วรศักดิ์ มหัทธโนบล : สิ้นราชวงศ์เหนือ เปิดทางสุยครองแผ่นดิน

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

เหตุจากราชวงศ์เหนือ (ต่อ)

จนถึง ค.ศ.493 ทว่อป๋าหงก็ได้ย้ายเมืองหลวงไปที่เมืองลว่อหยัง และได้กำหนดให้ใช้เครื่องแต่งกายกับภาษาจีนในราชสำนัก ทั้งยังให้ชาวเซียนเปยกับชาวฮั่นแต่งงานกัน และเป็นผู้นำในระดับต่างๆ ร่วมกันอีกด้วย

ที่สำคัญ ทว่อป๋าหงยังให้ยกเลิกสกุลของชาวเซียนเปยแล้วให้ใช้สกุลของชาวฮั่นแทน โดยตัวเขาได้เปลี่ยนสกุลทว่อป๋ามาเป็นสกุลหยวน เขาจึงมีชื่อที่เรียกกันใหม่ว่าหยวนหง นับแต่นั้นมาผู้นำของเป่ยเว่ยทุกคนจึงมีสกุลว่าหยวน

เป่ยเว่ยหลังจากทว่อป๋าหงหรือหยวนหงไปแล้วก็เริ่มเสื่อมถอยลง จนถึงผู้นำรุ่นที่เจ็ดคือ หยวนซิว (ค.ศ.510-535) ราชวงศ์ก็ตกอยู่ภายใต้อำนาจของขุนศึกผู้หนึ่ง หยวนซิวซึ่งไม่พอใจการครอบงำจึงหนีไปอยู่กับขุนศึกของตนที่เมืองฉังอันใน ค.ศ.534

และเป็นเหตุทำให้เป่ยเว่ยแตกเป็นสองกลุ่มที่ต่างตั้งตนเป็นใหญ่ขึ้นมาแทน

ทั้งสองกลุ่มต่างอ้างความชอบธรรมว่าตนคือราชวงศ์เว่ย ประวัติศาสตร์จึงเรียกสองกลุ่มนี้ตามเขตอำนาจที่ตั้งอยู่ว่า ราชวงศ์ซีเว่ยกับราชวงศ์ตงเว่ย จากเหตุนี้ ราชวงศ์เป่ยเว่ยจึงล่มสลายลงใน ค.ศ.535

ราชวงศ์นี้มีจักรพรรดิเจ็ดองค์และมีอายุราชวงศ์ 149 ปี

 

ราชวงศ์ซีเว่ย

ตอนที่หยวนซิวจักรพรรดิองค์สุดท้ายของราชวงศ์เป่ยเว่ยหนีไปอยู่กับขุนศึกของตนที่ฉังอันนั้น ขุนศึกผู้นั้นเป็นชาวเซียนเปยนามว่า อี่ว์เหวินไท่ (ค.ศ.507-556) โดยหลังจากนั้นเขาก็ฆ่าหยวนซิวตาย แล้วอุปโลกน์ให้วงศานุวงศ์สกุลหยวนเป็นจักรพรรดิในนามราชวงศ์เว่ย

ที่ซึ่งต่อมาเรียกกันว่าราชวงศ์ซีเว่ย (เว่ยตะวันตก, Western Wei Dynasty, ค.ศ.535-557)

เมื่อเป็นเช่นนี้อำนาจที่แท้จริงจึงอยู่ที่อี่ว์เหวินไท่ จักรพรรดิอุปโลกน์ที่มาจากสกุลหยวนจึงอยู่ได้แต่เพียงในนาม แต่ก็ได้รับการปกป้องคุ้มครองจากสกุลอี่ว์เหวินจนอยู่มาได้ 16 ปีก็เสียชีวิต หลังจากนั้นก็มีจักรพรรดิอุปโลกน์อีกสององค์ก็สิ้นราชวงศ์ โดยองค์สุดท้ายถูกปลดโดยหลานของอี่ว์เหวินไท่แล้วตั้งให้ลูกของอี่ว์เหวินไท่เป็นจักรพรรดิภายใต้ราชวงศ์ใหม่คือ ราชวงศ์เป่ยโจว

สรุปแล้วซีเว่ยมีจักรพรรดิสามองค์ และมีอายุราชวงศ์ 22 ปีก็ล่มสลาย

 

ราชวงศ์ตงเว่ย

ก่อนที่หยวนซิวจะหนีไปอยู่กับอี่ว์เหวินไท่เพราะมิอาจทนอยู่ใต้อำนาจของขุนศึกผู้หนึ่งนั้น ขุนศึกผู้นี้ก็คือเกาฮวาน (ค.ศ.496-547)

กล่าวกันว่า เกาฮวานเป็นชนชาติฮั่น แต่มีชีวิตอยู่ใกล้ชิดกับชาวเซียนเปยมากกว่าชาวฮั่น เขาจึงเป็นชาวจีนที่ไม่มีวัฒนธรรมฮั่น แต่มีวัฒนธรรมเซียนเปยอย่างเด่นชัดจนสามารถใช้ภาษาเซียนเปยเป็นปกติ

ด้วยความที่รู้สึกตนเป็นเซียนเปยมากกว่าฮั่นนี้เองทำให้เขาถึงกับเคยกล่าวว่า…

ชาวจีนคือทาสของเซียนเปย!!!

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่หยวนซิวหนีไปแล้ว เกาฮวานจึงอุปโลกน์วงศานุวงศ์สกุลหยวนที่มีอายุ 11 ปีขึ้นเป็นจักรพรรดิแทน ส่วนราชวงศ์ยังคงเรียกเว่ยดังเดิม และในเมื่ออี่ว์เหวินไท่ก็อุปโลกน์ราชวงศ์เว่ยเช่นกัน เว่ยที่เกาฮวานอุปโลกน์ขึ้นมาจึงถูกเรียกว่าราชวงศ์ตงเว่ย (เว่ยตะวันออก, Eastern Wei Dynasty, ค.ศ.534-550)

หลังจากนั้นเกาฮวานก็ย้ายเมืองหลวงไปยังเมืองเย่ (เย่เฉิง) ซึ่งปัจจุบันคืออำเภอหลินจังในมณฑลเหอเป่ย นับแต่นั้นมาเกาฮวานก็เป็นผู้ใช้อำนาจแทนจักรพรรดิของตงเว่ย ครั้นเกาฮวานเสียชีวิตลงใน ค.ศ.547 บุตรของเขาคือ เกาหยัง (ค.ศ.526-559) ก็บังคับให้จักรพรรดิสละบัลลังก์ให้แก่เขาใน ค.ศ.550

ราชวงศ์ตงเว่ยจึงล่มสลายลงในปีนั้นโดยมีจักรพรรดิเพียงหนึ่งองค์ และมีอายุราชวงศ์ที่ถูกอุปโลกน์ 16 ปี ส่วนเกาหยังเมื่อได้อำนาจมาแล้วตั้งราชวงศ์เป่ยฉีขึ้น

 

ราชวงศ์เป่ยฉี

เนื่องจากราชวงศ์เป่ยฉี (ฉีเหนือ, Northern Qi Dynasty, ค.ศ.550-577) เกิดขึ้นบนฐานของความทะเยอทะยานทางการเมือง ไม่ต่างกับการเกิดขึ้นของรัฐต่างๆ ในยุคห้าชนชาติสิบหกรัฐก่อนหน้านี้ และเป็นการเกิดขึ้นโดยขุนศึก

ดังนั้น หลังจากตั้งเป็นเป่ยฉีแล้วราชวงศ์นี้ก็ประสบแต่ความวุ่นวาย โดยเกาหยังที่ตั้งตนเป็นจักรพรรดิองค์แรกนั้นอยู่ได้เพียงสองปีก็เสียชีวิต ผู้ก้าวขึ้นมาต่อจากเขาต่างก็ไร้ความรู้ความสามารถและส่วนใหญ่อยู่ในอำนาจได้ไม่นาน ที่อยู่นานกว่าสิบปีมีอยู่เพียงองค์เดียว

ตราบจน ค.ศ.577 เป่ยฉีก็ถูกโจมตีจากเป่ยโจวจนแตก จักรพรรดิองค์สุดท้ายของราชวงศ์หนีออกนอกเมืองไปได้ แต่ก็เสียชีวิตในปีเดียวกันนั้น หลังจากนั้นแม้จะยังมีบุคคลในสกุลเกาประกาศตนเป็นจักรพรรดิของเป่ยฉีอยู่ก็ตาม แต่ก็มิได้สะท้อนถึงการมีอยู่จริงของเป่ยฉีแม้แต่น้อย นักประวัติศาสตร์โดยทั่วไปจึงกำหนดปีสิ้นสุดของเป่ยฉีที่ ค.ศ.577

จากเหตุนี้ เป่ยฉีจึงมีจักรพรรดิอยู่หกองค์และมีอายุราชวงศ์ 27 ปี

 

ราชวงศ์เป่ยโจว

ดังได้กล่าวไปแล้วว่า ราชวงศ์เป่ยโจว (โจวเหนือ, Northern Zhou, ค.ศ.557-581) เกิดได้เพราะหลานคนหนึ่งของอี่ว์เหวินไท่ปลดจักรพรรดิซีเว่ยออกจากตำแหน่ง จากนั้นก็ตั้งให้บุตรของอี่ว์เหวินไท่เป็นจักรพรรดิในนามของราชวงศ์เป่ยโจว หลานคนนี้ของอี่ว์เหวินไท่คือ อี่ว์เหวินฮู่ (ค.ศ.513-572)

เหตุการณ์นี้ทำให้เห็นได้ว่า อี่ว์เหวินฮู่นับเป็นผู้ทรงอิทธิพลที่แท้จริงของเป่ยโจว

กล่าวกันว่า จักรพรรดิสามองค์แรกล้วนตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของเขาทั้งสิ้น โดยจักรพรรดิองค์ที่สามคือ อี่ว์เหวินยง (ค.ศ.543-578) ที่แม้จะตกอยู่ในสภาพเช่นว่าแต่ก็มิอาจยอมได้ เขาจึงวางแผนลอบสังหารอี่ว์เหวินฮู่และเขาทำได้สำเร็จใน ค.ศ.561

หลังจากนั้นอำนาจก็ตกอยู่ในมือของอี่ว์เหวินยงอย่างแท้จริง

อี่ว์เหวินยงนับเป็นผู้นำที่มีความสามารถ ทั้งมีความคิดที่จะรวมจีนให้เป็นจักรวรรดิ เขากรีธาทัพไปตีราชวงศ์เป่ยฉีได้สำเร็จใน ค.ศ.577 หลังจากนั้นก็เตรียมทัพจะไปตีราชวงศ์ใต้เพื่อรวมแผ่นดินจีน แต่ก็กลับเสียชีวิตลงเสียก่อนใน ค.ศ.578 เวลา 17 ปีที่อยู่ในอำนาจและทำให้เป่ยโจวมีความแข็งแกร่งจึงสิ้นสุดลง

หลังยุคอี่ว์เหวินยงไปแล้วเป่ยโจวก็ถึงช่วงที่เสื่อมถอย ด้วยบุตรชายของเขาที่ก้าวขึ้นมาเป็นจักรพรรดิสืบต่อเป็นบุคคลที่ประพฤติตนเหลวแหลก เขาใช้จ่ายอย่างฟุ่มเฟือยและใช้เวลาไปกับสุรานารี พอเวลาผ่านไป 2 ปีเขาก็มอบอำนาจให้แก่บุตรของเขาที่มีอายุเพียงเจ็ดขวบ และให้พ่อตาของเขาคือหยังเจียน เป็นผู้สำเร็จราชการแทน

ครั้นหยังเจียนมาใช้อำนาจแทนแล้วก็ไม่รอช้าที่จะเข้าควบคุมเป่ยโจวเอาไว้ เวลาผ่านไปปีเดียวเขาก็สามารถกำจัดกลุ่มอำนาจต่างๆ ของเป่ยโจวได้สำเร็จ จากนั้นก็ปลดจักรพรรดิองค์สุดท้ายของเป่ยโจวออกจากตำแหน่งใน ค.ศ.581 ราชวงศ์เป่ยโจวจึงล่มสลายลงโดยมีจักรพรรดิห้าองค์ และมีอายุราชวงศ์ 24 ปี

ส่วนหยังเจียนเมื่อยึดอำนาจได้แล้วก็สถาปนาราชวงศ์สุยขึ้นเป็นราชวงศ์ใหม่ และทำให้ยุคราชวงศ์เหนือสิ้นสุดลงโดยดุษณี

 

ยุคราชวงศ์เหนือจากที่กล่าวมาโดยตลอดนี้ทำให้เห็นในเบื้องต้นว่า ตระกูลทว่อป๋าที่เป็นชนชาติเซียนเปยไม่เพียงเป็นผู้เริ่มราชวงศ์นี้เท่านั้น หากภายหลังจากนั้นยังถือเป็นตระกูลที่สืบต่ออำนาจไปยังราชวงศ์อื่นในยุคเดียวกันอีกด้วย

นอกจากนี้ ชนชั้นนำคนอื่นที่มิใช่สกุลทว่อป๋าโดยส่วนใหญ่ก็มักจะเป็นชาวเซียนเปยมากกว่าชนชาติอื่น ที่เป็นชาวฮั่นมีเป็นส่วนน้อย ส่วนที่เป็นชาวฮั่นอย่างเกาฮวานก็ดูเห็นได้ชัดว่าไม่ประสงค์จะเป็นชาวฮั่น ซึ่งถือเป็นกรณีพิเศษที่ไม่สู้จะเห็นได้บ่อยนักในประวัติศาสตร์จีน

ในประการต่อมา การที่ราชวงศ์เหนือมีต้นธารมาจากชนชาติที่มิใช่ฮั่นทำให้มีปัญหาในเรื่องหนึ่งคือ กำลังคนและม้า ในแง่กำลังคนมีผลต่อความมั่นคงและการผลิตในภาคเกษตร ในแง่กำลังม้ามีผลต่อวิถีชีวิตท้องทุ่งของชนกลุ่มนี้ที่ต้องอาศัยม้าอยู่เสมอ

และเมื่อตั้งตนเป็นใหญ่แล้วม้าก็ยังสำคัญต่อความมั่นคงอีกด้วย

ราชวงศ์เป่ยโจวนับเป็นกรณีที่เห็นได้ชัดถึงปัญหาที่ว่า เพราะเมื่อขาดกำลังคนและม้าแล้ว เป่ยโจวก็ใช้วิธีเกณฑ์เอาจากชนชาติอื่น โดยกำลังคนนั้นเมื่อเกณฑ์มาได้แล้วก็แต่งตั้งให้มีตำแหน่งทางการทหาร และให้มีนามสกุลของชาวเซียนเปย

จากนั้นกำลังคนเหล่านี้ก็รับใช้เป่ยโจวทั้งในการทำศึกและการผลิตทางการเกษตร จนทำให้เป่ยโจวเข้มแข็งขึ้นมาได้

 

จากที่กล่าวมานี้จะเห็นได้ว่า ในเวลานั้นชนชาติทิ่มิใช่ฮั่นที่ตั้งตนเป็นใหญ่แม้จะมีวัฒนธรรมด้อยกว่าจีน แต่ก็มิได้ด้อยกว่าจีนหากจะต้องเผชิญหน้าในระหว่างกันและกัน

แต่กระนั้น ชนชาติเหล่านี้ก็รู้ถึงความด้อยดังกล่าวของตนดี และคงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ต้องทำให้ตนเป็นจีนผ่านปรากฏการณ์จีนาภิวัตน์

พ้นไปจากภาพรวมที่กล่าวมาแล้วสิ่งที่เป็นไปก็คือ ความเสื่อมถอยของราชวงศ์เหนือ ซึ่งยังคงหนีไม่พ้นกฎเกณฑ์ในเรื่องอำนาจ ที่เมื่อถึงจุดจุดหนึ่งแล้วต่างก็หันมาแก่งแย่งอำนาจกันเองไม่ว่าจะเป็นชนชาติใดก็ตาม

ไม่เว้นแม้แต่กับชนชาติฮั่นเอง