับเปลี่ยนออกมาอย่างไร ให้คณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติดำเนินการต่อไป

โยนประเด็นหรือตั้งโจทย์ให้ฝ่ายปฏิบัติในกระทรวงศึกษาธิการไปคิดมาเสนอ ว่างั้นเถอะ

 

ครับ ติดตามความเคลื่อนไหวร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ จะมองเห็นความเปลี่ยนแปลงโครงสร้างกระทรวงศึกษาธิการจาก 5 แท่ง เป็นดังนี้

แท่งแรก แยกออกไปแน่นอน คือ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ไปรวมกับกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ตั้งเป็นกระทรวงใหม่ คือกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

แท่งที่สอง สภาการศึกษาจะแปลงเป็นสำนักงานคณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติ อยู่ภายใต้กระทรวงศึกษาธิการ แต่ทำงานสนองคณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติ มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน บทบาทของนายกรัฐมนตรีทางการศึกษาจะกลับไปสู่ยุคเดิมที่เคยมีกรรมการการศึกษาแห่งชาติก่อนปี 2542 หลังจากนั้นถึงปัจจุบันมีสภาการศึกษา รัฐมนตรีว่าการทรวงศึกษาธิการเป็นประธาน กรรมการสภาการศึกษาจะมีอยู่ต่อไปหรือไม่ ต้องรอผลการพิจารณากฎหมายวาระสอง-สามภายใน 45 วันหลังผ่านวาระแรก ราวๆ ปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2562

แท่งที่สาม สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ดูแลการศึกษาพื้นฐานเหมือนเดิม ภารกิจหลักต่อไปคือกระจายอำนาจลงไปสู่ระดับโรงเรียนเป็นหลัก ให้มีความเป็นอิสระ ขณะเดียวกันทำงานประสานกับหน่วยงานที่จะเกิดขึ้นใหม่คือสำนักงานคณะกรรมการบริหารเขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา จะเรียกว่าแท่งใหม่หรือองค์ชายใหม่ ก็แล้วแต่

ที่น่าสนใจคือ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานถูกวางตัวให้เป็นกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการนโยบายเขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน โดยสำนักงานมีผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการบริหารเขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา เป็นผู้ขับเคลื่อน

แท่งที่สี่ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา

และแท่งที่ห้า สำนักงานปลัดกระทรวง สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย สำนักงานการศึกษาเอกชน ยังเหมือนเดิม

 

ส่วนองค์กรที่จะเกิดขึ้นใหม่ ได้แก่ สถาบันหลักสูตรและการเรียนรู้แห่งชาติ เป็นหน่วยงานอิสระของรัฐ มีกฎหมายจัดตั้งเป็นการเฉพาะ เนื้อหาก็คือ ฟื้นกรมวิชาการเดิมขึ้นมาอีกครั้ง ส่วนจะยุบสำนักวิชาการที่มีอยู่ในแต่ละแท่งมารวมไว้ในหน่วยงานใหม่นี้หรือไม่ ต้องรอผลการเจรจาต่อรองกันก่อน

ศูนย์ข้อมูลสารสนเทศเพื่อการศึกษาแห่งชาติ หน่วยงานที่มีการบริหารจัดการเป็นอิสระในกำกับของคณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติ ขณะเดียวกันให้มีกองทุนพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาในกระทรวงศึกษาธิการ การดำเนินงานระหว่างศูนย์ข้อมูลสารสนเทศกับกองทุนจะประสานกันอย่างไร ต้องติดตามอีกเช่นกัน

วิเคราะห์โครงสร้างบริหารการศึกษาตามกฎหมายใหม่จะพบว่าซูเปอร์บอร์ดมีบทบาทสูงถึง 18 ข้อ หนึ่งในนั้นคือ ส่งเสริม สนับสนุนการดำเนินการของสมัชชาการศึกษาระดับจังหวัดและการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมในการจัดการศึกษา

ส่วนบทบาทในการติดตาม กำกับ ให้คำชี้แนะกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งรวมถึงการแก้ปัญหาระหว่าง ศธจ. กับ ผอ.เขตพื้นที่ ถ้ายังทำงานร่วมกันไม่สนิท ซูเปอร์บอร์ดจะทำอย่างไร

บทบาทซูเปอร์บอร์ดจะโดดเด่นแค่ไหน จากโมเดลปฏิรูปตามกฎหมายการศึกษาใหม่ ที่มาและองค์ประกอบน่าเป็นคำตอบได้ระดับหนึ่ง ดังนี้

นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นรองประธานคนที่ 1 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิจัยและนวัตกรรม เป็นรองประธานคนที่สอง (ข้อสังเกต-ร่าง กม.ฉบับแรก ไม่มีวิทยาศาสตร์อยู่ในชื่อกระทรวงการอุดมศึกษาฯ ด้วย)

กรรมการโดยตำแหน่งประกอบด้วย ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิจัยและนวัตกรรม ปลัดกระทรวงแรงงาน ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ

กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้มีความรู้ความสามารถและประสบการณ์ด้านกฎหมาย ด้านการศึกษาเพื่อคุณวุฒิตามลำดับ ด้านการศึกษาเพื่อการดำรงชีวิตและการศึกษาตามอัธยาศัย ด้านข้อมูลสารสนเทศ ด้านการพัฒนาเด็ก เยาวชนและครอบครัว ด้านคนพิการ ด้านบุคคลที่มีความสามารถพิเศษ ด้านการมีส่วนร่วมของประชาชน ด้านการจัดการศึกษาภาคเอกชน และด้านการบริหารการเงินการคลังและเศรษฐศาสตร์ทางการศึกษา ด้านละหนึ่งคน และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นผู้แทนจากภาคเอกชนจำนวนหนึ่งคนซึ่งมาจากการสรรหาจากสภาหอการค้า สภาอุตสาหกรรมและสมาคมธนาคารไทย

การปฏิบัติงาน กฎหมายกำหนดให้ตั้งคณะกรรมการเฉพาะด้าน คณะละไม่เกินสิบห้าคน ได้แก่ 1.คณะกรรมการวิชาการ 2.คณะกรรมการส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินการของสมัชชาการศึกษาระดับจังหวัด 3.คณะกรรมการข้อมูลและสารสนเทศด้านการศึกษา 4.คณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษา โดยประธานชุดที่ 1 2 และ 4 ให้มาจากกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของคณะกรรมการนโยบาย และ 5.คณะกรรมการเฉพาะด้านอื่นๆ

ซึ่งคณะกรรมการนโยบายแต่งตั้งโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี

 

เกาะติดความเป็นมาของซูเปอร์บอร์ดจะนำพาการศึกษาไทยไปสู่ความสำเร็จมากน้อยเพียงไรโดยเฉพาะเด็กไทยโกอินเตอร์ได้จริง

กับหยุดวัฒนธรรมทางการเมืองเปลี่ยนรัฐมนตรีบ่อยที่สุดได้สำเร็จหรือไม่

เพราะเป็นปัญหาใหญ่ข้อหนึ่งของระบบการศึกษาไทยมาตลอดทีเดียว