ย้อนดู ‘เลือกตั้งสกปรก’ 26 ก.พ.2500 – วิเคราะห์ เลือกตั้ง 62 (ถ้ามี) ‘สะอาด’?

26 ก.พ.2500เลือกตั้ง ‘สกปรก’!

24 ก.พ.2562เลือกตั้ง ‘สะอาด’?

เป็นเรื่องบังเอิญอย่างยิ่ง

ที่การ “คืนเลือกตั้ง” แก่ประชาชนหลังการรัฐประหารเมื่อปี พ.ศ.2500 ของจอมพล ป.พิบูลสงคราม

และการคืนการเลือกตั้งแก่ประชาชน หลังการรัฐประหารเมื่อปี พ.ศ.2557 ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

มีขึ้นในเดือนเดียวกันคือ “กุมภาพันธ์”

ห่างกัน 2 วัน

สมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม วันเลือกตั้งคือ

26 กุมภาพันธ์ 2500

ขณะที่ในสมัย พล.อ.ประยุทธ์ วันเลือกตั้ง (อาจจะ) เกิดขึ้น

ตอนแรกที่วางไว้คือ 24 กุมภาพันธ์ 2562

ผ่านไป 62 ปี สิ่งที่เราปรารถนาให้บังเอิญตรงกันคือ ได้เลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์

แต่ไม่อยากให้ตรงกันเลย นั่นคือ การเลือกตั้ง 26 กุมภาพันธ์ 2500 ถูกตราไว้ในประวัติศาสตร์ อย่างที่ลบเลือนไม่ออก

ว่า “การเลือกตั้งสกปรก”

24 กุมภาพันธ์ 2562 ควรเป็นการเลือกตั้งที่ “สะอาด”?!?

“…การทุจริต ( กุมภาพันธ์ 2500) เป็นไปอย่างกว้างขวางและ ‘โจ่งครึ่ม’ จนปิดหีบ

ข่าวการ ‘ทิ้งพลร่มไพ่ไฟ’ กระจายออกไปอย่างรวดเร็ว แทบทุกหน่วยเลือกตั้งในกรุงเทพฯ ประสบปัญหาความไม่โปร่งใสอย่างมาก

เมื่อถึงเวลานับคะแนน บางหน่วยในขณะนับคะแนนเกิดไฟฟ้าดับ

และพอไฟติดก็พบว่าบัตรในหีบเป็นของสมาชิกพรรครัฐบาลแทบทั้งสิ้น

หรือพอไฟติด หีบที่บัตรถูกนับเกือบหมด กลับพบว่ามีบัตรเต็ม

และเมื่อนับก็เป็นเสียงของฝ่ายรัฐบาลทั้งสิ้น

หรือบางหน่วยหีบบัตรหาย ใช้เวลาหานาน แต่เมื่อพบก็มีแต่บัตรของฝ่ายรัฐบาล สภาวะเช่นนี้ถูกเรียกว่า ‘การเลือกตั้งสกปรก’

การนับคะแนนใช้เวลาถึง 2 วัน 2 คืน ผลการเลือกตั้งจากจำนวน 160 ที่นั่งคือ พรรคเสรีมนังคศิลาชนะได้ 83 เสียง พรรคประชาธิปัตย์ 28 เสียง และที่เหลือเป็นของพรรคอื่นๆ และในเขตกรุงเทพฯ พรรครัฐบาลได้ 7 ที่ และพรรคประชาธิปัตย์ได้ 2 ที่ และจอมพล ป. ได้คะแนนสูงสุด ผลนี้จะทำให้รัฐบาลชนะเลือกตั้งและเป็นรัฐบาลต่อไป

แม้จอมพล ป. และ พล.ต.อ.เผ่าดีใจ แต่เป็นภาวะชั่วคราวอย่างยิ่ง

จอมพล ป. ชี้แจงว่า การเลือกตั้งวุ่นวายนั้น เป็นเพราะ ‘ถูกคอมมิวนิสต์เข้ามาแทรกแซง’

และเป็นเพียงการเลือกตั้งที่ไม่เรียบร้อยเท่านั้นเอง ไม่ใช่ ‘การเลือกตั้งสกปรก’ อย่างที่ถูกกล่าวหา

นำไปสู่การประท้วงของนิสิตนักศึกษา…”

(อ่าน ย้อนอดีตเลือกตั้งสกปรก 2500 กับอนาคตเลือกตั้ง 2562 ในคอลัมน์ยุทธบทความ ของสุรชาติ บำรุงสุข หน้า 50 มติชนสุดสัปดาห์ฉบับนี้)

62 ปีผ่านไป เชื่อว่าคนไทยทุกคนคงไม่ต้องการให้ “การเลือกตั้งสกปรก” กลับมาหลอกหลอนอีก

แต่กระนั้น หลายคนอดเป็นห่วงไม่ได้

ด้วยขณะนี้ เริ่มมีสัญญาณอะไรบางอย่างที่ไม่น่าไว้วางใจ

ดังคำแถลงของนางลดาวัลลิ์ วงศ์ศรีวงศ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย เมื่อวันที่ 27 ธันวาคมที่ผ่านมา

แม้จะเป็นเสียงจากพรรคที่มีจุดยืนตรงข้ามรัฐบาล ซึ่งอาจจะโน้มเอียงมองรัฐบาลในแง่ร้าย

แต่กระนั้นเสียงจากฝ่ายค้านก็ควรรับฟัง ในฐานะสัญญาณเตือน

นางลดาวัลลิ์แถลงว่า มีมือมืดใช้อำนาจบีบบังคับให้เจ้าของที่ปลดป้ายหาเสียงของผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทยที่ จ.นครราชสีมา

สะท้อนให้เห็นว่า ยิ่งใกล้วันเลือกตั้งมากเท่าไหร่

ก็ยิ่งมีการใช้อำนาจที่ไม่ถูกต้องมากขึ้นเท่านั้น

สำหรับพรรคเพื่อไทย นอกจากเรื่องปลดป้ายของพรรค ยังทราบมาอีกว่า เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา มีเจ้าหน้าที่รัฐระดับสูงในพื้นที่ภาคอีสาน เรียกข้าราชการ ผู้นำท้องถิ่น และตัวแทนชาวบ้านมาพูดคุย ในลักษณะสั่งการให้การสนับสนุนพรรคการเมืองที่เป็นตัวแทนของรัฐบาล

ขณะเดียวกันผู้สมัครในสังกัดของพรรคผู้ที่มีอำนาจ ก็ใช้วิธีการโทรศัพท์ไปข่มขู่ทีมงานพรรคเพื่อไทย

ทั้งนี้ ได้รับแจ้งจากผู้สมัครของพรรคในหลายพื้นที่ที่มีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปตรวจค้นบ้านของทีมงานผู้สมัคร

ด้วยเหตุนี้ จึงอยากขอเรียกร้องให้ผู้มีอำนาจ หยุดการกระทำดังกล่าวโดยทันที เพราะจะทำให้การเลือกตั้งไม่เสรี ไม่เป็นธรรม

 

นี่คือจุดเริ่มและเป็น “เบาะแส” ที่แลเห็นและมีการร้องเรียนออกมา

ยังไม่ได้นับประเด็นที่ละเอียดอ่อนอย่างรัฐธรรมนูญนี้ดีไซน์เพื่อเรา

รวมไปถึงการกำหนดในรัฐธรรมนูญ ที่ให้คงรัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เอาไว้ภายใต้อำนาจเต็ม 100%

ทั้งที่รัฐบาลและ คสช.ได้กระโดดเข้ามาเป็นผู้เล่นและแข่งขันเอง

ไม่ได้เป็นกรรมการหรือคนกลาง

นี่เอง จึงทำให้เกิดกระแสเรียกร้อง Free and Fair Election

โดยมีนักวิชาการ-ประชาชน เช่น เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) สหพันธ์นักเรียนนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย ตัวแทนเครือข่ายแรงงาน และสมัชชาคนจน

ร่วมตั้งเครือข่ายประชาชนเพื่อการเลือกตั้งที่เสรี เป็นธรรม และมีผลในทางปฏิบัติ (Free, Fair & Fruitful Election) หรือ FFFE ขึ้น

เพื่อรณรงค์ขับเคลื่อนประเทศไปสู่การเลือกตั้งที่เสรี เป็นธรรม และมีผลในทางปฏิบัติ

เช่น ผู้สมัครรับเลือกตั้งทุกคนต้องมีโอกาสเท่าเทียมกันในการเข้าถึงสื่อสารมวลชนทุกรูปแบบ

สามารถสื่อสารกับประชาชนได้เท่าเทียมกัน

อยากเห็นความเป็นอิสระของภาคประชาชน อยากให้ภาคประชาชนสามารถแสดงออกความคิดเห็นทางการเมืองได้อย่างอิสระ เสรี

พรรคการเมืองทุกพรรคออกไปพบปะกับประชาชน ออกไปนำเสนอตัวต่อประชาชน และรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนโดยเท่าเทียม

อยากเห็นความเป็นอิสระของกรรมการ คือหลังจากประกาศกฤษฎีกาเลือกตั้ง ผมอยากเห็น กกต.เป็นอิสระ เป็นตัวของตัวเอง ตัดสินผู้เล่นแต่ละคนบนความถูกต้อง บนกติกาเดียวกัน ยังความสุจริตและเที่ยงธรรมได้

ที่สำคัญคือ อยากเห็นความ Fair จาก คสช.ที่อ้างตัวมาตลอดห้าปีว่าเป็นกรรมการ

เมื่อวันนี้ คสช.แปลงร่างจากกรรมการมาเป็นผู้เล่น เพราะฉะนั้น สิ่งที่อยากจะเห็นความแฟร์ตรงนี้ก็คือ คสช.ต้องทำให้เห็นว่าในฐานะที่เป็นผู้เล่น คสช.เล่นอยู่ในกติกาและไม่ได้เล่นเหนือกว่า ไม่ได้ทำให้ทีมอื่นเขารู้สึกว่าด้อยกว่า คสช.ถือกติกาที่เหนือกว่าอยู่แล้ว

อันนำไปสู่ข้อสรุปที่ทุกคนเห็นด้วยคือ

Free การเลือกตั้งต้องเสรี

Fair การเลือกตั้งต้องเป็นธรรม

Equal การเลือกตั้งต้องเท่าเทียม

Participation การเลือกตั้งต้องให้ทุกคนมีส่วนร่วม

 

ขณะที่อีกฝั่งฟากหนึ่ง เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม

มูลนิธิสันติภาพและวัฒธรรม สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล และมูลนิธิองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย ร่วมกันจัดพิธีลงนาม “สัญญาที่พรรคการเมืองขอให้ไว้แก่ประชาชน”

เพื่อแสดงความเห็นพ้องระหว่างพรรคการเมืองที่ต้องการให้ความมั่นใจแก่ประชาชนว่าการเลือกตั้งทั่วไปที่จะมีขึ้น โดยเสรี สุจริต และเที่ยงธรรม

โดยมีตัวแทนพรรคการเมือง 25 พรรคมาร่วมลงชื่อ

อาทิ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคเพื่อไทย พรรคประชาชาติ พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคไทยรักษาชาติ ฯลฯ

แม้จะขาดพรรครวมพลังประชาชาติไทย ไปอย่างน่าเสียดาย

แต่ “สัญญาที่พรรคการเมืองขอให้ไว้แก่ประชาชน” ที่พรรคการเมืองร่วมกันลงนามไว้ก็น่าสนใจ คือ

“…จะปฏิบัติตามจรรยาบรรณการหาเสียงเลือกตั้ง

คือจะปฏิบัติตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ กฎหมายเลือกตั้งและกฎระเบียบของคณะกรรมการการเลือกตั้งที่กำหนดขึ้นตามหลักนิติธรรมและตามมาตรฐานสากล

จะไม่กระทำการใดๆ ที่เป็นการซื้อเสียง

จะไม่ใช้และพร้อมที่จะต่อต้านการใช้กลไกหรือทรัพยากรของรัฐเพื่อประโยชน์ในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งคะแนนเสียงเลือกตั้ง

จะรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งด้วยสันติวิธีและไม่ใช้ความรุนแรงใดๆ

จะไม่ใช้ถ้อยคำและภาษาที่ร้อนแรง จะไม่ให้ผู้อื่นเสื่อมเสียชื่อเสียง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะไม่ใช้การข่มขู่และไม่ใช้วาจาที่ปลุกเร้าให้เกิดความรุนแรง

และจะเคารพสิทธิของพรรคการเมืองทุกพรรคที่จะรณรงค์หาเสียงโดยปลอดจากความหวาดกลัวและการถูกข่มขู่

และขอยืนยันว่าจะไม่ไปก่อกวนการรณรงค์หาเสียงของพรรคการเมืองใดๆ

ซึ่งหลังการเลือกตั้ง พรรคการเมืองขอให้สัญญาว่าจะเคารพเสียงของประชาชนและเร่งดำเนินการเพื่อให้เกิดความสงบสุขและเป็นธรรม พรรคการเมืองที่ร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลจะต้องมีเสียงสนับสนุนเกินกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคการเมืองที่จะร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลจะนำนโยบายที่แต่ละภาคใช้ในการหาเสียงมาบูรณาการกันอย่างจริงจังและให้ความสำคัญแก่การจัดทำนโยบายร่วมกันนี้ในการลำดับก่อนการจัดสรรตำแหน่งรัฐมนตรี

จะสนับสนุนให้รัฐจัดให้มีกลไกที่ใช้หลักของความเป็นธรรมในช่วงเปลี่ยนผ่าน เพื่อเสนอแนะการปรองดอง และเยียวยาผู้เสียหายจากการกระทำของรัฐและการกระทำด้วยเหตุจูงใจทางการเมือง

จะสนับสนุนกระบวนการพูดคุยสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญ เพื่อให้บรรลุข้อตกลงของการอยู่ร่วมกันด้วยความเคารพซึ่งกันและกันและอย่างสันติ

และเพื่อความเป็นธรรมระหว่างการบริหารราชการส่วนกลางและส่วนท้องถิ่น”

 

นี่คือความพยายามดีๆ จากฝ่ายต่างๆ ที่คาดหวังว่าจะมีการเลือกตั้ง 24 กุมภาพันธ์ 2562

จะไม่ซ้ำรอยการเลือกตั้งสกปรก 26 กุมภาพันธ์ 2500

แน่นอน คสช. รัฐบาล และพรรคที่สนับสนุน จะเป็น “กุญแจ” สำคัญ

ที่จะทำให้ผลเกิดขึ้นจริง

แต่กระนั้น ล่าสุดก็เกิดสภาวะที่ไม่แน่นอนขึ้นมาอีกกระแสหนึ่ง

เป็นกระแสว่า จะใช้แท็กติกทางการเมือง ซึ่งไม่ต่างจากคำว่า “สกปรก” สักเท่าไหร่

นั่นคือมีข่าว “เลื่อน” การเลือกตั้งออกไป จากวันที่ 24 กุมภาพันธ์ อีกอย่างน้อย 1 เดือน

ทุกสายตาโฟกัสไปยังพรรคพลังประชารัฐที่แน่วแน่กับ คสช.ในทันที

ด้วยมีข่าวว่า พรรคพลังประชารัฐอาจไม่พร้อมต่อ “การเลือกตั้ง” ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ นัก

แม้ “รัฐธรรมนูญ” กระทั่ง “กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ” จะถูกดีไซน์ให้เอื้อต่อ “พรรคเรา”

หรือเพราะแม้รัฐบาลและ คสช.จะอัดฉีดเงินลงสู่ประชาชนฐานราก จำนวนเงินมหาศาล

แต่คะแนนนิยมยังไม่พุ่งสูงอย่างที่คาดหวัง

การทอดเวลาออกไปสักระยะ อาจมีความจำเป็นเพื่อรอให้โมเมนตัมความนิยมเหวี่ยงขึ้น

ประเด็นการเลื่อนเลือกตั้ง จึงถูกโยนออกมา โดยอ้าง กกต.อาจพิมพ์บัตรเลือกตั้งไม่ทัน

แต่ข่าวการ “เลื่อน” วันเลือกตั้งออกไป ทุกสายตาจึงล้วนทอดมองไปยังพรรคพลังประชารัฐและ คสช.เป็นจุดเดียวมากกว่า

ว่านี่อาจเป็นหนึ่งในแท็กติกทางการเมือง

ที่ส่งผลให้การเลือกตั้งปี 2562 อาจจะไม่แตกต่างจากปี 2500 เท่าไหร่นัก!!!