จรัญ พงษ์จีน : ข้อสรุป “การเลือกตั้ง” ที่รอความชัดเจน ภายใต้เงื่อนไขใหม่

จรัญ พงษ์จีน

จนป่านนี้แล้วยังหาบทสรุปไม่ได้ว่า “วันเลือกตั้ง” จะเลื่อนโปรแกรมไปลงตัวในวันไหน รู้แต่ว่า วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 ไม่น่าจะได้เลือกตั้ง สาเหตุที่ยังไม่สามารถหาจุดลงตัวได้ เพราะ “รัฐบาล” กับ “คณะกรรมการการเลือกตั้ง” ต่างมุมมอง

เลื่อนหรือไม่เลื่อนเลือกตั้ง ก็เป็นเรื่องหนึ่ง ไม่ใช่หน้าที่ของรัฐบาล “กกต.” ต้องตัดสินใจเอง ขณะที่ “กกต.” ก็น่าเห็นใจไม่ใช่น้อย จะเลื่อนโปรแกรมหรือไม่ ต้องรอให้รัฐบาลประกาศพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้ง ส.ส.ก่อน กกต.จึงกำหนดโปรแกรมเลือกตั้งอย่างเป็นทางการออกมาได้

เรื่องอย่างนี้ไม่อยากสุ่มเสี่ยง เคยมีหนังตัวอย่างให้ดูชมมาแล้ว เกิดจับพลัดจับผลู พวกหัวหมอไปยื่นฟ้องร้องให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ หรือฟ้องแพ่ง ฟ้องอาญา อาจถูกเช็กบิลเอาได้ง่ายๆ “7 เสือ กกต.” จึงต้องมากด้วยความระมัดระวัง

จุดที่ทำให้ กกต.เสียวตาปลามากที่สุด คือประเด็นว่าด้วยการจัดการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ ระบุว่า “ต้องแล้วเสร็จภายใน 150 วัน” หมายถึง รวมอีก 60 วันในการรับรองผลการเลือกตั้ง เป็นเนื้อเดียวกันหรือไม่

เพราะมันคาบเกี่ยวอยู่ 2 มาตรา ระหว่าง “รัฐธรรมนูญฉบับถาวร” มาตรา 85 ที่กำหนดว่า ต้องประกาศผลการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จไม่เกิน 60 วัน “ตั้งแต่วันเลือกตั้ง”

ขณะที่ “บทเฉพาะกาล” มาตรา 268 ระบุไว้ว่า ในการเลือกตั้งครั้งแรกให้จัดการให้แล้วเสร็จภายใน 150 วัน ซึ่งหมายถึงจัดการเลือกตั้งและเหมารวมการถึงนับผลคะแนนด้วย

เมื่อมันเสี่ยงเยี่ยงนี้ “กกต.” จึงต้องตีกรรเชียงดึงจังหวะ นี่คือที่มาว่า ทำไมไม่กำหนดวันเลือกตั้งใหม่ซะที ไม่ได้ประชดหรืองัดข้อรัฐบาลแต่อย่างใด

 

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของรัฐบาล ก็ไม่ได้กดดันหรือแอบเขียน “ใบสั่ง” ให้ กกต.เลื่อนเลือกตั้งไปวันไหน การที่ “วิษณุ เครืองาม” รองนายกรัฐมนตรี มือกฎหมายเดินทางไปพบ 7 เสือ กกต.เมื่อวันที่ 3 มกราคม ก็ไม่ได้เสวนาประเด็นเลื่อนเลือกตั้งวันอาทิตย์ที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 หรือเลื่อนโปรแกรมเลือกตั้งแต่ประการใด

“รองวิษณุ” เพียงแต่แจ้งให้ กกต.ทราบว่า ระหว่างวันที่ 4, 5, 6 พฤษภาคม 2562 มี “พระราชพิธีบรมราชาภิเษก สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10” ซึ่งถือเป็นช่วงมหามงคลที่สำคัญยิ่งของปวงชนชาวไทย

เพื่อให้ “กกต.” นำไปประกอบการกำหนดวันเลือกตั้ง เพื่อพิจารณาวันเลือกตั้งที่เหมาะสม เพราะนอกเหนือจาก 3 วันในส่วนของพระราชพิธีแล้ว ยังมีการประกอบพระราชพิธีก่อนและหลังวันพระราชพิธีตามโบราณราชประเพณี

โดย “อาจารย์วิษณุ” นำหมายกำหนดการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9” ยกสาระสำคัญแห่งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ให้ดูพอสังเขป

และย้ำให้เห็นว่า พระราชพิธีไม่ได้เกิดขึ้นเพียง 3 วันเท่านั้น แต่ก่อนและหลังพระราชพิธี ยังต้องมีกิจกรรมอื่นนำหน้า 15 วัน กิจกรรมตามหลังอีก 15 วัน

อาทิ “พิธีทำน้ำอภิเษก” นำน้ำจาก 4 แหล่งคือ จากปัญจมหานที ในประเทศอินเดีย เอามาเจือปนกับน้ำที่จะได้ในแหล่งที่สอง คือแม่น้ำบริสุทธิ์ที่สำคัญหลายสายในประเทศไทย ได้แก่ แม่น้ำบางปะกง เจ้าพระยา ป่าสัก แม่กลอง และเพชรบุรี มาเจือปนกับแหล่งที่สาม คือน้ำจากสระทั้ง 4 จากสุพรรณบุรี ในสมัยกรุงศรีอยุธยา กับจากแหล่งสุดท้ายคือน้ำจากแหล่งศักดิ์สิทธิ์ 76 จังหวัดในประเทศไทย ซึ่งหมายเอาไว้แล้วว่า จะใช้น้ำจากห้วย หนอง คลอง บึง หรือสระใด

หลังพระราชพิธีทำน้ำอภิเษก จะต้องมี “พิธีจารึกพระสุพรรณบัฏ” ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสนาราม เพื่อจารึกพระสุพรรณบัฏดวงพระบรมราชสมภพ

และพระราชลัญจกร จารึกพระนามสมเด็จพระสังฆราช จารึกพระสุพรรณบัฏพระนามพระบรมวงศานุวงศ์ที่ได้รับสถาปนาเลื่อนพระยศ

“พิธีถวายสักการะพระบรมอัฐิ พระอัฐพระราชบุพการี พิธีสรงน้ำพระมูรธาภิเษก และถวายน้ำอภิเษก” เป็นต้น

สำหรับวัน “พระราชพิธีบรมราชาภิเษก รัชกาลที่ 10” วันที่ 4 พฤษภาคม 2562 พระราชพิธีบรมราชาภิเษก และเสด็จออกมหาสมาคม พระบรมวงศานุวงศ์ คณะองคมนตรี คณะรัฐมนตรี ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายพระพรชัยมงคล และพระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียร

5 พฤษภาคม 2562 พระราชพิธีเฉลิมพระปรมาภิไธย พระนามาภิไธย และสถาปนาฐานันดรศักดิ์พระบรมวงศานุวงศ์ จากนั้นเสด็จเลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราทางสถลมารค

6 พฤษภาคม 2562 เสด็จออก ณ สีหบัญชร พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาท พสกนิกรเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายพรชัยมงคล

จากนั้นเสด็จออก ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท คณะทูตานุทูต และกงสุลต่างประเทศ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ถวายพระพรชัยมงคล

หลังจากพระราชพิธี เป็นกิจกรรมที่ไม่ใช่พระราชพิธี และเป็นเรื่องที่รัฐบาลและประชาชนจัด เช่น กิจกรรมสวดมนต์ถวายพระพรชัยมงคล กิจกรรมเฉลิมพระเกียรติจิตอาสา ด้วยการบูรณะแม่น้ำ ลำคลองทั่วประเทศ

และอาจจะมีกิจกรรมอื่นๆ ที่คณะกรรมการอำนวยการจะได้ประชุมหารือกัน เช่น การจัดงานสโมสรสันนิบาต

“สำหรับขั้นตอนแบบแผนตามโบราณพระประเพณี พระราชพิธีสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ในแต่ละรัชกาล ซึ่งบางรัชกาลโปรดเกล้าฯ ให้ประกอบพระราชพิธีเต็มตามตำรา บางรัชกาลโปรดเกล้าฯ ให้ประกอบพระราชพิธีอย่างย่อ ขึ้นอยู่กับพระราชดำริของแต่ละรัชกาล”