คำ ผกา : สนิมข่าว

คำ ผกา

ได้อ่านความเห็นหนึ่งในเฟซบุ๊ก และมีเพื่อนๆ ในวงการสื่อแสดงความชื่นชมและแชร์กันพอสมควร

นั่นคือความเห็นที่ว่า “สื่อสมัยนี้ขี้เกียจ มักง่าย เอาคลิปจากโซเชียลมีเดียมานำเสนอ แถมบางคลิปยังเป็นความรุนแรง เป็นเรื่องส่วนบุคคล อยากเรียกร้องให้สื่อนำเสนอเรื่องราวของคนที่ทำคุณงามความดีมากกว่า เช่น ตำรวจช่วยแม่ค้าข้ามถนน ควรไปสัมภาษณ์ ควรยกย่องเชิดชู สื่อควรนำเสนอรายการที่ชักชวนให้คนหันมาทำความดี ฯลฯ”

ฉันอ่านแล้วตกใจนิดหน่อย ในฐานะที่เป็น “สื่อ” กะเขาด้วย

เพราะอ่านปุ๊บก็ตั้งคำถามว่า จะเกิดอะไรขึ้นถ้าวันนี้ พรุ่งนี้ สื่อไทยเกิดอยากจะเป็นสื่อที่ดี พากันมีรายการ “ส่งเสริมคนดี” ด้วยการลงข่าวเรื่อง คนดีช่วยคนข้ามถนน ตำรวจช่วยแม่ค้าเข็นรถส้มตำ ทหารช่วยเด็กตกน้ำ คนขับแท็กซี่เก็บกระเป๋าตังค์แล้วส่งคืน นักเขียนแยกขยะ คุณแม่บ้านให้อาหารหมาจรจัด สาวออฟฟิศซื้อข้าวให้โฮมเลสกินทุกเที่ยง ฯลฯ

แน่นอนว่าเรื่องราวเหล่านี้เป็น “แง่งาม” ของชีวิต เป็นเรื่องราวจรรโลงใจ

แต่สถานะของเรื่องราวเหล่านี้ในสื่อ อย่างมากที่สุดคือ side dish – ได้เห็น ได้รู้ ได้ฟัง แล้วเกิดความสบายใจ มีความหวังกับคุณงามความดีที่ยังพอจะหลงเหลืออยู่ในจิตใจคน อะไรก็ว่าไป

แต่หน้าที่ของ “สื่อ” คืออะไรกันแน่?

สําหรับสังคมไทย เรามักจะได้ยินคนบอกว่า สื่อต้องนำเสนอตัวอย่างที่ดีให้แก่สังคม

สื่อไม่ควรสร้างความแตกแยก

สื่อมีหน้าที่เปิดโปงความชั่วร้ายของคนเลว คนโกง ส่งเสริมคนดี ฯลฯ เราโฟกัสไปที่ฟังก์ชั่นทางศีลธรรมของสื่อจนลืมคิดไปว่า จริงๆ แล้วสื่อมีหน้าที่อะไรกันแน่

สำหรับฉัน ฟังก์ชั่นของสื่อนั้นค่อนข้างประหลาด

กล่าวในเชิงอุดมคติ สื่อมีหน้าที่สร้างความเข้มแข็งให้กับพลเมืองเพื่อถ่วงดุลอำนาจรัฐ

สื่อจึงมีหน้าที่คล้ายกับการเป็นฝ่ายค้านนอกสภา คอยแฉโพย เปิดโปงข้อมูล ปกป้องผลประโยชน์ของสาธารณชน

คอยชี้ให้เห็นว่า สังคมตอนนี้มีปัญหาอะไร

รัฐบาลกำลังมีโครงการอะไร

โครงการนี้ประชาชนจะได้อะไร จะเสียอะไร

ประชาชนจึงเสพสื่อ ทั้งเพื่อข้อมูลพื้นฐานที่เป็นประโยชน์ต่อชีวิตประจำวัน

เช่น รายงานสภาพอากาศ ข่าวสารที่เกี่ยวกับการให้บริการจากภาครัฐ

ข้อมูลเกี่ยวกับความบันเทิง ธุรกิจ ต่างๆ นานาที่จำเป็นต่อชีวิตของตน และเพื่อ “รู้เท่าทัน” รัฐบาล เพื่อจะ “ควบคุม” ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล

กล่าวในเชิงอุดมคติครึ่งเดียว สื่อไม่ใช่องค์กรการกุศล ที่จะอุทิศตนเองเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนอย่างสุดจิตสุดใจ

หรือเป็นสื่อที่เกิดมาเพื่อจะจรรโลงประชาธิปไตย รักษาอำนาจของประชาชนไว้จนตัวตาย

เพราะสื่อก็เป็นองค์กรธุรกิจด้วย สื่อต้องกินต้องใช้ ต้องค้าขาย ต้องมีโฆษณา

เพราะฉะนั้น ถามว่า สิ่งที่จะทำให้สื่ออยู่ได้ในเชิงธุรกิจคืออะไร?

หนึ่ง คนอ่าน หรือ คนดู

สอง โฆษณา

ถามต่อว่า โฆษณา จะจ่ายเงินให้สื่อโดยตัดสินจากอะไร ก็ตัดสินจากยอดคนดู ยอดคนอ่าน เรตติ้ง

ให้ตอบคำถามกันอีกทีว่า ถึงที่สุดแล้ว สื่อจะอยู่ได้หรือไม่ได้ ขึ้นอยู่กับอะไร น่าจะมีคำตอบเดียวคือ คนอ่านหรือคนดู

คนอ่านหรือคนดูคือใคร คำตอบคือ ประชาชน

ดังนั้น ไม่มากก็น้อย สื่อแม้จะเป็นองค์กรทางธุรกิจ แต่ก็ต้องแบกรับภาระในเชิงอุดมคติอยู่นั่นเอง นั่นคือต้อง “เป็นปากเป็นเสียง” ให้กับคนอ่าน คนดู หรือประชาชน

 

ในแต่ละสังคม ก็มีทั้งประชาชนฝ่ายซ้าย ฝ่ายขวา กลางๆ คอมมิวนิสต์ แรดิคัล เสรีนิยมสุดโต่ง ฯลฯ

และนี่คือที่มาของความหลากหลายในจุดยืนและรสนิยมของ “สื่อ” / ที่ว่าคานอำนาจรัฐบาล สร้างความเข้มแข็งให้กับประชาชน / ปกป้องผลประโยชน์สาธารณะ ก็ทำอยู่บนอุดมการณ์ที่ตนเองและกลุ่มผู้อ่าน ผู้ชมของตนเองสมาทานนั่นเอง

ดังนั้น จึงอาจพูดได้อีกว่า สื่อเป็นทั้งฝ่ายค้านนอกสภาของรัฐ และเป็นทั้งเครื่องมือในการต่อรองผลประโยชน์ระหว่างประชาชนด้วยกันเอง เช่น ผลประโยชน์ทางนโยบายเศรษฐกิจของฝ่ายซ้ายกับฝ่ายเสรีนิยมย่อมไม่ลงรอยกัน

เพราะฉะนั้น นอกจากสื่อจะไม่ได้มีหน้าที่หน่อมแน้มนั่งสอน หรือป่าวร้องให้คนมาทำความดี

แต่หน้าที่ของสื่อ คือเป็นตัวแทนของกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ ในสังคม

และเป็น “ตัวแทน” ทางอุดมการณ์ของประชาชนกลุ่มต่างๆ ต่อสู้เพื่อผลักดันสังคมให้เดินไปในทิศทางที่ตนเองเชื่อ

เพราะฉะนั้น สื่อจึงเลือกข้างตลอดเวลา

เช่น จะเลือกข้างเสรีนิยมหรืออนุรักษนิยม จะเลือกข้างขวา หรือข้างซ้าย

จะเลือกต้านการทำแท้งหรือสนับสนุนสิทธิในการทำแท้ง

จะเลือกสนับสนุนให้กัญชาถูกกฎหมายหรือผิดกฎหมาย

จะเลือกกฎหมายควบคุมอาวุธปืน หรือเลือกเสรีภาพในการพกปืน

จะเลือกรับผู้อพยพหรือกีดกันผู้อพยพ เป็นต้น

แต่จะเลือกอะไร จริยธรรมพื้นฐานของสื่อก็คงมีแค่

ไม่นำเสนอข้อมูลที่เป็นเท็จ

ส่วนอะไรที่มากกว่านั้น เช่น นำเสนอข้อมูลรอบด้านหรือไม่ นำเสนอข่าวด้านเดียวหรือไม่?

นำเสนอข่าวอย่างเป็นธรรมต่อฝ่ายตรงกันข้ามหรือไม่?

คงต้องละไว้ให้แก่ “กึ๋น” ของสำนักข่าวแต่ละสำนัก เพราะการเป็น “สื่อ” ที่ต้องการผลักดันประเด็นทางสังคมให้สอดคล้องกับอุดมการณ์ที่ตนเองเชื่อถือนั้น

สื่อที่มีฝีมือ ย่อมรู้ว่า หากมัวแต่นำเสนอข้อมูลด้านเดียวหรือนำเสนอแต่ข่าวหรือข้อมูลเพื่อเอาใจ “แม่ยก” ของตนเอง ในระยะยาวสื่อนั้นก็จะหมดสภาพความเป็นสื่อ เหลือเพียงการเป็นเครื่องมือโฆษณาชวนเชื่อที่ตื้นเขิน ไร้รสนิยม

และอาจเข้ารกเข้าพงกลายเป็นเครื่องมือปฏิบัติการทางจิตวิทยามวลชนของกลุ่มการเมืองไปโดยไม่รู้ตัว

สถานการณ์ของสื่อไทยตอนนี้เป็นอย่างไร?

เสรีภาพของสื่อโดยรวมนั้น หากอ้างตามการให้คะแนนของ Freedom House เราอยู่ในประเภทของประเทศที่ไม่มีเสรีภาพของสื่อ

และสิ่งที่น่าสนใจก็คือ ในท่ามกลางข้อจำกัดทางเสรีภาพนี้ สื่อไทยพยายามพลิกแพลง หาวิธีการพูด การวิพากษ์วิจารณ์ ที่ลดเลี้ยวเคี้ยวคด

อ่านหรือดูข่าวในประเทศไทยตอนนี้ต้องใช้ความสามารถทางวรรณกรรมในการอ่าน “ความหมาย” ที่ซ่อนอยู่ในระหว่างบรรทัด

ข่าวบางข่าวถูกเลือกนำเสนอ มิใช่เพื่อให้รู้เกี่ยวกับข่าวนั้น แต่เพื่อตระหนักถึง “นัยประหวัด” ของข่าวนั้นต่อการเมืองไทยและสังคมไทย

จะโดยรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม ฉันคิดว่า ทั้งคนทำข่าวและคนเสพข่าวในประเทศไทยหลังปี 2549 เป็นต้นมา เราทำและเสพข่าวแบบ “นัยประหวัด” กันมากขึ้นเรื่อยๆ และทวีความเข้มข้นมากขึ้นในระยะหลัง

เราอ่านข่าวพม่า อ่านข่าวเกาหลีเหนือ อ่านข่าวประธานาธิบดีหญิงเกาหลีใต้เรื่องเชื่อหมอดู

เราไม่ได้อ่านข่าวเหล่านั้นในฐานะข่าวต่างประเทศ แต่เราอ่านมันในฐานะ “ข่าวการเมืองในประเทศไทย”

 

หลังการรัฐประหาร 2549 และวิกฤตการณ์ทางการเมืองแบ่งขั้วที่ดำเนินมาต่อเนื่องเกือบครบหนึ่งทศวรรษ สื่อไทยได้เลือกข้างค่อนข้างชัดเจนว่า เป็นสื่อที่อยู่ข้างเสรีนิยมประชาธิปไตยหรืออยู่ข้างอำนาจนิยมของคนกลุ่มน้อย

ในสองข้างของสื่อนี้ยังมีเฉดของความเข้มข้นตั้งแต่เป็นสื่อของกลุ่มการเมืองฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอย่างสุดโต่ง เรื่อยไปจนถึงสื่อ “กลาง” แต่เลือกข้างประชาธิปไตย

หรือสื่อของกลุ่มอำนาจนิยมในระดับเข้มข้นจนเหมือนโฆษณาชวนเชื่อ

และค่อยไล่ลงไปจนถึงสื่อที่นำเสนอข่าวค่อนข้างเป็นกลางไม่บิดเบือน ไม่เป็นเท็จ ทว่า จุดยืนทางการเมืองนั้นขอ endorse ฝ่ายอำนาจนิยมของชนชั้นนำกลุ่มน้อย

หลังฝุ่นการเมืองจาง และเราทุกคนได้เข้าสู่ร่มเงาของสภาวะพักร้อนทางประชาธิปไตยอย่างถ้วนหน้า ในภูมิทัศน์ของสื่อกลับมีปรากฏการณ์ที่น่าสนใจเกิดขึ้น

นั่นคือ กำเนิดของสำนักข่าวออนไลน์สองสำนัก คือ The Matter และ The Momentum

ทั้งสองสำนักกำเนิดขึ้นหลังจากฝุ่นความขัดแย้งของสองขั้วการเมืองเริ่มอ่อนล้า และสื่อ “ตัวแทน” ของทั้งสองขั้วความขัดแย้งต่างถูกเด็ดปีกเด็ดหางสิ้นฤทธิ์ไปอย่างทั่วถึงกัน

ตำแหน่งแห่งที่ของทั้ง The Matter และ The Momentum จึงเป็นความสดใหม่ ไร้รอยมลทิน ปราศจากการถูกแปะหน้าผากว่านี่สีเหลือง นี่สีแดง นี่ กปปส.

 

สไตล์ของ The Matter และ The Momentum ถ้าให้คนอ่านอย่างฉันกำหนดอายุ The Matter อายุ 25 The Momentum อายุ 30

The Matter มีความ “เกรียน” และ “กวนตีน” มีความเย้ยหยันต่อโลก

ในขณะที่ The Momentum สุขุม มองโลกในแง่ดีกว่า ใจเย็นกว่า ประนีประนอมกว่า มีความกล้าผจญภัยน้อยกว่า และเสี่ยงที่จะกลายเป็นอนุรักษนิยมในอนาคตมากกว่า

ภาษาในการนำเสนอข่าวของทั้งสองสำนักเป็นสิ่งที่ฉันคิดว่า หากสื่อกระแสหลักไม่ปรับตัว อาจมี “ตาย” ต้องเก็บศพกันจริงจัง

ไม่เพียงแต่ใช้ภาษาเข้าใจง่าย เป็นกันเอง มีรูปแบบของภาษาพูดมากกว่าภาษาเขียน มีลูกเล่นในการใช้คำหยาบ สบถ แสลง

แต่ทั้งสองสำนักรื้อสไตล์การเขียนข่าวที่เริ่มนับ 1 2 3 4 คือ ประเภท “เมื่อเวลา 14.00 ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้มีการจัดแถลงข่าว นำโดย บลา บลา บลา” – กว่าจะเขียนชื่อนายตำรวจในการแถลงข่าวครบทุกคนก็ผ่านไปแล้วห้าบรรทัด – แต่เป็นการเขียนข่าวที่ผ่านการ conceptualized ประเด็นข่าว และรายงานเหตุการณ์เท่าที่มัน matter กับประเด็นเท่านั้น ข่าวจึงสั้นลง กระชับขึ้น

และชัดเจนมากขึ้นว่า ทำไมคนอ่านต้องเสียเวลามานั่งอ่านข่าวนี้

 

ถ้าเรามองว่าสื่อคือกระบอกเสียงของกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ ในสังคม และมีหน้าที่ในการเสริมพลังอำนาจการต่อรองให้แก่ประชาชนเพื่อถ่วงดุลอำนาจของรัฐ สื่อมีหน้าที่กระตุ้นให้คนคิด ใช้เหตุผล และถ้าสื่อมีกึ๋นพอ สื่อยังสามารถ “กำกับ” อารมณ์ของสังคมให้มีพลังขับเคลื่อนในทางที่ constructive ไม่ใช่ destructive – ทิศทางของสื่อน้องใหม่อย่าง The Matter และ The Mentum คือลมหายใจใหม่ในประวัติศาสตร์สื่อไทย

ทว่า เราต้องยอมรับความจริง กลุ่มคนอ่านของสองสำนักข่าวนี้ยังน้อยเกินกว่าจะสร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคมไทย

ความน่าเป็นห่วงของสื่อไทยจึงไม่ใช่ประเด็นของการเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับคนทำความดีน้อยเกินไป

แต่เป็นเรื่องของการที่บุคลากรในวงการสื่อยังไม่ตื่นจากโลกใบเดิม

และยังคงเดินเข้าหา “ข่าว” ด้วยความเคยชินเดิมๆ