แนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนฯ สหรัฐคนใหม่

เมื่อ 12 ปีก่อน “แนนซี เพโลซี” นักการเมืองวัย 78 ปี สร้างประวัติศาสตร์เป็นผู้หญิงคนแรกที่ได้รับเลือกเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรของสหรัฐอเมริกา

ล่าสุดเมื่อวันที่ 3 มกราคมที่ผ่านมา เพโลซี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคเดโมแครตผู้แข็งแกร่งและเด็ดเดี่ยว กลับมานั่งในฐานะผู้หญิงที่ได้รับการเลือกตั้งที่ทรงอิทธิพลที่สุดในหน้าประวัติศาสตร์วงการการเมืองสหรัฐอีกครั้ง

หลังการเลือกตั้งกลางเทอมเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา พรรคเดโมแครตกลับมาครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ ขณะที่เพโลซีพาตัวเองกลับสู่ตำแหน่งเดิมแบบที่สร้างความประทับใจให้กับทั้งพันธมิตรและฝ่ายที่ควรจะเป็นศัตรูทางการเมืองด้วย

“เธอเป็นคู่แข่งที่น่าเคารพ” มาร์ก มีดอว์ส ประธานกลุ่ม ส.ส.อนุรักษนิยมสุดโต่ง “ฟรีดอมคอคัส” ของพรรครีพับลิกันระบุ

 

ในการลงคะแนนเสียงเมื่อวันที่ 3 มกราคม เพโลซีในชุดสีแดง ได้รับชัยชนะเหนือเควิน แม็กคาธี สมาชิกพรรคระดับสูงของพรรครีพับลิกันไปได้

ในสุนทรพจน์เปิดการประชุมสภาคองเกรสรอบใหม่ เพโลซีระบุว่า ตนนั้น “ภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง” ที่จะได้รับ “ค้อน” ประธานสภาในช่วงเวลาที่มีจำนวนผู้หญิงมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของสภาคองเกรสสหรัฐ รวมไปถึงในปี 2019 นี้ ก็จะเป็นการฉลองครบรอบ 100 ปีที่ผู้หญิงอเมริกันได้สิทธิในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งด้วย

ชื่อเดิม “แนนซี แพทริเซีย เดอ อเลซานโดร” เกิดเดือนมีนาคม 1940 ในเมืองบัลติมอร์

เพโลซีมาจากครอบครัวการเมืองซึ่งมีรากเหง้ามาจากประเทศอิตาลี ขณะที่พ่อและพี่ชายของเพโลซี ต่างก็ได้นั่งในตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองบัลติมอร์ด้วยกันทั้งคู่

หลังเรียนจบด้านรัฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยในรัฐวอชิงตัน เพโลซีก็ย้ายไปอาศัยในเมืองซานฟรานซิสโกกับสามี โดยทั้งคู่มีลูกด้วยกัน 5 คน

เพโลซีได้รับเลือกตั้งเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐครั้งแรกในปี 1987 เป็นตัวแทนของเขตเลือกตั้งที่ 12 ของรัฐแคลิฟอร์เนีย พื้นที่ซึ่งรวมไปถึงซานฟรานซิสโก ฐานเสียงอันแข็งแกร่งของการเมืองปีกซ้าย กลุ่มวัฒนธรรมกระแสรอง รวมไปถึงพื้นที่เรียกร้องสิทธิของคนเพศเดียวกัน พื้นที่ซึ่งกลุ่มอนุรักษนิยมสุดโต่งเรียกกันถึงขั้นเมืองแห่งความชั่วร้าย

เพโลซีก้าวหน้าทางการเมืองขึ้นมาเรื่อยๆ จนได้ขึ้นเป็นผู้นำกลุ่มเสียงข้างน้อยของพรรคเดโมแครต ในสภาเมื่อปี 2003 ก่อนจะก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรได้เป็นครั้งแรกเมื่อปี 2007 ในยุคของประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช และเพโลซีก็ทำหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจกับประธานาธิบดีจากรีพับลิกันในสมัยนั้นได้อย่างแข็งแกร่ง และสิ่งเดียวกันนั้นก็จะเกิดขึ้นกับทรัมป์ด้วยอย่างแน่นอน

อย่างไรก็ตาม เพโลซีจำเป็นต้องทำหน้าที่ตัวกลางทางการเมืองเช่นกันเมื่อกลุ่มหัวก้าวหน้าในพรรคเดโมแครตจำนวนหนึ่งเตรียมที่จะเดินหน้าเอาผิดทรัมป์ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า

ขณะที่เพโลซีเองก็ต้องแสดงให้เห็นว่าตนสามารถยืนหยัดเผชิญหน้ากับทรัมป์ได้เมื่อจำเป็น แต่ในอีกทางก็ต้องแสดงให้เห็นว่าพรรคเดโมแครตสามารถทำงานร่วมกับประธานาธิบดีสหรัฐในการผ่านร่างกฎหมายต่างๆ ได้เช่นกัน

 

เพโลซี ผู้ที่จะดำรงตำแหน่างประธานสภาไปจนถึงการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 2020 และผู้นำพรรคเดโมแครต ในเวลานี้มีอำนาจในการยับยั้งการผ่านกฎหมายของพรรครีพับลิกันได้ ในเรื่องที่เกี่ยวข้องตั้งแต่การตัดลดภาษีตามนโยบายของทรัมป์ เรื่อยไปจนถึงข้อเรียกร้องของบประมาณสร้างกำแพงกั้นสหรัฐและเม็กซิโกของทรัมป์ด้วย

ยิ่งกว่านั้น เพโลซียังมีอำนาจถึงขั้นสามารถออกหมายเรียกเจ้าหน้าที่ของรัฐคนใดก็ได้ ซึ่งรวมไปถึงประธานาธิบดีสหรัฐให้เข้ารับการไต่สวนกับสภาคองเกรส มีอำนาจในการสั่งให้ส่งมอบเอกสารต่างๆ รวมไปถึงสามารถเริ่มต้นกระบวนการถอดถอนประธานาธิบดีก็ยังได้

อย่างไรก็ตาม ในเวลานี้เพโลซียังคงแสดงท่าทีที่ไม่เห็นด้วยกับการใช้อำนาจดังกล่าว โดยมองว่าเป็นวิธีที่รุนแรงเกินไป และอาจทำให้ผู้ลงคะแนนเสียงสนับสนุนพรรครีพับลิกันหันมาปกป้องประธานาธิบดีสหรัฐกันมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม เวลานี้งานที่สำคัญที่สุดของเพโลซีก็คือ การหาทางยุติการเผชิญหน้าเกี่ยวกับข้อเรียกร้องของทรัมป์ในการบรรจุงบฯ ก่อสร้างกำแพงกั้นสหรัฐอเมริกาและเม็กซิโกลงในร่างงบประมาณ ร่างกฎหมายซึ่งยังไม่สามารถผ่านการลงคะแนนของสภาผู้แทนฯ ได้

จนส่งผลให้เกิด “กัฟเวิร์นเมนต์ชัตดาวน์” ลงบางส่วนอยู่ในเวลานี้