นิธิ เอียวศรีวงศ์ : กรุงเทพฯ ในย่างกุ้ง

นิธิ เอียวศรีวงศ์

ผมไม่เคยเห็นย่างกุ้งมาก่อนเลย แม้เคยไปพม่ามาหลายครั้งแล้ว ที่มัณฑะเลย์, พุกาม และเมืองอื่นในภาคกลาง แม้จีนและเศรษฐกิจเปิดทำให้เมืองเปลี่ยนไปมาก แต่ก็ยังมองเห็นพม่าเต็มไปหมด นั่นก็พม่า นี่ก็พม่า โน่นก็พม่า ไม่ได้หมายถึงคนพม่านะครับ แต่หมายถึงความเป็นพม่าที่มีให้เห็นอย่างชัดเจน

ย่างกุ้งไม่ใช่อย่างนั้น พูดให้สุดโต่งคือมองไม่ค่อยเห็นความเป็นพม่าชัดนัก จนกว่าจะค่อยๆ สังเกตสังกานานสักหน่อย ย่างกุ้งคือเมืองอาณานิคมอังกฤษอย่างชัดเจน เพียงแต่ไม่มีกุลีและนายทุนเงินกู้อินเดียเดินเกลื่อนอย่างแต่ก่อนเท่านั้น แม้กระนั้นก็ยังมีชาวอินเดีย (ทั้งแท้และลูกครึ่ง) ให้เห็นอยู่เสมอ

AFP PHOTO/KHIN MAUNG WIN (Photo by KHIN MAUNG WIN / AFP)

นักท่องเที่ยวหลายคนสังเกตว่า คนพม่ายังนุ่งโสร่ง ทั้งหญิงและชาย หรือถึงเป็นชุดสมัยใหม่ ก็ดัดแปลงมาจากโสร่ง แต่ U Thant Myint (ลูกชายของอูถั่น อดีตเลขาธิการสหประชาชาติ) นักวิชาการที่ผลิตงานเกี่ยวกับพม่าหลายเล่มบอกว่า ก่อนที่อังกฤษจะยึดครองพม่า ไม่มี “ผู้ดี” พม่าคนไหนจะนุ่งโสร่งออกนอกบ้านเป็นอันขาด อ้าว เป็นงั้นไป ฉะนั้น โสร่งซึ่งเป็นสัญลักษณ์เด่นอันหนึ่งของพม่าก็เป็นผลผลิตกลายๆ ของอังกฤษละสิครับ

แต่ท่านก็ไม่ได้อธิบายว่าเหตุใดจึงหันมานุ่งโสร่งนอกบ้านกันทั่วไปภายใต้รัฐบาลอาณานิคม

ย่างกุ้งเริ่มจะมีรถติดและติดหนึบไม่ต่างจากเมืองใหญ่ของภูมิภาคนี้ทั่วไป แต่เมื่อเปรียบเทียบกับกรุงเทพฯ ซึ่งไม่เคยเป็นอาณานิคมของใคร รถติดในย่างกุ้งเป็นการติดแบบ “อังกฤษ” ครับ คือติดเป็นบางกระจุกของเมือง ไม่ใช่ติดทั้งเมืองเหมือนกรุงเทพฯ และเหตุผลที่เป็นอย่างนั้นก็เพราะย่างกุ้งถูกสร้างขึ้นเป็นบล๊อกๆ เหมือนเมืองฝรั่ง จึงง่ายมากในการบรรเทารถติดด้วยการใช้จราจรทางเดียวเสียเป็นส่วนใหญ่ในเขตชั้นใน ไม่จำเป็นต้องใช้แต่วิธีขยายถนนจนผู้คนต้องเดินกันตัวลีบบนทางเท้าที่เหลือเล็กนิดเดียว

Photo by Romeo GACAD / AFP

ย่างกุ้งนั้นไม่เคยเป็นเมืองใหญ่ทันสมัยมาก่อน จนตกเป็นของอังกฤษในกลางศตวรรษที่ 19 และถูกเลือกเอาเป็นที่ตั้งรัฐบาลอาณานิคมแทนมะละแหม่ง ภายใต้ราชวงศ์พม่า ย่างกุ้งเป็นเหมือนเมืองพระพุทธบาทของเรา คือเป็นที่ตั้งศาสนสถานสำคัญซึ่งเป็นที่จาริกแสวงบุญของคนทั่วไป เหตุดังนั้น ย่างกุ้งจึงเป็นเมืองอาณานิคมอังกฤษโดยโครงสร้างเลยทีเดียว อะไรต่อมิอะไรที่ผุดขึ้นมาในย่างกุ้งล้วนเป็นฝีมืออังกฤษ หรือภายใต้การกำกับของอังกฤษทั้งนั้น รวมทั้งต้นหมากรากไม้เขียวขจีซึ่งมีอยู่ทั่วเมือง

ทุกวันนี้ตึกรามบ้านช่องที่สร้างสมัยนั้นก็ยังหลงเหลือให้เห็นเต็มไปหมด เพราะตึกสูงแบบใหม่ยังมีไม่มากเหมือนกรุงเทพฯ ผมอยากเดาว่ารัฐบาลพม่าปัจจุบันคงจะดูแลให้ย่างกุ้งขยายไปตามชานเมือง มากกว่ารื้อทำลายลงหมดเหมือนกรุงเทพฯ เพราะตึกอาณานิคมเหล่านี้เป็น “เสน่ห์” ของย่างกุ้ง

เพื่อนร่วมทางคนหนึ่งไปย่างกุ้งมาหลายครั้งแล้ว แต่ก็ยังถูก “เสน่ห์” อันนี้ของย่างกุ้งดึงดูดตลอดมา

ย่างกุ้งมี “ทะเลสาบ” หรือหนองน้ำขนาดใหญ่หลายแห่ง นี่ก็ฝีมืออังกฤษอีกเช่นกัน สร้างขึ้นเป็นแหล่งน้ำดิบสำหรับทำประปาของเมือง หนองบางแห่งเลิกใช้เพื่อการนั้นในปัจจุบันไปแล้ว เพราะพม่าไปสร้างหนองใหม่ที่อื่นซึ่งใหญ่กว่าเก่าเสียอีก แต่ก็ยังถูกใช้เป็นสวนสาธารณะหรือที่พักผ่อนหย่อนใจของชาวเมืองสืบมา ไม่ได้ถูกระบายน้ำออกเพื่อเป็นที่ราชพัสดุให้นายทุนเช่าสร้างตึก ทั้งๆ ที่การระบายน้ำออกก็ไม่น่าจะยาก เพราะอังกฤษสร้างหนองด้วยวิธีสร้างเขื่อนดินขึ้นกักน้ำเท่านั้น ไม่ได้ขุดจริง

อันที่จริงย่างกุ้งตั้งอยู่ติดแม่น้ำย่างกุ้ง จะใช้วิธีขุดคลองประปาแบบของเราก็ได้ วิธีทั้งสองนี้ต่างกันอย่างไรผมไม่ทราบ แต่คิดว่าวิธีเก็บน้ำดิบไว้ในหนองที่สร้างขึ้น จะรักษาความสะอาดของน้ำดิบได้ง่ายกว่า

เมื่อก่อนสงคราม พม่าเคยได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่รวยที่สุดในภูมิภาคนี้ คำว่ารวยมีความหมายในชีวิตของประชาชนไม่มากนัก เพราะความมั่งคั่งของพม่ากระจุกอยู่กับเจ้าอาณานิคม และพ่อค้ากับนายทุนเงินกู้ รวมกันเป็นคนกลุ่มนิดเดียว จะพูดว่าพม่าทำกำไรให้เจ้าอาณานิคมสูงสุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก็น่าจะตรงกว่า

สิ่งก่อสร้างจำนวนมากในย่างกุ้งก็เกิดจากกำไรของเจ้าอาณานิคม และกำไรของผู้คนจำนวนน้อยที่มีโอกาสเข้ามาอยู่ในเศรษฐกิจสมัยใหม่ ทั้งชาวพม่าและต่างชาติ

สุดยอดของร่องรอยอาณานิคมในย่างกุ้ง ทั้งด้านการปกครองและเศรษฐกิจก็คือ “ศูนย์ราชการ” ซึ่งเรียกในย่างกุ้งว่า The Secretariats คือเป็นที่ทำการของกระทรวงทบวงกรมต่างๆ แต่ไม่ใช่ทำเนียบของผู้ว่าการอังกฤษประจำพม่า หรือค่ายทหาร หรือสโมสรอะไร ศูนย์ราชการดังกล่าวนั้นกินพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาล หลังรั้วเหล็กยืดยาว ประกอบด้วยตึกแบบอังกฤษสวยหรูตั้งตระหง่านอยู่นับสิบหลัง สร้างในแบบเดียวกัน แม้ไม่เหมือนกันเป๊ะก็ตาม “สภา” ซึ่งอังกฤษยอมให้มีสมาชิกจากการเลือกตั้งส่วนหนึ่ง ก็ตั้งอยู่ในนี้

ในห้องประชุม “สภา” ดังกล่าว เขาจัดแบบเดียวกับรัฐสภาอังกฤษ คือฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลนั่งหันหน้าชนกัน มีที่ว่างตรงกลาง (ว่ากันว่าเป็นต้นกำเนิดของคำว่าขวา-ซ้ายทางการเมือง) โดยรูปลักษณ์ มันบอกว่าทั้งสองฝ่ายมีความสำคัญเท่ากัน ฝ่ายบริหารไม่มีที่นั่งพิเศษที่ข่มทับคนอื่นในสภา ผมถามผู้นำชมว่า รัฐสภาที่เนปิดอว์จัดที่นั่งแบบนี้หรือไม่ เธอตอบว่าไม่ และยิ้มอย่างเข้าใจ

การให้ผู้แทนราษฎรนั่งหันหน้าไปทางเดียวกัน ก่อให้เกิดจุดรวมศูนย์หรือโฟกัส ใครจะอยู่ตรงนั้นมีความหมายมากกว่าที่หย่อนก้น ในสหรัฐและอีกหลายประเทศที่จัดที่นั่งในรัฐสภาแบบนี้ ผู้อยู่ในจุดรวมศูนย์คือประธานสภาซึ่งได้รับเลือกจากเสียงส่วนใหญ่ของสมาชิก หากฝ่ายบริหารถูกสภาเรียกมาซักไซ้ ก็ต้องยืนพูดในที่ต่ำลงมาจากชั้นของประธาน

แต่รัฐสภาไทยนั้นประหลาดที่อัญเชิญฝ่ายบริหารขึ้นไปนั่งเป็นรัศมีของจุดรวมศูนย์ หรือเป็นส่วนหนึ่งของจุดรวมศูนย์ สูงกว่าสมาชิกทั้งหมด “ครอบงำ” ในเชิงกายภาพมาแต่ต้น “ภาพ” ของรัฐสภาไทยนั้น สะท้อนการปกครองและการเมืองไทยได้ดี

ถ้าผมจำไม่ผิด ภาพของที่ประชุมรัฐสภาที่เนปิดอว์จากข่าวทีวี ก็มีประธานาธิบดีนั่งอยู่ในอาณาบริเวณของจุดรวมศูนย์เหนือหัวสมาชิกทั้งหมดเหมือนกัน

ศูนย์ราชการถูกใช้สืบมาจนเมื่อพม่าได้เอกราชแล้ว เพิ่งหยุดใช้ใน ค.ศ.2005 เพราะรัฐบาลทหารย้ายเมืองหลวงขึ้นไปอยู่เนปิดอว์ จากนั้นมาก็ปิดตายและปล่อยให้เสื่อมทรุดไปตามยถากรรม จนกระทั่งรัฐบาลเอ็นแอลดีขึ้นปกครองประเทศ จึงมีโครงการบูรณะศูนย์ขึ้นมาใหม่ เปิดให้นักท่องเที่ยวชม แต่ต้องมีผู้นำชมเพราะอยู่ระหว่างซ่อมแซม จึงอาจมีส่วนที่เป็นอันตราย ส่วนที่เปิดให้ชมนั้นรวมทั้งห้องประชุมซึ่งนายพลออง ซาน ถูกสังหารด้วย

ผมถามผู้นำชมว่า เมื่อบูรณะเสร็จแล้ว จะเอาไว้ใช้ทำอะไร เธอบอกว่าหลายอย่าง เช่น เป็นพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ (สมัยใหม่ของพม่ากระมัง), หอศิลป์, หอแสดงนิทรรศการ, หอหรือโรงละครสำหรับการแสดง ฯลฯ พูดอีกอย่างหนึ่งคือเปิดกว้างให้ทั้งคนพม่าและนักท่องเที่ยวเข้ามาได้ และใช้ประโยชน์ในกิจกรรมทางวัฒนธรรม ทั้งหมดนี้จะทำภายใต้หมู่อาคารซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของอำนาจเจ้าอาณานิคมทั้งสิ้น

อย่างที่กล่าวในตอนต้นแล้วว่า ความเป็นพม่าก็ไม่ได้หายไปไหนในย่างกุ้ง เพียงแต่มองเห็นได้ไม่ถนัดเท่ากับความเป็นอาณานิคมเท่านั้น

สองอย่างที่ผมอยากจะพูดถึงก็คือ หมากับชุมชน

ผมเห็นหมานอนหรือเดินไปมาบนทางเท้าจำนวนมาก (แต่ไม่เท่าที่กรุงเทพฯ หรือเชียงใหม่) ผมไม่ทราบว่าหมาเหล่านี้เป็นหมากลางถนนหรือเป็นหมามีเจ้าของ เพราะตลอดเวลาที่อยู่ย่างกุ้ง ผมไม่เห็นหมาผอมสักตัว จะว่ามันเที่ยวล่าอาหารตามกองขยะ ก็ไม่เคยเห็นว่ากองขยะมีหมาหากินอยู่ ผมจึงอยากเดาว่าต้องมีคนเลี้ยงดูมันให้ได้กินอิ่มหมีพีมัน เพราะเขาเป็นเจ้าของหรือเพราะเขาเมตตาสงสารมันก็ตาม

หมาย่างกุ้งนั้น นอกจากไม่ผอมแล้ว ยังไม่เป็นขี้เรื้อนด้วย เพราะผมยังไม่เคยเห็นหมาขี้เรื้อนเลยสักตัว ผมเดาว่าหากได้กินเพียงพอ หมาทุกตัวก็คงมีภูมิต้านทานขี้เรื้อนได้ระดับหนึ่ง

หมาไม่ผอมนี้เป็นมรดกของอังกฤษหรือของพม่าเองผมก็ไม่แน่ใจ แต่ผมอยากยกให้แก่อิทธิพลพระพุทธศาสนา เพราะยังเห็นการ “ปฏิบัติ” ศาสนาของคนพม่าอย่างหนาแน่นทีเดียว วัดซึ่งเป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งหลายนั้น เมื่อเข้าไปแล้วก็จะพบชาวพม่าเข้าไปทำบุญหรือไปกราบพระธาตุมากกว่านักท่องเที่ยวเสียอีก ไม่พูดถึงอีกจำนวนหนึ่งไปนั่งสมาธิในบริเวณใกล้ปูชนียสถานและวัตถุสำคัญ วัดในวันพระที่เราเฉียดกรายเข้าไปดู ก็ได้พบอุบาสกอุบาสิกาจำนวนมาก แม้เป็นวัดเล็กๆ ในเขตที่ค่อนข้างเป็นชนบท

ในเมืองไทยเมื่อตอนเด็ก ผมก็ได้เห็นคนแก่ “ทำบุญ” ด้วยการให้ข้าวให้น้ำสัตว์ไม่มีเจ้าของ เช่น ในธรรมชาติหรือข้างถนนอยู่เสมอ (แต่ก็จำไม่ได้ว่าตอนนั้นหมากรุงเทพฯ ผอมหรืออ้วน) ผมจึงอยากเดาว่า หมาไม่ผอมในย่างกุ้งเป็นอิทธิพลพุทธศาสนามากกว่าอังกฤษ ซึ่งมัก “ขจัด” หมากลางถนนมากกว่าปล่อยให้แพร่เชื้อโรคพิษสุนัขบ้า

Photo by KHIN MAUNG WIN / AFP

อย่างที่สองก็คือชุมชน โรงแรมที่เราพักนั้นตั้งอยู่ใกล้เขตชั้นในของย่างกุ้งชนิดเดินไปได้ แต่ผู้คนก็ไม่ได้พลุกพล่านนัก เดินสวนกันบนทางเท้าในยามเช้าและเย็นมากขึ้นหน่อยเท่านั้น ถนนนี้มีห้องแถวตั้งเรียงรายไปตลอด แต่เป็นห้องแถวแบบอังกฤษไม่ใช่แบบจีนอย่างกรุงเทพฯ ชั้นล่างสุดใช้ประกอบกิจการธุรกิจต่างๆ เหมือนห้องแถวจีน เพียงแต่ว่าเจ้าของกิจการไม่ได้อาศัยอยู่ในชั้นบนของห้องแถว เขาทำช่องบันไดเป็นตอนๆ ให้คนเดินขึ้นไปยังชั้นบน และเปิดให้เช่าเป็นที่อยู่อาศัย อาจมีโต๊ะเล็กๆ ของคนเฝ้าอยู่เชิงบันได เหมือนที่อยู่ของมิสเตอร์บีนในหนังอังกฤษแหละครับ ดังนั้น บล๊อกที่ไม่ยาวนักนี้จึงเป็นแหล่งที่อยู่อาศัย คงของคนชั้นกลางระดับล่างๆ หน่อย ซึ่งต้องไปทำงานและกลับบ้านในเวลาใกล้ๆ กัน

แต่ที่ผมสังเกตเห็นก็คือ เขาทักทายกันครับ ทักกันระหว่างคนเดินกลับบ้านกันมาคนละทางบ้าง ทักกับคนเฝ้าบันไดบ้าง ทักกับคนแก่ที่ชะโงกหน้ามาจากชั้นสองบ้าง ผมจึงสรุปในใจว่า ชุมชนยังเหลืออยู่ในย่างกุ้ง

ย่างกุ้งกำลังโต แต่คงโตไม่เร็วเท่าสมัยที่กรุงเทพฯ กำลังโต หรือคงโตในลักษณะที่ต่างกัน เพราะผู้คนซึ่งอาศัยติดที่อยู่ในชุมชนใดคงไม่ถูกบังคับให้ต้องเคลื่อนย้ายออกไป และกลายเป็นฐานที่จะสืบทอดประเพณีความสัมพันธ์ระหว่างคนในชุมชนไว้ แม้มีคนหน้าใหม่เคลื่อนย้ายเข้ามาเช่าที่อยู่อาศัย ในที่สุดก็รับเอาประเพณีความสัมพันธ์นี้ไว้สืบมา

ความเก่าของอาคารริมถนนเป็นพยานให้เห็นว่าชุมชนไม่เคยถูกทำลายให้ราบเป็นหน้ากลองด้วยตึกสูงที่เข้ามาแทนที่เหมือนในกรุงเทพฯ

เรื่องสุดท้ายที่ย่างกุ้งทำให้ผมสังเกตเห็นได้ชัดก็คือ ความรู้สึกของคนพม่าในปัจจุบัน (เช่น ผู้นำทางใน “ศูนย์ราชการ” หรือคนขับรถของเรา) ที่มีต่อร่องรอยของลัทธิอาณานิคม แทนที่จะชิงชังเหมือนคนรุ่นปู่ย่าตายายหรือพ่อแม่ที่เคยต่อสู้กับเจ้าอาณานิคมมา ดูเขากลับคุ้นเคยกับมันอย่างยอมรับเป็นส่วนหนึ่งของอัตลักษณ์ หรือถึงขนาดภูมิใจนิดๆ ด้วยก็ได้ สิ่งที่อังกฤษสร้างไว้ในย่างกุ้งกลายเป็นสถานที่ซึ่งทั้งทางการและชาวย่างกุ้งเองชี้ชวนให้นักท่องเที่ยวไปชม

Photo by Romeo GACAD / AFP

ผมเพิ่งนึกออกว่า เมื่อไปเที่ยวเมืองปะดังซึ่งเป็นเมืองเอกของจังหวัดสุมาตราตะวันตก เราได้ไปชมป้อมปราการของฝ่ายฮอลันดา ซึ่งยกทหารมาปราบ “กบฏ” ชาวพื้นเมือง เห็นได้ชัดว่าป้อมปราการแห่งนั้นคงเคยถูกทิ้งร้าง และกลับบูรณะขึ้นใหม่ในภายหลัง ขนเอาปืนใหญ่โบราณมาตั้งตามจุดต่างๆ ให้ดูเป็นป้อมค่าย แต่บางกระบอกก็มีอายุก่อนหน้าป้อมกว่าร้อยปี แสดงว่าไม่ใช่อาวุธของป้อมค่ายนั้นจริง

ผมไม่ปฏิเสธหรอกครับว่าสิ่งเหล่านี้เป็น “สินค้า” ของธุรกิจท่องเที่ยว แต่ผมคิดว่ามันเป็นมากกว่านั้น คือระบอบอาณานิคมเป็นส่วนหนึ่งของอัตลักษณ์ประจำชาติ ซึ่งไม่ใช่ประสบการณ์ที่น่าอับอายหรือต้องลบล้างเพื่อไม่ให้เหลือร่องรอย (เช่น เปลี่ยนชื่อถนนเป็นชื่อวีรบุรุษพื้นเมือง)

เอาละสิครับ ถ้าความหมายของระบอบอาณานิคมเปลี่ยนไปอย่างนี้ จะกระทบต่อความหมายของระบอบอาณานิคมในประเทศที่ไม่เคยเป็นอาณานิคมเช่นไทยอย่างไร

การหลุดรอดจากการตกเป็นอาณานิคมตะวันตกเป็นส่วนสำคัญอันหนึ่งในอัตลักษณ์ไทย ซึ่งตำราประวัติศาสตร์สร้างไว้ให้ แต่ถ้าลัทธิอาณานิคมก็เป็นเพียงส่วนเดียวของความสัมพันธ์ที่ไม่เท่าเทียมระหว่างตะวันตกกับเอเชีย ซึ่งกระทบต่อประเทศเอเชียทุกประเทศ เรายังมองย้อนกลับไปในอดีตเหมือนเก่าหรือไม่ สำนึกอัตลักษณ์ของเราจะยังเหมือนเดิมหรือไม่ เพราะถ้าผู้ร้ายไม่ใช่ผู้ร้าย พระเอกก็จะไม่ใช่พระเอกตามไปด้วย